UN ชี้คำสั่งประหารชีวิตนักกิจกรรมของรัฐบาลพม่าอาจนับเป็นอาชญากรรมสงครามหรือต่อมนุษยชาติได้

ประธานกลไกสืบสวนอิสระกรณีพม่าของยูเอ็นเผยว่าแผนการของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าที่จะนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้กับนักโทษการเมืองผู้ต่อต้านรัฐบาลนั้น อาจนับเป็นอาชญากรรมสงครามหรืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติได้ เนื่องจากการพิจารณาคดีที่ไม่โปร่งใสและไม่เป็นไปตามหลักสิทธิขั้นพื้นฐานและกฎหมายระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติเปิดเผยว่าแผนการของรัฐบาลทหารพม่าที่จะประหารชีวิตฝ่ายต่อต้านรัฐบาลนั้นน่าจะนับเป็นอาชญากรรมสงครามหรืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติได้

หลังจากที่เผด็จการทหารพม่าเปิดเผยเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่าพวกเขาจะทำการประหารชีวิตนักโทษการเมือง 4 ราย โดย 2 ใน 4 คนมี เพียวเซยาต่อ (Phyo Zeya Thaw) อดีต ส.ส. จากพรรคการเมืองสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยซึ่งเป็นพรรคของอองซานซูจี และ โค จิมมี (Ko Jimmy) นักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตยที่มีชื่อเสียงรวมอยู่ด้วย โดยมีการตั้งข้อกล่าวหาทั้งสองคนในโทษฐานก่อการร้าย และจะประหารด้วยการแขวนคอ

เพียวเซยาต่อ อดีต ส.ส. NLD (ซ้าย) และ โค จิมมี นักเคลื่อนไหวยุค 8888 (ขวา)

การใช้โทษประหารด้วยกระบวนการยุติธรรมครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในรอบ 30กว่าปีหลังจากพม่าเคยใช้โทษประหารครั้งล่าสุดเมื่อพ.ศ. 2533

ชาวพม่า-นานาชาติร้องกองทัพระงับโทษประหารนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยพม่า

Nicholas Koumjian ประธานกลไกสืบสวนอิสระกรณีพม่าของสหประชาชาติกล่าวว่าเขาได้ติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิด และจากข้อมูลที่มีอยู่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า มีการละเมิดระบบกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นจากน้ำมือของรัฐบาลเผด็จการพม่าเมื่อพิจารณาโดยอาศัยกฎหมายนานาชาติและสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่นการดำเนินคดีต่อนักโทษการเมืองเหล่านี้ด้วยวิธีปิดลับไม่เปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้

นอกจากนี้ Koumjian ยังกล่าวอีกว่าการสั่งลงโทษประหารชีวิตหรือแม้กระทั่งการคุมขังผู้คนในช่วงระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่งด้วยกระบวนการแบบที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดพื้นฐานของการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม อาจจะนับได้ว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หรืออาชญากรรมสงคราม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าสั่งลงโทษประหารชีวิตนักกิจกรรมต่อต้านเผด็จการทหารหลายสิบรายเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามกลุ่มต่อต้าน หลังจากที่เผด็จการทหารได้ยึดอำนาจในปี 2564 ถึงแม้ว่าพม่าจะไม่ได้ใช้โทษประหารชีวิตมานานหลายสิบปีแล้ว

Koumjian บอกว่าการพิจารณาคดีในแบบที่เป็นธรรมนั้นต้องเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ารับฟังการพิจารณาคดีได้อย่างเปิดกว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การใช้ข้ออ้างความมั่นคงของชาติหรือข้ออ้างอื่นๆ เพื่อจำกัดการเข้ารับฟังนั้นต้องมีการพิจารณาว่าข้ออ้างเหล่านั้นมีความชอบธรรมจริงหรือไม่อย่างเคร่งครัด แต่ในการดำเนินคดีต่อนักโทษการเมืองของพม่า ไม่มีกระบวนการเปิดให้ประชาชนร่วมรับฟังหรือได้แสดงรายละเอียดคำตัดสินต่อสาธารณะเลย ทำให้เกิดข้อกังขาว่าศาลพม่ามีความเป็นกลางและความอิสระจริงหรือไม่

ตัวกลไกสืบสวนอิสระกรณีพม่าของสหประชาชาติที่ Koumjian ทำงานเป็นประธานอยู่นั้นเป็นองค์กรที่ก่อตั้งโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติในปี 2561 เพื่อเก็บรวบรวมหลักฐานการก่ออาชญากรรมนานาชาติและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า โดยจะบันทึกข้อมูลพร้อมกับการเสนอเสนอความเห็นเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ก่ออาชญากรรม

 

เรียบเรียงจาก

Myanmar executions could be war crimes: UN, Channel News Asia, 21-06-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท