Skip to main content
sharethis

มูลนิธิเพื่อนหญิง ออกแถลงการณ์เรียกร้อง 'ประยุทธ์' ให้ความสำคัญกับกรณีการคุกคามทางเพศในหน่วยทหารและที่บ้านพักในค่ายทหาร และกรณีสามีรับราชการทหารทำร้ายตบตีภรรยาท้องแก่อันเป็นการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว

 

16 ก.ย.2565 มูลนิธิเพื่อนหญิง ออกแถลงการณ์กรณีการคุกคามทางเพศในหน่วยทหารและที่บ้านพักในค่ายทหาร และกรณีสามีรับราชการทหารทำร้ายตบตีภรรยาท้องแก่ อันเป็นการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว โดย เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ในกรณีของการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศในหน่วยงานทหาร ขอให้เร่งรัดให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างตรงไปตรงมาและนำมาความยุติธรรมมาสู่ผู้เสียหายโดยเร็ว และควรตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงว่ายังมีกรณีอื่นๆ อีกหรือไม่ โดยการตรวจสอบนั้นต้องกระทำโดยปกป้องคุ้มครองผู้เสียหายเป็นหลัก  ขอให้ผู้กระทำผิด ขอโทษต่อครอบครัวผู้เสียหาย ตามคำเรียกร้องของผู้เสียหาย รวมทั้ง หน่วยงานควรให้ความสำคัญกับการปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย มากกว่าการปกป้องชื่อเสียงขององค์กร

ส่วนกรณีของการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว กระทรวงฯ ควรติดตามผลการลงโทษให้ผู้กระทำความผิดชดใช้เงินและรับผิดชอบภาระค่าเลี้ยงดูบุตรว่าผู้กระทำความผิดได้ดำเนินการแล้วหรือไม่ หากยังไม่ดำเนินการ หน่วยงานควรหาวิธีการที่จะส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่ภรรยาโดยตรง โดยอาจจะเป็นการตัดจากเงินเดือนของผู้กระทำผิด  และกระทรวงกลาโหมควรถือให้กรณีดังกล่าวเป็นกรณีตัวอย่างที่จะต้องรณรงค์ให้กำลังพลของกองทัพเป็นชายชาติทหารที่ดี

โดยมีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์มูลนิธิเพื่อนหญิง กรณี การคุกคามทางเพศในหน่วยทหารและที่บ้านพักในค่ายทหาร และกรณีสามีรับราชการทหารทำร้ายตบตีภรรยาท้องแก่ อันเป็นการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 

จากกรณีข่าวการร้องทุกข์เพื่อให้มีการตรวจสอบพฤติการณ์ล่วงละเมิดทางเพศของนายทหารต่อพนักงานราชการหญิงในสังกัดเดียวกัน ด้วยการบุกไปที่บ้านพักในค่ายทหารและใช้กำลังปลุกปล้ำพยายามข่มขืนกระทำชำเรา และมีการต่อสู้ขัดขืนหนีรอดมาได้ ต่อมาผู้เสียหายได้ร้องเรียนผู้บังคับบัญชา แต่ปรากฎว่าไม่มีการดำเนินการเอาผิดกับผู้ก่อเหตุแต่ผู้เสียหายกลับถูกตั้งกรรมการสอบ เพราะถูกมองว่าเป็นผู้ทำให้หน่วยงานได้รับความเสียหาย ผู้เสียหายได้ไปแจ้งความสถานีตำรวจในพื้นที่แต่คดีไม่มีความคืบหน้า  ต่อมาจึงได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากนายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือ “กัน จอมพลัง” เพื่อให้ช่วยประสานงานเร่งรัดคดีและประสานไปทางกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้ผู้เสียหายเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองพยานแล้ว โดยต่อมาตำรวจได้ตั้งข้อหาต่อผู้กระทำผิดใน 4 ข้อหาประกอบด้วย 1. พยายามข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ 2. กระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปี โดยใช้กำลังประทุษร้าย และได้กระทำโดยใช้วัตถุอื่นหรืออวัยวะอื่น ซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศของบุคคลนั้น 3. เข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร และ 4. ทำให้เสียทรัพย์  ต่อมาผู้เสียหายได้เข้าร้องเรียนต่อกองทัพบกเพื่อให้ความมั่นใจว่า จะได้รับความยุติธรรมในกรณีดังกล่าวโดยเรื่องจะไม่ถูกปกปิดและเพิกเฉยจากผู้บังคับบัญชาอีกต่อไป  
ส่วนอีกกรณีคือข้าราชการทหารนายหนึ่งถูกภรรยาร้องทุกข์ผ่านเฟสบุ๊กเพจ “ขวัญใจทหารกล้า V1” ว่าถูกสามีที่เป็นข้าราชการทหารทุบตีทำร้ายทั้งๆ ที่ตนเองตั้งครรภ์ ด้วยสาเหตุที่สามีต้องการจะเอาทองไปจำนำเพราะติดการพนันแต่เธอไม่ให้ไปจึงถูกทำร้ายทุบตีเป็นประจำ ผู้เสียหายได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานต้นสังกัดของสามีแล้ว 2 ครั้งแต่เรื่องก็เงียบไม่มีอะไรเกิดขึ้น ต่อมาผู้เสียหายก็ถูกทุบตีทำร้ายอีกหลายครั้งจนในที่สุดจึงตัดสินใจขอหย่าแต่สามีให้ระบุในเงื่อนไขการหย่าว่าจะไม่ขอค่าเลี้ยงดู แม้เรื่องนี้หน่วยงานของสามีรายนี้จะได้สั่งลงโทษทางวินัยไปแล้วและสั่งให้ชดใช้เงินให้แก่ภรรยา แต่สามีก็ไม่เคยชดใช้เงินและส่งเสียค่าเลี้ยงดูแก่บุตร 2 คนของตนเลย  

มูลนิธิเพื่อนหญิง ได้ติดตามกรณีข่าว 2 กรณีนี้ด้วยความห่วงใยและมีความเห็นว่า  การคุกคามล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงในสถานที่ทำงานโดยเพื่อนร่วมงานก็ดี หรือ ผู้บังคับบัญชาก็ดี เป็นการกระทำความผิดทางอาญาที่หน่วยงานราชการโดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยราชการทหารไม่อาจจะเพิกเฉยหรือยอมรับได้ว่าเป็นเรื่องปกติวิสัย  และพฤติกรรมการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศมีลักษณะของการกระทำโดยย่ามใจว่าทำมาหลายครั้งไม่มีใครว่าอะไร  อีกทั้งยังมีพฤติการณ์ไปโพนทะนาในหมู่เพื่อนร่วมงานชายด้วยกันในลักษณะคุยโวล่าแต้ม (คำกล่าวอ้างของผู้เสียหายในข่าว) เช่นนี้เป็นการกระทำความรุนแรงและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อสตรีอันถือเป็นอาชญากรรมทางสังคม มูลนิธิเพื่อนหญิงขอยืนยันว่ากรณีเช่นนี้ไม่ใช่เพียงเฉพาะเป็นเรื่องปัญหาส่วนตัวหรือปัญหาระหว่างบุคคลเท่านั้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ผู้กระทำผิดเป็นข้าราชการทหารและเมื่อผู้เสียหายร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชากลับถูกตั้งกรรมการสอบว่าเป็นเหตุให้หน่วยงานเสื่อมเสียชื่อเสียง  ส่วนอีกกรณีสามีกระทำความรุนแรงต่อภรรยาอันเป็นเรื่องการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย และผู้กระทำเป็นข้าราชการทหาร และต่อมาเมื่อภรรยาขอหย่าเพราะทนไม่ได้ก็ตั้งเงื่อนไขการหย่าว่าจะไม่ให้ขอค่าเสี้ยงดูบุตร 2 คนอีกด้วยทั้งๆ ที่สามีเป็นข้าราชการทหารมีเงินเดือน สวัสดิการที่เพียงพอที่จะดูแลครอบครัวตนเองได้  นับว่าเป็นการกระทำความรุนแรงต่อบุคคลในครอบครัวซ้ำซ้อนขึ้นไปอีก ทำให้ภรรยาและบุตร 2 คนตกอยู่ในภาวะยากลำบาก  เหตุการณ์ทั้งสองกรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงระบบอุปถัมภ์และชายเป็นใหญ่ที่สร้างอำนาจเหนือผู้หญิงในรูปแบบต่างๆ    

ดังนั้น กรณีคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ และ กรณีการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้น แม้การดำเนินคดีจะมีความคืบหน้าขึ้นแล้ว และมีการลงโทษทางวินัยต่อข้าราชการทหารทั้งสองในบางระดับ โดยผู้กระทำผิดถูกตั้งข้อหาในความผิดเกี่ยวกับเพศแล้วถึง 4 ข้อหา อีกทั้งหน่วยงานต้นสังกัดก็ได้มีคำสั่งปลดนายทหารคนดังกล่าวออกจากราชการเนื่องจากได้กระทำความผิดวินัยทหารฐานประพฤติชั่วร้ายแรง  โดยให้ออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2565 เป็นต้นไป และผู้บังคับบัญชาของข้าราชการที่เป็นสามีได้สั่งลงโทษทางวินัยแล้วก็ตาม หากแต่ผู้หญิงผู้เป็นผู้เสียหายทั้งสองกรณีนี้ก็ยังไม่ได้รับความยุติธรรมและผู้กระทำการก็มิได้สำนึกผิดหรือแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองได้กระทำตามที่ผู้เสียหายเรียกร้อง 

ในการนี้  มูลนิธิเพื่อนหญิง ขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ โดยแยกเป็น 2 กรณี ดังนี้ 

1. ในกรณีของการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศในหน่วยงานทหาร ขอให้เร่งรัดให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างตรงไปตรงมาและนำมาความยุติธรรมมาสู่ผู้เสียหายโดยเร็ว และควรตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงว่ายังมีกรณีอื่นๆ อีกหรือไม่ โดยการตรวจสอบนั้นต้องกระทำโดยปกป้องคุ้มครองผู้เสียหายเป็นหลัก  เพื่อมิให้กระบวนการนี้สร้างความกระทบกระเทือนต่อจิตใจของผู้ถูกกระทำซ้ำอีก รวมถึงการปกป้องสิทธิของผู้เสียหายในทุกกรณีเพื่อให้ผู้เสียหายไม่ถูกกระทำ (ถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์) ซ้ำหรือถูกละเลยให้ต้องเผชิญกับการข่มขู่คุกคามจากที่ผู้ถูกกล่าวหาที่มีอิทธิพลอำนาจและสถานะทางสังคมที่เหนือกว่าผู้เสียหาย  รวมทั้งหากมีกรณีอื่นเพิ่มอีก หน่วยงานต้นสังกัดควรประสานการคุ้มครองกับสหวิชาชีพและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูเยียวยาสภาพจิตใจของผู้เสียหายเหล่านี้ด้วย และควรแสดงความรับผิดชอบว่ากระบวนการยุติธรรมจะให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหายได้อย่างแท้จริงปราศจากการแทรกแซงจากผู้ถูกกล่าวหาที่อาจเป็นผู้บังคับบัญชาไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม 

2. ขอให้ผู้กระทำผิด ขอโทษต่อครอบครัวผู้เสียหาย ตามคำเรียกร้องของผู้เสียหาย 

3. หน่วยงานควรให้ความสำคัญกับการปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย มากกว่าการปกป้องชื่อเสียงขององค์กร เพื่อผู้หญิงจะได้มั่นใจในการลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิได้ โดยไม่รู้สึกว่าถูกซ้ำเติมหรือหวาดกลัว 

4. ในกรณีของการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว กระทรวงฯ ควรติดตามผลการลงโทษให้ผู้กระทำความผิดชดใช้เงินและรับผิดชอบภาระค่าเลี้ยงดูบุตรว่าผู้กระทำความผิดได้ดำเนินการแล้วหรือไม่ หากยังไม่ดำเนินการ หน่วยงานควรหาวิธีการที่จะส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่ภรรยาโดยตรง โดยอาจจะเป็นการตัดจากเงินเดือนของผู้กระทำผิด  และกระทรวงกลาโหมควรถือให้กรณีดังกล่าวเป็นกรณีตัวอย่างที่จะต้องรณรงค์ให้กำลังพลของกองทัพเป็นชายชาติทหารที่ดี เป็นแบบอย่างแก่ประชาชนทั่วไปโดยเป็นผู้ไม่กระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว นอกจากนี้ กระทรวงฯ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานราชการที่มีกำลังพลส่วนใหญ่เป็นผู้ชายควรรณรงค์ให้กำลังพลของกองทัพมีทัศนคติที่ดีต่อบุคคลในครอบครัวโดย “3 ไม่” คือ “ไม่ยอมรับ  ไม่กระทำ  ไม่นิ่งเฉย”  โดยการจัดให้มีหลักสูตรอบรมกำลังพลภาคบังคับในเรื่อง “การยุติความรุนแรงต่อสตรี และการไม่กระทำความรุนแรงต่อบุคคลในครอบครัว” และร่วมการรณรงค์ในวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกๆ ปี  ซึ่งเป็นวัน  “ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กสากล”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net