แนวรบด้านตะวันออก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร บุคคลสำรองที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐลำดับสาม ผู้ทรงอิทธิพลของพรรคเดโมแครต วัย 82 ปี เดินทางไปเยือนใต้หวัน ท่ามกลางคำข่มขู่ “อย่าเล่นกับไฟ”ของ สีเจิ้นผิง และท่าทีที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของแนนซี่จาก โจ ไบเดน แต่เมื่อเครื่องบินลงจอดที่สนามบินในไทเป การเยือนใต้หวันของแนนชี่ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของสังคมตะวันตก ที่ให้คุณค่ากับเสรีภาพเหนืออื่นใด ก็ได้รับการประสานเสียงจากแนวร่วม จี7 และคำแถลงของรัฐบาลสหรัฐ ในการปกป้องความชอบธรรมของเสรีภาพในการเดินทางของมนุษย์ที่มีอิสระในการตัดสินใจที่จะเลือกทางเดินของตัวเอง ตราบใดที่ไม่ได้ละเมิดสิทธิในชีวิตและทรัพย์สินของใคร แม้แต่ประธานาธิบดีของสหรัฐก็ไม่อาจละเมิดหลักการนี้ได้

ก่อนหน้าวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัสเซียส่งเสียงดังไปยังตะวันตก ให้ยุติการคุกคามความมั่นคงของรัสเซีย (หรือความมั่นคงของชนชั้นนำในมอสโคว) ขอให้นาโต ประกาศว่าจะไม่รับยูเครนเป็นสมาชิก และขอให้ยูเครนดำเนินการตามข้อตกลงสันติภาพที่เกี่ยวกับการยึดครองไครเมีย นาโตและสหรัฐ ตอบรัสเซียด้วยเสียงดังฟังชัดก้องไปทั้งโลก ทุกประเทศทั่วโลก มีเสรีภาพที่จะตัดสินใจเลือกทางเดินของตัวเอง การรับยูเครนเป็นสมาชิกนาโต เป็นเรื่องระหว่างยูเครนกับประเทศสมาชิกนาโต ที่จะพิจารณาและตัดสินใจได้อย่างอิสระ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับรัสเซีย

เมื่อเร็วๆ นี้ รมต.ต่างประเทศ รัสเซีย เชียร์เกร์ ลัฟลอฟ เดินทางไปเมียนมาร์์ หลังการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยระดับนำสี่คนในเมียนมาร์์ ส่งสัญญาณมรณะถึงเหล่านักต่อสู้เพื่อเสรีภาพทั้งหลาย สงครามกลางเมืองในเมียนมาร์์จะดำเนินไปอย่างไร้ความปรานี เฉกเช่นเดียวกับที่รัสเซียกระทำต่อยูเครน จนกว่าความมั่นคงจะกลับคืนมาสู่ดินแดน รัสเชียให้ความมั่นใจกับวิถีทางของ มินอ่องลาย เมียนมาร์เดินมาถูกทางแล้ว มีแต่สงครามและการเข่นฆ่า พวกเราจึงสามารถยึดกุมความได้เปรียบต่อเหล่าพวกคลั่งไคล้เสรีภาพ

ประชาชนบนโลกส่วนใหญ่ ไม่เคยมีใครรู้จักชื่อ บูชา (Bucha) มาริอูโปล (Mariupol) อาซอร์สตัล (Azovstal) ลูฮันส์ค (Luhansk) โดเนสก์ (Donesk) ดอนบาส (Donbas) แต่หลังจากวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ผู้ที่ติดตามข่าวสงครามในยูเครน จะจดจำชื่อเหล่านี้ไปตลอด เหมือนคนที่สนใจประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สอง จะจดจำชื่อ เอาท์วิทซ์ เดรสเดน ฮิโรชิมา อิโวจิมา แอนแฟรงค์ ชินด์เลอร์ เมงเกเล่ ชื่อเหล่านี้ผุดขึ้นมากับความทรงจำที่สยดสยอง กับการทำลายมนุษย์ด้วยวิธีการที่โหดเหี้ยมเหนือความคาดหมายใดๆ

หกเดือนที่ผ่านไปของสงครามในยูเครน มีประชาชน ทหารยูเครน ทหารรัสเซีย เสียชีวิตเกินกว่าแสนคน ประชาชนชาวยูเครนกลายเป็นผู้อพยพหลายล้านคน รัสเซียแถลงว่า ไม่ได้ถล่มจรวดเข้าไปในย่านที่พักอาศัยของชาวบ้าน ที่เห็นในภาพข่าวทั้งหลายเป็นฝีมือของกองทัพยูเครนที่ต้องการสร้างภาพความเลวร้ายให้รัสเซีย รัสเซียไม่ได้เป็นผู้ก่อสงคราม นี่เป็นปฏิบัติการทางการทหารพิเศษที่ต้องการปลดอาวุธกองทัพยูเครน ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากตะวันตกในการบุกรัสเซียในอนาคต รัสเซียจำต้องปลดปล่อยแคว้นลูฮังส กับดอนบาส ในภาคตะวันออก จากพวกนาซีที่เป็นผู้ปกครองในเคียฟ เพื่อยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ต่อประชาชนรัสเซียในแคว้นดังกล่าว การสังหารหมู่ในเมืองบูชาเกิดขึ้นภายหลังรัสเซียถอนทหารออกจากเมือง กองทัพยูเครนจัดฉากเพื่อป้ายความผิดให้รัสเซีย ตะวันตกกำลังพยายามกำจัดรัสเซียที่เป็นศัตรูที่แข็งแกร่งที่สุดเพื่อครอบงำโลก 

แต่แม้ว่าเราจะอยู่ท่ามกลางสงคราม ความรุนแรง และความทุกข์ของผู้คนจำนวนมากในดินแดนที่ห่างไกล โลกในปัจจุบันก็ยังคงเป็นช่วงเวลาที่สงบสุขที่สุดเท่าที่มีการบันทึกกันไว้หลังจากที่มนุษย์สามารถบรรลุถึงยุคการปฏิวัติเกษตรกรรม ศาสตราจารย์ยูวล ผู้เขียนเรื่อง ซาเปียนส์ เชื่อว่า ด้วยความคิด อุดมคติ และสภาพสังคมของมนุษย์ที่พัฒนามาไกลเกินกว่าที่จะเกิดสงครามครั้งใหญ่ โดยเฉพาะระหว่างประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย กลไกการยับยั้งหายนะจากสงครามดูเหมือนจะทำงานได้ผลดี ยิ่งเมื่อโลกเข้าสู่ยุคที่การพึ่งพาระหว่างประเทศ ผูกปมกันอย่างสลับซับซ้อน จนทุกฝ่ายรู้ดีว่า หายนะที่จะเกิดขึ้นจากความขัดแย้งนั้น ไม่มีใครเป็นฝ่ายชนะโดยเด็ดขาด จะไม่มีฉากจบแบบสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือ แบบสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีผู้ชนะฝ่ายหนึ่งโดยเด็ดขาด โลกจะเผชิญหายนะไปพร้อมๆ กันโดยเหลือแต่ซากให้กับผู้ที่ยังอยู่ การร่วมมือกันแม้ในบางระดับ และการไม่ก่อสงครามขั้นร้ายแรง เป็นวิถีทางที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน

ตอนที่สงครามเย็นอยู่ในจุดของความขัดแย้งสูงสุดในช่วงทศวรรษ 1960-1980 การสะสมอาวุธนิวเคลียร์ดำเนินไปตามการคาดการณ์ตามทฤษฎีเกม (game theory) ของนักคณิตศาสตร์อัจฉริยะ จอหน์ แนช การเร่งการสะสมอาวุธ เกิดจากการคาดการณ์ว่า ฝ่ายตรงข้ามจะมีอาวุธมากกว่าตนเอง และผลจากการคาดการณ์ที่เหมือนกันของทั้งสองฝ่าย ทำให้ดุลของอาวุธอยู่ในจุดที่สมดุล และก่อให้เกิดสันติภาพ เพราะทั้งคู่รู้ว่าจะไม่มีผู้ชนะหากใครคิดจะเริ่มก่อสงครามขึ้นก่อน ทั้งที่สันติภาพได้มาง่ายกว่านั้น ด้วยการที่ทั้งคู่ตัดสินใจไม่สะสมอาวุธพร้อมกัน และเมื่อถึงจุดหนึ่ง โซเวียตรัสเซียในขณะนั้น ยอมรับความจริงก่อนว่า สันติภาพไม่อาจเกิดจากทฤษฎีเกมได้อีกต่อไป และยอมให้สหรัฐกลายเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียว เมื่อโซเวียตล่มสลาย กลายเป็นช่วงเวลาที่ชาวโลกรู้สึกโล่งอก และผ่อนคลายกับความตึงเครียดตลอดเวลากว่าสี่สิบปีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ช่วงเวลาสูดโอโซนของชาวโลกดำเนินไปแค่สามสิบปี เทคโนโลยี่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดภายหลังการล่มสลายของโซเวียตและกำแพงเบอรลิน เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต คุณค่า อุดมคติ และความขัดแย้งรอบใหม่ที่กระจายไปทั่วทุกทวีป เรากลับมาสู่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ชนชั้นนำในรัฐเผด็จการ แสดงความไม่พอใจกับอุดมคติแบบเสรีภาพที่มาพร้อมกับการปฏิวัติเทคโลยี่การสื่อสาร เสรีภาพที่กำลังเบียดขับให้พวกเขาต้องหันหลังชนฝา เช่นเดียวกับที่รัฐนาซีในเยอรมันกล่าวโทษชาวยิวเป็นต้นเหตุของความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 และเหล่าคอมมิวนิสต์ในรัสเซียคืออมนุษย์ที่เกิดมาเพื่อทำลายอาณาจักรไรทซ์ที่สาม 

นี่คือช่วงเวลาที่น่าตื่นตาตื่นใจอีกครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เป็นสงครามที่ก่อตัวขึ้นจากอุดมคติเสรีนิยม รุกไล่อุดมคติแบบอำนาจนิยม แม้ฝ่ายเสรีนิยมจะมีคนเข้าร่วมมากกว่า แต่พลังของการทำลายล้ายของฝ่ายอำนาจนิยมก็รุนแรงถึงขนาดทำลายโลกได้มากกว่าหนึ่งพันครั้ง

สำหรับฝ่ายอำนาจนิยมแล้ว อาวุธที่สำคัญที่สุดคือความไร้ตรรกะ และการทำลายแบบแผนที่สมเหตุผล ด้วยคำอธิบายที่ใช้เหตุผลคนละแบบ การแก้กติกาเพื่อความได้เปรียบในการเลือกตั้ง การใช้กล้วยเพื่อคงอยู่ในอำนาจ เป็นเพียงแค่วิธีแรกๆ ของการตั้งรับของฝ่ายอำนาจนิยม พวกเขาพร้อมจะไปไกลเหมือนในเมียนมาร์ รัสเซีย อิหร่าน เวเนซูเอล่า ซีเรีย คงไม่มีใครตอบได้ สิ่งที่พอจะคาดเดาได้คือ พวกเขาจะกระทำทุกวิถีทางโดยไม่ขึ้นอยู่กับวิธีการและเหตุผลตามสามัญสำนึก และเห็นว่า ประชาชนของตัวเอง เป็นเพียงทรัพยากรชนิดหนึ่ง ที่ใช้แล้วหมดไป เหมือนที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์โลกหลังยุคการปฏิวัติเกษตรกรรม 

ถ้าเกิดสงครามที่เกาะใต้หวันขึ้นในอนาคต เราคงได้แต่นึกสงสัยว่า เหล่าเสรีนิยมแบบแนนซี่ที่แข็งทื่อและสุดโต่งกับอุดมคติของตนเองขนาดที่ยอมให้มีคนตายหลายแสนคน ก็เห็นด้วยว่า เราต้องใช้ต้นทุนมนษย์เหล่านี้เพื่อสถาปนาอุดมคติของเสรีภาพ แม้ว่าใช้แล้วจะหมดไปก็ตาม ถ้าเป็นแบบนั้น แม้แต่ อัจฉริยะอย่างจอหน์ แนช ก็คงนึกไม่ถึง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท