Skip to main content
sharethis
  • "เป็นแค่ตราประทับรับรองให้กับการทุจริตของภาครัฐ"  "ปกรณ์วุฒิ ก้าวไกล" เสนอตัดงบ 86 ล้าน "ศูนย์ต้านข่าวปลอม"  ชี้ 2 สาเหตุ คือ ไม่เป็นกลางและไม่มีมาตรฐาน - พร้อมระบุ 3 ปัญหาสำคัญคือ 1.ใช้ปิดปากประชาชน 2.เลือกปฏิบัติ และ 3.เผยแพร่คำโกหกของฝ่ายรัฐบาล
  • งงจัดงบกระทรวงคมนาคมแทบไม่เปลี่ยนแปลง - ชี้งบซ่อมถนน ทั้งกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทยังทุ่มให้บุรีรัมย์ - สุรินทร์ แต่จังหวัดอื่นถูกปรับลง ลั่นเลิกเสียทีระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา

 

19 ส.ค.2565 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ผู้สงวนความเห็น ร่วมอภิปรายในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 มาตรา 16 งบประมาณกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อขอตัดงบประมาณของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ทั้งหมด กว่า 86 ล้านบาท โดยระบุว่า มี 2 สาเหตุ และ 3 ปัญหา ที่เราไม่ควรให้งบกับศูนย์ดังกล่าว

สาเหตุที่ 1. คือ ความไม่เป็นกลาง ขนาดที่องค์กรระดับนานาชาติไม่ให้การรับรอง หรือองค์กรอื่นๆ ที่สร้างฐานข้อมูลเพื่อรวบรวมการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั่วโลก หรือ Fact checker ทั้งหมด 378 หน่วยงาน ก็ไม่นับรวมศูนย์ที่จัดตั้งโดยรัฐบาลไทยนี้เข้าไปด้วย ซึ่งหน่วยงานไทยที่อยู่ในฐานข้อมูลนี้มีเพียง ชัวร์ก่อนแชร์ และ AFP Thailand เท่านั้น และสาเหตุที่หน่วยงานเหล่านี้ไม่ให้ความเชื่อถือศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมที่จัดตั้งโดยรัฐบาล ก็เพราะหลักการที่สำคัญที่สุดในการเป็นองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริง คือ ความเป็นกลาง และสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เลยในมาตรฐานสากลของคำว่าความเป็นกลางนี้ คือ การอยู่ใต้อำนาจของรัฐ

สาเหตุที่ 2. คือ ความไม่มีมาตรฐาน ซึ่งกระบวนการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมนั้น ไม่สามารถเรียกตัวเองว่าเป็น Fact Checker ได้ด้วยซ้ำ ต่างจากกระบวนการทำงานของ AFP Thailand ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เพราะในกระบวนการที่จะตรวจสอบข่าวปลอมแต่ละข่าว หลังจากที่ใช้เครื่องมือหาข่าวที่อาจเป็นข่าวปลอมแล้ว กระบวนการที่สำคัญที่สุด คือการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง โดยมีขั้นตอนและใช้เครื่องมือหลายๆ อย่างเพื่อตรวจสอบให้มั่นใจว่าข่าวนั้นเป็นข่าวจริงหรือปลอม แต่สำหรับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมนั้น กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเดียว คือ สอบถามไปที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้คำตอบมาแบบไหนก็เผยแพร่ไปตามนั้น ไม่มีการตรวจสอบกับผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ นอกจากนี้ในหลายๆ ครั้ง การตรวจสอบเรื่องใดสักเรื่องก็ไม่มีที่มาที่ไป ไม่รู้ไปเอาต้นตอมาจากไหน ไม่มีเกณฑ์ใดๆ ทั้งสิ้น อย่างที่เผยแพร่บอกว่าเป็นข่าวจริง ก็เหมือนเป็นสิ่งที่มาโฆษณานโยบายให้กระทรวงต่างๆ ซึ่งควรเป็นหน้าที่ของกรมประชาสัมพันธ์

ปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ด้วย 2 สาเหตุ คือ ความไม่เป็นกลาง และความไม่มีมาตรฐานนี้ ก็นำมาซึ่ง 3 ปัญหาของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม  คือ ปัญหาที่ 1. มีไว้เพียงเพื่อดำเนินคดีปิดปากคน ซึ่งมีงานวิจัยอย่างน้อยสามฉบับในช่วงปีที่แล้วให้ความเห็นตรงกันว่า ศูนย์ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในเครื่องมือเสริมสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลในการจัดการปัญหาข่าวปลอมด้วยการจำกัดเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งสื่อ เพื่อความมั่นคงของรัฐบาล และถ้าเราไปดูในเอกสาร TOR ของศูนย์ก็จะพบว่าบุคลากร  20% ถูกใช้ไปเพื่อทำหน้าที่จัดเก็บหลักฐานสนับสนุนงานคดี และก็มีการประกาศอย่างภาคภูมิใจบนเว็บไซต์ถึงผลงานที่สามารถดำเนินคดีกับประชาชนได้นับร้อยๆ รายด้วย

ปัญหาที่ 2. เลือกปฏิบัติว่าจะตรวจสอบเรื่องใดหรือทำเงียบในเรื่องใด เช่น กรณีที่สำนักข่าว The Matter ได้แจ้งไปยังศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมทางช่องทางร้องเรียนออนไลน์  ให้ตรวจสอบข้อมูลในเพจเฟซบุ๊ก ศบค. 'เรื่องแผนการส่งมอบวัคซีน COVID-19 ของ AstraZeneca ที่ว่าจะส่งให้ประเทศไทย เดือนละ 6-10 ล้านโดส' ว่า ‘อาจไม่เป็นความจริง’ เพราะในสัญญาที่รัฐบาลไทยทำไว้กับ AstraZeneca ไม่ได้กำหนดตัวเลขการส่งมอบดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ แต่คำขอดังกล่าวกลับไม่ได้รับการตอบรับ เมื่อได้สอบถามสำนักปลัดกระทรวงดิจิทัลใน กมธ. ก็ได้รับคำตอบว่า ศูนย์ต้องตรวจสอบไปยังกระทรวงสาธารณสุข ปัญหาคือบางครั้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ส่งข้อมูลกลับมา แต่พอถามกระทรวงสาธารณสุข ก็ยืนยันว่าให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลทุกครั้งที่ได้รับการประสานมา ทั้งนี้ ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายโกหก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือความบกพร่องต่อหน้าที่ของศูนย์

ปัญหาที่ 3. เผยแพร่คำโกหกของหน่วยงานราชการ เช่น กรณีที่ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจการทุจริตโครงการก่อสร้างแท่นประดิษฐานอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 9 ในค่ายทหารที่ลพบุรี และศูนย์ได้เผยแพร่ว่า ข่าวที่บอกว่ามีการใช้งบประมาณสร้างแท่น 60 ล้านบาทนั้น เป็นข่าวบิดเบือน พร้อมให้ข้อมูลว่าโครงการนี้ใช้เงินที่ได้จากการบริจาค แต่ข้อเท็จจริงตามเอกสารของกองทัพเอง โครงการนี้มีการจัดซื้อจัดจ้างและประกาศผู้ชนะการประกวดราคาชัดเจน ซึ่งนี่แปลว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้เผยแพร่ความเท็จลงในเว็บไซต์ของตัวเอง และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการแก้ไขข้อมูลนี้แต่อย่างใด

"นี่คือการทำงานที่ไม่มีขั้นตอนที่เป็นมาตรฐาน ไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากข้อมูลที่ได้รับมา รับข้อมูลมาจากหน่วยงานอย่างไรก็เผยแพร่อย่างนั้น ทำให้สุดท้ายศูนย์นี้ก็เป็นได้แค่ ตราประทับรับรองให้กับการทุจริตของภาครัฐ เท่านั้น ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ ผมจึงขอย้ำเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมไม่ควรดำรงอยู่ และไม่ควรได้งบประมาณจากภาษีของประชาชนแม้แต่บาทเดียว ผมจึงขอสงวนความเห็นในการตัดงบกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในส่วนของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมทั้งหมด 86,033,700 บาท" ปกรณ์วุฒิ กล่าว

งงจัดงบกระทรวงคมนาคมแทบไม่เปลี่ยนแปลง - ชี้งบซ่อมถนน ทั้งกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทยังทุ่มให้บุรีรัมย์ - สุรินทร์ แต่จังหวัดอื่นถูกปรับลง ลั่นเลิกเสียทีระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา

สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 มาตรา 15 งบประมาณกระทรวงคมนาคม 1.8 แสนล้านบาท ขอแปรญัตติปรับลด 5.5 % โดยระบุว่า ปัญหาในการจัดงบยังคงเป็นรูปแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ทั้งที่ในวาระแรกและในชั้นกรรมาธิการก็ได้มีการชี้ให้เห็นปัญหา แต่ปรากฏว่าเมื่อมาสู่วาระ 2 ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เพราะ กมธ.เสียงข้างมากไม่ฟังเหตุผล ไม่นำไปปรับปรุงแก้ไข สิ่งที่เกิดขึ้นยังคงเป็นเหมือนวาระแรกคือ “บุรีรัมย์นำโด่ง” ได้งบในการซ่อมถนน โดยกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท มากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 4.29 เท่า ตามมาด้วยสุรินทร์ 3.58 เท่า ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ กมธ.ต้องตอบ และไม่ต้องอ้างว่ารัฐมนตรีตอบแล้ว เพราะท่านรัฐมนตรีตอบไม่ตรงที่ถาม เพราะถามงบซ่อมปีนี้ กลับตอบงบสร้างย้อนหลัง 10 ปี แถมเลือกมาให้ดูโดยเทียบบุรีรัมย์กับจังหวัดใหญ่ๆ อย่าง เชียงใหม่ อุดรธานี ถามเรื่องงบซ่อมถนน ซึ่งทั่วประเทศก็พังคล้ายกันหมด แล้วทำไมไปลงอยู่แต่กับที่บุรีรัมย์

"สิ่งที่เรากำลังพิจารณากันอยู่นี้คืองบพื้นฐาน ซึ่งคิดเป็น 32% ของงบประมาณทั้งหมดที่กระทรวงคมนาคมจะได้รับในปีนี้ ตาม 'แผนงานพื้นฐานด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน' มูลค่า 58,065 ล้านบาท และงบก้อนนี้จากวาระที่ 1 มาถึงวันนี้ในวาระที่ 2 ปรับลดไปเพียงแค่ 89 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.15% เท่านั้น โดยกรมทางหลวงปรับลด 0.07% ขณะที่กรมทางหลวงชนบทลด 0.15%  และเมื่อไปดูในส่วนที่เป็นประเด็นปัญหาคือ งบซ่อมถนน ของ กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ปรากฏว่าถูกปรับลดไปเพียง 0.05% แถมไปตัดผิดที่ด้วย คือ บุรีรัมย์นำโด่งแต่ไม่โดนตัด แต่กลับไปตัดที่นครราชสีมา, ชลบุรี, ชัยภูมิ, นนทบุรี, บึงกาฬ, ราชบุรี, เลย, สตูล และขอนแก่น แต่อย่างไรก็ตามภาพรวมแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลย เพราะตัดไปเพียง 0.05% จาก 4.06 หมื่นล้าน สำหรับงบซ่อมถนน"

สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ยังมีอีกหลายจังหวัดที่โดนดูดทรัพยากรไปให้กับ “ชิดชอบบุรี” ดังที่ได้เคยอธิบายไปแล้วในตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า “ชิดชอบบุรีมีก่อนเสมอ เหลือจึงแบ่งให้ชาวบุรีรัมย์” ซึ่งนี่เป็นรอบที่ 4 เป็นปีสุดท้ายของสภาแห่งนี้แล้ว อยากเชิญชวนเพื่อนสมาชิก มาช่วยกันคิดช่วยกันเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ดีกว่าเดิม เปลี่ยนระบบจากมือใครยาวสาวได้สาวเอา มาสู่กระจายอำนาจและเม็ดเงินสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจัง โดยมีหลักเกณฑ์การกระจายงบที่ชัดเจน ดังนั้น ในส่วนของงบประมาณรายจ่ายของกระทรวงคมนาคม พรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมาก และอยากฟังคำชี้แจงว่า ทำไมจึงปล่อยให้บุรีรัมย์ยังคงนำโด่งอย่างน่าเกลียดต่อไป กมธ.ซึ่งมาจากพื้นที่อื่นรู้สึกอย่างไรและจะไปตอบประชาชนในพื้นที่ของท่านอย่างไร เพราะว่าถนนในพื้นที่ของท่านก็พังเหมือนกันแต่ท่านยอมให้บุรีรัมย์นำโด่ง เลิกเสียทีกับการสูบเลือกจากคนทั้งแผ่นดินเพื่อเอาไปลงพื้นที่ของตัวเอง ต้องแก้ระบบการจัดสรรงบประมาณ ไม่เอาแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาอีกต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net