Skip to main content
sharethis

'เห็นต่างไม่ควรใส่ EM' ประมวลกิจกรรมวานนี้ (28 ส.ค.) ประชาชนร่วมเดินรณรงค์จากศาลอาญากรุงเทพใต้ ไปที่สยามสแควส์ เพื่อเรียกร้องศาลยุติการสั่งใส่กำไล EM ให้ผู้ถูกกล่าวหาคดีทางการเมือง และชี้ให้คนทั่วไปเห็นถึงปัญหาการใช้กำไล EM กับนักกิจกรรม

วิดีโอสั้น การเดินรณรงค์ 'Let's Unlock EM' หรือเดินปลดมัน

29 ส.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานวานนี้ (28 ส.ค.) เมื่อเวลา 12.45 น. ที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ ประชาชนเริ่มทยอยทำกิจกรรม 'Let’s Unlock EM' หรือเดินปลดล็อกมัน (EM) จากศาลอาญากรุงเทพใต้ ถึงสยามสแควส์ เขตปทุมวัน เพื่อเรียกร้องให้มีการปลดกำไล EM หรือโซ่ตรวนดิจิทัลโดยไม่มีเงื่อนไข ให้นักโทษทางความคิด หรือผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออก 

บรรยากาศการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำการอยู่หน้าศาล และเดินตรวจตราบริเวณรอบๆ ขณะเดียวกัน ภายในรั้วศาลอาญากรุงเทพใต้ มียานพาหนะตำรวจจอดประจำการอยู่ เช่น รถกระบะ รถตู้ และรถคุมขัง

ขณะที่ประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมเตรียมตั้งแถวที่ฝั่งตรงข้ามหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ 

ตี้ พะเยา หรือ วรรณวลี ธรรมสัตยา นักกิจกรรม และผู้ถูกกล่าวหาคดี 112 วันนี้เธอมาร่วมกิจกรรมเดินปลดมัน กล่าวปราศรัยก่อนเริ่มกิจกรรมว่า เธอต้องการออกมาเรียกร้องให้กับผู้ที่ติดกำไล EM เพราะการใส่กำไล EM ส่งผลกระทบต่อผู้ใส่ทั้งด้านการเรียน และการทำงาน 

ตี้ ระบุต่อว่า ส่วนใหญ่ที่ผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองต้องติด EM เพราะว่าเป็นเงื่อนไขจากศาล หากไม่ยินยอม ก็ต้องใช้ชีวิตในเรือนจำ ดังนั้น ประชาชนมีทางเลือกแค่ 2 ทาง คือ ติด EM หรือติดเรือนจำ 

ตี้ ระบุว่า การที่เลือกติดกำไล EM อย่างน้อยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองข้างนอกได้ ได้ออกมาเจอหน้าครอบครัว และสุดท้าย ทำเพื่อคนที่อยู่ข้างในเรือนจำได้

เธอกล่าวต่อว่า การติดกำไล EM ให้กับผู้ต้องหาทางการเมือง หลายคนยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด แต่ศาลทำเหมือนนักกิจกรรมการเมืองมีความผิดไปแล้ว ซึ่งไม่ถูกต้อง

“เรายังเน้นย้ำเสมอ เราที่ติด EM หรือใครอีกหลายคนที่อยู่ในเรือนจำ คดียังไม่ถูกตัดสิน เรายังคงเป็นผู้บริสุทธิ์ตามประมวลกฎหมาย หรือตามนิติบัญญัติที่บัญญัติไว้ แต่ท้ายที่สุดเขาก็ทำอย่างกับเราเป็นนักโทษ” ตี้ กล่าว พร้อมตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย และกล่าวถึงกรณีฝากขัง ‘มานี’ เงินตรา และ ‘จินนี่’ จิรัชยา จากคดีหมิ่นศาล จากการออกมาปราศรัยเรื่องสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องหาทางการเมืองเมื่อกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"วันนี้หนูติดกำไล EM และมีโซ่ตรวนเป็นสัญลักษณ์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าใช่ เราอาจจะติด EM เราอาจจะติดโซ่ตรวน แต่ไม่สามารถฉุดรั้งให้เราหยุดเคลื่อนไหว เพื่อประเทศนี้ได้" ตี้ ทิ้งท้าย 

ตี้ พะเยา หรือวรรณวลี ธรรมสัตยา นักกิจกรรม

หลังจากนี้ เวลา 14.34 น. ขบวนประชาชนเรียกร้องปลดกำไล EM เริ่มตั้งแถว โดยด้านหน้าเป็นคณะนักดนตรีจาก ‘ราษฎดรัม’ ถัดมา เป็นนักกิจกรรมที่ถูกศาลสั่งติดกำไล EM ได้แก่ แบม มวลชนอิสระ วัย 23 ปี สาวนุ้ย สื่ออิสระช่องยูทูบ ‘ศักดินาเสื้อแดง’ และ ‘ตี้ พะเยา’ วรรณวลี ธรรมสัตยา ทั้งนี้ ที่ข้อเท้ามีการล่ามโซ่ตรวนไว้ทั้ง 3 คน เพื่อเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์   

ท้ายแถวเป็นประชาชนที่มาร่วมกิจกรรม และถือป้ายปรากฏข้อความต่างๆ เช่น "คืน EM ให้ IO" "ความเป็นกลางไม่มี ความเป็นธรรมแห่งคดีไม่เกิด" "ปล่อยเก็ท ปล่อยตะวัน ออกจากบ้าน #ปลดEM" และอื่นๆ

ขบวนประชาชนเริ่มเดินจากศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยใช้ถนนเจริญกรุง มุ่งหน้าไปทางสถานี BTS สะพานตากสิน และห้างสรรพสินค้า ‘โรบินสัน บางรัก’ 

เวลา 14.44 น. ขบวนประชาชนเดินถึงหน้าสถานี BTS สะพานตากสิน และเวลา 14.52 น. เดินถึงหน้าห้างโรบินสัน สาขาบางรัก พร้อมกับการกล่าวปราศรัยไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติการรับสมัครงานกับผู้ที่ติดกำไล EM

ติด EM ด้วยข้อหาทางการเมือง ไม่ควรถูกเลิกจ้าง

แบม มวลชนอิสระวัย 23 ปี ปราศรัยหน้าห้างโรบินสันฯ ระบุว่า หากเห็นผู้ที่ใส่กำไล EM อยู่ที่ขบวนเดินของประชาชนตอนนี้ อยากให้ทราบว่าพวกเธอไม่ได้ทำอะไรผิด พวกเธอแค่ออกมาแสดงความเห็นทางการเมือง 

เธอกล่าวถึงผู้ประกอบการไม่ให้เลือกปฏิบัติในการรับสมัครงานต่อผู้ที่ติดกำไล EM 

“ขอให้พวกคุณรับเขาไว้พิจารณาด้วยเถอะค่ะ เพราะพวกเราไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ใช่ตัวน่าอับอาย พวกเรากำลังถูกกลั่นแกล้ง เราไม่ได้อยากใส่ EM เพราะว่ามันเป็นการถูกจำกัดอิสรภาพ พวกเราโดนโซ่ตรวนดิจิทัลที่อยู่ข้อเท้า…อยากให้คุณรู้ไว้ว่า เราไม่ใช่ตัวน่าอับอายของสังคมนี้ แต่การที่พวกคุณเพิกเฉย และพวกคุณทำเป็นไม่รู้ร้อนรู้หนาว … คือความน่าอับอายต่อสังคมนี้ และประเทศนี้” มวลชนอิสระวัย 23 ปี ทิ้งท้าย 

หลังจากนั้น ขบวนประชาชนเดินต่อไปโดยใช้เส้นทางถนนเจริญกรุง และเมื่อเวลา 15.10 น. หยุดพักที่หน้าไปรษณีย์กลางบางรัก 

แบม มวลชนอิสระ อายุ 23 ปี

เวลา 15.34 น. มีประชาชนที่ร่วมเดินขบวนจัดกิจกรรมสำรวจความเห็น หรือโพล กับคำถามที่ว่า “เห็นต่างทางการเมือง ควรติด EM หรือไม่” ขณะที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถตอบคำถาม โดยการติดสติกเกอร์ที่ช่อง ‘ควร’ หรือ ‘ไม่ควร’ โดยประชาชนสัญจรไป-มาบางส่วนร่วมเข้ามาแสดงความคิดเห็น

เวลา 15.44 น. กลุ่มประชาชนที่เข้าร่วมขบวน Let’s Unlock EM เดินทางถึงถนนสี่พระยา มุ่งหน้าไปทางจามจุรีสแควส์ ถนนพญาไท 

เวลา 16.00 น. ประชาชนเดินทางถึงหน้าสามย่านมิตรทาวน์ ฝั่งตรงข้ามจามจุรีสแควส์ 

ขบวน Let's Unlock EM เดินบนถนนพญาไท หน้าห้างสามย่านมิตรทาวน์

เห็นต่างไม่ควรติด EM

ทั้งนี้ เวลา 16.00 น. มิ้นท์ นาดสินปฏิวัติ และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมขบวนวันนี้ ปราศรัยผ่านโทรโข่งระหว่างเดินจากถนนสี่พระยา ถึงหน้าห้างสามย่านมิตรทาวน์ว่า การติดกำไล EM ให้กับผู้เห็นต่างทางการเมือง อาจกล่าวได้ว่าเป็นกระบวนการอยุติธรรม ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม เนื่องจากยังไม่มีการสืบสวนว่าผู้ที่ออกมาเรียกร้องทางการเมืองเป็นผู้กระทำผิดจริง 

มิ้นท์ ระบุว่า วันนี้จะเห็นได้ว่าเป็นผู้หญิง 3 คนที่ต้องติดกำไล EM มาร่วมเดินในขบวน มิ้นท์ อยากถามว่า พวกเธอทำอะไรสั่นคลอนรัฐบาลได้หรือ ถึงต้องให้พวกเธอติดกำไล EM ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ 

"วันนี้เราแค่ประกาศเรียกร้องให้คืนความเป็นคนให้เรา คืนเสรีภาพอิสรภาพให้พวกเรา พวกเราไม่ใช่อาชญากร จริงๆ ไม่ควรมีคดีตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ ไม่ควรถูกกล่าวโทษ สิ่งที่ผู้มีอำนาจกระทำกับพวกเราคือพิพากษาไปล่วงหน้าแล้ว การติด EM คือกล่าวหาแล้วว่าคุณคือผู้กระทำความผิด เป็นภัยความมั่นคง เป็นภัยต่อสังคม 

"เราออกมาเรียกร้องปัญหาต่างๆ ในประเทศนี้ แสดงความคิดเห็นที่ต่างกับรัฐบาลนี้ ไม่ควรโดนคดี ไม่ควรมีใครไปถูกแจ้งความ" มิ้นท์ ปราศรัยหน้าสามย่านมิตรทาวน์ 

มิ้นท์ นาดสินปฏิวัติ

มิ้นท์ กล่าวถึงงบประมาณในการเช่าอุปกรณ์ EM ที่วาโย อัศวรุ่งเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เรื่องงบประมาณรายจ่าย ปี 2564 วาระ 2 เมื่อ 18 ก.ย. 2563 และเรียกร้องให้ประชาชนเห็นปัญหาการติดกำไล EM ให้ผู้เห็นต่างทางการเมือง ซึ่งหากเรายังนิ่งเฉย ในวันข้างหน้าอาจเป็นเราที่ต้องเผชิญปัญหาเหล่านี้  

เวลา 16.28 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเจรจากับประชาชนที่ร่วมกิจกรรม Let’s Unlock EM เรื่องเส้นทางที่ประชาชนจะเดินรณรงค์ พร้อมระบุว่า เวลา 17.00 น. จะมีขบวนเสด็จบนเส้นทางถนนพญาไท ขณะที่ประชาชนตอบว่า จะไม่มีการรบกวนขบวนเสด็จอย่างแน่นอน

จากนั้น เวลา 16.30 น. ประชาชนเริ่มเดินจากห้างสรรพสินค้า ‘สามย่านมิตรทาวน์’ ฝั่งถนนพญาไท มุ่งหน้าไปที่สยามสแควส์ และห้างสรรพสินค้า มาบุญครอง 

เวลา 17.00 น. ขบวนประชาชนเลี้ยวขวาเข้าไปในสยามสแควส์ ฝั่งตรงข้ามห้างมาบุญครอง 

ขบวนตอนเดินเข้าไปในสยามสแควส์

มิ้นท์ ปราศรัยในสยามสแวส์ เมื่อเวลา 17.08 น. ว่า เธอขอใช้สยาม เรียกร้องการปลดกำไล EM  โดยไม่มีเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาทางการเมือง

เธอระบุว่า รัฐติด EM ให้กับผู้ต้องหาทางการเมือง เพื่อติดตามดูว่านักกิจกรรมต้องการไปทำกิจกรรมที่ไหน ไปอยู่ที่ไหน อย่างไร ดังนั้น "การติดกำไล EM ถือเป็นการคุกคามประชาชนอย่างชัดเจน" 

นอกจากนี้ มิ้นท์ ระบุย้ำว่า การติดกำไล EM ให้ผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกตามหลักกฎหมาย เนื่องจากผู้ต้องหาทางการเมืองยังไม่ได้ถูกตัดสินว่าทำผิด 

มิ้นท์ ระบุถึงผลกระทบจากการติด EM ว่า ทำให้ชีวิตส่วนตัวของนักกิจกรรมหายไป ทำให้ประชาชนไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติสุข และมีความกังวลด้วยว่ารัฐสามารถติดตามตัวพวกเขาได้ตลอดเวลา พวกเขาอาจถูกบังคับสูญหาย หรือถูกคุกคามอื่นๆ ได้ 

บางคนบอกว่ารัฐให้ติดกำไล EM เพื่อแลกกับการไม่เข้าเรือนจำก็น่าจะดีแล้ว แต่มิ้นท์ มองว่า ผู้ออกมาเรียกร้องทางการเมืองไม่ควรถูกดำเนินคดี และติด EM แต่แรก

มิ้นท์ ระบุว่า วันนี้เธอมาแสดงเชิงสัญลักษณ์ เพื่อ "เรียกร้องให้มีการปลดกำไล EM ปลดพันธนาการ ... คืนชีวิตให้เรา คืนความเป็นคนให้เรา คืนความปกติให้เราซะ" 

หลังจากนั้น มิ้นท์ ชวนคนในสยามสแควส์ร่วมกันชูสามนิ้ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย

หลังจากนั้น ขบวนประชาชนเดินต่อไปที่หน้าห้างสรรพสินค้า ‘สยามสแควส์ วัน’ และมีการปราศรัย

เวลา 18.00 น. ขบวน Let’s Unlock EM มีการแสดงเชิงสัญลักษณ์โดยการตัดโซ่ตรวนที่คล้องขาประชาชน ปราศรัยถึงบทกวี ‘วิสา คัญทัพ’ และยุติการทำกิจกรรม

สำหรับข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า จำนวนผู้ที่ต้องติดกำไล EM ระหว่าง มี.ค. 2564 จนถึง 9 เม.ย. 2565 เผยว่า มีลูกความคดีการเมืองถูกใส่กำไล EM อย่างน้อย 54 คน ถูกศาลสั่งติดกำไล EM และได้รับการอนุญาตให้ถอดแล้วอย่างน้อย 23 คน ทำให้ยังมีผู้ที่ติดกำไล EM จนถึงปัจจุบัน (วันที่ 9 เม.ย. 2565) อยู่จำนวน 38 คน ในจำนวนดังกล่าวเคยมีผู้ที่ถูกศาลจำกัดเวลาเข้า-ออกจากเคหสถาน จำนวน 13 คน    

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net