ภาค ปชช. ร้องค้านควบรวมทรูดีแทค - ก้าวไกล ชี้ กสทช. ต้องหยุดปัดความรับผิดชอบ

กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร ร้อง กสทช. ค้านควบรวมทรูดีแทค ขณะที่ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เรียกร้อง กสทช. ต้องหยุดปัดความรับผิดชอบปล่อยให้เกิดการควบรวมค่ายมือถือ

 

29 ส.ค.2565 ช่วงสายที่ผ่านมา ที่สำนักงาน กสทช. กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร เดินทางเข้ายื่นหนังสือ ค้านควบรวมทรูดีแทค โดยหนังสือระบุว่า ตามที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (True) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)(Dtac) ได้ประกาศแจ้งต่อสาธารณะว่าจะมีการควบรวมธุรกิจ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร และเครือข่ายภาคประชาชน มีความกังวลต่อการควบรวมธุรกิจดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

จากการที่ กสทช. ได้ทำหนังสือไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 และคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบกลับ กสทช. มาแล้ว เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ว่า ไม่สามารถรับข้อหารือไว้พิจารณาได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล และเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 กสทช. ก็ได้มีการทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ในการพิจารณาการควบรวมธุรกิจดังกล่าว ด้วยเนื้อหาเดียวกันซ้ำอีกครั้ง อาจทำให้ประชาชนสับสนและเข้าใจคลาดเคลื่อนไปได้ว่า กสทช.มีความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยยินยอมให้ฝ่ายบริหารเข้ามามีบทบาทแทรกแซง และครอบงำการใช้อำนาจของ กสทช. อาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 60 และส่งผลให้ นายกรัฐมนตรี มีความเสี่ยงในการปฏิบัติที่ขัดต่อกฎหมายอีกด้วย

กสทช. ในฐานะองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 60 ที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม เพื่อสนับสนุนการแข่งขันเสรีที่เป็นธรรม ดูแลผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติ จึงต้องป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือ สร้างภาระต่อผู้บริโภคเกินความจำเป็น ซึ่งการควบรวมครั้งนี้ จะทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระราคาค่าบริการที่เพิ่มขึ้น 2.03-244.50% (อ้างอิงผลการศึกษา กสทช.) หรือไม่มีโอกาสที่จะปรับราคาลดต่ำลงได้ เหมือนเช่นในอดีต ที่มีการแข่งขันสูง

หนังสือระบุอีกว่า การควบรวมครั้งนี้ นอกจากเป็นการลดทางเลือกของผู้บริโภคแล้ว ยังอาจทำให้เกิดการดำเนินธุรกิจแบบ Cross Industry การบริการจะถูกย้ายจาก ร้านค้าลูกตู้ ไปยังร้านค้าปลีกในเครือ เพราะไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายค่านายหน้าในการขายสินค้าให้ร้านค้าอีกต่อไป ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดขายส่งและขายปลีก Sim card ต่อเนื่องไปถึง Vender/Supplier ผู้ให้เช่าสถานที่ และพนักงาน รวมไปถึงผู้ประกอบการต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาบริการโทรคมนาคมในการขายสินค้าหรือบริการของตนผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย

กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร และเครือข่ายภาคประชาชน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กสทช.จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ในฐานะองค์กรอิสระที่มีหน้าที่กeกับดูแลให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ไม่ทำให้เกิดการลดการแข่งขัน อันอาจจะทำให้ผู้บริโภคและประเทศชาติเสียผลประโยชน์ ตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

กลุ่มยังเชิญชวนสำหรับประชาชนที่ต้องการแสดงจุดยืนคัดค้านการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคสามารถร่วมลงชื่อได้ที่ change.org/trueDtac ซึ่งปัจจุบันมีผู้ลงชื่อเกือบ 16,000 รายชื่อแล้ว

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เรียกร้อง กสทช. ต้องหยุดปัดความรับผิดชอบปล่อยให้เกิดการควบรวมค่ายมือถือ

วันเดียวกัน ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เรียกร้องให้ กสทช. หยุดปัดความรับผิดชอบสั่งหยุดการควบรวมค่ายมือถือ ซึ่งการกระทำที่ผ่านมาของ กสทช. ทั้งการพยายาม “ยื่นตีความกฎหมายว่าตัวเองมีอำนาจหรือไม่” ทั้งที่ศาลปกครองเคยมีคำสั่งแล้วว่าอำนาจการระงับควบรวมอยู่ในอำนาจ กสทช. และการที่ประธานบอร์ด กสทช. สั่งลบ Infographic “5 Facts กรณีการควบรวมทรู-ดีแแทค” ภายหลังค่ายมือถือใหญ่ออกจดหมายคัดค้าน ทำให้เราสงสัยว่ากสทช. จะปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาไม่เอื้อนายทุนหรือไม่

โดยระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการกระทำที่น่าเคลือบแคลงอย่างยิ่งของ กสทช. คือบอร์ด กสทช. เพิ่งมีมติ 3:2 ยื่นคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ตีความอำนาจตัวเองเป็นรอบที่ 2 ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองได้มีคำสั่งออกมาแล้วว่า กสทช. มีหน้าที่และอำนาจต้องดำเนินพิจารณากรณีการควบรวมค่ายมือถือ ทรู-ดีแทค

ไม่ชอบมาพากลในกรณีนี้ว่าการที่ กสทช. มีเจตนาส่งเรื่องให้องค์กรตีความกฎหมายหลายองค์กรวินิจฉัยอำนาจของตัว กสทช. เองนั้น เพื่อให้ปัดความรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ของตนในการระงับการควบรวมค่ายมือถือซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจสัญญาณค่ายมือถือในประเทศไทยถูกผูกขาดโดยรายใหญ่เพียง 2 เจ้า

นี่ไม่ใช่การยื่นคณะกรรมการกฤษฎีกาครั้งแรก เนื่องจากบอร์ด กสทช. ก็เคยตีความไปแล้วว่าไม่รับคำร้องวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของ กสทช. แต่กสทช. ยังดึงดันส่งเรื่องให้พิจารณาอีกรอบ พร้อมทั้งยื่นหนังสือถึงรักษาการนายกฯ ให้ออกคำสั่งให้กฤษฎีกาตีความอำนาจหน้าที่ของ กสทช. (รักษาการนายกฯ ก็คือ พล.อ.ประวิทย์ วงษ์สุวรรณ ที่มีข่าวว่าสนิทกับประธาน กสทช.)

ที่ต้องตีความกันใหม่เพราะบอร์ดอยากจะเห็นต่างจากศาลปกครองหรือไม่  เพราะศาลเห็นว่า ประกาศ กสทช.ว่าด้วยมาตรการควบรวมฯปี 2561 ประกอบประกาศ กสทช.ว่าด้วยมาตรการป้องกันการผูกขาดปี 2549 นั้น ได้ให้อำนาจกสทช.ที่จะพิจารณา “อนุมัติ” หรือไม่อนุมัติการขอควบรวมธุรกิจได้อยู่แล้ว สรุปคือ ศาลปกครองเห็นว่าบอร์ดกสทช.มีอำนาจอนุมัติ ไม่ใช่แค่รับทราบ ซึ่งตรงกับความเห็นตามที่รายงานอนุกรรมการของ กสทช. อยากให้เป็น เท่านั้นยังไม่พอ กสทช. ยังตั้งอนุกรรมการพิเศษด้านกฎหมายขึ้นมาอีก 1 ชุด ประกอบไปด้วย “เนติบริกร” ชั้นนำของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, สมคิด เลิศไพฑูรย์, สุรพล นิติไกรพจน์, จรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งข้อเสนอแนะให้ กสทช. ยื่นตีความอำนาจตัวเองต่อกฤษฎีกาในครั้งนี้

ความไม่ชอบมาพากลของบอร์ด กสทช. อีกกรณีก็คือการ “สั่งลบ” Infographic “5 Facts กรณีการควบรวมทรู-ดีแแทค” ที่เผยแพร่โดย กสทช. เอง ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดเป็นการรายงานผลการศึกษากรณีศึกษาต่างประเทศ และผลการศึกษาของคณะกรรมการต่างๆ ของ กสทช.เอง

ภายหลังจากที่บริษัท ทรูและดีแทค ออกมาให้ข่าวว่าภาพ Infographic นี้ไม่มีความเป็นกลาง ประธานบอร์ด กสทช. กลับรีบสั่งลบข้อความพร้อมภาพ และออกบันทึกข้อความชี้แจงอย่างรวดเร็วว่าการเผยแพร่ Infographic ชั้นนี้ “บอร์ด กสทช. ไม่เคยมีมติ และไม่เคยเห็นชอบให้มีการเผยแพร่ข้อมูล”
.
“หลักฐานและข้อเท็จจริงทำให้ กสทช. ไม่สามารถตัดสินให้การควบรวมเกิดขึ้นได้ ทางเดียวที่จะทำให้เกิดการควบรวมค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ 2 เจ้าขึ้นในประเทศไทยคือการหาคนมาตีความวินิจฉัยว่า กสทช. ไม่มีอำนาจพิจารณายับยั้งการควบรวม ดิฉันไม่อยากให้ประชาชนตั้งคำถามกับเจตนาของ กสทช. ในการดันทุรังส่งเรื่องให้เกิดการตีความทางกฎหมายหลายครั้งว่าการกระทำเหล่านี้ เป็นไปเพื่อเอื้อกลุ่มทุน” ศิริกัญญา ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท