Skip to main content
sharethis

ซินหัวรายงานทางการจีนออกประกาศเตือนว่าจะลงโทษกลุ่มคนที่พวกเขาเรียกว่าเป็น "พวกเรียกร้องเอกราชของไต้หวันในระดับเดนตาย เนื่องจากเป็นพวกแบ่งแยกประเทศและยุยงปลุกปั่นให้เกิดการแบ่งแยกดินแดน" อีกทั้งยังตั้งบทลงโทษ "เหล่าหัวโจก" ของเรื่องนี้ให้ต้องโทษประหารชีวิต

 

26 มิ.ย. 2567 ในแนวทางปฏิบัติทางตุลาการฉบับใหม่ของรัฐบาลจีนมีการระบุโทษประหารชีวิตสำหรับคดีที่ "ร้ายแรงเป็นพิเศษ" ซึ่งหมายถึงกลุ่มผู้สนับสนุนระดับ "เดนตาย" ในเรื่องเอกราชของไต้หวัน

ทางการจีนมองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตัวเองและปฏิเสธที่จะละทิ้งความเป็นไปได้ในการใช้กำลังเพื่อบังคับรวมชาติกับไต้หวันซึ่งเป็นเกาะที่ปกครองตนเอง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทางการจีนได้ยกระดับการกดดันไต้หวันมากขึ้นและทำการซ้อมรบอยู่ละแวกเกาะไต้หวันเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาหลังจากการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของผู้นำไต้หวันคนใหม่ล่ายชิงเต๋อ

สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา ว่าทางการจีนได้ออกประกาศเกี่ยวกับพวกเรียกร้องอิสรภาพไต้หวันในระดับเดนตายโดยอ้างว่าเพราะเป็นการแบ่งแยกประเทศและยุยงปลุกปั่นให้เกิดการแบ่งแยกดินแดน

นอกจากนี้ในประกาศยังระบุอีกว่า จะมีโทษประหารชีวิตโดยเฉพาะต่อผู้ที่พวกเขาเรียกว่าเป็น "เหล่าหัวโจก" ของการเรียกร้องอิสรภาพไต้หวันโดยอ้างว่าบุคคลเหล่านี้ "ก่อให้เกิดอันตรายต่อรัฐและประชาชนร้ายแรงเป็นพิเศษ" สำหรับผู้นำการเรียกร้องรายอื่นๆ อาจจะต้องเผชิญกับโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีถึงตลอดชีวิต

เมื่อมีประกาศดังกล่าวนี้ออกมา ทางการไต้หวันก็โต้ตอบอย่างรวดเร็ว โดยบอกว่าทางการจีนไม่มีอำนาจตุลาการครอบคลุมถึงไต้หวัน และกฎหมายของจีน "ไม่มีพันธะผูกมัดกับประชาชน" ชาวไต้หวัน

คณะกรรมการกิจการจีนแผ่นดินใหญ่ของไต้หวัน (MAC) ระบุในแถลงการณ์ว่า "การกระทำของทางการจีนจะไม่เพียงแค่เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างประชาชนระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวันเท่านั้น ...  แต่ยังเป็นสิ่งที่ไม่ได้ส่งผลถึงพัฒนาการในทางที่ดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองฟากฝั่งด้วย"

 

"ดาบคมๆ ของปฏิบัติการทางกฎหมาย"

สื่อซินหัวระบุว่า คำประกาศของจีนมุ่งเป้าไปที่ผู้คนที่ก่อตั้ง "องค์กรแบ่งแยกดินแดน" หรือชี้นำให้ผู้คน "กระทำกิจกรรมที่แบ่งแยกรัฐ"

นอกจากนี้ทางการจีนยังต้องการมุ่งเป้าไปที่การพยายาม "เปลี่ยนสถานะทางกฎหมายของไต้หวันในฐานะส่วนหนึ่งของจีน", การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวันและประเทศอธิปไตย, ไปจนถึง "การบิดเบือนหรือกล่าวเท็จต่อความจริงที่ว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนในภาคส่วนของการศึกษา, วัฒนธรรม, ประวัติศาสตร์ และ สื่อ"

ซินหัวระบุว่ากฎหมายและบทลงโทษดังกล่าวนี้มีผลบังคับใช้ในจีนตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย. เป็นต้นไป

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงระดับสูงของจีน Sun Ping กล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวว่า แนวทางดังกล่าวนี้หมายความว่า "ดาบคมๆ ของปฏิบัติการทางกฎหมายจะเงื้อเอาไว้สูงเสมอ" ให้อยู่เหนือผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้แบ่งแยกดินแดน

Sun กล่าวว่ากฎหมายนี้ "ไม่ได้วางเป้าหมายเป็นเพื่อนร่วมชาติชาวไต้หวันส่วนใหญ่ แต่เพียงแค่วางเป้าหมายเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มเล็กมากๆ เท่านั้น"

ล่าย ผู้แทนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าที่ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันเมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้แสดงจุดยืนใกล้เคียงกับประธานาธิบดีคนก่อนหน้านี้คือไช่อิงเหวิน โดยบอกว่าไต้หวันนั้นเป็นประเทศเอกราชอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องประกาศอย่างเป็นทางการใดๆ

ทางการจีนได้แปะป้ายว่าล่ายเป็น "นักแบ่งแยกดินแดนที่อันตราย" โดยที่ทางการจีนไม่ได้มีการสื่อสารกันระหว่างบุคคลระดับสูงของรัฐบาลกับไต้หวันอีกเลยนับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ จีนยังคงวางกำลังกองทัพเรือและกองทัพอากาศรอบไต้หวัน ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมามีการซ้อมรบ 3 ครั้งโดยใช้ชื่อว่า Joint Sword-2024A ซึ่งอ้างว่าเป็นการทดสอบความสามารถในการยึดเกาะไต้หวัน

 

 

เรียบเรียงจาก

Death penalty for Taiwan independence advocates among China’s punishment guidelines, HKFP, 22-06-2024

https://hongkongfp.com/2024/06/22/death-penalty-for-taiwan-independence-advocates-among-chinas-punishment-guidelines

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net