ค่าแรงขั้นต่ำไทยไม่ขยับ 2 ปี หลัง 'รัฐประหาร 57' ราคาอาหารพุ่ง สูงขึ้น 55.9 เปอร์เซ็นต์

ประเทศแถบอาเซียนพากันปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แรงงานไทยกลับถูกแช่แข็งไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงมา 2 ปี อัตราค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดยังคงอยู่ที่ 336 บาทต่อวัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุว่า หลังรัฐประหาร 2557 จนถึงปี 2564 ประเทศไทยมีราคาอาหารเพิ่มขึ้น 55.9 เปอร์เซ็นต์ หรือเพิ่มขึ้นปีละ 6.5 เปอร์เซ็นต์

 

14 ก.ค. 2565 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเกาหลีใต้ประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มอีก 5 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้า เป็นชั่วโมงละ 9,260 วอน (262 บาท) หรือประมาณ 2,080 บาทต่อวัน เพื่อรองรับอัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานภายในประเทศ โดยให้มีผลบังคับใช้ในเดือน มกราคม 2566 เป็นต้นไป นอกจากเกาหลีใต้แล้ว ประเทศในแถบอาเซียนอีกหลายประเทศต่างประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา และลาว

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา สำนักนายกรัฐมนตรีของลาวประกาศขึ้นค่าแรงรายเดือนขั้นต่ำเป็น 1.2 ล้านกีบ หรือราว 2,800 บาท และในวันที่ 1 พ.ค. ปีหน้าจะขยับขึ้นเป็น 1.3 ล้านกีบ หรือราว 3,000 บาท เพื่อเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศให้กลับสู่ภาวะปกติ เนื่องจากในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาลาวมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 12.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 18 ปี

ขณะที่เวียดนามประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 6 เปอร์เซ็นต์ทั่วประเทศเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา (1 ก.ค. 2565) ถือเป็นการปรับขึ้นค่าแรงในรอบ 2 ปีครึ่ง ทำให้ตอนนี้ค่าจ้างขั้นต่ำของเวียดนามอยู่ที่ราว 234 บาทต่อวัน นายกรัฐมนตรีของเวียดนามได้ลงนามในข้อตกลงของสภาค่าจ้างแห่งชาติ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมระหว่างภาครัฐ ตัวแทนแรงงาน และตัวแทนนายจ้าง แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากภาคธุรกิจ เนื่องจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อของเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 2.86 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อน

กัมพูชาประกาศเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้แรงงานในภาคผลิตเสื้อผ้าและรองเท้า เดือนละ 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 67 บาท) เป็น 194 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 6,540 บาทต่อเดือน) มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมกราคม 2565

ในปี 2565 อินโดนีเซียมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มจากปีก่อน TODAY Bizivew รายงานว่า ขณะนี้อินโดนีเซียมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 220 บาทต่อวัน (เป็นค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนหาร 20 วัน)

ส่วนมาเลเซียเป็นประเทศที่มีการขยับเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำสูงเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียนในช่วงโควิด-19 โดยเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา (วันแรงงาน) มาเลเซียปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 35 เปอร์เซ็นต์ จาก 1,100 ริงกิต หรือราว 8,600 บาทต่อเดือน เป็น 1,500 ริงกิต หรือราว 12,000 บาทต่อเดือน เพื่อเร่งฟื้นตัวเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 โดยการปรับขึ้นครั้งนี้พิจารณาจากเส้นแบ่งความยากจน ค่าครองชีพ รวมไปถึงอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ

ขณะที่ประเทศไทยกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดอยู่ที่ 336 บาทต่อวัน ในจังหวัดชลบุรีและภูเก็ต ส่วนกรุงเทพฯ มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 331 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นค่าแรงขั้นต่ำที่มีการประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10) เท่ากับว่าประเทศไทยไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศมาเป็นระยะเวลา 2 ปีแล้ว

เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกำหนดอัตราค่าจ้างเฉพาะแรงงานตามมาตรฐานฝีมือ 3 กลุ่มอาชีพ 16 สาขา ในอัตรา 400-650 บาท เพื่อส่งเสริมให้ลูกจ้างที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในแต่ละสาขาอาชีพและแต่ละระดับได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม เป็นธรรม สอดคล้องกับทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ และการจ้างงานในตลาดแรงงาน

Rocket Media Lab เปิดเผยข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุว่า หลังรัฐประหาร 7 ปี นับตั้งแต่พฤษภาคม 2557 จนถึงปี 2564 ประเทศไทยมีราคาอาหารเพิ่มขึ้น 55.9 เปอร์เซ็นต์ หรือหากเทียบต่อปีเท่ากับเพิ่มขึ้นปีละ 6.5 เปอร์เซ็นต์ และเหตุผลที่ค่าแรงขั้นต่ำของไทยปรับขึ้นยาก เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ต้องผ่านคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี โดยคณะกรรมการเหล่านี้มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรีตามพระราชบัญญัติคุ้มครอง แรงงาน พ.ศ. 2541 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 มีปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการ มีผู้แทนฝ่ายรัฐบาล 4 คน ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน รวม 15 คน แน่นอนว่าทุกครั้งทีมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือเพิ่มค่าแรง จะต้องเห็นชอบ 2 ใน 3 เสียง จึงเกิดการตั้งคำถามว่าในกระบวนการนี้มีความเสมอภาคหรือไม่

ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดของประเทศไทยประจำเดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ 7.66 เปอร์เซ็นต์ ราคาสินค้าปรับตัวแพงขึ้นจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม กิริฎา เภาพิจิตร เคยทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสให้กับธนาคารโลก ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี ไทย ว่า “เทรนด์ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นจึงเห็นได้ตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามรัสเซียยูเครนแล้ว” และการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะธนาคารกลางต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดกั้นภาวะเงินเฟ้อ เป็นแนวคิดเดียวกับธนาคารกลางของสหรัฐฯ หรือ เฟด

ในวันแรงงานที่ผ่านมา ด้านเครือข่ายแรงงานหลายแห่งมีการเรียกร้องให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาททั่วประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท