Skip to main content
sharethis

กลุ่มสิทธิมนุษยชนเก็บข้อมูลสถิติการที่ทางการอิหร่านใช้โทษประหารชีวิตต่อประชาชนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพบว่ามีกรณีการลงโทษประหารชีวิตเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างน้อย 94 ในช่วงระหว่าง ม.ค.-ก.พ. ที่ผ่านมา โดยมีชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ในอิหร่านถูกลงโทษเช่นนี้หลายสิบกรณีจนทำให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่าเป็นการใช้โทษประหารในฐานะ "เครื่องมือการกดขี่ปราบปราม" ชนกลุ่มน้อยในอิหร่าน

แฟ้มภาพการประท้วงของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี Amir kabir เมื่อ 19 ก.ย.2565 (ที่มา: Wikipedia/Darafsh)

เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2566แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและศูนย์อับดอร์ราห์มัน โบรูมันด์ ต่อกรณีรัฐบาลอิหร่านสั่งประหารชีวิตผู้ต่อต้านที่พบว่าในระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ. 2566 ทางการอิหร่านได้สั่งลงโทษประหารชีวิตผู้ต่อต้านรัฐบาลไปอย่างน้อย 94 ราย ท่ามกลางข้อกล่าวหาเรื่องการกระทำทารุณทางเพศและการทรมาน

โรยา โบรูมันด์ ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์อับดอร์ราห์มัน โบรูมันด์ ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนในอิหร่าน กล่าวว่า "ทางการอิหร่านได้สั่งลงโทษการประหารชีวิตจำนวนมากในระดับที่น่าสะพรึง และการกระทำของทางการอิหร่านเทียบได้กับการละเมิดสิทธิในชีวิตและยังมีความพยายามอันน่าอัปยศที่ไม่เพียงแค่กดขี่กลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศให้หนักขึ้นเท่านั้น แต่ยังแพร่กระจายความกลัวออกไปว่าการต่อต้านรัฐบาลจะถูกโต้ตอบด้วยกำลัง ไม่ว่าจะบนท้องถนนหรือที่แดนประหารด้วย"

ในแถลงการณ์ระบุตัวเลขของผู้ที่ถูกประหารชีวิตเหล่านี้มีชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ในอิหร่านรวมอยู่ด้วยหลายสิบราย มีชาวอาหรับอาห์วาซีอย่างน้อย 1 ราย ชาวเคิร์ด 14 ราย ชาวบาลูชี 13 ราย ซึ่งองค์กรสิทธิมนุษยชนมองว่าเป็นการที่อิหร่านยกระดับการใช้โทษประหารชีวิตในการกดขี่ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์อย่างน่าสะพรึง

นอกจากนี้ในแถลงการณ์ของกลุ่มสิทธิมนุษยชนยังชี้ให้เห็นว่าการลงโทษประหารชีวิตเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีการดำเนินคดีแบบไม่เป็นธรรม และมีการทารุณกรรมผู้ต้องหา

แถลงการณ์ของแอมเนสตี้ระบุว่าเมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ทางการอิหร่านได้ทำการประหารชีวิตชายชาวอาหรับอาห์วาซี หนึ่งรายชื่อ ฮัสซัน อับยัต และชายชาวเคิร์ดอีกหนึ่งรายชื่อ อารัช อาห์มาดี โดยเป็นการประหารที่กระทำอย่างลับๆ หลังจากที่มีการดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมายังมีการตัดสินลงโทษชนกลุ่มน้อยในอิหร่านรายอื่นๆ ด้วยโทษประหารชีวิต ซึ่งบางส่วนถูกตัดสินว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการประท้วงในอิหร่านที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ก.ย. 2565

องค์กรสิทธิมนุษยชนระบุอีกว่าการตัดสินลงโทษประหารชีวิตชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ เป็นการลงโทษด้วยข้อหา "ทำตัวเป็นศัตรูกับพระเจ้า" จากการที่พวกเขา "เป็นสมาชิกกลุ่มผิดกฎหมาย" โดยอ้างถึงคดีที่ย้อนไปถึงปี 2560 นักกิจกรรมชาวอาหรับอาห์วาซีเปิดเผยว่าผู้ที่ถูกตัดสินประหารชีวิตเหล่านี้ถูกทารุณกรรมเพื่อบีบบังคับให้ "ยอมรับสารภาพ" นอกจากนี้ยังมีการกระทำทารุณทางเพศต่อพวกเขาด้วย เช่นการใช้เข็มแทงอวัยวะเพศของพวกเขา หรือการซ้อมทรมานจนทำให้ฟันหักจมูกหัก

ระหว่างเดือน ธ.ค. ถึง ม.ค. ที่ผ่านมา มีคนหนุ่มอย่างน้อย 6 รายที่เป็นชนกลุ่มน้อยชาวบาลูจีถูกตัดสินประหารชีวิตในคดีที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงในแคว้นซิสถานและจังหวัดบาลูจิสถาน มีหนึ่งรายที่เป็นคนพิการ พวกเขาถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุขว้างปาก้อนหินและวางเพลิงในการประท้วงเมื่อเดือน ก.ย. 2565 ซึ่งการตัดสินเช่นนี้นับเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายนานาชาติที่ห้ามไม่ให้มีการใช้โทษประหารชีวิตกับการกระทำผิดที่ไม่ได้ล้ำเส้น "อาชญากรรมร้ายแรงถึงที่สุด" อย่างการสังหารโดยเจตนา


 

สำหรับกรณีหลังนี้ก็มีการซ้อมทรมานและการทารุณทางเพศต่อผู้ต้องหาเพื่อบีบให้ "ยอมรับสารภาพ" เช่นกัน แอมเนสตี้ยังระบุอีกว่ามีชนกลุ่มน้อยในอิหร่านบางส่วนที่ถูกลงโทษประหารชีวิตด้วยข้อหาที่ฟังดูกำกวมอย่าง "การแพร่กระจายความเสื่อมทรามบนโลก" หรือ "เป็นศัตรูกับพระเจ้า" ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นไปตามหลักการความถูกต้องทางกฎหมายแต่อย่างใด

ไดอานา เอลตาฮาวี รองผู้อำนวยการภูมิภาคคะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือขององค์กรแอมเนสตี้กล่าวว่า "การประหารชีวิตในเชิงย่ำยีผู้คนเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นประจำท่ามกลางการใช้วิธีการทารุณกรรมเพื่อบังคับให้ 'รับสารภาพ' ในการตัดสินจำเลยด้วยกระบวนการดำเนินคดีที่ไร้ความเป็นธรรมอย่างยิ่ง"

เอลตาฮาวีเรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติต้องทำการกดดันรัฐบาลอิหร่านโดยทันทีเพื่อให้มีการเลื่อนการประหารชีวิตจากทางการ ให้ยกเลิกการตัดสินลงโทษในแบบที่ไร้ความเป็นธรรม และให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต รวมถึงให้ยกฟ้องข้อกล่าวหาทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมอย่างสันติ

เอลตาฮาวีขอร้องให้ประชาคมโลกดำเนินการโดยอาศัยขอบเขตอำนาจศาลสากลในการพิจารณาอย่างเป็นเหตุเป็นผลว่า มีเจ้าหน้าที่อิหร่านคนไหนบ้างที่มีส่วนรับผิดชอบในการก่ออาชญากรรมภายใต้กฎหมายนานาชาติ และทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงรูปแบบอื่นๆ


 


 

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net