ชี้ขาดจำคุกตลอดชีวิต 'เขียว สัมพัน' หนึ่งในเขมรแดง ไม่สามารถอุทธรณ์ได้อีก ฐานอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

หลังจากที่เขียว สัมพัน หนึ่งในผู้นำเขมรแดงที่มีส่วนก่อเหตุสังหารหมู่และละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง ยื่นอุทธรณ์คัดค้านโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดประจำ 'ศาลคดีเขมรแดง' ตัดสินให้ยังคงคำพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตต่อ เขียว สัมพัน ในโทษฐานอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ นับเป็นการปิดฉากคดีอย่างเป็นทางการหลังดำเนินมากว่า 16 ปี

คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดของ "ศาลคดีเขมรแดง" (Extraordinary Chambers in the Courts of Cambodia หรือ ECCC) ได้ปฏิเสธคำร้องอุทธรณ์ของจำเลย เขียว สัมพัน และยืนยันคำตัดสินเดิมให้มีการลงโทษจำคุกตลอดชีวิตต่อจำเลย ผู้ที่เคยมีส่วนร่วมก่อเหตุสังหารผู้คนราว 2 ล้านคนในยุคเขมรแดง ทำให้คดีนี้นับเป็นการดำเนินคดีต่ออดีตผู้นำเขมรแดงที่กินระยะเวลาการชำระคดีถึงระดับขั้นสุดท้ายยาวนานถึง 16 ปี

ศาลคดีเขมรแดงคงคำตัดสินแบบเดียวกับปี 2561 ให้จำเลย เขียว สัมพัน ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตตามเดิม จากข้อหาที่เขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงสมัยปี 2518-2522 ที่กัมพูชาอยู่ภายใต้รัฐบาลเขมรแดงนำโดย พล พต โดยที่หัวหน้าผู้พิพากษาแถลงคำวินิจฉัยระบุว่า เขียว สัมพัน มีความเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่นับเป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมที่ร้ายแรงที่สุดและสร้างความเสียหายหนักที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 17 เม.ย. 2518 ถึงวันที่ 6 ม.ค. 2522 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ของกัมพูชาที่รู้จักในนามเขมรแดงยึดอำนาจจนกลายมาเป็นรัฐบาลผู้ปกครองกัมพูชา พวกเขาอ้างว่าจะทำการปฏิวัติแบบ "การก้าวกระโดดครั้งใหญ่" ในการสร้างชาติด้วยการปกป้องประเทศจากศัตรูภายนอกและเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนให้ประชาชนกลายเป็นแรงงานหรือเป็นชาวนาให้หมด

ในยุคสมัยเขมรแดงนั้นประชาชนชาวกัมพูชาถูกลิดรอนเสรีภาพขั้นพื้นฐานและต้องเผชิญกับความโหดเหี้ยมในหลายรูปแบบ มีการสร้างวัฒนธรรมความกลัวที่มาจากการสังหารหมู่, ทารุณกรรม, ความรุนแรง, การปราบปราม, การบังคับแต่งงาน, การบังคับใช้แรงงาน, การบังคับให้สูญหาย และการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมแบบอื่นๆ มีการประเมินว่าในช่วงที่เขมรแดงปกครองประเทศอยู่นาั้น เป็นช่วงเวลาที่มีการก่อเหตุเลวร้ายมากที่สุดในยุคสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีชาวกัมพูชาเสียชีวิตจากการกระทำของเขมรแดงรวมแล้ว 1.5 - 2 ล้านราย

ผู้พิพากษา ECCC ระบุว่าสัมพันได้รับการตัดสินโทษอาชญากรรมต่อมนุษยชาติจากการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างการบังคับแต่งงานและการข่มขืน รวมถึงละเมิดอนุสัญญาเจนีวาอย่างร้ายแรงจากการสังหารหมู่ชาวเชื้อสายเวียดนามและชาวมุสลิมเชื้อสายจาม ในกัมพูชา ข้อหาเหล่านี้เกี่ยวข้องกับคดีหมายเลข 002/02 ที่ทำให้สัมพันถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต

นอกจากคดีดังกล่าวแล้ว สัมพัน ยังต้องโทษในคดีหมายเลข 002/01 ด้วย ซึ่งเป็นคดีที่ระบุว่าสัมพันมีส่วนเกี่ยวข้องการบังคับย้ายถิ่นของผู้คนในกรุงพนมเปญไปสู่จังหวัดรอบนอกและบังคับใช้แรงงานพวกเขา สัมพันถูกตัดสินให้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตจากคดีอีกหนึ่งคดี

สตีเฟน มาเทียส ผู้ช่วยเลขาธิการด้านกิจการกฎหมายของสหประชาชาติแถลงเมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่มีการตัดสินคดีนี้ว่า มันเป็นคดีที่ส่งอิทธิพลใหญ่หลวงและเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับพัฒนาการด้านกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ และบอกว่า ECCC ได้ตัดสินคดีอย่างเหมาะสม เป็นไปตามหลักการกฎหมายนานาชาติ

มาเทียสบอกอีกว่านับเป็นความสำเร็จที่ ECCC ได้ทำงานหนักเพื่อที่จะสร้างประวัติศาสตร์ไว้ให้กับคนรุ่นหลัง และช่วยเกื้อกูลให้เกิดพัฒนาการอย่างมากในด้านกฎหมายนานาชาติ "เลขาธิการของสหประชาชาติเคยบอกเอาไว้หลายครั้งมากว่าพวกเราไม่ควรปล่อยให้เกิดการลอยนวลไม่ต้องรับผิดในระดับนานาชาติ เกิดขึ้นต่อไปอีกในโลกนี้" มาเทียสกล่าว

ในการตัดสินคดียื่นอุทธรณ์ของสัมพันในครั้งนี้ มีเหยื่อผู้รอดชีวิตจากยุคเขมรแดงหลายคนเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีด้วย เช่น Chan Yeng และ Hong Than ที่เล่าเรื่องที่เขมรแดงบังคับย้ายถิ่นพวกเขาแล้วบังคับใช้แรงงานพวกเขาในไร่นา รวมถึงในกรณีของ Hong Than ยังมีการบังคับให้แต่งงานด้วย ซึ่งเขาบอกว่านับเป็น "การละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกคน" Hong Than เล่าอีกว่าเขาสูญเสียญาติ 10 รายเนื่องจากถูกสังหารโดยเขมรแดง

การตัดสินในครั้งนี้ยังนับเป็นการปิดฉากคดีเขมรแดงของ เขียว สัมพัน อย่างเป็นทางการด้วย หลังจากที่คดีนี้ดำเนินมาเป็นเวลากว่า 16 ปี โดยที่ทนายความของเขียว สัมพัน กล่าวว่าสัมพันไม่สามารถยื่นขออุทธรณ์หรือขอเปลี่ยนแปลงคำตัดสินใดๆ ได้อีกแล้ว เนื่องจากคำตัดสินของผู้พิพากษาศาลสูงสุด ECCC ถือเป็นคำตัดสินขั้นสุดท้ายที่จะเป็นการปิดคดีไม่ให้มีการโต้แย้งใดๆ ได้อีก การอุทธรณ์ครั้งล่าสุดนี้มีขึ้นหลังจากที่ศาลเคยตัดสินจำคุกตลอดชีวิตต่อ เขียว สัมพัน ในปี 2561 โดยที่ เขียว สัมพัน เป็นผู้นำเขมรแดงคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่

การดำเนินคดีเขมรแดงนี้ใช้งบประมาณไปกว่า 330 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยได้รับงบประมาณช่วยเหลือจากนานาชาตินับตั้งแต่ที่มีการเริ่มต้นดำเนินคดีในปี 2549 เป็นต้นมา ประเทศญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือด้านงบประมาณในเรื่องนี้ร้อยละ 30 เทียบกับงบประมาณช่วยเหลือจากต่างชาติทั้งหมด

เรียบเรียงจาก :

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท