คุยกับเยาวชนไทยเจ้าของรางวัลไดอาน่า ผ้าอนามัยเป็นสิทธิ ประจำเดือนเป็นสิ่งธรรมดาของร่างกาย

จากความผิดปกติของร่างกาย มัญญสิริขยายผลสู่การโครงการ HER ที่มุ่งแก้ปัญหาราคาผ้าอนามัยแพง ความรู้ด้านสุขภาวะทางเพศ สิทธิในการเข้าถึงผ้าอนามัย และมายาคติเกี่ยวกับประจำเดือน เธอคิดว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องของผู้หญิงเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกเพศที่ต้องเรียนรู้ร่วมกัน

มัญญสิริ โชติบูรณ์วงศ์

Polycystic Ovary Syndrome (PCOS) หรือภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบเป็นความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อหรือฮอร์โมนในร่างกาย อาการอย่างหนึ่งของหญิงที่มีภาวะนี้คือประจำเดือนมาไม่ปกติ ตอนที่มัญญสิริ โชติบูรณ์วงศ์ อายุ 15 ประจำเดือนของเธอไม่มา 8 เดือน เธอไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น กลับชอบด้วยซ้ำเพราะเธอไม่ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ ซึ่งเป็นความยุ่งยากประการหนึ่งของผู้หญิง

สูตินรีแพทย์บอกกับเธอว่าถ้าเธอนิ่งนอนใจ ไม่ได้รับการรักษา ในอนาคตเธออาจมีลูกไม่ได้เลย พอเธอได้รับรู้ความผิดปกติของร่างกาย ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อน กับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิบ้านพระพรที่ทำงานเกี่ยวกับผู้ต้องขังซึ่งเธอเป็นอาสาสมัครอยู่ และกับผู้ต้องขังเอง มัญญสิริจึงตระหนักว่าการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศของผู้หญิง มายาคติเกี่ยวกับประจำเดือน การเข้าไม่ถึงผ้าอนามัยของผู้ต้องขังหญิง ของผู้หญิงที่มีรายได้ไม่เพียงพอ หรือแม้กระทั่งในเขตชนบท เป็นเรื่องใหญ่กว่าที่เธอคิด

ออกแบบผ้าอนามัยสำหรับ long term solution

“ถ้าเราต้องเอาผ้าอนามัยมาบริจาคแบบนี้ทุกครั้งมันก็จะไม่เป็น long term solution หนูก็เลยพยายามคิดว่าในต่างประเทศเขาทำอย่างไรกัน เราไปหาวิธีการที่ยั่งยืนมากขึ้น ในต่างประเทศเขามีผ้าอนามัยแบบผ้าที่ใช้ได้สองปีถึงห้าปี สามารถซักแล้วเอามาใช้ใหม่ได้ หนูก็ลองซื้อหลายๆ อันมาลองเทสต์ หาเพื่อนมาช่วยเหลือวิจัย ดูดีไซน์แบบไหนที่เราคิดว่าน่าจะเหมาะกับผู้หญิงในประเทศไทย แล้วมีการแลกเปลี่ยนไอเดีย มีการ fund rest ครั้งแรก แล้วลองทำผ้าอนามัยชุดแรกขึ้นมาให้ผู้หญิงประมาณ 200 คนลองใช้แล้ว feedback กลับมาว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเราได้ feedback กลับมาว่าแบบถือว่าผ้าอนามัยแบบผ้าเป็นไอเดียที่ดีและยอมเปิดรับวิธีการใช้ผ้าอนามัยแบบใหม่”

ผ้าอนามัยแบบผ้าเวอร์ชั่นแรกเป็นเพียงผ้าธรรมดา การซึมซับไม่ดีเท่าที่ควร ผู้ใช้รู้สึกไม่มั่นใจ เหล่านี้เป็นเสียงสะท้อนจากกลุ่มทดลองใช้ มัญญสิริค้นหาข้อมูลจนพบว่าชานอ้อย ของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมน้ำตาลมีเส้นใยเซลลูโลสที่ดูดซึมน้ำได้ดีซึ่งสามารถนำมาทำเป็น SAP หรือ super absorb polymer เป็นสารตัวเดียวกันกับที่ใช้ในผ้าอนามัยทั่วไปในท้องตลาด แต่มีราคาถูกกว่า

เธอติดต่อบริษัทน้ำตาลรายหนึ่งขอนำวัสดุนี้มาใช้สอดเข้าไปในผ้าอนามัยแบบผ้า ก่อนจะนำไปทดสอบอีกครั้ง รอบนี้ได้รับเสียงตอบรับดีกว่า

“หลายคนอาจจะคิดว่าเราไม่เคยนำชานอ้อยมาใช้ในลักษณะนี้ แล้วนำมาใช้ที่จุดซ่อนเร้นของผู้หญิง มันก็เลยเซนซิทีฟ ตอนนี้ยื่นจดแจ้ง อย. ผ่านขั้นแรกแล้ว มันก็จะมีการทำให้เป็นมาตรฐานว่ามันปลอดภัยจริงๆ ไหม ไม่ใช่พอเราใช้แล้วมีการคันหรือว่าติดเชื้อ”

มัญญสิริอธิบายเพิ่มเติมว่า

“มันมี 2 ชิ้นคือผ้าอนามัยแบบผ้าและมีตัวที่ใช้สอดเข้าไป ซึ่งเราจะมีคู่มือทุกครั้งที่เราเอาผ้าอนามัยไปให้เด็กที่โรงเรียนหรือว่าผู้หญิงที่อยู่ในเรือนจำ ในวันที่เขามาน้อย เขาจะเลือกใช้ผ้าอนามัยแบบผ้าหรือแบบไม่มีแผ่นรองเลยหรือว่าสามารถใส่แผ่นรองผ้า 3 ชิ้น หรือในวันที่มามากใช้แบบชานอ้อยเพราะมันดูดซับได้มากกว่าผ้าถึง 4 เท่า เขาก็มีทางเลือก เหมือนในเวอร์ชั่นแรกไม่ได้มีทางเลือกนั้น”

HER และรางวัลไดอาน่า

มัญญสิริเล่าว่าค่าผ้าอนามัยของผู้หญิงเฉลี่ยเดือนละ 200-500 บาทขึ้นอยู่กับราคาผ้าอนามัยที่เลือกใช้ กรณีเป็นผ้าอนามัยแบบผ้าต้นทุนครั้งแรกอาจจะสูงกว่า แต่สามารถใช้ได้ประมาณ 2 ปี เมื่อคำนวณต้นทุนออกมาแล้วจึงประหยัดกว่าผ้าอนามัยทั่วไปร้อยละ 30 โดยทั่วไปประจำเดือนจะมา 5-7 วัน ใน 1 วันผู้หญิงต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยอย่างน้อยที่สุด 3 ครั้ง ผ้าอนามัยชิ้นหนึ่งราคา 12-36 บาท ขณะที่ผ้าอนามัยแบบผ้าสามารถนำผ้าที่ใช้ซึมซับมาใช้ซ้ำได้ ถ้าใช้ชานอ้อยในวันมามาก ราคาของชานอ้อยหนึ่งชิ้นอยู่ที่ 8 บาทเท่านั้น ในอนาคตหากมีการผลิตในสเกลที่ใหญ่ขึ้น ราคาก็สามารถลดลงได้อีก

มัญญสิริผลักดันจนกลายเป็นโครงการ HER ผ้าอนามัยแบบผ้าและการนำชานอ้อยมาใช้ที่เธอกับเพื่อนๆ ช่วยกันทำถูกนำไปบริจาคให้แก่โรงเรียนต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ มันเดินทางไปไกลถึงผู้หญิงในอเมริกา และได้รับรางวัลเจ้าหญิงไดอาน่าในฐานะนวัตกรรมที่สร้างทางเลือกให้แก่ผู้หญิง

รางวัลดังกล่าวเป็นของประเทศอังกฤษที่จะทำการคัดเลือกและมอบรางวัลแก่เยาวชนที่ทำโครงการด้านสังคมจากทั่วโลก รวมถึงการฝึกอบรม ให้คำแนะนำ และสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาต่อยอดโครงการให้ดียิ่งขึ้น โดยมีเกณฑ์ในการคัดเลือก 5 ข้อ ได้แก่ vision-วิสัยทัศน์ social impact-ผลกระทบต่อสังคม inspiration-แรงบันดาลใจ youth-led-ความเป็นผู้นำ และ service journey-ประสบการณ์จากการทำงาน

ประจำเดือนไม่ใช่แค่เรื่องของผู้หญิง

“เรามีแผนจะเอาผ้าอนามัยไปบริจาคให้กับโรงเรียนมากขึ้น มีตั้งแต่ระดับ ป.4 จนถึงมัธยม และไปโคกับเอ็นจีโอต่างๆ เช่น เอ็นจีโอที่ทำงานกับผู้หญิงพม่าที่เป็นผู้ลี้ภัย เพราะตอนนี้เราโฟกัสกลุ่มนักเรียนเป็นส่วนใหญ่ เราอยากจะขยายไปกลุ่มอื่นและผู้หญิงที่อยู่ในเรือนจำ แล้วก็อยากที่จ้างผู้หญิงเย็บผ้าอนามัยเพื่อส่งเสริมอาชีพ ตอนนี้เรามีการสอนผู้ชายที่ออกมาจากเรือนจำเย็บผ้าอนามัยด้วย เราไม่ได้แค่อยากให้ผู้หญิงได้เรียนรู้ถึงปัญหานี้ แต่ผู้ชายสามารถเข้าใจปัญหาที่ผู้หญิงเจออยู่เหมือนกัน”

ประเด็นจึงขยายไปสู่การให้ความรู้และพูดคุยระหว่างนักเรียนหญิงและนักเรียนชายผ่านวิชาสุขศึกษาในโรงเรียน ที่ผ่านมามัญญสิริพบเห็นการหลีกเลี่ยงที่จะคุยเรื่องทำนองนี้ ทำเหมือนปัญหานี้ไม่มีอยู่ เพียงเพราะไม่กล้าพูดถึง รู้สึกเป็นเรื่องน่าอายชวนอึดอัด และเป็นเรื่องเฉพาะผู้หญิง ผู้ชายไม่เกี่ยว

เธอเห็นด้วยที่ผ้าอนามัยควรเป็นสวัสดิการสำหรับผู้หญิงทุกคน เธออ้างอิงองค์การสหประชาชาติที่ยอมรับว่าสุขอนามัยของผู้หญิงเป็นสิทธิมนุษยชนประการหนึ่ง เนื่องจากผู้หญิงไม่สามารถเลือกได้ว่าจะมีประจำเดือนหรือไม่ การพูดคุยเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจึงมีความสำคัญ

“เวลาถามว่าดีไหม มันก็ต้องดีอยู่แล้ว เหมือนว่าเรามี vat 7 เปอร์เซ็นต์ในตัวผ้าอนามัย อีกกลุ่มพูดว่าเสนอว่า เราควรเอา vat ออกไหม ไม่ควรชาร์จผ้าอนามัยไหม ปรากฎว่าบางคนเสนอว่าเราควรชาร์จเอาเงินตัวนี้ไปซัพพอร์ตการบริจาคผ้าอนามัยต่อ เหมือนเรามี funding จากคนที่ซื้อผ้าอนามัย แต่หนูคิดว่าการจะเอา vat ออก เราต้องคิดว่า 7 เปอร์เซ็นต์ที่ผู้หญิงต้องจ่ายค่าผ้าอนามัยก็เป็นคล้ายกับ funding ของรัฐหายไป จะมีปัญหาอะไรบ้าง

“แต่ถ้าเราบอกว่าเราจะเอา funding ตัวนี้ไปช่วยเหลือผู้หญิงที่ขาดแคลนผ้าอนามัย เราต้องตั้งคำถามว่ามันถูกหรือเปล่าที่เรายกปัญหานี้เป็นปัญหาของผู้หญิงอย่างเดียว ถ้าจะเอา funding ผ้าอนามัยเหมือนผู้หญิงช่วยผู้หญิงกันเอง ถูกไหมคะ มันไม่เกี่ยวข้องกับผู้ชายเลย เหมือนกับมันไม่ใช่ปัญหาของทุกคน มันเป็นปัญหาของคนที่ซื้อผ้าอนามัยเท่านั้น หนูคิดว่าวิธีที่ง่ายที่สุดคือตัดภาษีออก เหมือนในประเทศอเมริกาที่สู้เพื่อเอาภาษีออกไป บางรัฐก็ทำได้ บางรัฐก็ยังสู้อยู่”

มัญญสิริเห็นว่าโรงเรียนเหมาะเป็นพื้นที่นำร่องในการแจกผ้าอนามัยฟรี โดยทำไปพร้อมๆ กับการให้ความรู้ไม่ใช่เฉพาะกับผู้หญิง แต่กับทุกเพศ ทุกคน ทำให้เห็นว่าประจำเดือนเป็นสิ่งปกติสามัญในชีวิต

“หนูคิดว่ามันเป็นบทบาทของการศึกษาที่ต้องคอยยกเรื่องนี้มาพูดให้เห็นว่าประจำเดือนไม่ใช่สิ่งสกปรก ประจำเดือนเป็นแค่สิ่งธรรมดาของร่างกายแล้วเราจะน่าพูดถึงเรื่องนี้ด้วย”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท