Skip to main content
sharethis

‘แสงเดือน ตินยอด’ เหยื่อนโยบายทวงคืนผืนป่า บ้านแม่กวัก จ.ลำปาง ทำกินไม่ได้มานานถึง 8 ปี หนี้สินอื้อ เจ้าตัวเผยเป็นโรคซึมเศร้า ด้านอุทยานฯ มอบหมายป่าไม้ลำปางเร่งหาแนวทางเยียวยา 

 

22 มิ.ย. 2565 พชร คำชำนาญ รายงานวานนี้ (21 มิ.ย.) ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ 4 ภาค การแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ ห้องประชุมอาลัมภางค์ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดลำปาง ที่เกิดจากการผลักดันของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้มีการเจรจาแก้ไขปัญหาคดีทวงคืนผืนป่ากรณี ‘แสงเดือน ตินยอด’ หรือชื่อปัจจุบัน ‘วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง’ หญิงวัย 55 ปี จากชุมชนบ้านแม่กวัก ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง หลังถูกเจ้าหน้าที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง ดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2561 บนพื้นที่ทำกิน 10 ไร่ ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นศาลฎีกา

แสงเดือน ตินยอด หญิงวัย 55 ปี ผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า บ้านแม่กวัก จ.ลำปาง

แสงเดือน กล่าวว่า หลังจากสูญเสียที่ทำกินต้องไปรับจ้างกรีดยางหาเลี้ยงชีพ จากเดิมที่เคยได้รับการสนับสนุนให้จากรัฐให้ปลูกยางพารา โดยก่อนหน้านั้น ตนได้กู้เงินนอกระบบมาลงทุน ภายหลังไม่สามารถทำกินได้ทำให้ต้องเป็นหนี้ประมาณ 3.7 แสนบาท และต้องกู้เงินซื้อหลักทรัพย์ประกันตัวในชั้นศาลอุทธรณ์ประมาณ 4.7 หมื่นบาท พร้อมทั้งเผยว่าขณะนี้เป็นโรคซึมเศร้า และมองว่าถูกเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติเสมือนไม่ใช่คนไทย

“วันนี้รู้สึกไม่ค่อยสบายใจ ตอนนี้เป็นซึมเศร้าแล้ว อายุป่านนี้ยังไม่มีที่ทำกินแบบถาวร มันลำบากใจที่ต้องไปอาศัยเขา อยากจะให้มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นกับเราบ้าง อยากอยู่แบบมีความสุข ไม่อยากอยู่แบบนี้ ทำอะไรก็ไม่ได้ มันติดคดีอยู่ อยากให้หน่วยงานช่วยเหลือ ตอนนี้ลำบาก เงินทอง หนี้สินตั้งแต่ตอนปลูกยาง จะได้กรีดอยู่แล้วต้องมาล้มยางตัวเองแบบน้ำตาไหลไปด้วย ล้มยางไปด้วย ถ้าไม่ล้มจะโดนคดี เราก็ต้องตัดยางตัวเอง มันอัดอั้น รู้สึกชีวิตไม่ดีเลย เหมือนคนต่างประเทศ เหมือนต่างด้าวมาอาศัยเขาอยู่เลย” แสงเดือน กล่าว

วิศรุต ศรีจันทร์ ผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เสนอว่า แม้คดีความจะอยู่ในชั้นศาลฎีกา และหน่วยงานอ้างว่าไม่สามารถก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรมได้ แต่ก็ควรมีแนวทางเยียวยาผลกระทบอันเกิดจากนโยบายของรัฐ โดยเสนอให้ต้องเยียวยาทั้งค่าเสียโอกาสจากการทำกินในสวนยางพารา ค่าเสียหายที่เกิดจากการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนให้แสงเดือนสามารถกลับเข้าไปทำกินบนที่ดินเดิมได้

ต่อมา สิทธิชัย เสรีส่งแสง รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะประธานที่ประชุม กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังไม่มีหลักเกณฑ์สำหรับการเยียวยาผลกระทบแก่ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) หาหลักเกณฑ์ในการเยียวยาผลกระทบแก่แสงเดือน แล้วหารือกับพีมูฟ ส่วนกรณีที่ดินทำกินให้ผ่อนผันให้สามารถเข้าไปทำกินได้ในระหว่างรอคำพิพากษาศาลฎีกา

ข้อมูลจากพีมูฟ กรณีแสงเดือน ตินยอด เกิดขึ้นตั้งแต่ชุมชนบ้านแม่กวัก ถูกประกาศป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง ทับที่ทำกิน หลังจากนั้น กรมป่าไม้อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์และอยู่อาศัยได้โดยให้สิทธิ สทก.1 หลังจากนั้นมีการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ขณะที่ก็ยังมีการต่อใบอนุญาตทำกินให้ รวมถึงได้รับการส่งเสริมให้ปลูกยางพารา จนหลังมีคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ หรือ “นโยบายทวงคืนผืนป่า” เธอจึงถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทและป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง บังคับให้ตัดฟันยางพาราของตนเอง 2 ครั้ง ในปี 2556 และ 2558 ก่อนจะถูกดำเนินคดีในปี 2561 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าแสงเดือนทำกินในพื้นที่มาก่อนการประกาศเป็นป่าสงวนฯ และกำลังดำเนินตามนโยบาย ‘โฉนดชุมชน’ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 และยังได้รับการผ่อนผันตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 อย่างไรก็ตามศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น สั่งจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา ข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยเจตนา และเรียกค่าเสียหาย 4 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2561 รวมทั้งให้แสงเดือน ออกจากพื้นที่และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขณะนี้ได้นรับการประกันตัวออกมา และอยู่ระหว่างรอคำพิพากษาศาลฎีกา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net