Skip to main content
sharethis

เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด-ยโสธร จัดเวทีวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตร ชี้เพราะการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของรัฐ ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะท่วม คาดว่าอาจจะขยายวงกว้างและแช่ขังนาน แนะเร่งรีบระบายน้ำอย่างเร่งด่วนเพื่อลดความเสี่ยงของพื้นที่น้ำท่วม เร่งดำเนินการเยียวยาให้กับชาวบ้านที่เรียกร้องสิทธิ์จากผลกระทบการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร ที่เรียกร้องมา 14 ปี

28 ส.ค. 2565 เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่า เวลาประมาณ 09.00 น. ณ วัดบ้านอีโก่ม ต.เทอดไทย อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร ประมาณกว่า 100 คน ได้จัดเวทีวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตร เนื่องจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของรัฐ ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะท่วม คาดว่าอาจจะขยายวงกว้างและแช่ขังนาน ทั้งยังร่วมกันให้ความเห็นว่า “การบริหารจัดการน้ำของรัฐผิดพลาด ชะตากรรมจึงตกกับเกษตรกรลุ่มน้ำชี” ตลอดจนมีข้อเสนอต่อรัฐเร่งด่วนคือ ให้เร่งรีบระบายน้ำอย่างเร่งด่วนเพื่อลดความเสี่ยงของพื้นที่น้ำท่วม เร่งดำเนินการเยียวยาให้กับชาวบ้านที่เรียกร้องสิทธิ์จากผลกระทบการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร ที่เรียกร้องมา 14 ปี

นายนิมิต หาระพันธ์ อายุ 63 ปี ตัวแทนคณะกรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ยโสธร กล่าวว่าการประชุมวันนี้เพื่อทำความเข้าใจกับตัวแทนคณะกรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างร่วมกันระหว่าง จ.ร้อยเอ็ด และ จ.ยโสธร ในกระบวนการแก้ไขปัญหาจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร น้ำชี ที่เรียกร้องมาเป็นระยะเวลา 14 ปี ตลอดจนการการวิเคราะห์การบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานรัฐที่ยังผิดพลาด หลังจากมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำชีตอนล่างจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากแต่ละหน่วยงานยังไม่มีแผนในการบริหารจัดการ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วม ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่ถูกกระทำมาโดยตลอด จึงทำให้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงกระบวนการในการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด

ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก อายุ 43 ปี ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร กล่าวว่า หลังจากติดตามสถานการณ์น้ำท่วม สามารถที่จะวิเคราะห์ปรากฏการณ์น้ำท่วมพื้นที่การเกษตรในแม่น้ำชีวันนี้ ก็เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าการบริหารจัดการน้ำของรัฐนั้นไร้ประสิทธิภาพ ทำให้พื้นที่นาของชาวบ้านกลายเป็นพื้นที่เสี่ยง และน้ำไม่น่าจะท่วมเร็วขนาดนี้ซึ่งท่วมเร็วกว่าปี 2564 ที่ผ่านมา ปัจจุบันสถานการณ์น้ำท่วมบริเวณพื้นที่การเกษตรริมแม่น้ำชี บริเวณลำน้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำชี บริเวณลำห้วยไหลลงแม่น้ำชี จ.ร้อยเอ็ด และ จ.ยโสธร เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้นและสร้างความวิตกกังวลเป็นอย่างมากต่อชาวบ้านลุ่มน้ำชี เนื่องจากน้ำได้เอ่อเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรกว่าพันไร่เป็นระยะเวลา 5-7 วันแล้ว และปริมาณน้ำก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและอาจจะเพิ่มขึ้นและขยายวงกว้างในวันข้างหน้า ก่อให้เกิดความเสียหายให้กับพื้นที่การเกษตรที่ได้ลงทุนเพาะปลูกยิ่งเป็นการซ้ำเติมวิกฤตปากท้องของชาวนาในลุ่มน้ำชีเพิ่มขึ้นไปอีก ในขณะบริเวณพื้นที่ฝนตกไม่มากน้ำไม่สามารถที่จะหลากท่วมขนาดนี้  ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าการบริหารจัดการน้ำของรัฐผิดพลาดและไร้ประสิทธิภาพ 

ปรากฏการณ์น้ำท่วมในแม่น้ำชีตอนล่างที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทางเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร มองว่าสาเหตุของปัญหาหลักคือ 1.การสร้างเขื่อนขวางกั้นแม่น้ำชี โดยเฉพาะ เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร  ตั้งแต่สร้างเสร็จจนถึงปัจจุบัน 2.โครงสร้างของเขื่อน เช่น เสาเขื่อน พนังกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ 3.การบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของรัฐที่ไม่สัมพันธ์กับฤดูกาลหรือกล่าวให้เข้าใจง่ายคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เข้าใจระบบนิเวศของพื้นที่  ตั้งแต่ยังไม่มีการสร้างเขื่อนนั้นแม่น้ำชีมีหน้าที่ในการพร่องน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก จากลำน้ำสาขา ก่อนไหลลงแม่น้ำมูน แต่ปัจจุบันแม่น้ำชีไม่ได้ทำหน้าที่ในการพร่องน้ำตามฤดูกาลเมือนเดิม หลังจากมีการสร้างเขื่อน เพราะเขื่อนแต่ละตัวได้ถูกหน่วยงานรัฐโดยเฉพาะกรมชลประทานเป็นหน่วยงานที่ดูแล และไม่สามารถที่จะคาดการล่วงหน้าเพื่อพร่องน้ำออกก่อนเพื่อรองรับน้ำใหม่ที่กำลังมา กลับมาพร่องน้ำในช่วงที่แต่ละเขื่อนแต่ละพื้นที่ต่างมีปริมาณน้ำมากระบายน้ำมาพร้อมกัน จึงทำให้น้ำได้เอ่อท่วมพื้นที่การเกษตรริมแม่น้ำชี พื้นที่การเกษตรริมกุด ริมห้วยที่ไม่สามารถไหลลงแม่น้ำชีได้  4.การขุดลอกกุด แก่ง ห้วย ที่เรามักจะพบว่าการขุดลอกเหล่านี้ได้นำเอาดินมาสร้างคันคูล้อมรอบ โค่นต้นไม้ริมน้ำที่ช่วยยึดตลิ่งและช่วยดูดซับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก  จึงเป็นการเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำ ขวางกั้นทางเดินน้ำเดิมก่อให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มขึ้นอีก 5.การสร้างหรือขยายถนนที่ไม่คำนึงถึงเส้นทางน้ำไหลหลากเดิม แต่ไปสร้างสะพานแคบ หรือบางพื้นที่ไปปิดกั้นเส้นทางน้ำเดิม

หลังจากนั้น นายจันทรา จันทาทอง อายุ 47 ปี ตัวแทนกรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร กล่าวว่าอย่างไรก็ตามปัญหาน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรแม่น้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเขื่อนในแม่น้ำชีตอนล่างจะปฎิเสธไม่ได้ว่าหลังจากมีการสร้างเขื่อนที่เป็นปัญหาแล้วยังมีการบริหารจัดการน้ำที่ไม่สัมพันธ์และไม้สอดคล้องกับฤดูกาลและพื้นที่ กลับส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านลุ่มน้ำชี กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงและยังทำให้ชาวบ้านสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพทำนาปีในพื้นที่ของตนเอง เพราะการบริหารจัดการน้ำที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐ 

ดังนั้นเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร จึงมีข้อเสนอเร่งด่วนดังนี้ 1.ให้เร่งรีบระบายน้ำอย่างเร่งด่วนเพื่อลดความเสี่ยงของพื้นที่น้ำท่วม  2.เร่งดำเนินการเยียวยาให้กับชาวบ้านที่เรียกร้องสิทธิ์จากผลกระทบการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร ที่เรียกร้องมา 14 ปี 3.ไม่เอาโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล เพราะโครงการโขง ชี มูล เดิม ก็ยังแก้ไขไม่เสร็จและถ้ามีโครงการผันน้ำโขงลงมายิ่งจะซ้ำเติมปัญหาชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างแบบไม่รู้จบ  4.หยุดโครงการผันน้ำชี-เซบาย, เซบก-ตุงลุง-แม่น้ำโขง ที่อ้างแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เพราะที่ผ่านมาวาทกรรมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งก็สะท้อนให้เห็นถึงความไม่คุ้มค่า ไม่คุ้มทุน กลับสร้างผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านและระบบนิเวศที่สำคัญของชุมชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net