เมื่อเยาวชนปกาเกอะญอ 'กะเบอะดิน' อมก๋อย เชียงใหม่ ลุกขึ้นต้าน 'เหมืองแร่' - 'อุโมงค์ผันน้ำ' EP2

สิ่งแปลกปลอม อีกตัวหนึ่งที่ชื่อว่า 'อุโมงค์ผันน้ำยวม'

ประเด็นความขัดแย้งเรื่องเหมืองแร่อมก๋อย ยังไม่จางหาย ก็ต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่อีกตัวหนึ่ง เมื่อกรมชลประทานได้มีความพยายามที่จะผลักดันโครงการผันน้ำยวมเพื่อเพิ่มต้นทุนน้ำให้เขื่อนภูมิพล ช่วยเหลือเกษตรกรในภาคกลาง โดยใช้งบประมาณ 70,000 ล้านบาท ปัจจุบัน ได้มีการเร่งรัดจัดการกระบวนการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ (EIA) ซึ่งในรายงานอีไอเอไม่มีข้อมูลที่ครอบคุลม ไม่มีส่วนร่วมของประชนผู้ได้รับผลกระทบ ในอำเภอสบเมย อำเภออมก๋อย และอำเภอฮอด โดยชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นใดๆ

ที่น่าตกใจ ก็คือโครงการขุดอุโมงค์ผันน้ำยวมลงสู่เขื่อนภูมิพล ยังมาพร้อมกับแผนการสร้างเสาส่งกระแสไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งทั้งสองโครงการนี้จะต้องผ่านบ้านกะเบอะดิน และอีกหลายชุมชนในอำเภออมก๋อย ชาวบ้านให้เหตุผลว่า หากโครงการใหญ่เหล่านี้เกิดขึ้นจริง จะทำให้ชาวบ้านสูญเสียที่ดินทำกิน พื้นที่ป่าต้นน้ำ และมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตามมาด้วย

จากรายงานพบว่า หมู่บ้านกะเบอะดิน เป็นอีกชุมชนหนึ่งซึ่งจะได้รับผลกระทบจากโครงการอุโมงค์ผันน้ำยวม เป็นจุดกองดินจุดที่ 4 ที่จะใช้พื้นที่ 91 ไร่ ซึ่งจุดกองดินเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นพื้นที่ทำกินชาวบ้าน ชุมชนจึงมีข้อกังวลใจ หากมีโครงการนี้เกิดขึ้น ดังนั้นหมู่บ้านกะเบอะดินจึงไม่เห็นด้วยกับโครงการอุโมงค์ผันน้ำยวม ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิม ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน

อรรถพล อำรุงพนม ศิษยาภิบาลคริสตจักรบ้านกะเบอะดิน บอกว่า ปัญหาที่กำลังเกิดกับบ้านกะเบอะดินและคนอมก๋อย ก็คือโครงการอุโมงค์ผันน้ำยวม ซึ่งจะมีมาพร้อม สายส่งไฟฟ้าแรงสูงควบคู่กันไปด้วย  ซึ่งตนเองและชาวบ้านก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นเช่นกัน เพราะว่ามันจะพาดผ่านหมู่บ้านกะเบอะดิน โดยจะมีจุดกองดินด้วย 

“ซึ่งหลังจากที่ผมได้ร่วมเดินทางไปพร้อมกับอาจารย์ มช และพี่น้องเครือข่ายต่างๆ เพื่อไปรับรู้ถึงข้อมูลปัญหาในแต่ละชุมชนที่จะได้รับผลกระทบ ตั้งแต่ต้นทางและปลายทางแล้ว จะรู้ว่าชาวบ้าน  ทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน ต่างก็ไม่เอาโครงการผันน้ำยวม และออกมาร่วมกันต่อสู้ แม้ว่าจะไม่มีความรู้ ไม่รู้กฎหมายไม่รู้อะไรสักอย่างเลย ก็น่าสงสารอยู่ แต่ถ้าเป็นไปได้ด้วยหัวใจ เราก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นทั้งนั้น”

อรรถพล อำรุงพนม ศิษยาภิบาลคริสตจักรบ้านกะเบอะดิน

เช่นเดียวกับ สะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ก็ออกมาเปิดเผยว่า โครงการอุโมงค์ผันน้ำยวม นี้ ทางกรมชลประทาน ได้จัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีข้อมูลที่พบว่าไม่ตรงกับความเป็นจริง กระบวนการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจที่ดำเนินการหลายปี พบว่า ไม่เคารพชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ  แต่กลับอ้างว่าชุมชนมีส่วนร่วมไปแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่โครงการเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาจไม่กล้าแสดงออกเพราะว่าส่วนหนึ่งไม่มีสัญชาติ และในพื้นที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโผล่งและสะกอร์ ที่ผ่านมาหมู่บ้านไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานอย่างเพียงพอ

“นอกจากโครงการผันน้ำแล้ว ยังมีโครงการสายส่งไฟฟ้าที่จะใช้ในการสูบน้ำ ชาวบ้านก็ไม่ได้รับข้อมูล ทั้งๆที่พวกเราคัดค้านมาตลอด แต่ไม่ปรากฏในอีไอเอ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งมหาวิทยาลัยนเรศรวร และกรมชลประทานเข้ามาในพื้นที่ ชาวบ้านพยายามตั้งคำถามเรื่องที่อยู่ในเขตป่า ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่กับป่า กับน้ำ แต่การศึกษาผลกระทบไม่ครอบคลุม เราพยายามเสนอไป ทำหนังสือไป เพื่อให้มีการศึกษาให้ครอบคลุมแต่ไม่มีความคืบหน้า กรมชลประทานกำหนดพื้นที่เป้าหมายแคบมาก ที่ระบุว่าจะกระทบแค่หมู่บ้านแม่เงา อ.สบเมย เพียงบ้านเดียว ทั้งที่ โครงการผันน้ำยวม นี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ประกอบไปด้วยพื้นที่มีอยู่ 3 จังหวัดคือ เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน โดยจะเกิดผลกระทบเกิดขึ้นจริงกว่า 40 หมู่บ้าน ในเขตอำเภอสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน อำเภอท่าสองยาง จ.ตาก และอำเภอฮอด อำเภออมก๋อย จ.เชียงใหม่ด้วย”

ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ หมู่บ้านกะเบอะดิน

สะท้าน ยังแสดงความเป็นห่วงต่อพี่น้องชาวบ้านกะเบอะดินและคนอมก๋อย ด้วยว่า โครงการนี้มันจะเจาะภูเขาเป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่ ถึงขั้นรถสิบล้อวิ่งสวนทางกันได้เลย และมันจะทะลุทั้งอำเภออมก๋อยเลย  ไปถึงหมู่บ้านกะเบอะดิน และอีกหลายหมู่บ้านในพื้นที่อมก๋อยที่ได้รับผลกระทบ  

สะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน

“ซึ่งผมเป็นห่วงเหมือนกันว่าถ้าพี่น้องกะเบอะดิน และหมู่บ้านของพี่น้องปกาเกอะญอ อยู่บนอุโมงค์ ถ้าสมมุติว่าเกิดแผ่นดินไหวขึ้นมา ชาวบ้านจะได้รับผลกระทบรุนแรงหรือไม่ ส่วนผลกระทบอีกอันหนึ่ง ก็คือ จะมีจุดทิ้งกองดิน ซึ่งมันเป็นกองดินมหึมา ซึ่งไม่รู้มันจะไปทิ้งที่ไหน”

ที่ผ่านมา สะท้านได้เข้าไปร่วมเชื่อมจัดกิจกรรมกับน้องๆ เยาวชนกะเบอะดิน มาสองสามรอบ นอกจากนั้น ก็จะมีทีมนักวิชาการจากศูนย์ชาติพันธุ์ มช. ทีมงานแม่น้ำนานาชาติ ฯลฯ เข้าไปร่วมประชุมชี้แจง ให้ความรู้กับชาวบ้าน น้องเยาวชน คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะผู้หญิง จะเป็นกำลังหลัก ที่ได้ร่วมกันออกมาต่อต้าน ออกมาปกป้องพื้นที่ของเขา โดยเราได้บอกกับทุกคนว่า อย่าลืมนะ ว่าตอนนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องเหมืองแร่ ยังมีโครงการผันน้ำยวมด้วย ที่จะเข้ามายังกะเบอะดินด้วย

สะท้าน บอกด้วยว่า ในความเห็นส่วนตัว คิดว่าโครงการเหมืองแร่ กับโครงการผันน้ำยวม นั้นต่างก็สร้างความเสียหายมากพอๆ กันเลย

“คือโครงการเหมืองแร่นั้น อยู่บริเวณป่าต้นน้ำของกะเบอะดิน และยังเป็นต้นน้ำของแม่น้ำเงาด้วย ซึ่งถ้ามีการขุดเหมืองแร่ตรงนี้ สารพิษอะไรต่างๆ มันก็ต้องไหลลงสู่แม่น้ำไปด้วย จะมีปัญหามากพอสมควรเหมือนนะครับทางที่ดี คือไม่ต้องเปิดตัวโครงการเหมืองแร่นี้เลย ส่วนโครงการผันน้ำยวม ผมคิดว่ามันอาจสร้างความเสียหายเยอะกว่า เนื่องจากมันครอบคลุมผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด ซึ่งกินพื้นที่ป่ามหาศาลกันเลย”

ย้ำ ชนเผ่าก็คือคน มีสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกัน

พรชิตา ฟ้าประทานไพร หรือ ดวงแก้ว  หนึ่งในแกนนำเยาวชนปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยงโปว์หมู่บ้านกะเบอะดิน ได้พูดในตอนท้ายว่า อยากจะให้สังคมข้างล่าง หน่วยงานรัฐ และกลุ่มนายทุนทั้งหลาย ได้เข้าใจบริบทชุมชนหรือว่าแบบเคารพสิทธิของชุมชนของเราด้วย ว่ามันควรจะเป็นแบบไหน อะไรที่ควรและไม่ควรจะเป็น  เพื่อที่จะให้ชาวบ้าน ชุมชน อาศัยอยู่ในพื้นที่อย่างมีความสุข ตามแบบวิถีชีวิตของตัวเองต่อไป

“เพราะนี่คือวิถีชีวิตของเราที่ได้รับสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  มันก็ไม่ควรที่จะเปลี่ยนแปลงไปเพียงเพราะว่าการเห็นแก่ตัวของนายทุนแค่ไม่กี่คน”

พรชิตา ฟ้าประทานไพร หรือ ดวงแก้ว หนึ่งในแกนนำเยาวชนปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยงโปว์บ้านกะเบอะดิน

ในขณะที่ อรรถพล อำรุงพนม ศิษยาภิบาลคริสตจักรบ้านกะเบอะดิน ได้บอกย้ำจุดยืนของพี่น้องชาวบ้านกะเบอะดินเอาไว้ในตอนท้ายด้วยว่า อยากจะส่งสารไปยังสังคมข้างล่าง ให้กับคนทุกระดับทุกอาชีพ รวมทั้งหน่วยงานรัฐได้รับรู้และเข้าใจด้วยว่า เราคือชนเผ่า แม้ว่าเราจะเกิดมาบนดอยสูง แม้ว่าเราไม่ได้มีศักยภาพพอที่จะต่อสู้กับคนที่มีความรู้สูงได้  แต่เรามีสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกันหมด อยากจะให้ทุกคนรับรู้ว่า เราคือชนเผ่า แต่เราก็คือคนด้วยกัน  อยากจะให้ทุกหน่วยงานได้เข้าใจถึงความเป็นอยู่ของเรา ว่าเราอยู่กับป่า เราอยู่กับพื้นที่ที่เราอยู่ นี่คือเราพอใจที่สุดแล้ว  ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีเหมือนเขา แต่ตาดำๆ ของเราก็คือเรามองโลกใบเดียวกัน

“ก็คือ เราอยากจะเห็นสภาพสิ่งแวดล้อมเหมือนเดิม เราไม่อยากจะให้ที่อยู่อาศัยของเราถูกทำลาย  และเราก็ไม่อยากให้ใครมารบกวนวิถีความเป็นอยู่ของเรา เพราะว่า ป่าก็คือชีวิต น้ำก็คือชีวิต ลำธารแม่น้ำทุกสายก็คือชีวิตของเรา เราพึ่งพาอาศัย เราอยู่ได้ด้วยทุกวันนี้ก็เพราะสิ่งเหล่านี้อยู่กับเรา  ถ้าสิ่งเหล่านี้ถูกทำลายไป ถูกเปลี่ยนไป ทุกชีวิตของเราก็จะเปลี่ยนไปด้วย และต้องเกิดขึ้น ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม  เราจะไม่ให้โครงการนี้เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด แม้กระทั่งชีวิตแลกกับอะไรก็ตาม  เราก็จะไม่ให้เกิดขึ้น เพื่อลูกหลานของเราที่จะอยู่ต่อไปได้” ศิษยาภิบาลคริสตจักรบ้านกะเบอะดิน กล่าว

ข้อมูลประกอบ : 

  • เมื่อ “กะเบอะดิน” ถูกสิ่งแปลกปลอมที่ชื่อ “เหมืองแร่” และ “อุโมงค์ผันน้ำ”เข้ามาทำลาย?! เยาวชนจึงลุกขึ้นคัดค้านด้วยจิตวิญญาณกะเหรี่ยงโปว์,องอาจ เดชา,วารสารผู้ไถ่,ฉบับที่ 119 พ.ค.-ส.ค.2565
  • หนังสือ CHIA กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์
  • วรรณา แต้มทอง,คดีสิ่งแวดล้อมคดีแรกของปี ชาวบ้านกะเบอะดินร่วมฟ้องเพิกถอน EIA เหมืองแร่อมก๋อยต่อศาลปกครอง,ประชาไท, 4-4-2022
  • กมธ.แนะรัฐบาลชะลอโครงการผันน้ำยวม,สำนักข่าวชายขอบ, 04/12/2021
  • เพจ กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท