Skip to main content
sharethis

รายงานสัมภาษณ์ ‘ยาใจ ทะลุฟ้า’ บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในนามกลุ่มทะลุฟ้า ผู้ชูสามนิ้วในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรเพื่อแสดงออกถึง 3 ข้อเรียกร้อง พร้อมเผยเส้นทางชีวิตจากนักมวยรุ่นเล็กสู่เส้นทางความฝันการเป็นผู้พิพากษา ที่ต้องการสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนสู่กระบวนการยุติธรรมไทย

บ่ายแก่ๆ วันหนึ่งในเดือน ธ.ค. 2565 ที่อากาศเย็นสบาย มีสายลมเย็นๆ พัดผ่านสายแดดอบอุ่น อากาศแบบนี้เป็นลักษณะทั่วๆ ไปที่พบเจอได้ในช่วงปลายปีของหลายจังหวัดในภาคตะวันเฉียงเหนือ ซึ่งดูแล้วคลับคล้ายคลับคลากับสถานการณ์การเมืองไทยที่ความร้อนแรงถูกลดระดับไว้ชั่วคราวด้วยบรรยากาศของเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปี ประชาไทชวน ‘ทรงพล สนธิรักษ์’ หรือ ‘ยาใจ’ นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุฟ้า ผู้เป็นบัณฑิตจบใหม่จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาร่วมพูดคุยถึงการเคลื่อนไหวตลอด 2 ปีที่ผ่านมา พาย้อนกลับไปถึงชีวิตในวัยเด็กและบอกเล่าภาพฝันในอนาคต รวมถึงเปิดใจเรื่องการแสดงออกด้วยการชู 3 นิ้วในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา

 

ทรงพล สนธิรักษ์ หรือ ยาใจ ทะลุฟ้า

“ผมชื่อทรงพล สนธิรักษ์ ชื่อเล่นจริงๆ ชื่อบอล แต่เพื่อนๆ จะรู้จักกันในชื่อยาใจ” ยาใจแนะนำตัวอย่างเรียบง่าย พร้อมเล่าต่อไปว่า “จริงๆ ยาใจเป็นชื่อนักมวยสมัยที่ผมเคยต่อยมวยตั้งแต่เด็กๆ ฉายามวยจริงๆ ของผมคือ ‘ยาใจเล็ก’ ส่วนฉายา ‘ยาใจ’ จริงๆ แล้วเป็นฉายานักมวยของพ่อ”

ครอบครัวนักมวย

ยาใจเล่าว่าพื้นเพของเขาเป็นคน จ.ร้อยเอ็ด เป็นบุตรคนสุดท้องของครอบครัว ตั้งแต่จำความได้ เขาก็รู้ว่าที่บ้านเปิดค่ายมวย บิดา พี่ชาย และพี่สาว ต่างเป็นนักมวย ทำให้เขาคุ้นเคยกับเวทีมวยและกีฬามวยมาตั้งแต่เด็ก ยาใจบอกว่าเขาเริ่มเล่นกีฬามวยอย่างจริงจังในวัย 6 ขวบและขึ้นเวทีชกมวยมาเรื่อยๆ ตระเวนเดินสายเก็บประสบการณ์และหาเงินค่าขนมจากการเป็นนักมวยจนถึงชั้น ม.6 ก่อนจะค่อยๆ ลาเวทีไปเพื่อเตรียมศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย

“เราจำความรู้สึกตัวเองได้ว่าเราอยากต่อยมวย มันเป็นเหมือนกีฬาที่เราอยากเล่นเหมือนพี่ๆ เพื่อนๆ ตอนแรกก็สนุก พอได้เงินมาด้วยก็เป็นเหมือนเราได้มีช่องทางในการหาเงินซื้อของเล่นในตอนเด็ก แรกๆ ก็ต่อยในรุ่นเด็กมันก็สนุก ไม่ได้รู้สึกเจ็บ แต่พอต่อยมาเรื่อยๆ เริ่มโต น้ำหนักเยอะขึ้น อาวุธของคู่ต่อสู้เริ่มหนัก เราก็เริ่มเจ็บ มันก็มีความรู้สึกเริ่มท้อบ้าง จนหลังๆ ก็ได้พัก มาเรียน”

“ตอนเป็นเด็ก 6 ขวบไม่ค่อยเจ็บ ผมจำความรู้สึกเจ็บไม่ค่อยได้ เพิ่งมารู้สึกเจ็บตอนโตนี่แหละ (หัวเราะ) ถ้าตอนช่วงแรกๆ เป็นความรู้สึกอยากขึ้นเวที ไม่ได้มีความรู้สึกกลัว อยากขึ้นไป อยากต่อย อยากเล่น ด้วยความที่เป็นเด็ก ตอนนั้น เวลาเราขึ้นไปต่อยมวย สิ่งรอบข้างมันไม่ได้เข้ามาอยู่ในจุดโฟกัส พอขึ้นต่อยมันก็จะมีสมาธิแค่กับคู่ต่อสู้ ตอนเด็กมันก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอเริ่มโต สักสิบขวบ เริ่มน้ำหนัก 30-40 กิโลฯ เริ่มมีเซียนมวย เริ่มเห็นบรรยากาศ เริ่มรู้ เริ่มได้ยินเสียงเชียร์ มันก็จะมีความกดดันเพิ่มขึ้น แรกๆ ก็อยากขึ้นเวที หลังๆ ก็มีตื่นเต้น มีกลัว แต่พอได้ขึ้นจริงๆ มันก็หายกลัวไปเอง”

ยาใจ (กลาง) และเพื่อนๆ (ที่มาภาพ Atitaya Boss)

ยาใจบอกว่าเขาได้ค่าตัวจากการขึ้นชกมวยเวทีละ 300 บาท ตอนขึ้นชกครั้งแรกแน่นอนว่าแพ้ แต่หลังจากเริ่มมีประสบการณ์ก็ชนะเป็นส่วนมาก พร้อมบอกว่าตลอดระยะเวลาที่เดินสายชกมวยมา เขาขึ้นเวทีมาแล้วประมาณร้อยกว่าไฟต์

“ชนะมากกว่า แต่ก็มีแพ้บ้าง ผมไม่ได้ต่อยเอาชนะ ผมต่อยเอาประสบการณ์ เคยชนะน็อก แพ้น็อกก็เคยนะ (หัวเราะ)”

เรียนนิติศาสตร์เพราะอยากสร้างความเป็นธรรมในสังคม

ยาใจเล่าว่าเขาอยู่ในวงการมวยมาตั้งแต่เด็กจึงค่อนข้างคุ้นชินกับความรุนแรงในรูปแบบกีฬา และในสภาพสังคมที่เขาเติบโตมาก็เห็นเรื่องชกต่อยที่ไม่ใช่เกมกีฬาอยู่ไม่ใช่น้อย กรณีตัวอย่างที่เขาเล่าให้ฟังคือกรณีพี่ชายที่มีเหตุให้ต้องขึ้นโรงพัก ซึ่งทำให้เขาเห็นกระบวนการการทำงานของตำรวจซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรม เขาจึงเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำงานของเจ้าหน้าที่และความสมเหตุสมผลของการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะการที่เจ้าหน้าที่พยายามเรียกร้องให้คู่กรณีจบเรื่องด้วยการจ่ายเงินไกล่เกลี่ยเพื่อให้ข้อพิพาททุกอย่างจบที่ชั้นตำรวจ ในลักษณะ ‘เจ็บ-จ่าย-จบ’ แต่ไม่มีกระบวนการสืบสวนสอบสวนและพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่รัดกุมมากพอ และไม่มีการสร้างสำนึกหรือหาทางออกอื่นๆ นอกจากการจ่ายเงินเพื่อจบเรื่อง

“เราได้เห็นวิธีการของเจ้าหน้าที่เวลาพูดไกล่เกลี่ย ไม่ค่อยพูดข้อกฎหมาย มีแต่อยากให้อยากให้จบเรื่องแล้วก็ใช้เงินไกล่เกลี่ย จ่ายเงินชดใช้แทน โดยไม่ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริง ตอนนั้นมันก็เกิดการตั้งคำถาม เราก็รู้สึกว่าเราอยากรู้กฎหมาย ช่วง ม.6 ก็เริ่มรู้ว่ามีคณะนิติศาสตร์ที่เรียนเกี่ยวกับกฎหมาย ก็เลยตั้งเป้าว่าอย่างน้อยๆ อยากจะรู้เรื่องสิทธิ เรื่องกฎหมายต่างๆ เพื่อไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือถ้ามีโอกาสก็จะได้สู้คดีให้กับคนรู้จัก”

ยาใจเล่าต่อไปว่าในตอนแรก เขาไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนนักเรื่องอาชีพการงานในสายนิติศาสตร์ เพียงแค่คิดไว้แบบกว้างๆ ว่าอยากจะเป็นทนายความเพื่อจะได้ใช้ความรู้ตามที่เรียนมา แต่เมื่อเรียนรู้มากขึ้น ได้เห็นขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมไทยมากขึ้น เขาก็ตั้งเป้าว่าอยากจะเป็นผู้พิพากษาที่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชน

“เรามีความฝันว่าถ้ามีโอกาสก็อยากเป็นผู้พิพากษาที่ได้ใช้ความยุติธรรมหรือใช้กฎหมายสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชนที่เขาเดือดร้อน”

จากสังเวียนมวยมหา’ลัย สู่เวทีปราศรัยการเมือง

ยาใจบอกว่าเขาเริ่มก้าวเข้าสู่เส้นทางนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจากการเป็นสมาชิกชมรมมวยของมหาวิทยาลัย เพราะประธานชมรมมวยในขณะนั้นคือพายุ บุณโสภณ หรือ ‘พายุ ดาวดิน’ ซึ่งเป็นคนนำพาไปให้ได้รู้จักกับจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ ในภายหลัง และเริ่มทำกิจกรรมจิตอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในนามกลุ่มนักศึกษา มาจนถึงการเข้าร่วมเป็นตัวแทนประชาชนใน อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เรียกร้องการตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ จนกระทั่งในปี 2563 ที่เขาได้ขึ้นเวทีปราศรัยทางการเมืองอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกในนามกลุ่ม ‘มข. พอกันที’ หลังเกิดเหตุการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่

“ตอนเราเข้าเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มข. ก็จะมีชมรมกีฬา ตอนแรกผมว่าจะไม่เข้าชมรมมวย ผมจะเข้าชมรมฟุตบอลเพราะชอบเตะบอลด้วยเหมือนกัน แต่ตอนต่อแถวลงชื่อเข้าชมรมฟุตบอล แถวมันยาวเกิน โอเค ถ้างั้นก็ไปเข้าชมรมมวยที่ตัวเองถนัดก็ได้ (หัวเราะ) บังเอิญว่าตอนที่ผมเข้าปี 1 ประธานชมรมมวยคือพี่พายุ (พายุ ดาวดิน) ก็เลยเริ่มรู้จักกันกับพวกพี่ๆ แต่ตอนนั้นพี่ไผ่ (ไผ่ ดาวดิน) ติดคุกอยู่ ผมยังไม่ได้รู้จักพี่ไผ่”

“ตอนที่เราอยู่ปี 1-3 ก็ไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือประเด็นทางสังคม ตอนนั้นก็ใช้ชีวิตแบบเด็กมหาวิทยาลัย อยู่ชมรมมวย ซ้อมมวย เล่นกีฬา รวมแก๊ง รวมกลุ่มกัน จนมาช่วงปี 2562 ตอนที่อยู่ปี 3 เทอม 2 ช่วงนั้นพี่ไผ่ออกมาจากคุก ตอนออกมาแรกๆ พี่ไผ่ก็มาพักอยู่บ้านพี่ๆ ชมรมมวย พวกผมก็เลยได้รู้จักกัน เพราะปกติเราก็จะไปเล่นที่บ้านชมรมมวยอยู่แล้ว”

“ปีนั้นที่พี่ไผ่ออกมา มันเป็นช่วงน้ำท่วมที่ อ.บ้านไผ่ พอน้ำลด พี่ไผ่ก็เลยชวนแก๊งชมรมมวยหรือพวกเพื่อนที่รู้จักกัน ไปเป็นจิตอาสาช่วยทำความสะอาด ช่วยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ตอนนั้นก็ไปกับพวกพี่เขา แต่พอเราไปถึงมันก็เกิดการตั้งคำถามในหัวว่า ‘ทำไมการมาทำอย่างนี้มันต้องมีแต่พวกเรา’ ‘ทำไมหน่วยงานของภาครัฐไม่ลงมาดูแลหรือเยียวยาชาวบ้าน’ ตอนนั้นเท่าที่เห็นก็จะมีแค่กลุ่มนักศึกษาอย่างพวกผมและมูลนิธิกระจกเงาที่ลงไปช่วยชาวบ้าน ไปทำความสะอาด แล้วอย่างพวกเราไปประมาณเกือบ 20 คนเราก็ช่วยทั้งวันเราช่วยได้แค่ 2 หลัง เครื่องมืออุปกรณ์อะไรเราก็ไม่มี เรามีแค่แรง มันก็ช่วยชาวบ้านได้ไม่เต็มที่”

นอกจากเหตุการณ์นี้ ยาใจยังมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวต่อต้านการตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ร่วมกับประชาชนในพื้นที่และกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ แต่แทนที่เขาจะได้เห็นบรรยากาศการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อเรียกร้องระหว่างภาคประชาชนและภาคเอกชน โดยมีภาครัฐเป็นตัวกลาง กลับกลายเป็นว่าภาคประชาชนถูกขัดขวางจากภาครัฐไม่ให้เข้าไปคุยกับอีกฝ่ายแทน

“แต่สุดท้ายภาพที่เกิดกลายเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าที่ภาครัฐที่สกัดกั้นไม่ให้พวกเราเข้าไปแสดงความคิดเห็น ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่จริงๆ เขาก็ไม่สามารถเข้าไปได้ แล้วก็มีคนของโรงงานน้ำตาลที่พยายามโห่ร้องด่าทอคนที่มาแสดงความคิดเห็นว่าพวกเรามาขัดความเวทีหรือขัดขวางความเจริญ เราไปเห็นบรรยากาศอะไรอย่างนี้ ซึ่งมันก็สะสมมาเรื่อยๆ จนมันมีช่วงต้นปี 2563 ที่มันมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ ก็เลยเริ่มมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง เริ่มขึ้นปราศรัยอยู่ในม็อบ เวทีแรกที่ได้ขึ้นคือเวที ‘มข. พอกันที’ ตั้งแต่ตอนนั้นก็ไหลมาเรื่อยๆ”

ยาใจ (แฟ้มภาพ)

ความเชื่อมั่นที่เสื่อมสลายในกระบวนการยุติธรรมไทย

ยาใจบอกว่าจากหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 ปีมานี้อาจทำให้คนในสังคมหมดความเชื่อมั่นใจกระบวนการยุติธรรมไทย และจากการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้ถึงจุดๆ หนึ่ง เขาเองก็รู้สึก ‘หมดหวัง’ กับสถาบันตุลาการและกระบวนการยุติธรรมไทย เพราะศาลที่ควรจะเป็นที่พึ่งกลับกลายเป็นตัวละครสำคัญที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

“เราไปเคลื่อนไหวแสดงออก ไปเรียกร้อง ไปชุมนุมตามสิทธิที่เราเชื่อว่าเราพึงมี แต่สุดท้ายก็เป็นกระบวนการยุติธรรมหรือตัวกฎหมายเองที่จำกัดสิทธิเสรีภาพด้วยการฝากขังหรือใช้กระบวนการทางกฎหมายทำร้ายพวกเรา แล้วก็เป็นทางเดียวที่เราไม่สามารถสู้ได้ ทั้งที่เราเชื่อว่าทางนี้มันเป็นที่พึ่งของเรา เวลาเราไปแสดงออกทางการเมืองแล้วเราโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายหรือถูกจับในพื้นที่ชุมนุม เราก็เชื่อมั่นมาตลอดว่าศาลจะให้ความเป็นธรรมหรือลงโทษคนที่ทำร้ายเรา แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าศาลไม่ได้ดูข้อเท็จจริงตรงนั้น สุดท้ายกลับกลายเป็นว่า (ศาล) มาทำร้ายคนที่แสดงออก”

ยาใจเล่าว่าจุดที่ทำให้เขารู้สึกเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้คือเหตุการณ์ในวันที่ 13 ต.ค. 2563 ที่กลุ่มราษฎรอีสานเดินทางไปปักหลักชุมนุมบริเวณหน้าแม็คโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อรอการชุมนุมใหญ่ในวันรุ่งขึ้น แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง โดยอ้างว่ากลุ่มประชาชนที่เตรียมมาปักหลักชุมนุมจะขัดขวางขบวนเสด็จฯ และกีดขวางการจราจร หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม กลุ่มราษฎรอีสานซึ่งรวมถึงยาใจถูกจับกุม ศาลแขวงดุสิตมีคำสั่งฝากขังและไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยอ้างว่าเกรงจะหลบหนีและตำรวจยังสืบพยานไม่เสร็จสิ้น แม้ว่าความผิดที่พวกเขาถูกฟ้องและถูกฝากขังเป็นความผิดลหุโทษจาก พ.ร.บ.ความสะอาด อีกทั้งกระบวนการในการพิจาณาคดีก็แทบไม่เปิดโอกาสให้สู้หรือไม่เอื้อให้เกิดการรับฟังใดๆ

“ตอนนั้นผมรู้สึกว่ามันหมดที่พึ่งแล้วในทางสังคม ถ้ากระบวนการกฎหมายมันไม่สามารถเป็นที่พึ่งของเราได้”

ยาใจเล่าเพิ่มเติมว่านอกจากกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรมในครั้งนั้นแล้ว ในวันที่เขาถูกจับกุม เขายังเผชิญเหตุความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ที่เข้าสลายการชุมนุมด้วยการทำร้ายผู้ชุมนุม มีทั้งการเตะ การกระทืบ และการจับล็อกมือไขว้หลัง ซึ่งเป็นภาพที่น่าสะเทือนใจ

“พอเราเห็นบรรยากาศแบบนี้เราก็รู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ไม่มองเราว่าเป็นประชาชนที่มาชุมนุม เขามองเราเหมือนผู้ก่อการร้ายที่มาสร้างปัญหาอะไรสักอย่างที่มันร้ายแรงมาก ตั้งแต่สายตาที่เขามองเรา ผมรู้สึกว่าเราเหมือนไม่ใช่พวกเดียวกัน ทั้งๆ ที่เวลาผมคุยกับใคร ผมก็รู้สึกว่าเราเป็นคนด้วยกัน แต่ตอนที่คุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจบนรถคุมขังวันนั้น แล้วเรารู้สึกว่าเขามองเราเหมือนเป็นผู้ก่อการร้ายจริงๆ”

    เรา(ไม่)หมดศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมไทย

    แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเขาและเหตุการณ์อื่นๆ ในสังคมอาจทำให้คนไม่มีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทย แม้แต่ยาใจที่ครั้งหนึ่งเกือบสูญสิ้นความเชื่อมั่นกลับมองว่ากระบวนการยุติธรรมไทยยังพอมีหวัง และเขายังคงเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมจะเป็นทางออกให้กับประชาชนได้

    “พอเราถูกดำเนินคดีเยอะๆ เราได้ไปคลุกคลีกับพื้นที่ศาล ได้เห็นผู้พิพากษา เห็นคนที่ทำงานตรงนั้น เรารู้สึกว่าคนในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้มีความเป็นหนึ่งเดียวเสียหมด ยังคงมีความเป็นอิสระอยู่ บางคนก็แตกต่าง บางคนที่ถูกกดดันก็ทำตามคำสั่งตามนโยบาย แต่มีบางคนที่ยืนหยัดถึงเรื่องความเป็นธรรม ยืนยันความบริสุทธิ์ของจำเลย ก็พยายามหาข้อเท็จจริงหรือให้โอกาสให้การพิจารณาคดี ก็ยังมีผู้พิพากษาที่ยังเป็นแบบนั้นอยู่”

    “ถ้ามองในมุมนักกฎหมายก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด เราต้องเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมมันเป็นทางออกที่จะสร้างความเป็นธรรมให้เกิดแก่สังคมจริงๆ ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องทำให้กฎหมายมีความน่าเชื่อถือ และการปฏิบัติใช้ของคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้ถูกครอบงำจากระบบหรือวัฒนธรรมอะไรที่มันล้าหลังไปแล้ว บางข้อกฎหมาย เราก็ต้องยอมรับว่าถ้าสังคมเปลี่ยน มันก็ต้องปรับไปตามบริบทของสังคม หรือข้อกฎหมายที่ควรถูกยกเลิกมันก็ต้องถูกยกเลิกไปเพื่อให้สังคมได้เดินหน้าหรือพัฒนาต่อ”

    “โดยสำนึกเราก็รู้สึกว่ายังเชื่อมั่น แต่ในสภาพสังคมไทยกลับไม่ใช่อย่างนั้น เราก็ต้องช่วยกันสร้างกระบวนการยุติธรรมหรือตัวกฎหมายให้เป็นที่พึ่งของเราได้จริงๆ”

    เยาวรุ่นกำไล EM

    ยาใจบอกว่าตั้งแต่ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองมา เขาถูกดำเนินคดีไป 22 คดี โดย 10 คดีถูกสั่งฟ้องไปแล้ว ส่วนที่เหลือยังรอการส่งฟ้องอยู่เพราะศาลมีคำสั่งเลื่อน และจากคดีทั้งหมด มีอยู่หนึ่งคดีที่ทำให้เขาต้องสวมกำไล EM นั่นคือคดีสาดสีหน้าพรรคภูมิใจไทยเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 โดยอัยการมีคำสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา ทำให้ตอนนี้เขาต้องใช้ชีวิตอยู่กับกำไล EM มานานกว่า 8 เดือนแล้ว

    ยาใจบอกว่าเขาและทนายความพยายามยื่นคำร้องขอถอดกำไล EM ไปหลายครั้งแต่ศาลปฏิเสธ ยกเว้นครั้งเดียวที่ศาลอนุญาตคือตอนที่เขาขอเข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยหลังจากเสร็จสิ้นพิธี ยาใจต้องกลับมาใส่กำไล EM อีกครั้ง

    สำหรับการใช้ชีวิตร่วมกับกำไล EM นั้น ยาใจเล่าว่าช่วงแรกๆ ก็ไม่ชินและรู้สึกหนัก มีอาการเจ็บข้อเท้าบ้าง หรือบางทีก็ถูกกำไลรัดและเสียดสีจนเกิดแผล แต่พอเวลาผ่านไปก็เริ่มชินกับการใช้ชีวิตแบบนี้ ที่เหมือนมีคนติดตามอยู่ตลอดเวลา และต้องอยู่ในเคหะสถานตามเวลาที่ศาลกำหนด คือ 21.00-09.00 น.

    “ผมเข้าใจว่ามันเป็นนโยบายที่ศาลไม่สามารถออกคำสั่งได้อย่างอิสระ เวลาจะตัดสินเงื่อนไขก็จะมีองค์ประชุมของคณะศาล ช่วงนี้กำไล EM น่าจะเป็นนโยบายที่คุกคามนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีถึงขั้นฟ้องร้อง ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายแล้ว การใช้กำไล EM ต้องเป็นคดีที่สุ่มเสี่ยงว่าจำเลยคนนั้นจะหนีหรือมีโทษร้ายแรง แต่อยู่ข้างนอกมีประโยชน์กว่าในเรือนจำ มันเป็นเงื่อนไขที่สร้างขึ้นมาสำหรับจำเลยที่ทำผิด แต่สิ่งที่เราเจอคือเรายังไม่ได้ถูกพิสูจน์ว่าผิดเลยแต่เราถูกกระทำก่อนแล้ว มันเลยไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไรในทางปฏิบัติของคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม แต่ตัวกำไล EM เอง ถ้าใช้ให้มันถูกที่หรือเกิดความเป็นธรรมมันก็ใช้ได้ แต่มันกลับถูกใช้ในคดีที่มันไม่เข้าท่า”

    นอกจากการใส่กำไล EM แล้ว ยาใจยังเล่าถึงตอนที่เขาถูกคุมขังในเรือนจำด้วยว่าเขารู้สึกอึดอัดเพราะสภาพความเป็นอยู่ที่แอดอัดและขาดอิสระภาพโดยสิ้นเชิง แม้ว่าเขาจะเคยเข้าไปอยู่ในเรือนจำเพียง 3 ครั้งและอยู่ไม่นานก็ได้รับการประกันตัว แต่ช่วงระยะเวลาดังกล่าวก็ทำให้เขาได้ทบทวนประสบการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมที่พบเจอมาตั้งแต่ชั้นตำรวจที่เป็นต้นน้ำ ชั้นอัยการและศาลที่เป็นกลางน้ำ มาจนถึงกรมราชทัณฑ์ที่เป็นปลายน้ำ ซึ่งเขามองว่าการรับรู้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนยังไม่ดีนัก

    “อึดอัดและแย่มาก เราคิดว่าเราอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม มีกรง และมีคนในนั้น 10-15 คน/ห้อง ห้องน้ำก็รวมในห้องขังไปเลย การกิน การนอน การเข้าห้องน้ำ อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทุกอย่างดูอึมครึมไปหมด ไม่รู้ว่าใครเป็นใครบ้าง แต่ก็ยังดีหน่อยที่เรามีทักษะด้านกฎหมาย ตอนอยู่ในนั้นเขาก็จะให้เราเป็น ‘ทะแนะ’ เหมือนทนายที่ให้คำปรึกษาเรื่องคดีความว่าเขาควรจะทำอย่างไร อยู่ข้างในมันไม่รู้จะทำอะไรก็ได้พูดคุยกัน คุยเรื่องคดี ที่ไปที่มา ซึ่งบางคนก็ไม่น่าโดน เช่น ขโมยของ แต่ก็ขโมยของนิดเดียว หลักสิบ ไม่ถึงร้อย แต่ติดคุกอย่างต่ำ 84 วัน แต่ข้อเท็จจริงบางอย่างไม่ได้พูดในชั้นศาล ศาลไม่รู้ ก็ต้องติดคุกไป พอได้พูดคุยเราก็เห็นบรรยากาศตรงนี้ ก็ฆ่าเวลาไป”

    ทนายความในดวงใจ

    แม้ว่าความฝันสูงสุดของยาใจคือการได้เป็นผู้พิพากษา แต่เขาบอกว่าจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองทำให้เขาอยากต่อยอดวิชาชีพที่เรียนมาด้วยการทำงานเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชนด้วยเช่นกัน โดยเขาเผยว่าเป็นทนายความที่เก่งเหมือนนรเศรษฐ์ นาหนองตูม หรือทนายรอน ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน

    “เขาเป็นทนายความที่ทำคดีให้พวกผมครั้งแรกตอนปี 2563 ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเรามีทนายที่เก่งมากจากตอนคุยกันเรื่องทิศทางการต่อสู้คดี แล้วตอนเราฟังทนายรอนตอบโต้ สื่อสาร แย้งศาล หรือยืนยันการกระทำของเราในชั้นศาล ผมว่ามันมีน้ำหนักในทางกฎหมายและทางวิชาการด้วย ซึ่งผมรู้สึกว่าถ้าเราจะเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ทรงอย่างทนายรอนก็ดีนะ”

    1.5 วินาทีกับการชูสามนิ้วในพิธีรับปริญญา

    ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2565 เฟซบุ๊กเพจของกลุ่มทะลุฟ้า และวอยซ์ทีวี รายงานว่ายาใจได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูสามนิ้วระหว่างพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา โดยการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่เขารับพระราชทานปริญญาบัตรแล้ว และกำลังจะลงจากเวที นอกจากนี้ เพจทะลุฟ้าและวอยซ์ทีวียังระบุว่ามหาวิทยาลัยได้งดการเผยแพร่ภาพไลฟ์สดในช่วงที่เขากำลังรับพระราชทานปริญญาบัตร

    ยาใจเปิดเผยกับประชาไทว่าเขาไม่ได้เตรียมการมาก่อนว่าจะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูสามนิ้วในพิธี ไม่มีการนัดแนะหรือเตรียมการใดๆ กับเพื่อนคนอื่นๆ เป็นการตัดสินใจในตอนนั้นว่าต้องการใช้โอกาสเพียง 1.5 วินาทีในการสื่อสารข้อเรียกร้องและประเด็นทางสังคมต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์โดยตรง

    ข้อเรียกร้องของยาใจในนามกลุ่มทะลุฟ้า คือ 1) ไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี 2) ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตัดระบอบ คสช. คืนอำนาจให้ประชาชน 3) ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยยาใจมองว่าข้อเรียกร้องทั้งหมดเหล่านี้ยังไม่สำเร็จผล การแสดงออกในครั้งนี้จึงถือเป็นการยืนยันว่ายังมีการเรียกร้องเกิดขึ้น โดยเฉพาะในกรณีการยกเลิก ม.112

    “ทุกวันนี้ การดำเนินคดีกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็มีคนถูกดำเนินคดีกันเยอะมาก ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาก็เป็นหลักร้อยกว่าคน ผมรู้สึกว่ามันเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติในสังคมนี้อยู่แล้ว การเสนอของเราก็คือต้องการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย เพราะเป็นการเปิดเส้นทางสู่การวิพากษ์วิจารณ์ (สถาบันฯ) และเป็นเส้นทางสู่เสรีภาพจริงๆ ในสังคม เราต้องยอมรับว่าสถานการณ์ในตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว การวิพากษ์วิจารณ์หรือการพูดถึงสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องปกติหรือเป็นเรื่องที่พูดถึงได้โดยทั่วไป เพราะเราเห็นปัญหาร่วมกันหรืออยากเห็นการเปลี่ยนแปลงร่วมกันอยู่แล้ว”

    ยาใจบอกว่าหลังจากเขาแสดงออกด้วยการชูสามนิ้ว เขาก็เดินลงเวทีกลับไปที่นั่งตามปกติ ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ จากในหอประชุม พิธีการทุกอย่างยังคงดำเนินต่อไปตามปกติจนเสร็จสิ้นตามกำหนดการ และเขาไม่ได้สังเกตว่าสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีท่าทีอย่างไรต่อการแสดงออกของเขา ไม่ทราบแม้กระทั่งท่าทีของราชองค์รักษ์ที่ประจำการอยู่ในพิธี แต่การที่ทุกอย่างยังคงดำเนินต่อไปด้วยปกติ ทำให้ยาใจมองว่าการแสดงออกของเขาไม่ได้มีปัญหา และเขาไม่ได้ตั้งใจมาขัดขวางหรือทำลายพิธี

    “การแสดงออกด้วยการชูสามนิ้ว ผมเชื่อว่ามันไม่ผิด แล้วเราก็รู้สึกว่าการทำแบบนี้มันน่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรมากกว่า (ที่จะคิดถึง) ผลกระทบที่จะตามมา จังหวะที่เดินขึ้นไป เราก็รู้สึกว่ามันคือพื้นที่ของเราจริงๆ มันคือพื้นที่ของประชาชนที่เราสามารถทำได้”

    อย่างไรก็ตาม ยาใจบอกว่าในระหว่างช่วงพักครึ่งของพิธีพระราชทานปริญญาบัตร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ได้เข้ามาพูดคุยกับเขาเพื่อสอบถามว่าจะมีการแสดงออกอื่นๆ อีกหรือไม่ และขอความร่วมมือไม่ให้แสดงออกในช่วงครึ่งหลังของพิธี ยาใจเล่าเพิ่มเติมว่าหลังเสร็จสิ้นพิธีการ เขาได้รับทราบภายหลังว่าอาจารย์และตำรวจนอกเครื่องแบบได้เข้าไปพูดคุยกับบิดามารดาของเขาที่รออยู่ด้านนอกหอประชุม โดยตำรวจนอกเครื่องแบบที่มาไม่ได้แสดงตนว่าสังกัดหน่วยงานใดและให้บิดามารดาของเขาลงนามรับทราบการตักเตือนว่าการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูสามนิ้วในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของเขานั้นเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม

    ‘ถ้าไม่เห็นด้วย จะเข้าร่วมพิธีไปทำไม’

    แม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะมีกระแส #ไม่รับปริญญา เกิดขึ้น แต่ยาใจบอกว่าการเลือกว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตรนั้นมีหลายปัจจัย และหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้บัณฑิตหลายคนเข้าร่วมคือครอบครัว หรืออาจเป็นความต้องการของบัณฑิตเอง ซึ่งเหตุผลเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือถูก แต่ทุกเหตุผลสมควรได้รับการรับฟัง

    “อย่างที่บ้านผมก็อยากให้เข้ารับ ซึ่งก็โอเค ผมก็เป็นคนแรกที่เพิ่งเรียนจบ (ระดับปริญญาตรี) ในครอบครัว เขาก็เลยให้ความสำคัญกับพิธีการตรงนี้ พอเราปฏิเสธตรงนี้ไม่ได้ ผมก็รู้สึกว่าโอเค เข้ารับก็ได้”

    “แต่ถ้าในมุมมองเราก็รู้สึกว่ามันเป็นพิธีกรรมที่ไม่สอดคล้องกับการตั้งใจเรียนของนักศึกษาตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา”

    กังวลผลกระทบที่จะตามมาจากเหตุการณ์นี้หรือไม่

    “จริงๆ ถ้าในทางคดีผมยังไม่ค่อยกังวลเท่าไรเพราะผมก็ยังเชื่อว่าการแสดงออกของเราไม่ผิดในทางกฎหมายหรือจะเข้าข่าย ม.112 แต่ที่กังวลคือผลกระทบโดยตรงไม่ว่าจะเป็นการคุกคามคนที่บ้านหรือคุกคามตัวเราเอง ซึ่งตั้งแต่ตอนที่จบพิธีการก็ยังไม่มีใครมาคุกคามโดยตรง แต่หลังจากนี้การใช้ชีวิตมันก็ต้องพยายามระวังตัวมากขึ้น เพราะอย่างที่บอก ผมก็เห็นข่าวการทำร้ายร่างกายนักกิจกรรม ผมก็รู้สึกว่าสิ่งที่กังวลก็คงจะมีแค่ทางนี้ ส่วนทางกฎหมายเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ได้เข้าข่ายผิดอะไร”

    ยาใจกล่าวเพิ่มเติมว่าหากมีกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ไปแจ้งความเอาผิด เขาก็ไม่ได้กังวลมากนัก เพราะอย่างน้อยต้องใช้พื้นที่ศาลในการสู้คดีและยืนยันความบริสุทธิ์ แม้ว่าการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับคดีที่มีความผิดเกี่ยวข้องกับสถาบันฯ โดยเฉพาะ ม.112 นั้นแทบจะไม่มีการรับฟังฝ่ายจำเลย ทั้งยังสร้างความยุ่งยากในการใช้ชีวิตให้แก่ผู้ถูกฟ้องร้อง แต่โดยส่วนตัว เขามองว่าการกระทำเช่นนี้ยังดีกว่าการคุกคามโดยตรงที่ถึงเนื้อถึงตัว

    “ม.112 มันมีเหตุผลแค่ไหนในการดำเนินคดี ผมรู้สึกว่าตัวผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทางกฎหมายยังทำงานไม่ชัดเจน ยังมีความสองมาตรฐานอยู่ระหว่างคดีทั่วไปกับคดี ม.112”

    มุมมองต่อพิธีพระราชทานปริญญาบัตร

    ยาใจบอกว่าหากเลือกได้ พิธีรับปริญญาในฝันของเขาคือการรับปริญญากับผู้ปกครอง ไม่จำเป็นต้องมีพิธีที่เป็นทางการแต่เป็นเพียงการแสดงออกถึงความขอบคุณแก่ผู้ที่มีส่วนร่วมผลักดันในการศึกษาของเขา แต่หากต้องมีพิธีที่เป็นทางการจริงๆ เขาคิดว่ามหาวิทยาลัยควรเปิดพื้นที่ให้บัณฑิตได้ร่วมออกแบบพิธีการรับปริญญาในแบบที่พวกเขาต้องการจริงๆ เพราะคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยมองว่าพิธีพระราชทานปริญญาบัตรจากสถาบันกษัตริย์ไม่ได้มีความยึดโยงกับชีวิตการเรียนของพวกเขา

    “ผมไม่ได้ให้ความสำคัญกับการรับปริญญาที่ต้องเป็นพิธีการขนาดนั้น แต่ถ้ามันต้องมีพิธีการจริงๆ ก็เปิดพื้นที่ (ให้บัณฑิต) โหวต ดีกว่าการที่มหาวิทยาลัยกำหนดระเบียบต่างๆ เอง ผมรู้สึกว่าบัณฑิตควรได้ออกแบบหรือมีส่วนร่วมในการคิดเกี่ยวกับพิธีการที่เขาเป็นส่วนสำคัญที่ทำเกิดพิธีการเหล่านี้ เพราะจากสิ่งที่เกิดขึ้น เราไม่ได้รู้สึกว่าเรามีส่วนร่วมหรือเป็นเจ้าของ เรารู้สึกแค่ว่าเราเป็นคนที่เข้ามาทำตามหน้าที่ รับตรงนี้แล้วจบ แต่ความตั้งใจจริงๆ คือสุดท้ายเราก็รอไปถ่ายรูป ไปอยู่กับครอบครัว”

    “ถ้าความคิดคนในสังคมเปลี่ยน พิธีการมันก็ต้องปรับกันไปเอง ซึ่งคนที่ยังคิดว่ามันศักดิ์สิทธิ์หรือสำคัญก็ต้องมีพื้นที่ในการถกเถียง แลกเปลี่ยนกันว่าพิธีนั้นให้อะไรกับบัณฑิตหรือสังคมจริงๆ”

    หากการเมืองเปลี่ยนขั้ว 3 ข้อทะลุฟ้ามีโอกาสเป็นจริง

    ในส่วนของข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อของกลุ่มทะลุฟ้านั้น ยาใจมองว่าหากมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้า ข้อเรียกร้องข้อแรกคือการไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากตำแหน่งนายกฯ จะเกิดขึ้นก่อนหากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง และเมื่อเป็นเช่นนั้น ข้อเรียกร้องอีก 2 ข้อ คือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และการยกเลิกหรือแก้ไข ม.112 จะถูกพิจารณาและได้รับการผลักดันเข้าสู่กระบวนการรัฐสภาอย่างแน่นอน

    “ผมรู้สึกว่าการเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พรรคการเมืองเองก็ต้องรับฟัง รวมถึงการเสนอการยกเลิกหรือแก้กฎหมาย ม.112 ผมว่าข้อเรียกร้องอะไรต่างๆ มันจะถูกผลักดันเข้าไปในนโยบาย ผมยังเชื่อว่ามันควรเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองด้วยซ้ำ โดยเฉพาะสำหรับพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่ฟังเสียงประชาชนจริงๆ”

    “ถ้าจังหวะทางการเมืองมันพลิกโผให้ประยุทธ์กลับมาอีก เราก็ต้องลงถนนเพื่อยืนยันข้อเรียกร้องว่าเราไม่ต้องการให้ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะผลงาน 8 ปีที่ผ่านมาก็ยืนยันได้แล้วว่าเขาไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีภาวะความเป็นผู้นำที่จะทำให้ประเทศไทยหรือสังคมเราจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้เลย ซึ่งผมยังไม่ออกนะว่าประยุทธ์จะกลับมา ผมยังมองว่ามันน่าจะเป็นรูปแบบใหม่ แต่ถ้าประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกฯ เราก็ต้องไล่เหมือนเดิม หรือถ้ามีตัวแทนของระบอบ คสช. ขึ้นมาเป็นนายกฯ เราก็ยืนยันที่จะไล่ หรือถ้ากลไก ส.ว. 250 คนเป็นปัญหา ผมก็ต้องยืนยันว่าประชาชนมีอำนาจที่จะตัดกลไกตรงนี้ตามรัฐธรรมนูญ แล้วก็เสนอรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

    “ผมคิดว่าบรรยากาศมันคงแตกต่างจากปี 2563-64 เพราะโรคระบาดมันก็เริ่มซาลงแล้ว คนน่าจะตั้งหลักได้แล้วในปี 2566 ถ้ามีอุบัติเหตุทางการเมืองหรือมีเหตุผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากที่เราประเมิน ผมคิดว่าสถานการณ์ในตอนนั้นก็คงต้องมีการลงถนนเพื่อเรียกร้องข้อเรียกร้องของเราต่อไป”

    4 ปีข้างหน้ากับความคาดหวังต่อรัฐบาลชุดใหม่

    ยาใจระบุว่าเขาค่อนข้างเชื่อมั่นว่าจะเกิดการสลับขั้วทางการเมือง ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดความหวังขึ้นในสังคม ทั้งด้านเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และสิทธิต่างๆ โดยเขาอยากให้รัฐบาลชุดใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องรัฐสวัสดิการ เพราะจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านการรักษาพยาบาล ด้านการศึกษา ด้านการขนส่ง โดยนโยบายรัฐสวัสดิการที่เขาอยากรัฐบาลให้ผลักดัน 2 อันดับแรก คือ ด้านการศึกษา และการรักษาพยาบาล เพราะทั้ง 2 อย่างนี้สามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในระยะยาวได้

    “ผมรู้สึกว่าประเทศไทยเราต้องมีรัฐสวัสดิการตรงนี้เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ได้”

    นอกจากนี้ ยาใจยังต้องการให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม อย่างน้อยๆ คือการแก้ไขกฎหมายบางอย่าง หรือเพิ่มอำนาจตรวจสอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชน

    “อย่างแรกผมรู้สึกว่าบทบัญญัติกฎหมายต้องมาทบทวนกันอีกทีว่าตรงไหนยังเป็นปัญหาอยู่ ควรมีบทกำหนดที่เกี่ยวข้องกับผู้ปฏิบัติการในกระบวนการยุติธรรม เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รัฐควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ อาจจะไม่ได้ให้ประชาชนเลือกแต่ควรให้อำนาจในการตรวจสอบ ตอนนี้ต้องยอมรับว่ากระบวนการยุติธรรมไทยมีความเป็นอิสระมากจนประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้”

    แม้ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดช้าแต่ยังมีหวังว่าจะเปลี่ยนแปลง

    ยาใจสะท้อนภาพการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาว่าการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายหรือเชิงโครงสร้างยังไม่เกิดขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงทางความคิดได้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เขามีหวังว่าในอนาคต การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และต้องช่วยกันรักษาข้อเรียกร้องทั้งหมดไว้ เพื่อยืนยันว่าสิ่งที่เราเรียกร้องนั้นไม่ใช่เรื่องผิด

    “คนส่วนใหญ่มักบอกว่าพวกเราเป็นคนกลุ่มน้อย แต่ผมว่าเราก็เป็นคนส่วนใหญ่ทั่วๆ ไปที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง”

    ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

    ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net