Skip to main content
sharethis

อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ‘ตี้ พะเยา’ เบนจา อะปัญ และ ‘บิ๊ก’ เกียรติชัย ข้อหา ม.112 จากการปราศรัยในวันชาติ ปี’64 แจงการกล่าวถึงกษัตริย์ต้องทำด้วยความเคารพ ก่อนศาลให้ประกันตัว พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ และติดกำไล EM  

 

21 มิ.ย. 2565 เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานวันนี้ (21 มิ.ย.) เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4) มีคำสั่งฟ้องคดีของ 3 นักกิจกรรม ได้แก่ ‘ตี้’ วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ ตี้ พะเยา นักกิจกรรมการเมืองรุ่นใหม่ (จำเลยที่ 1), ‘บิ๊ก’ เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (จำเลยที่ 2) และเบนจา อะปัญ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (จำเลยที่ 3) ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ จากกรณีสืบเนื่องจากการขึ้นปราศรัยในการชุมนุม #ราษฎรยืนยันดันเพดาน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 บริเวณสกายวอร์ค แยกปทุมวัน

(ซ้าย) 'ตี้' วรรณวลี ธรรมสัตยา, (กลาง) 'บิ๊ก' เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ และ (ขวา) เบนจา อะปัญ

ทั้งหมดถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, และใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้องระบุว่า รัฐธรรมนูญไทยได้บัญญัติไว้ว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข อยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดหรือกล่าวหา ฟ้องร้องไม่ได้ และผู้ใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองไม่ได้ ตลอดจนใช้สิทธิ เสรีภาพ ให้กระทบกระเทือน เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือให้เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยในทางหนึ่งทางใดมิได้ ทั้งรัฐและพลเมืองมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และกษัตริย์ให้ดำรงอยู่คู่ประเทศชาติตลอดไป

นอกจากนี้ สถาบันกษัตริย์ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย อยู่คู่ประเทศมานาน ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ จะนำมาล้อเลียนไม่ได้ คนไทยต่างจงรักภักดี เทิดทูนสถาบันฯ การกล่าวพระนามของพระองค์ต้องแสดงออกด้วยความเคารพตามขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณีอันเป็นสิ่งที่คนไทยโดยทั่วไปพึงปฏิบัติสั่งสมกันตลอดมา

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 จำเลยทั้ง 3 กับนักกิจกรรมรายอื่นอีก 6 ราย แยกดำเนินคดีที่ศาลแขวงปทุมวัน และนักกิจกรรมเยาวชน 2 ราย แยกดำเนินคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทต่างกัน กล่าวคือ จำเลยที่ 1 และ 3 และพวกนักกิจกรรมบางราย ได้ร่วมกันจัดการชุมนุม ชื่อ “ราษฎรยืนยันดันเพดาน” โดยจำเลยที่ 1 และ 3 ได้โพสต์ข้อความเชิญชวนบนเฟซบุ๊ก

เมื่อถึงวัดนัดจัดกิจกรรม มีประชาชนมาเข้าร่วมการชุมนุมราว 400 กว่าคน ที่บริเวณสกายวอร์ค แยกปทุมวัน เป็นการชุมนุมที่ไม่ได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทั้งยังเป็นการชุมนุมที่แออัด เสี่ยงต่อการแพร่โรค

ในระหว่างการชุมนุม จำเลยทั้ง 3 และกลุ่มผู้ชุมนุมได้ร่วมกันปราศรัยผ่านไมโครโฟน-ลำโพงเครื่องขยายเสียง พูดโจมตีการบริหารงานของรัฐบาลและการปฏิรูปสถาบันฯ โดยจำเลยที่ 1 ได้ปราศรัยเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามในอดีต ซึ่งมีประชาชนร่วมรบจนล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่กลับทำการเชิดชูเพียงแค่กษัตริย์ ไม่มีการบันทึกชื่อของประชาชนที่เสียสละแต่อย่างใด

อัยการระบุว่า ข้อความดังกล่าวอาจทำให้ผู้ที่ได้รับฟ้งเข้าใจได้ว่า ในเวลาที่มีสงคราม คนที่บาดเจ็บล้มตายคือประชาชน ในขณะที่กษัตริย์ไม่เคยออกรบ อยู่แต่แนวหลัง มีความหมายสื่อถึงกษัตริย์ทุกพระองค์

อัยการยังอ้างว่าจำเลยที่ 1 ยังได้ปราศรัยสื่อถึงรัชกาลที่ 10 ว่า การใส่เสื้อเหลืองหมายความว่าเป็นคนรักชาติ เมื่อใส่เสื้อเหลืองแล้วจะไม่โดนดำเนินคดี แม้จะฆ่าคนตายก็ตาม โดยอัยการมองว่า คำปราศรัยนั้นอาจทำให้คนฟังเข้าใจว่า ถ้าเป็นคนของกษัตริย์ เมื่อทำผิดกฎหมายก็ไม่ต้องรับโทษ สื่อว่าพระองค์อยู่เหนือกฎหมาย สามารถปกป้องพรรคพวกและบริวารของตนได้

จำเลยที่ 2 ได้ปราศรัย ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ รัชกาลที่ 5, 7, และ 10 ระบุว่า

1. ถึงจะมีการเลิกทาสไปแล้ว แต่ประชาชนยังคงถูกกดขี่ ทำให้โง่และกลัว ไม่กล้าทวงสิทธิที่ตัวเองมี อัยการระบุ เป็นการสื่อว่า แม้จะเลิกทาสไปแล้วก็ยังมีการกดขี่ประชาชน กษัตริย์ไม่ได้ล้มเลิกระบบทาสอย่างแท้จริง

2. การที่หนังสือเรียนระบุว่า รัชกาลที่ 7 เป็นกษัตริย์ประชาธิปไตยนั้นไม่เป็นความจริง เป็นข่าวปลอม อัยการระบุว่า จำเลยต้องการให้คนที่ฟังเข้าใจว่า การที่ประชาชนยกย่องรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญและเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้สถาบันอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยนั้นไม่เป็นความจริง แท้จริงแล้ว รัชกาลที่ 7 ไม่ได้ประสงค์จะให้ประชาธิปไตยแก่ประชาชน

3. การที่กษัตริย์องค์ปัจจุบันถูกยกย่องให้สูงส่งเหมือนพระเจ้า ทำให้ประชาชนไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ อัยการระบุว่า ต้องการให้คนฟังเข้าใจว่า กษัตริย์ถูกยกย่องจนเกินความจริงและเปรียบเทียบกษัตริย์ให้สูงส่ง ทำให้เข้าใจได้ว่า กษัตริย์องค์ปัจจุบันวางพระองค์ไม่เหมาะสม

4. การยกสถาบันฯ ไว้สูงทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะในเรื่องของงบประมาณสถาบันฯ อัยการมองว่า เป็นการสื่อว่ากษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย อยู่เหนือการตรวจสอบและไม่มีความโปร่งใส

5. การปฏิรูปสถาบันฯ ข้อแรก ต้องไม่เซ็นรับรองการรัฐประหาร อัยการระบุ ต้องการสื่อว่า รัชกาลที่ 10 ทรงรับรองให้กับคณะรัฐประหาร ไม่ปฏิบัติตนในฐานะประมุขของประเทศ ซึ่งจะต้องอยู่เหนือการเมืองและความขัดแย้ง

จำเลยที่ 3 ได้ปราศรัยดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 9 และ 10 กล่าวคือ ได้พูดว่า กษัตริย์ปล่อยให้มีการรัฐประหารหลายครั้ง มีครั้งเดียวที่ไม่ยอมให้เกิดการรัฐประหาร อัยการระบุ เท้าความว่า การรัฐประหารตามประวัติศาสตร์เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 9 ไม่เคยเกิดขึ้นในรัฐกาลที่ 10 เป็นการใส่ความรัชกาลที่ 9 ว่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะพระองค์เป็นกลางทางการเมือง

จำเลยปราศรัยต่อว่า มีครั้งเดียวที่กษัตริย์ไม่ยอมปล่อยให้มีการรัฐประหาร แสดงว่าย่อมยับยั้งการรัฐประหารได้ แต่ก็ปล่อยให้เกิดขึ้นอีกต่อมา เป็นการไม่เห็นหัวประชาชน อัยการระบุ ข้อความดังกล่าวเป็นการใส่ความรัชกาลที่ 9 ไม่เป็นความจริงเพราะทรงเป็นกลางทางการเมือง

ข้อความสุดท้าย ปราศรัยเรื่องวันพ่อวันที่ 5 ธ.ค. ต่อมาเปลี่ยนเป็นวันชาติ ในวันดังกล่าวมีการนำเงินภาษีประชาชนไปจัดกิจกรรม ทั้งๆ ที่เงินดังกล่าวควรหมุนเวียนกลับสู่ประชาชน อัยการระบุว่า วันที่ 5 ธ.ค. เป็นวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 9 ต่อมาหลังสวรรคต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศให้วันดังกล่าวเป็นวันชาติ ถ้อยคำปราศรัยดังกล่าวเป็นการกล่าวหาว่า รัชกาลที่ 10 เอาเงินภาษีไปจัดงานวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นบิดา แทนที่จะนำเงินมาใช้จ่ายเพื่อประชาชน

ต่อมา วันที่ 28 ส.ค. 2564 จำเลยที่ 2 เข้าพบพนักงานสอบสวน จำเลยที่ 1 และ 3 เข้าพบพนักงานสอบสวน วันที่ 9 ก.ย. 2564 แจ้งข้อกล่าวหา สอบสวนแล้ว ทั้งหมดให้การปฏิเสธ โดยพนักงานสอบสวนไม่เคยยื่นคำร้องฝากขังจำเลยในชั้นสอบสวนแต่อย่างใด ทั้งนี้ อัยการไม่ได้ขอคัดค้านหากมีการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว

หลังจากอัยการมีคำสั่งฟ้อง ศาลได้รับฟ้องไว้ และอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในชั้นพิจารณา กำหนดหลักประกันรายละ 200,000 บาท รวม 600,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดเงื่อนไข “ห้ามกระทำการใดๆ อันมีลักษณะทำนองเดียวกันกับที่ถูกฟ้องหรือมีลักษณะทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามชักชวนหรือโพสต์ข้อความลงในสื่อโซเชียลมีเดีย ชักชวน ยุยง ให้เกิดการชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ว่าจะได้รับอนุญาตจากศาล” และยังกำหนดให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM)

ศาลกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไป วันที่ 25 ก.ค. 2565 เวลา 13.30 น.

ทั้งนี้ วรรณวลี และเกียรติชัย ยังไม่เคยถูกศาลกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว โดยให้ติดกำไล EM ในคดีใดมาก่อน ขณะที่เบนจา ถูกสั่งให้ติดอยู่ก่อนแล้วในคดีอื่น ทำให้เกียรติชัย ต้องติดกำไล EM ในวันฟ้องนี้ทันที ส่วนวรรณวลี ทนายความและนายประกันได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการติดกำไล EM ออกไปเป็นวันที่ 25 ก.ค. 2565 หรือวันนัดตรวจพยานหลักฐานแทน เนื่องจากเธอต้องเดินทางด้วยเครื่องบินกลับไปเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งมีกำหนดการไว้ก่อนแล้ว ถ้าหากติดกำไล EM จะทำให้ไม่สามารถเดินทางด้วยเครื่องบินได้ โดยศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้มาติดกำไล EM ในวันนัดตรวจพยานหลักฐานแทนได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net