Skip to main content
sharethis

ศาลแพ่งมีคำสั่งยกฟ้องคดี ‘รุ้ง’ ปนัสยา ร่วมด้วยโจทก์อีก 3 คน ฟ้องประยุทธ์ และ ผบ.ทสส. เพิกถอนประกาศและข้อกำหนดห้ามชุมนุมที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลระบุข้อกำหนดดังกล่าวออกมาโดยมีเหตุจำเป็น และ รธน.ให้รัฐจำกัดเสรีภาพประชาชนได้ กรณีจำเป็นต้องป้องกันสถานการณ์ร้ายแรง

 

14 มี.ค. 2566 เว็บไซต์ iLaw หรือโครงการกฎหมายอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน รายงานวันนี้ (14 มี.ค.) ศาลแพ่งนัดฟังคำพิพากษาคดี ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักศึกษาธรรมศาสตร์ เบนจา อะปัญ นักศึกษาธรรมศาสตร์ กุลจิรา ทองคง นักร้อง และเสกสิทธิ แย้มสงวนศักดิ์ นักวิชาการอิสระ ร่วมเป็นโจทก์ลำดับที่ 1-4 ตามลำดับ ฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1 และ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เป็นจำเลยที่ 2 โดยในวันนี้ (14 มี.ค.) นักศึกษาที่เป็นโจทก์ไม่ได้เดินทางมาฟังคำสั่งศาล มีเพียงทนายความและผู้รับมอบอำนาจที่เดินทางมาฟังคำสั่งแทน 

'รุ้ง' ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งไว้ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. 2564 ขอให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ข้อ 3 (กำหนดห้ามการชุมนุม) ที่ออกโดยจำเลยที่ 1 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ฉบับที่ 12 ที่ออกโดยจำเลยที่ 2 จนเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1-3 ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศห้ามชุมนุม และโจทก์ทั้งสี่ได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้ โดยให้ถือว่าประกาศและข้อกำหนดตามฟ้องไม่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ต้น โดยศาลแพ่งมีคำสั่งยกฟ้องของโจทก์ทั้งสี่คนโดยให้เหตุผลว่า 

แม้รัฐธรรมนูญจะให้การรับรองเสรีภาพในการชุมนุม แต่เสรีภาพการชุมนุมก็ไม่ใช่เสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองเด็ดขาด  แต่จำกัดได้โดยกฎหมายที่ตราขึ้นมาเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉินจำเป็นฝ่ายบริหารก็มีอำนาจที่จะจำกัดเสรีภาพของประชาชนบางประการเพื่อป้องกันสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ให้รุนแรงบานปลายออกไปได้ ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และ 2 ใช้โอกาสที่มีการแพร่ระบาดของโรค สั่งห้ามการชุมนุมเพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองของตัวเอง ทั้งเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ในเดือน ก.ย. 2565 ก็มีการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินฯ อันเป็นเหตุให้ประกาศและข้อกำหนดต่างๆ ที่โจทก์ทั้งสี่อ้างเป็นเหตุฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้สิ้นผลไป จึงพิพากษายกฟ้อง โดยคำพิพากษาพอสรุปได้ว่า

โจทก์ทั้งสี่เบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่หนึ่งเป็นผู้แต่งตั้ง ใช้อำนาจออกประกาศหลายฉบับห้ามการชุมนุมในสถานที่แออัด โดยที่การออกข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อมุ่งแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบก็ถูกดำเนินคดีด้วยข้อกำหนดและประกาศที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ออกมาบังคับใช้ นอกจากนั้น การออกข้อกำหนดและประกาศยังเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำรั้วลวดหนาม ตู้คอนเทนเนอร์ และรถโดยสารประจำทาง ซึ่งไม่ได้ถูกประกาศให้เป็นอุปกรณ์ควบคุมการชุมนุมมาใช้ปิดกั้นเส้นทางสัญจร ทั้งที่สถานการณ์ในการชุมนุมยังไม่ได้มีความวุ่นวาย

การชุมนุมที่เกิดขึ้นในเวลานั้นก็เป็นไปโดยสงบ ใช้เวลาไม่นาน เพื่อสะท้อนความล้มเหลวในการบริหารของรัฐ และเรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหา แต่การใช้มาตรการต่างๆ ของตำรวจกลับเป็นไปโดยไม่ได้สัดส่วน ทั้งการชุมนุมก็เป็นการชุมนุมในพื้นที่เปิดโล่งให้อากาศถ่ายเทจึงไม่เสี่ยงให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค นอกจากนั้น คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council : UNHRC) ยังได้มีมติที่ 44/20 เรื่อง การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในบริบทของการชุมนุมโดยสงบ โดยย้ำว่ารัฐไม่ควรใช้การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเงื่อนไขในการจำกัดเสรีภาพการชุมนุม โดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นและความได้สัดส่วนด้วย

ขณะที่โจทก์ทั้งสองมีพยานเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาเบิกความโดยสรุปได้ว่า ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2562 เริ่มมีการระบาดของโรคอุบัติใหม่ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ก่อนที่จะเริ่มแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่นๆ ของโลก รวมถึงในประเทศไทยที่เริ่มมีการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนตามการเคลื่อนย้ายของประชากร ส่งผลให้ภาครัฐต้องยกระดับมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศที่เริ่มมีผลบังคับในวันที่ 26 มี.ค. 2563 โดยมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเป็นการออกตามความจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้โรคติดต่อแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง และมีมาตรการหลายส่วน ทั้งการสั่งห้ามเข้าสถานที่ สั่งปิดสถานที่ และห้ามออกนอกเคหะสถาน ไม่ได้ออกมาตรการเพื่อมุ่งควบคุมการชุมนุมโดยเฉพาะเจาะจง 

โจทก์ทั้งสี่ทราบดีถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค แต่ยังประสงค์รวมตัวโดยขาดความรับผิดชอบต่อสังคม การดำเนินคดีที่เกิดขึ้นกับโจทก์ที่ 1-3 จึงไม่ใช่การกลั่นแกล้ง แต่เป็นเพราะโจทก์ทั้งสามจงใจฝ่าฝืนกฎหมาย

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า

มาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดเกณฑ์การจำกัดสิทธิเสรีของประชาชนไว้ว่า การออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ หากรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ กฎหมายที่ออกมาต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใด กรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง

มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจํากัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

ขณะที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกมาโดยมีเหตุผลว่า โดยที่กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติต่างๆ ไม่สามารถนำมาใช้แก้ไขสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐที่มีหลากหลายรูปแบบให้ยุติลงได้โดยเร็ว รวมทั้งไม่อาจนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภัยพิบัติสาธารณะ และการฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับความเสียหาย  ทำให้ประชาชนได้รับอันตรายหรือเดือดร้อนจนไม่อาจใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข และไม่อาจแก้ไขปัญหาด้วยการบริหารราชการในรูปแบบปกติได้ สมควรต้องกำหนดมาตรการในการบริหารราชการสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินไว้เป็นพิเศษ เพื่อให้รัฐสามารถรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัย และการรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั้งปวงให้กลับสู่สภาพปกติได้โดยเร็ว 

เมื่อฝ่ายจำเลยมีแพทย์จากกรมควบคุมโรคเบิกความเป็นพยานว่า ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2562 เริ่มมีการพบผู้ติดเชื้อโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจอุบัติใหม่ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ก่อนที่โรคดังกล่าวจะแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็วในลักษณะเป็นกลุ่มก้อนอันเกิดจากการเคลื่อนย้ายของประชากรและองค์การอนามัยโรคก็ได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องยกระดับการบริหารจัดการสถานการณ์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติโดยเร็ว

การที่จำเลยที่ 1 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกข้อกำหนดฉบับที่ 15 ข้อ 3 เรื่องห้ามการชุมนุม และจำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากจำเลยที่ 1 ให้เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 10 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงฉบับที่ 12 ห้ามการชุมนุมมั่วสุม จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพโดยมีเหตุอันควรในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน

ที่โจทก์ทั้งสี่อ้างว่า การออกข้อกำหนดและประกาศของจำเลยที่ 1 และ 2 ไม่ได้เป็นไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค แต่เป็นไปเพื่อรักษาอำนาจทางการเมือง เป็นการออกประกาศหลายฉบับต่อเนื่องทับซ้อนกันจนประชาชนเกิดความสับสน และเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพเกิดสมควร

ศาลพิเคราะห์และเห็นว่า 

แม้การชุมนุมจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่ก็ไม่ใช่สิทธิที่ได้รับความคุ้มครองโดยเด็ดขาด แต่จำกัดได้โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายดังที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 44 วรรค 2 กำหนดไว้ จำเลยที่ 1 และ 2 จึงมีอำนาจห้ามการชุมนุมตามมาตรการที่กฎหมายให้อำนาจฝ่ายบริหารไว้เพื่อป้องกันสถานการณ์ร้ายแรง 

ทั้งการนำสืบของโทก์ทั้งสี่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองออกข้อกำหนดและประกาศเพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองของตนเอง และเมื่อประกาศและข้อกำหนดดังกล่าวออกมาบังคับใช้เป็นการทั่วไปไม่ได้ใช้เจาะจงกับบุคคลใด จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพเท่าที่จำเป็น ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ทั้งเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายก็ได้มีการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ในวันที่ 29 ก.ย. 2565 เป็นเหตุผลให้ข้อกำหนดและประกาศตามฟ้องอันเป็นมูลเหตุในคดีนี้สิ้นผลไป พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของจำเลย พิพากษายกฟ้อง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net