Skip to main content
sharethis

'ศิริกัญญา ตันสกุล' ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตปิดดีล 'ทรู-ดีแทค' หลัง 'กสทช.' ลบโพสต์ 5 ข้อเท็จจริงควบรวม - ด้านดีแทคแจ้งตลาดหลักทรัพย์วานนี้ (26 ส.ค.) เดินหน้าควบบริษัท ตั้งเป้าเสร็จภายในปี 2565  

27 ส.ค. 2565 มติชนออนไลน์ รายงานว่าศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Sirikanya Tansakun – ศิริกัญญา ตันสกุล ถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เปิดเผย 5 Facts กรณีควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรูและดีแทคว่า

[เปิดภาพอินโฟกราฟิกที่ กสทช.สั่งลบ!! 5 ข้อเท็จจริง กรณีควบรวมทรู ดีแทค]

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. เพจ กสทช. ได้เผยแพร่ชุดภาพอินโฟกราฟิก 5 ข้อเท็จจริง กรณีควบรวม ทรู ดีแทค แต่เมื่อเข้าไปเช็กล่าสุด กลับถูกลบไปแล้ว พร้อมกับการให้ข่าวจากทางฝั่งทรู-ดีแทค ที่ยื่นหนังสือทักท้วงว่าไม่เป็นกลาง ไม่ครบถ้วน

ดิฉันจึงขอนำภาพที่ถูกลบไปแล้วมาให้ได้พิจารณากันว่า ไม่เป็นกลางอย่างไร ไม่ครบถ้วน หรือไม่อย่างไร มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ เช่น ระยะเวลา และเคสการพิจารณาการควบรวมในต่างประเทศ รวมไปถึงสรุปสาระสำคัญรายงานอนุกรรมการทั้ง 4 ชุด

ส่วนตัวดิฉันดูแล้วก็รู้สึกว่าเป็นกลางอย่างมาก แถมยังเป็นข้อเท็จจริงล้วนๆ !
แต่ทางบอร์ด กสทช. ก็รับลูก และมีคำสั่งให้ลบโพสต์นี้

เรื่องน่าประหลาดใจยังไม่หมดแค่นี้ บอร์ด กสทช.เพิ่งมีมติ 3:2 ยื่นกฤษฎีกาให้ตีความอำนาจตนเองเป็นรอบที่ 2

หลังจากถูกปฏิเสธในรอบแรก ด้วยเหตุผลว่าสำนักงานมีอำนาจตีความได้เองอยู่แล้ว และเรื่องนี้เป็นคดีอยู่ในศาลปกครอง ตามกฎหมายแล้วคณะกรรมการกฤษฎีกาจะไม่พิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายในเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล เว้นแต่จะเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี ได้มีมติหรือคำสั่งเป็นการภายในให้พิจารณา

กสทช.จึงสบช่อง ตรงวรรคท้าย “เว้นแต่จะเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี ได้มีมติหรือคำสั่งเป็นการภายในให้พิจารณา”

ยื่นหนังสือถึงรักษาการนายกฯ ให้ออกคำสั่ง 
รักษาการนายกฯ ก็เซ็นคำสั่งให้ทันที แว่วมาว่าสนิทสนมกับประธานเป็นการส่วนตัว

ที่ต้องตีความกันใหม่เพราะบอร์ดอยากจะเห็นต่างจากศาลปกครองหรือไม่ เพราะศาลเห็นว่า ประกาศ กสทช.ว่าด้วยมาตรการควบรวมฯปี 2561 ประกอบประกาศ กสทช.ว่าด้วยมาตรการป้องกันการผูกขาดปี 2549 นั้น ได้ให้อำนาจ กสทช.ที่จะพิจารณา “อนุมัติ” หรือไม่อนุมัติการขอควบรวมธุรกิจได้อยู่แล้ว

สรุปคือ ศาลปกครองเห็นว่าบอร์ด กสทช.มีอำนาจอนุมัติ ไม่ใช่แค่รับทราบ ซึ่งตรงกับความเห็นตามรายงานอนุกรรมการด้านกฎหมายที่ออกมาก่อนหน้า

แต่คงยังไม่ได้ดั่งใจ จึงตั้งคณะอนุฯที่ปรึกษากฎหมายขึ้นมาอีก 1 ชุด ระดมนักกฎหมายเบอร์ใหญ่ชื่อดังจากทั่วฟ้าเมืองไทย ทั้งบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สมคิด เลิศไพฑูรย์ สุรพล นิติไกรพจน์ จรัญ ภักดีธนากุล
และข้อเสนอแนะเรื่องยื่นกฤษฎีกาผ่านนายกฯก็มาอนุฯชุดนี้นี่เอง

ดีแทคแจ้งตลาดหลักทรัพย์เดินหน้าควบบริษัท ตั้งเป้าเสร็จภายในปี 2565

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2565 ว่าบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ส่งจดหมายถึงตลาดหลักทรัพย์ หลังประชุมคณะกรรมการบริษัทนัดพิเศษ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 โดยได้ลงมติ อนุมัติการจัดประชุมผู้ถือหุ้นร่วมระหว่างผู้ถือหุ้นดีแทค และทรู ครั้งที่ 1 ในวันที่ 3 ตุลาคม 2565 เพื่อพิจารณาขยายเวลาการจัดประชุมผู้ถือหุ้นร่วมระหว่างผู้ถือหุ้นดีแทค และทรู เพื่อพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการควบบริษัท

ทั้งนี้ ตามประกาศของ กสทช. ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการรวมธุรกิจ และแนวปฏิบัติในการพิจารณาการรวมธุรกิจที่ผ่านมา กสทช. พึงจะพิจารณารายงานการรวมธุรกิจดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่ยื่นรายงานการรวมธุรกิจ แต่เนื่องจาก กสทช. ยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณาการรวมธุรกิจ จึงทำให้ ดีแทค และ ทรู อาจไม่สามารถจัดประชุมผู้ถือหุ้นร่วมเพื่อพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการควบบริษัท ภายใน 6 เดือนนับจากวันที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2565 ของดีแทค และที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2565 ของทรู มีมติอนุมัติการควบบริษัท

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่า “บริษัทพร้อมให้ความร่วมมือ ตามประกาศ ของ กสทช. เกี่ยวกับการรวมธุรกิจ และแนวปฏิบัติในการพิจารณาการรวมธุรกิจที่ผ่านมาของ กสทช. ซึ่งได้ยื่นรายงานนับแต่เดือนมกราคม บริษัทคาดว่ากระบวนการควบรวมทั้งหมดนี้จะแล้วเสร็จภายในปี 2565 ซึ่งการรวมธุรกิจครั้งนี้จะทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยมีการแข่งขันที่เท่าเทียมมากขึ้น และมีผู้ประกอบการที่แข็งแกร่งขึ้นในการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่

อย่างไรก็ตาม หากประเมินจากกระบวนการพิจารณาที่ล่าช้าของ กสทช. อาจมีผลกระทบต่อความคืบหน้าของการก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยี-โทรคมนาคมใหม่ และความล่าช้าอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลให้ผู้บริโภค ธุรกิจ และเส้นทางดิจิทัลในประเทศไทย ต้องเสียโอกาสไปด้วย ทั้งนี้ ทั้งดีแทคและทรูยังคงตั้งเป้าที่จะควบรวมกิจการให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างประโยชน์และคุณค่าเพิ่มให้แก่ผู้บริโภคประชาชนชาวไทย ภาคธุรกิจ สังคมและประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน” 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net