Skip to main content
sharethis

รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ เผย กนศ. นัดประชุมก่อนหยุดยาววันสำคัญปลายเดือน คาดหวังชงให้เข้าร่วมความตกลง CPTPP ทั้งที่ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบที่อัพเดทอย่างรอบด้าน ตามที่เคยให้คำมั่นสัญญากับภาคประชาสังคม ในการหารือร่วมกันเมื่อ ธ.ค.64 พร้อมตั้งข้อสังเกตใช้แทคติคหยุดยาววันสำคัญเพื่อลดการเกาะติดของสื่อมวลชน และกระแสการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้ ครม.อนุมัติทันที

18 ก.ค.2565 เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'FTA Watch' โพสต์รายงานข่าวว่า กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) แสดงความกังวลถึงกรณีที่หลังการเข้าหารือของ ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) พร้อมคณะ กับกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) และองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม #NoCPTPP ที่ ดอนเคยรับปากภาคประชาสังคมไว้ว่า จะยังไม่นำการเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกของความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP เข้าครม. จนกว่าจะมีการศึกษาที่ชัดเจนและครอบคลุมถึงผลกระทบทุกฝ่ายอย่างแท้จริงรอบด้านตามข้อกังวลของภาคประชาสังคม แต่ กนศ.จะประชุมเพื่อเตรียมชงครม. 27 ก.ค.นี้

"ผ่านมาครึ่งปี รองนายกฯดอน กนศ. ไม่มีการขยับเรื่องงานศึกษาฯที่ชัดเจนและเป็นปัจจุบันถึงข้อดีและผลกระทบทางลบของ CPTPP ต่อประเทศไทย

ทั้งที่ นี่คือความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในประเด็นการค้าและการลงทุนเปรียบเทียบกับผลกระทบต่อประเทศ ในการตัดสินใจทางนโยบายที่สำคัญ จึงอยากถามว่า รองนายกฯดอนยังจำคำพูดของตัวเองได้หรือไม่ แต่ตอนนี้มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่า รองนายกฯดอน เรียกประชุม กนศ. วันพุธที่ 27 ก.ค.นี้ เพื่อเห็นชอบให้เสนอครม.ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วม CPTPP นั่นเท่ากับท่านรองนายกฯผิดสัญญาประชาคม"

ยิ่งไปกว่านั้น จนถึงขณะนี้ ทางกระทรวงพาณิชย์ ยังไม่ได้ทำตามที่นายกรัฐมนตรีมอบให้ประสานงานกับสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.)ในประเด็นความกังวลที่ประเทศไทยจะเข้าร่วม CPTPP เนื่องจาก ยังมีความเห็นต่างในเรื่องผลได้ทางเศรษฐกิจและผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนไทยทั้งประเทศ อีกทั้งอาจทำลายความพยายามของรัฐบาลในการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) หากเข้าร่วมความตกลง CPTPP ด้วยความไม่รอบคอบและไม่ได้มองถึงประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่กลับนำผลประโยชน์ทางธุรกิจของกลุ่มคนส่วนน้อยของประเทศมาพิจารณาเพื่อเข้าร่วมแทน

รองประธานเอฟทีเอว็อทช์ตั้งข้อสังเกตว่า การเลือกช่วงเวลาการประชุม กนศ.ก่อนหน้าช่วงหยุดยาววันสำคัญ เป็นไปเพื่อลดกระแสการตรวจสอบของสื่อและภาคประชาสังคมหรือไม่ เพราะใกล้เคียงกับแทคติคที่หน่วยราชการบางแห่งเคยใช้ในการผลักดันการแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชในช่วงพระราชพิธี ปี 2560 ทำให้กว่าสื่อมวลชนและสังคมตื่นตัวติดตามก็ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปแล้ว

"ปัญหาเศรษฐกิจที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ต้องมีการศึกษาที่ชัดเจนว่า การเข้าร่วม CPTPP จะเป็นคำตอบได้จริงหรือไม่ แม้ว่าทางเลขาธิการสภาพัฒน์จะออกมาสนับสนุนหลายต่อหลายครั้ง แต่ถ้าไปดูในรายงานการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลกระทบ CPTPP ทีมงานของสภาพัฒน์เคยแสดงความกังวลต่อผลกระทบทางลบต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

เอฟทีเอ ว็อทช์และเครือข่ายที่เป็นตัวแทนของประชาชนกว่า 400,000 คนที่ร่วมลงชื่อคัดค้านการที่ไทยจะเข้าร่วมความตกลง CPTPP จึงขอเรียกร้องให้รองนายกฯดอน รักษาคำมั่นสัญญาสนับสนุนให้เกิดงานศึกษาผลกระทบ CPTPP อย่างรอบด้านและเป็นปัจจุบัน รวมทั้งทำกรอบการเจรจาที่ต้องยืนยันในหลักการที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯเสนอแนะที่ต้องเกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว หากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง"

ทั้งนี้ ในการหารือเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.64 ภาคประชาชนได้ยื่นจุดยืน 4 ข้อซึ่งมาจากข้อเสนอแนะจากรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฎร และข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภคต่อประธาน กนศ.ดังนี้

หนึ่ง การเข้าร่วมความตกลง CPTPP คือการยอมรับข้อตกลงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ซึ่งมีผลกระทบด้านลบต่อเกษตรกร ทั้งราคาเมล็ดพันธุ์ที่จะแพงขึ้น สิทธิเกษตรกรที่ถูกลิดรอน และการทำลายความหลายหลากทางชีวภาพ

สอง การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะทำให้ประเทศไทยต้องยอมรับการนำเข้าสินค้าที่ปรับสภาพเป็นของใหม่ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ และขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะสารพิษที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ให้หนักหน่วงขึ้นไปอีก

สาม การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชนฟ้องร้องรัฐบาล ถ้ารัฐบาลออกหรือบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของนักลงทุนต่างชาติ แม้ว่าจะเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน โดยจะส่งผลให้รัฐบาลต้องระงับการออกหรือบังคับใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน และชดเชยค่าเสียหายจำนวนมหาศาลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชน โดยใช้เงินภาษีของประชาชนจ่าย

และสุดท้าย ข้อบทในความตกลง CPTPP ที่เกี่ยวข้องกับระบบทรัพย์สินทางปัญญา จะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อระบบสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากจะทำให้ยารักษาโรคแพงขึ้นอย่างมหาศาล จากงานวิจัยการประเมินผลกระทบของ CPTPP ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นเกือบ 400,000 ล้านบาท เพราะประเทศต้องพึ่งพายานำเข้าและมีสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 71 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 89 และอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศจะมีส่วนแบ่งตลาดลดลงมากกว่า 100,000 ล้านบาท แน่นอนว่านี่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงโดยตรงต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นผลงานอวดชาวโลกของไทย

และย้ำว่า เอฟทีเอ ว็อทช์ และเครือข่ายฯ จะยังคงจับตามองการเคลื่อนไหวของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ในการพิจารณาศึกษาผลกระทบของ CPTPP อย่างใกล้ชิดต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net