Skip to main content
sharethis

กระแสความไม่พอใจเกิดขึ้นเมื่อเฟสบุ๊คเพจนายกฯ สิงคโปร์ ลีเซียนลุง ไว้อาลัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยกย่องการที่ต่อต้านการ "รุกราน (invasion)" ของเวียดนามสู่กัมพูชาในสมัยเขมรแดง ทางการกัมพูชา-เวียดนามต่างไม่ยอมรับการใช้คำดังกล่าว นักกฎหมายสิทธิฯ ชี้ ข้อความดังกล่าวสะท้อนความหยิ่งทะนงต่อเหยื่อเขมรแดงที่สังหารคนมากกว่า 1.6 ล้านคน

หัวกะโหลกเหยื่อการสังหารของเจ้าหน้าที่เขมรแดงที่จัดแสดงในที่เกิดเหตุหลายแห่งทั่วกัมพูชา (ที่มา:วิกิพีเดีย)

7 มิ.ย. 2562 ดราม่าระหว่างประเทศอาเซียนก่อตัวขึ้นในช่วงที่เข็มนาฬิกาภูมิภาคกำลังนับถอยหลังสู่การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่หนึ่งในวันที่ 20-23 มิ.ย. 2562 เต็มที เมื่อเฟสบุ๊คเพจ ลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ โพสท์เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2562 ไว้อาลัยการถึงแก่อสัญกรรมของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี อดีตนายกฯ 8 ปี และรัฐบุรุษ

ข้อความโดยรวมเป็นการยกย่องความสำเร็จของเปรมไม่ว่าจะในเรื่องการพัฒนาประชาธิปไตย การเป็นที่ปรึกษาให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 รวมถึง “รัฐบาลทหารและพลเรือน” มิตรภาพของเปรมกับรัฐบาลสิงคโปร์ เป็นต้น

แต่ข้อความส่วนที่มีความอ่อนไหวคือส่วนที่พูดถึงคุณูปการของเปรมต่อภูมิภาคอาเซียนที่ระบุว่า ในช่วงที่เปรมเป็นนายกฯ เมื่อความร่วมมือภูมิภาคอาเซียนยังมีสมาชิกเพียงห้าประเทศนั้น เหล่าประเทศอาเซียนได้ร่วมกันต่อต้านเวียดนามที่ “รุกราน” หรือในภาษาอังกฤษที่เขียนว่า “invasion” เข้าไปในกัมพูชาในสมัยที่กัมพูชาถูกปกครองโดยรัฐบาลเขมรแดง

“ความเป็นผู้นำของเขา (เปรม) ยังเป็นประโยชน์กับภูมิภาค วาระการเป็นนายกฯ ของเขาดำเนินไปพร้อมๆกับเมื่อสมาชิกอาเซียน (ตอนนั้นเรามีกันห้าประเทศ) ได้ร่วมกันต่อต้านการรุกรานของเวียดนามไปในกัมพูชาและรัฐบาลกัมพูชาที่เข้ามาแทนที่เขมรแดง ไทยอยู่แนวหน้า เผชิญหน้ากับกองกำลังเวียดนามบนชายแดน(ไทย-กัมพูชา) เปรมมีความแน่วแน่ยอมรับการยั่วยุ่นี้ และทำงานร่วมกับสมาชิกอาเซียน ต่อต้านการยึดครองของเวียดนามบนเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งการนี้ได้ยับยั้งไม่ให้การรุกรานและการเปลี่ยนระบอบได้รับความชอบธรรม”

การใช้คำว่ารุกรานสร้างความไม่พอใจให้กับเวียดนาม โดยสื่อวีเอ็นเอ็กซ์เพรสของทางการเวียดนาม เผยแพร่ข้อความของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศเวียนดนาม เล ทิ ทู หั่ง (Le Thi Thu Hang) ที่ระบุว่าเวียดนามเสียใจที่แถลงการณ์ดังกล่าวไม่ได้สะท้อนถึงประวัติศาสตร์อย่างถูกต้อง ส่งผลให้เกิดกระแสลบในพื้นที่สาธารณะ โดยทางกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนามได้พูดคุยกับกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์แล้ว

โฆษก กต. ยังกล่าวด้วยว่าการเสียสละของเวียดนามได้รับการยอมรับและเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางถึงการเข้าไปช่วยประชาชนกัมพูชาในการหยุดยั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่กระทำโดยระบอบเขมรแดง

ทางฟากกัมพูชา หนึ่งในประเทศที่ถูกกล่าวถึง เตีย บันห์ รัฐมนตรีกลาโหม ระบุกับสื่อเดอะแขมร์ ไทมส์ ว่า ได้ขอให้สิงคโปร์แก้ไขข้อความในโพสท์เพราะว่าไม่เป็นความจริงและไม่สะท้อนประวัติศาสตร์ ทหารอาสาเวียดนามเข้าไปในกัมพูชาตอนนั้นเพื่อปลดปล่อยประชาชนชาวกัมพูชา บีบีซียังรายงานข้อความของฮุน มานี สมาชิกสภานิติบัญญัติกัมพูชา ลูกชายของฮุนเซน นายกฯ กัมพูชาด้วยว่าเวียดนามเป็นผู้ช่วยเหลือกัมพูชาสู้กับเขมรแดง

สื่อพนมเปญโพสท์เผยแพร่บทความของเอ็ม ราวี นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในสิงคโปร์ ระบุว่าความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์จำเป็นต้องได้รับการจัดการผ่านการเคารพและยอมรับซึ่งกันและกัน ผู้นำประเทศอาเซียนต้องตระหนักว่าภูมิภาคนี้มี “กับระเบิดของความอ่อนไหว” อยู่หลายลูก และหากรัฐบาลกัมพูชาต้องการคำขอโทษ เขาก็หวังว่ารัฐบาลสิงคโปร์จะตอบรับและออกมาขอโทษเสีย

“ความเห็นของเขา (ลีเซียนลุง) บอกถึงความหยิ่งทะนงที่มีต่อเหยื่อของเขมรแดงมากกว่า 1.6 ล้านคน และคนที่สละชีวิตเพื่อขับไล่ระบอบฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ภายใต้การนำของพอล พต และนโบายเหมาอิสต์สุดโต่งของเขา

“ความเห็นของเขามีขึ้นมาในฐานะการสนับสนุนการปกครองแบบเผด็จการและกดปราบโดยเผด็จการ”

“นำโดยวาระทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคของลีกวนยู (อดีตนายกฯ สิงคโปร์) สิงคธปร์ให้การช่วยเหลือทางการทหาร และปฏิเสธการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้รอดชีวิตจากระบอบเขมรแดงที่หนีจากเวียดนามเข้าสู่ประเทศไทย”

“ความเห็นของนายกฯ ลี (เซียนลุง) นั้นไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นจุดยืนของชาวสิงคโปร์ อย่างไรก็ดี ชาวสิงคโปร์ก็ใช้โซเชียลมีเดียแสดงออกซึ่งความรังเกียจเดียดฉันท์ต่อความเห็นดังกล่าว” เอ็ม ราวีเขียน พร้อมระบุว่านักการเมืองและประชาชนควรได้รับการศึกษาในเรื่องสิทธิมนุษยชนให้มากกว่านี้

กลุ่มเขมรแดงยึดอำนาจจากนายพลลอน นอล ผู้นำที่สนับสนุนสหรัฐฯ ในปี 2518 ตามมาด้วยการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ ขนย้ายคนจากเมืองเข้าระบบนารวม ตามมาด้วยการเข่นฆ่า รวมถึงความตายที่เกิดจากสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดีจำนวนราว 1.7-2 ล้านคน

ในปี 2521 กองทัพของเวียดนามและแนวร่วมสามัคคีสงเคราะห์ชาติกัมพูชา นำโดยฮุนเซน เฮง สัมรินและเจียซิม (United Front for the National Salvation of Kampuchea) เข้าโจมตีกัมพูชา ในปีต่อมายึดกรุงพนมเปญได้ในปีต่อมา ผู้นำของเขมรแดงหลบหนีไปทางตะวันตกมาตั้งหลักกันใหม่ในเขตแดนไทย

ในปี 2525 เขมรแดงตั้งรัฐบาลสามฝ่าย ในขณะที่เวียดนามก็ให้การช่วยเหลือการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้ระบอบที่เรียกว่า ‘สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนกัมพูชา’ ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชาอยู่ใต้ระบอบการเมืองการปกครองดังกล่าวเป็นเวลาหนึ่งทศวรรษ ส่วนกองทัพเวียดนามถอนกำลังจากกัมพูชาในปี 2533

ในปี 2534 ภาคีต่างๆ ในกัมพูชาเซ็นสนธิสัญญาสันติภาพที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และเห็นชอบกับการจัดการเลือกตั้งภายใต้การดูแลขององค์การบริหารชั่วคราวแห่งสหประชาชาติในกัมพูชา (UNTAC) ซึ่งเขมรแดงได้คว่ำบาตรการเลือกตั้งที่จัดโดยยูเอ็น และปฏิเสธที่จะสลายกองกำลังที่มีอยู่

ในปี 2536 รัฐบาลเลือกตั้งนามว่า รัฐบาลหลวงแห่งกัมพูชา (Royal Government of Cambodia) ขึ้นสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง พรรคที่ชนะเลือกตั้งคือพรรคของสมเด็จพระนโรดม รณฤทธิ์ พระราชโอรสพระองค์ที่สองของกษัตริย์สีหนุชนะเลือกตั้ง แต่ทางฝ่ายสมเด็จฮุน เซน ซึ่งก็เป็นอดีตเขมรแดงไม่ยอมรับ ต่อมาเกิดการประนีประนอมตั้งรัฐบาลร่วมกัน ประเทศกัมพูชาจึงเป็นประเทศแรกในโลกที่มีหนึ่งรัฐบาลแต่มีสองนายกรัฐมนตรี คือ สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ และสมเด็จ ฮุน เซน เป็นนายกรัฐมนตรีร่วมกัน

จากปี 2536 ถึงปัจจุบันสมเด็จฮุน เซน ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา นับเวลารวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 25 ปี แต่หากนับรวมเวลาที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาตั้งแต่ปี 2529 นับเวลาได้ 33 ปี

เมื่อปี 2557 ศาลพิเศษคดีอาชญากรสงคราม กรุงพนมเปญ กัมพูชา ตัดสินจำคุกตลอดชีวิต นวน เจีย วัย 88 ปี และ เขียว สัมพัน วัย 83 ปี อดีตผู้นำเขมรแดง ในความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชาอย่างน้อย 1.7 ล้านรายในช่วงปี 2518-2522 ในยุคเขมรแดงเรืองอำนาจ

สำหรับ นวน เจีย เป็นอดีตผู้นำอันดับสองรองจาก พล พต ผู้นำเขมรแดง ส่วน เขียว สัมพัน เป็นอดีตประมุขแห่งรัฐของกัมพูชาขณะอยู่ภายใต้การปกครองของเขมรแดง โดยเป็นหนึ่งในผู้มีอำนาจระดับสูงของเขมรแดง รองจากพล พต เช่นกัน

นิล นอน ผู้พิพากษา ระบุว่า พวกเขามีความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ประหัตประหารทางการเมือง และการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมอื่นๆ ประกอบด้วยการบังคับให้ย้ายถิ่น การบังคับให้หายสาบสูญ และโจมตีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

แปลและเรียบเรียงจาก

Politicians need human rights awareness and training, Phnom Penh Post, Jun. 7, 2019

Vietnam opposes Lee Hsien Loong's remarks on Cambodia 'invasion', VN Express, Jun. 4, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net