Skip to main content
sharethis

รัฐบาลจีนเซนเซอร์การไลฟ์ของบิวตี้วล็อกเกอร์จีนชื่อดัง “หลี่เจียฉี” เจ้าของฉายา “ราชาลิปสติก” เพราะมองว่าไลฟ์ของเขามีการสื่อถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ผู้ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน แต่การเซนเซอร์กลับทำให้แฟนๆ ยิ่งอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในเหตุการณ์กันแน่

หลี่เจียฉี(ซ้าย) ขณะกำลังไลฟ์ร่วมกับพิธีกรอีกคนที่นำเค้กทรงคล้ายรถถังมาแสดงในรายการ ภาพจากทวิตเตอร์ของ Bigguguji

เป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้วที่รัฐบาลจีนพยายามจะทำการลบความทรงจำกรณีการสังหารหมู่ผู้ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยเฉพาะในช่วงที่มีการครบรอบเหตุการณ์วันที่ 4 มิ.ย. ของทุกปี แต่ดูเหมือนว่าการพยายามเซนเซอร์ของรัฐบาลจีนในปีนี้ดูจะส่งผลในทางตรงกันข้าม เพราะทำให้คนหันมาสนใจเรื่องการสังหารหมู่ที่เทียนอันเหมินกันมากขึ้น โดยเฉพาะจากคนรุ่นเยาว์ที่ไม่เคยรู้รายละเอียดเรื่องนี้มาก่อน

เรื่องนี้เกิดขึ้นในคืนวันที่ 3 มิ.ย. 2565 หลี่เจียฉี่ นักไลฟ์สดชื่อดังและนักธุรกิจเครื่องสำอางเจ้าของฉายา "ราชาลิปสติก" ได้ทำการไลฟ์สดกับพิธีกรอีกคนหนึ่ง แต่รายการของเขาก็หยุดเผยแพร่อย่างกะทันหันหลังจากที่เขาและพิธีกรอีกคนนำเสนอไอศครีมเวียนเน็ตตาที่ประดับด้วยโอริโอคุกกี้และขนมหวานช็อกโกแลตอื่นๆ ให้มีรูปร่างคล้ายรถถัง

รถถังนี้เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่ถูกโยงไปถึงเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินได้ และเป็นไปได้ว่ามันจะเป็นสัญลักษณ์ที่ทางการจีนมองว่ามีความอ่อนไหวที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณะในช่วงไม่กี่ชั่วโมงก่อนวันที่ 4 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันครบรอบเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ในเหตุการณ์ดังกล่าวรัฐบาลจีนได้ส่งรถถังและกองทัพติดอาวุธหนักเข้าไปปราบปรามผู้คนที่เรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพทางการเมือง จนกระทั่งมีรูปถ่ายและวิดีโอที่เป็นที่รู้จักในนาม "ชายรถถัง" หรือ "Tank Man" ซึ่งเป็นคนที่เดินไปขวางไว้ไม่ให้ขบวนรถถังแล่นเข้าไปที่จัตุรัส

เรื่องราวการกวาดล้างผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธจนมีคนเสียชีวิตนับร้อยนับพันเป็นเรื่องที่ถูกปกปิดและเซนเซอร์อย่างเข้มงวดจากทางการจีนมาโดยตลอด ไม่มีการสอนเรื่องนี้ในห้องเรียน มีการปิดกั้นไม่ให้นำเสนอผ่านสื่อและในโลกออนไลน์ ฝ่ายเซนเซอร์ของทางการจีนจะตื่นตัวเป็นพิเศษในช่วงใกล้กับวันรำลึกเหตุการณ์ พวกเขาจะลบอะไรก็ตามที่อาจอ้างอิงถึงเหตุการณ์นี้ได้แม้ว่าจะไม่ได้สื่อถึงอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นอีโมจิรูปเทียน หรือวลีที่สื่อนัยยะเป็นรหัส เช่น "May 35" เป็นต้น

การปกปิดจากรัฐบาลในเรื่องนี้ทำให้เยาวชนรุ่นใหม่ในจีนจำนวนมากโดยเฉพาะคนที่เกิดภายหลังเหตุการณ์เติบโตขึ้นมาโดยมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องเทียนอันเหมินนี้น้อยมาก จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมแฟนคลับรุ่นเยาว์ของหลี่เจียฉีถึงรู้สึกสงสัยตอนที่รายการไลฟ์สดของหลี่เจียฉีถูกตัดจบกะทันหัน โดยที่รายการไลฟ์ของหลี่เจียฉีเป็นรายการที่เขาโฆษณาขายสินค้าจำพวกอาหารว่างและเครื่องดื่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคุกกี้หรือโซดาด้วย

มีความเป็นไปได้ว่า หลี่เจียฉี ผู้ที่เกิดในปี 2535 จะไม่รู้ว่ารถถังมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ต่อเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ตัวของหลี่เจียฉีเองเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งคือ ออสติน หลี่ เป็นผู้ทรงอิทธิพลทางโซเชียลมีเดียหรือที่เรียกว่า "อินฟลูเอนเซอร์" สายความงามที่มีชื่อเสียงมาก เมื่อปี 2561 เขาเคยทำสถิติขายลิปสติกผ่านการไลฟ์ได้ 15,000 แท่ง ภายในเวลา 5 นาที จนทำให้เขาได้รับฉายาว่าเป็น "ราชาลิปสติก" และนิตยสารไทม์ยังเลือกให้หลี่เป็น 1 ใน 100 คนรุ่นใหม่ที่กำหนดอนาคตประจำปี 2564 หรือ Time 100 Next 2021 ด้วย

มีการตั้งข้อสังเกตว่าหลี่เจียฉีมีการแสดงออกอย่างระมัดระวังอยู่ตลอดเวลาเพื่อที่จะรักษาความสัมพันธ์อันดีกับผู้มีอำนาจของทางการจีน เพราะการทำผิดพลาดทางการเมืองอาจจะทำให้เขาเสี่ยงที่จะสูญเสียการสนับสนุนทางธุรกิจหรือประสบชะตากรรมที่เลวร้ายกว่านั้น

หลังจากการถ่ายทอดสดของหลี่เจียฉีถูกตัดจบไปอย่างกระทันหัน ไม่นานนักเขาก็กลับมาบอกกับผู้ติดตามของเขาทั้ง 50 ล้านรายในโซเชียลมีเดียสัญชาติจีนรายใหญ่อย่าง “เวยปั๋ว” (Weibo) ว่าทีมงานของเขากำลังแก้ไข "ปัญหาผิดพลาดทางเทคนิค" และบอกให้แฟนๆ ผู้ติดตามเขา "รอสักครู่" แต่พอผ่านไปได้ 2 ชั่วโมง เขาก็กลับมาโพสต์ขอโทษว่าเขาไม่สามารถไลฟ์สดต่อไปได้ในคืนวันนั้นเพราะ "ความขัดข้องของอุปกรณ์" ทำให้หลี่เจียฉีบอกว่าเขาจะนำสินค้าที่ยังไม่ได้นำมาแสดงในไลฟ์คราวนี้มาแสดงในไลฟ์ครั้งถัดไป

อย่างไรก็ตามหลี่เจียฉีไม่ได้กลับมาแสดงสินค้าตามที่เขาเคยสัญญาไว้ ในวันอาทิตย์ที่ 6 มิ.ย. เขาไม่ได้ไลฟ์สดตามตารางเวลาที่วางไว้ ทำให้แฟนๆ ทั้งสับสนและเป็นกังวล

พอมาถึงวันจันทร์ที่ 7 มิ.ย. หลังจากค้นหาชื่อของหลี่เจียฉีในเว็บขายของออนไลน์ “เถาเป่า” (Taobao) ก็ไม่พบชื่อของหลี่เจียฉีอีกต่อไปแล้ว ทั้งที่เขาเคยใช้เว็บนี้ไลฟ์สดเพื่อขายของมาก่อนและมีผู้ติดตามมากถึง 60 ล้านราย

ในขณะเดียวกันที่เว็บเวยปั๋ว ซึ่งเป็นเว็บโซเชียลมีเดียของจีนก็เริ่มมีโพสต์และการแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่โพสต์และความคิดเห็นเหล่านี้ตั้งข้อสงสัยว่าไอศครีมที่แต่งเป็นรูปรถถังจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ช่องไลฟ์สดของหลี่เจียฉีถูกระงับ มีแฟนๆ ของเขาบางคนที่ฝ่าการเซนเซอร์จาก "เกรทไฟล์วอลล์" ของรัฐบาลจีนออกไปได้แล้วสืบค้นพบว่ารถถังเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่มีความอ่อนไหวเพราะเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์เทียนอันเหมิน

เวลาที่ชาวเน็ตจีนพูดถึงเหตุการณ์เหล่านี้พวกเขาต้องพยายามใช้คำที่หลีกเลี่ยงการเซนเซอร์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกเหตุการณ์เทียนอันเหมินว่า "เหตุการณ์นั้น" แทนการเรียกชื่อเหตุการณ์ตรงๆ ซึ่งบางส่วนสามารถพ้นจากการสอดส่องของกองเซนเซอร์จีนไปได้ แต่มีจำนวนมากที่ถูกทำให้หายไปเพียงไม่นานหลังจากที่มีการโพสต์ มีการตั้งข้อสังเกตว่าโพสต์ที่ยังไม่ถูกลบนั้นเป็นโพสต์ที่ระบุว่า ถึงแม้ว่าจะรู้เรื่องการปราบปรามผู้ชุมนุมแล้วแต่พวกเขาก็ยัง "เชื่อมั่นในพรรค(คอมมิวนิสต์) และเชื่อมั่นในรัฐ" และมีบางโพสต์ที่กล่าวหาว่าหลี่เจียฉีถูกครอบงำจาก "พวกทุนนิยม" หรือ "อิทธิพลต่างชาติ"

อิริก หลิว นักวิเคราะห์จากสื่อไชนาดิจิทัลไทม์ ซึ่งเป็นเว็บไซต์จากสหรัฐฯ ที่ทำการติดตามเรื่องการเซนเซอร์ในจีน กล่าวว่ารัฐบาลจีนกำลังตกอยู่ในสภาพทำตัวไม่ถูก เพราะว่าถ้าหากเซนเซอร์ชื่อของหลี่เจียฉีไปเลยทั้งหมด มันก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดความสนใจต่อกรณีนี้มากขึ้น ดังนั้นแล้วทางเวยปั๋วถึงได้ใช้แรงจากคนจำนวนมากให้คอยติดตามเซนเซอร์โพสต์ทุกโพสต์ที่พูดถึงชื่อหลี่เจียฉี

หลิวบอกว่าปรากฏการณ์เช่นนี้เรียกได้ว่าเป็น "ปรากฏการณ์สไตรแซนด์" ซึ่งหมายถึงปรากฏการณ์ของการที่ยิ่งพยายามปกปิดหรือเซนเซอร์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้คนอยากรู้เรื่องที่พวกเขาพยายามเซนเซอร์มากขึ้นเท่านั้น ปรากฏการณ์นี้ตั้งชื่อตามดาราอเมริกัน บาร์บรา สไตรแซนด์ ที่เคยพยายามปกปิดภาพถ่ายที่พักอาศัยของเธอที่มาลิบู รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งถ่ายโดยโครงการบันทึกชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย แต่พอเธอพยายามส่งจดหมายแจ้งให้หยุดเผยแพร่ก็ยิ่งทำให้มีคนสนใจมากขึ้นและทำการมีการส่งต่อไฟล์รูปภาพผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยวิธีการต่างๆ

"การเซนเซอร์เป็นเรื่องของการพยายามปกปิดความจริงจากสาธารณชน แต่ถ้าหากผู้คนไม่รู้เกี่ยวกับมัน พวกเขาก็จะทำ 'ผิดพลาด' แบบนี้อีก" หลิวกล่าว

เหตุการณ์นี้คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2564 ที่แอพพลิเคชัน เสี่ยวหงซู (Xiaohongshu) ซึ่งคล้ายกับอินสตาแกรมสำหรับชาวจีน ถูกลบบัญชีผู้ใช้งานออกจากเว็บเวยป๋อหลังจากที่ทางบริษัทโพสต์ในวันที่ 4 มิ.ย. ว่า "บอกฉันมาดังๆ สิ ว่าวันนี้วันอะไร"

 

เรียบเรียงจาก

China censored a top livestreamer on the eve of June 4. Now his fans are asking about the Tiananmen Square massacre, CNN, 06-06-2022

รายชื่อ Time 100 Next 2021

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Li_Jiaqi_(beauty_influencer)

https://en.wikipedia.org/wiki/Streisand_effect


 

Tags : ข่าว, ต่างประเทศ, วัฒนธรรม, สิทธิมนุษยชน, เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, การไลฟ์สด, เทียนอันเหมิน, หลี่เจียฉี่, โซเชียลมีเดีย, ปรากฏการณ์สไตรแซนด์, การเซนเซอร์, พรรคคอมมิวนิสต์จีน, จีน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net