Skip to main content
sharethis

ชาวม้ง ‘ม่อนแจ่ม’ ตำหนิ ‘วราวุธ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฟังความข้างเดียว หลังแถลงหวั่นม่อนแจ่ม ‘เละตุ้มเป๊ะ’ ให้คิดเรื่องธรรมชาติไว้ก่อน ประชาชนกว่า 1,000 คน เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนเดินทางเข้า กทม. ถวายฎีกา เพื่อให้ทบทวนกรณีที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้อ้าง ‘โครงการหลวง’ ดำเนินการกับชาวบ้าน

6 ก.ย. 2565 เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2565 เวลา 09.00 น. กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ม่อนแจ่ม จ.เชียงใหม่ ประมาณ 1,000 คน เริ่มออกเดินทางจากชุมชนตามกำหนดการณ์ถึงกรุงเทพมหานคร เพื่อถวายฎีกา สืบเนื่องจากกรณีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนธิกำลังเตรียมดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและโฮมสเตย์ของชุมชนตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยในเวลาประมาณ 11.10 น. เครือข่ายฯ ได้เดินทางถึงศูนย์ราชการ จ.เชียงใหม่ ได้ปักหลัก ปราศรัย และเจรจาขอพบผู้ว่าราชการจังหวัด 

ก่อนหน้านั้น วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แถลงผ่านเฟซบุ๊ก TOP Varawut - ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา เมื่อ 4 ก.ย. ที่ผ่านมา ว่า ม่อนแจ่มคือสมบัติส่วนรวมของประเทศชาติ การดำเนินการธุรกิจใดๆ ก็ตาม ต้องเป็นไปตามกฎหมายและไม่บุกรุกทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวธรรมชาติที่ยั่งยืนจะต้องยึดถือผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง

วราวุธยกตัวอย่างกรณีที่อ่าวมาหยา ที่ปิดการท่องเที่ยวไป 5-6 ปี เนื่องจากไม่มีปะการังและความสวยงามเหลืออยู่แล้ว ไม่มีใครอยากไปเที่ยว เนื่องจากมีการไป ‘ปู้ยี่ปู้ยำ’ จนธรรมชาติเละตุ้มเป๊ะ แล้วเกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่แค่ไหน วันนี้เราอยากจะเห็นเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับป่าที่ม่อนแจ่มหรือไม่

“ถ้ามีแต่น้ำเสีย มีแต่กองขยะ ไม่เกิดความบันเทิงเจริญใจ ถ้ามีความสวยงามของพื้นที่ป่า ถ้าเราไม่บริหารจัดการ ปล่อยไป 3 ปี 5 ปี จนเละตุ้มเป๊ะไปหมด ผมถามว่าพี่น้องประชาชนที่นั่นจะได้อะไร ต้องคิดในระยะยาว ต้องคิดถึงธรรมชาติไว้ก่อน เพราะว่ามนุษย์เรากำลังหากินกับธรรมชาติ กำลังหากินทรัพยากรที่มองไปแล้วคือวิวทิวทัศน์ คือผืนป่าที่มันเกิดขึ้นจริง ท้องฟ้าที่สดใส อากาศที่สดชื่น แต่ถ้าไปแล้วป่าก็ไม่เห็น ขยะก็มี มีกลิ่นเหม็น โซนที่ท่านจะสูดอากาศเข้าไปให้เต็มปอด กลายเป็นกลิ่นน้ำเสีย กลิ่นขยะขึ้นมา ผมถามว่าเราจะไปเที่ยวกันทำไมครับม่อนแจ่ม” วราวุธ กล่าว

เอกรินทร์ นทีไพรวัลย์ แกนนำเครือข่ายชาวไทยภูเขาชนเผ่าม้งม่อนแจ่ม ฝากสารถึงวราวุธ ยืนยันว่าประชาชนม่อนแจ่มประมาณ 3,800 คน ถือครองที่ดินอยู่ 2,500 ไร่ การบุกรุกพื้นที่ป่าเป็นศูนย์ โดยมีรายงานจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ยืนยันว่าการบุกรุกพื้นที่ของชาวม่อนแจ่มเป็นศูนย์มาแล้วตั้งแต่ปี 2545 มีหลักฐานเป็นแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ

กรณีที่วราวุธบอกว่าเป็นสมบัติของคนทั้งประเทศนั้น เอกรินทร์เห็นว่าก็เพราะเป็นแบบนั้นจึงเรียกร้องให้มีการพิสูจน์สิทธิตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 11 พ.ค. 2542 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ในป่า หากมีการพิสูจน์แล้วปรากฏว่าบุกรุกจริงก็น้อมรับในนามพลเมืองไทย แต่ขอให้ความจริงได้ปรากฏ

ส่วนประเด็นที่วราวุธกล่าวหาว่าชาวบ้านมีการใช้ทรัพยากรที่ทำให้เกิดขยะ ขอชี้แจงว่าชาวม่อนแจ่มมีมติให้ชาวบ้านยกเลิกการใช้โฟมมา 5 ปีแล้ว ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกมา 3 ปี ส่วนขวดแก้วก็ยกเลิกมา 2-3 ปีแล้ว

“ม่อนแจ่ม เราสามารถจัดการด้วยตัวเราเองได้อยู่แล้ว ผมฝากไปถึงรัฐมนตรีฯ ว่า ท่านอย่ารับฟังความข้างเดียว ระดับคนเป็นรัฐมนตรีแล้ว ท่านจะรับฟังลูกน้องคอยชี้โพรงให้ท่านตลอด ท่านเป็นถึงรัฐมนตรี ท่านลงมาเถอะครับ ทุกเส้นทางการเจรจา แกนนำม่อนแจ่มพร้อมเสมอ” เอกรินทร์ ย้ำ

หลังจากนั้น เวลาประมาณ 12.30 น. เครือข่ายฯ ได้อ่านแถลงการณ์ถึงคนไทยทั้งประเทศและสื่อมวลชน ก่อนจะส่งตัวแทนเข้าไปเจรจา โดยมีปลัด จ. เชียงใหม่ มาเป็นผู้แทนรับเรื่อง

ในแถลงการณ์นั้นได้โต้ประเด็นมายกคติ 5 ประการที่หน่วยงานใช้เป็นความชอบธรรมในการเข้ารื้อถอนม่อนแจ่ม ได้แก่

1. กล่าวหาว่าเป็นนายทุน นอมินี

2. พื้นที่การพิพาทมีการซื้อขายเปลี่ยนมือ

3. กล่าวหาว่าบุกรุกพื้นที่ป่าใหม่

4. กล่าวหาว่าบุกรุกพื้นที่เพิ่มเติม

5. กล่าวหาว่าใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์

แถลงการณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ม่อนแจ่ม

โดยได้แถลงยืนยันว่าชุมชนอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ ได้รับการคุ้มครองทั้งทางกฎหมายและแนวนโยบายตามมติคณะรัฐมนตรี และที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ได้มีหนังสือขอความร่วมมือให้ชะลอการดำเนินการไล่รื้อ ตลอดจนมีคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ จ.เชียงใหม่ จัดทำแผนแม่บท (Master Plan) การบริหารจัดการบนพื้นที่ม่อนแจ่มอย่างมีส่วนร่วม

“การกล่าวหาว่าชาวม่อนแจ่มกระทำผิดทั้ง 5 ประเด็นนั้นจึงไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด และการอ้างว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายนั้นจึงเป็นคำพูดที่หลอกลวงคนไทยทั้งประเทศ สร้างให้สังคมไทยเข้าใจผิดเกลียดชังชาวม่อนแจ่ม” แถลงการณ์ระบุ

 

นอกจากนั้น ในแถลงการณ์ยังย้ำว่า ราษฎรม่อนแจ่มอยู่มา 100 กว่าปี อยู่ในทุกรัฐบาล แม้กระทั่งรัฐบาลในยุค บริหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวม่อนแจ่มเลยแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งต่างจากยุค วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

“มุ่งเน้นที่จะขับไล่ ข่มขู่ ส่งกองกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้คุกคาม บุกรุกเคหะสถาน ออกคำสั่งให้รื้อถอนที่อยู่อาศัย ใช้กฎหมายกลั่นแกล้งอย่างไรจริยธรรม จึงขอฝากให้ท่านกลับไปทบทวนถึงสิ่งที่ท่านกระทำกับประชาชนด้วย” เครือข่ายฯ ย้ำ

 

หลังจากนั้น กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ม่อนแจ่ม ได้เดินทางไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อถวายฎีกา ยืนยันข้อเรียกร้องการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 11 พ.ค. 2542 ต่อไป เหตุที่ต้องถวายฎีกา เนื่องจากที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอ้างโครงการหลวงในการดำเนินการกับชาวม่อนแจ่มมาโดยตลอด

ล่าสุด วันที่ 6 ก.ย. 2565 เวลาประมาณ 12.00 น. เฟซบุ๊กเพจ “วิสาหกิจชุมชนม่อนเเจ่ม” รายงานว่า กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ม่อนแจ่ม ได้เดินทางไปยังหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอเข้าพบวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net