น้ำท่วม แก้ได้ ต้องกระจายอำนาจ : คุยเรื่อง ‘น้ำท่วม 65’ กับ นักวิชาการด้านท้องถิ่น

สถานการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่ที่วิกฤตหนักสุดในรอบ 10 ปีก็ได้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว ก่อนหน้านี้หลายพื้นที่เกิดปัญหาน้ำท่วมเช่นกัน รวมไปถึงกรณีกรุงเทพฯ-ปทุมธานี เผยให้เห็นแนวทางการจัดการน้ำของท้องถิ่นกับส่วนกลางที่ไม่ได้ประสานสอดคล้องกัน สะท้อนวิกฤตรัฐรวมศูนย์และระบบราชการ โอกาสนี้เราชวนถอดบทเรียนจากเหตุการณ์น้ำท่วมหลากหลายพื้นที่ในปี 2565 กับ ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ นักวิชาการที่ศึกษาการปกครองส่วนท้องถิ่น ไล่เรียงตั้งแต่ กรณีน้ำท่วมกรุงเทพฯ-ปทุมธานี สู่เชียงใหม่ ความเหมือน-ความต่างของปรากฎการณ์น้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ บทบาทของรัฐบาลที่ควรจะเป็น รวมทั้งข้อเสนอการเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง

 

ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ นักวิชาการที่ศึกษาการปกครองส่วนท้องถิ่น

น้ำท่วมเกิดจากหลายปัจจัย : ฝนตกหนัก - ผังเมืองแย่ - การรุกล้ำลำน้ำ

ณัฐกร เล่าถึงสเหตุของน้ำว่าสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัยประกอบเข้าด้วยกัน ตั้งแต่ลักษณะภูมิประเทศของแต่ละพื้นที่ ปริมาณน้ำฝน ผังเมือง การรุกล้ำลำน้ำ นโยบายการจัดการทรัพยากรป่าไม้ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยยกตัวอย่าง พื้นที่กรุงเทพฯ-ปทุมธานี ที่มีสภาพภูมิประเทศอยู่ปากแม่น้ำที่เอื้อต่อการเกิดน้ำท่วมอยู่แล้ว มีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำทะเลหนุน หรือพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ลุ่มรับน้ำอย่างแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยเหตุผลด้านสภาพภูมิประเทศที่ถ้าหากฝนตกหนักก็จะเจอกับน้ำท่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

“น้ำท่วมมันก็จะสัมพันธ์กับผังเมือง ยกตัวอย่างของเชียงใหม่ คือมันเป็นการถมที่รองรับน้ำเดิม อย่างบริเวณถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่ มันก็ทำให้บางทีที่ฝนหนักๆ ก็จะเกิดน้ำท่วมบริเวณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่บริเวณถนนห้วยแก้ว ซึ่งไปทางดอยสุเทพเนี่ย เพราะว่ามันสร้างถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ขวางทางน้ำไว้ ถ้าน้ำมันลงมาจากดอยเนี่ย มันควรจะผ่าเข้าไปตามแหล่งน้ำต่างๆ ในเมืองลงคูเมือง ลงลำคลองต่างๆ ปรากฎว่าพอไปสร้างถนนซุปเปอร์ไฮเวย์กั้น ทำให้น้ำไหลมาไม่ได้ มันก็เลยท่วมอยู่ อันนั้นก็เป็นสาเหตุส่วนหนึ่ง” นักวิชาการท้องถิ่นศึกษา ยกตัวอย่างเสริมในกรณีของเชียงใหม่ 

ณัฐกรยังกล่าวถึง ปัญหาการรุกล้ำลำน้ำที่เป็นอีกปัจจัยหนุนเสริมที่ทำให้เกิดน้ำท่วม ย้ำความสำคัญของการออกแบบผังเมืองที่ดีที่จะช่วยป้องกันการเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก เพราะครอบคลุมไปถึงกฎหมายควบคุมอาคาร ยังเกี่ยวกับรูปแบบการขยายตัวของเมือง รวมไปถึงแนวทางการพัฒนาเมือง เราจะเลือกเป็นทฤษฎีเมืองแนวดิ่งหรือขยายตัวแนวราบ หากเราเลือกที่จะขยายตัวแนวราบก็หมายความว่าพื้นที่ตามธรรมชาติที่เป็นแหล่งรองรับน้ำจะถูกเปลี่ยนสภาพเป็นหมู่บ้านจัดสรรด้วยการถมที่ ซึ่งก็สัมพันธ์กับการเกิดน้ำท่วมทั้งสิ้น

“เมื่อก่อนแม่น้ำปิงกว้างมาก ถ้าดูภาพที่เค้ารณรงค์งานสงกรานต์สมัยก่อน จะเห็นว่ามันกว้างมาก พอไปดูภาพปัจจุบัน ทางที่น้ำไหลผ่านมันหายไปเกือบครึ่งหนึ่ง ผมลองไปขับรถดู พบว่าบริเวณที่เลยเขตเมืองไป พื้นที่ชนบทเลยไปทางตอนใต้ของเมืองเชียงใหม่ อ.สารภี อ.หางดง อ.สันป่าตอง น้ำก็ไหลมาเท่ากัน แต่ช่วงไหนที่แม่น้ำมันกว้าง น้ำก็จะสามารถไหลโฟลวไปได้ดี ไม่ขึ้นมาท่วมมาก มันอาจจะมีท่วมบ้างบริเวณที่ต่ำ แต่ถ้าเทียบกับในเมือง พอมันมีการรุกล้ำลำน้ำ ทางน้ำตีบแคบ มันก็เลยทำให้เอ่อล้นท่วม โดยเฉพาะร้านอาหารริมน้ำ แต่มันก็ไม่เสมอไป มันก็จะมีฝั่งที่เขาปกป้องเป็นพิเศษ เขาก็จะทำตลิ่งสูงๆ พนังกั้นน้ำ อย่างบริเวณกาดหลวง สถานทูตอเมริกา เทศบาล ซึ่งรอด เพราะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ” 

ภาพสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2565 (แฟ้มภาพ : ประชาไท)

น้ำท่วมเผยวิกฤต รัฐราชการรวมศูนย์

นักวิชาการด้านท้องถิ่น มองว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วมนั้นแม้หน้าที่รับผิดชอบหลักจะเป็นของกรมชลประทานโดยตรง แต่ด้วยสาเหตุของน้ำท่วมที่มีหลายปัจจัยและการแก้ไขปัญหาประกอบกันหลายมิติ ทั้งในแง่การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย การช่วยเหลือเยียวยา ฯลฯ จึงทำให้เกี่ยวกับข้องหน่วยงานในภาคส่วนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน แต่ด้วยความที่แต่ละหน่วยงานก็มีสายงานบังคับบัญชาคนละสาย จึงทำให้การทำงานมีลักษณะติดขัด ไม่ประสานสอดคล้องกัน

“ถ้าเป็นเรื่องน้ำท่วมเนี่ย หน่วยงานมันเยอะ ผมไล่ดูมีเป็นสิบๆ หน่วย แต่ถามว่าหน่วยงานไหนที่มีความรับผิดชอบหรือเกี่ยวพันกับเรื่องน้ำท่วมมากที่่สุด ผมคิดว่าไม่พ้นกรมชลประทาน ซึ่งกรมชลฯ เขาไม่มีส่วนราชการในระดับจังหวัด หมายความว่ากรมชลประทาน เขาจะเรียกว่าโครงการชลประทานสุโขทัย โครงการชลประทานกรุงเทพฯ โครงการชลประทานปทุมธานี ซึ่งโครงการชลประทานเหล่านี้มันจึงไม่ใช่ของส่วนภูมิภาค แต่เป็นของส่วนกลาง มันก็จะขึ้นอยู่กับอธิบดีกรมและก็ไปตั้งอยู่กับจังหวัดต่างๆ ”

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทย (ภาพจากไทยพีบีเอส) 

นักวิชาการด้านท้องถิ่น มองว่า วิธีการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐไทยนั้นคล้ายกับการแก้ปัญหาเรื่องหมอกควัน ตรงที่แต่ละหน่วยงานก็จะรับผิดชอบแค่ในหน้างานของตัวเอง ตนมองว่าควรใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ เพราะมันเป็นปัญหาใหญ่ที่เกินกว่าอำนาจในระดับจังหวัดจะแก้ได้

“อย่างหมอกควันนี่ไม่ใช่แค่เรื่องระหว่างจังหวัดนะ แต่มันเป็นปัญหาข้ามแดน ผู้ว่าฯ จะเอาอำนาจอะไรไปคุยกับเจ้าแขวงลาว หรือ ผู้ว่าฯ ฝั่งพม่า คือปัญหามันใหญ่กว่าที่ผู้ว่าฯ จะแก้ได้เอง รวมถึงปัญหาอย่างเรื่องน้ำ ที่เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าจะแก้ได้ด้วยจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ท้องถิ่นอาจจะรับบทบาทหนักได้ต่อเมื่อภัยมา แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตอว่าจะทำยังไงให้ระบบชลประทานของประเทศมันโฟลว”

  • การกระจายอำนาจที่ไม่เพียงพอ: บทเรียนจากวิกฤติหมอกควันภาคเหนือตอนบน https://prachatai.com/journal/2012/03/39739
  • ชุมชนชาติพันธุ์สะท้อนภูมิปัญญาดับไฟป่า แนะรัฐกระจายอำนาจจัดการทรัพยากรคือทางออก https://prachatai.com/journal/2020/04/87070

ณัฐกร กล่าวเสริมถึงปัญหาโดยทั่วไปของระบบราชการโดยรวม คือการที่ข้าราชการมีการโยกย้ายไปที่ใหม่ๆ เสมอทำให้โอกาสที่จะแก้ปัญหาระยะยาวนั้นมักไม่ค่อยเกิดขึ้น โดยยกตัวอย่างประสบการณ์ของตน ที่เมื่อไปลงพื้นที่แล้วเจอข้าราชการ ก็มักจะพบกับบุคคลที่ออกตัวก่อนเลยว่าเพิ่งย้ายมา ซึ่งก็จะส่งผลให้พวกเขาจะตอบอะไรไม่ค่อยได้มากนัก กลายเป็นว่าตนก็ต้องไปคุยกับคนที่รู้เรื่อง ซึ่งคนที่ตอบคำถามเรื่องปัญหาในพื้นที่ได้ดีมักเป็นคนระดับรองๆ ที่ไม่มีอำนาจบริหาร เพราะเขาไม่ได้ย้ายไปไหนจึงรู้ปัญหาในพื้นที่มากกว่าคนในระดับที่มีอำนาจบริหาร ถ้าให้ท้องถิ่นแก้ปัญหา อย่างน้อยๆ คนทำงานก็ควรจะเป็นคนในจังหวัดนั้นเอง 

“ผู้ว่าฯ เนี่ยมันจะดูปัญหาในภาพรวมๆ ส่วนคนที่รู้จริงจะเป็นโครงการชลประทานในแต่ละจังหวัด แต่ด้วยอำนาจตัดสินใจหลายเรื่องที่หัวหน้าโครงการชลประทานไม่สามารถตัดสินใจเองได้ สุดท้ายก็ต้องไปจบที่อธิบดีอยู่ดี ถ้าจะแก้ปัญหาให้ทันท่วงที ก็ลำบากอยู่”

แก้น้ำท่วม ต่างพื้นที่ ต่างแนวทาง

ณัฐกรยกตัวอย่างการแก้ปัญหาน้ำท่วมในสุโขทัย เชียงใหม่ และน่านที่แสดงให้เห็นว่า แม้เป็นสถานการณ์น้ำท่วมเหมือนกันแต่ก็ไม่ได้มีคำตอบสำเร็จตายตัว เพราะจะใช้วิธีไหนแก้แล้วจะเวิร์ค มันก็ต้องดูบริบทเฉพาะของพื้นที่นั้นๆ ด้วย 

“อย่างกรณีจังหวัดสุโขทัยที่เจอปัญหาน้ำท่วมตลอด เพราะอยู่ติดแม่น้ำยม จากการลงพื้นที่พบว่า วิถีชีวิตของคนไทยที่ทำการเกษตรเขาจะพึ่งพาน้ำ เขาจะชอบน้ำเยอะมากกว่าน้ำแห้งอยู่แล้ว คือเขาจะไม่ได้วิตกกังวลกับน้ำ ถ้าไปดูบ้านในสุโขทัยเขาก็จะสร้างแบบยกสูง และเขาก็ได้ปลาเพิ่มขึ้นในช่วงน้ำหลาก และน้ำมันจะไหลจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ เขาก็จะเจอปัญหานี้ไม่กี่วัน แต่ปัญหาของสุโขทัยก็คือน้ำมันไปท่วมส่วนเมือง ซึ่งเป็นหัวใจทางธุรกิจ ตึกรามบ้านช่องที่เป็นภาคธุรกิจเวลาเขาเจอน้ำท่วม เขาก็ไม่ได้แฮ้ปปี้เหมือนภาคเกษตร”

“คำถามคือสุดท้ายมันแก้ยังไง ก็แก้ในส่วนเมือง ตอนนี้สุโขทัยก็ยังเจอน้ำท่วมทุกปีแต่ไม่ได้ท่วมเมืองแบบที่ผ่านมา เขาก็ไปทำแก้มลิงที่เรียกว่าทุ่งทะเลหลวง คือเป็นแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ การทำทางเบี่ยงน้ำไม่ให้น้ำไปท่วมเมือง รวมถึงแก้ปัญหาการไม่มีแหล่งน้ำทางการเกษตรและอุปโภคบริโภค ปัญหาก็ได้หมดไปเพราะนำน้ำจากตรงนี้มาเป็นแหล่งน้ำ อย่างนี้ถือว่าเป็นเมกะโปรเจกต์อย่างเงี้ย ถามว่าต้องอาศัยอำนาจของหน่วยงานราชการระดับไหนที่จะทำโปรเจกต์แบบนี้ได้ ต้องเป็นนโยบายจากการเมืองระดับชาติหรือเปล่าที่จะไปแก้ปัญหานี้ได้ ผู้ว่าเองก็ไม่ได้จะมีพาวเวอร์ที่จะทำโครงการมหึมาตรงนี้ได้ มันเกี่ยวข้องกับโครงการหลายหน่วย เราจะเห็นว่าเขาทำเป็นเกาะกลางแม่น้ำรูปหัวใจที่ให้คนไปพักผ่อนหย่อนใจ และอบจ.ก็ดูแลไป ส่วนตรงที่เป็นแหล่งน้ำก็ให้กรมชลประทานดูแล อันนี้เป็นตัวอย่างวิธีแก้ปัญหาอย่างหนึ่งที่สำเร็จ”

แผนที่ทางน้ำของโครงการชลประทานสุโขทัย 

แต่ในกรณีของเชียงใหม่นั้นแตกต่างจากสุโขทัย เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองติดดอย โอกาสที่จะไปสร้างโครงการชลประทานขนาดใหญ่แบบสุโขทัยที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มกว้างนั้นเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นเชียงใหม่ก็ใช้แก้มลิงขนาดเล็กมาแก้น้ำท่วม ซึ่งมันก็ต้องทำจำนวนมาก เน้นทำกระจายหลายจุด จะช่วยได้ แต่ก็จะมีปัญหาในแง่คนดูแลที่กระจายออกไปเป็นหลายหน่วยงานเช่นกัน

“อีกตัวอย่างที่น้ำท่วมเป็นประจำคือน่าน ซึ่งค่อนข้างมีข้อจำกัด เขาไม่ได้มีหน่วยงานระดับใหญ่ เท่าที่ลงพื้นที่ก็เจอปัญหาตลอด อย่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เป็นเจ้าของพื้นที่คือเจ้าของพื้นที่คือเทศบาล แต่เทศบาลเขาไม่ได้มีแหล่งน้ำที่จะรับ น้ำมายังไงก็เผชิญ ถ้าน้ำมันไหลมา ยังไงมันก็คือท่วม แต่ที่ทำได้คือการเตรียมป้องกัน หมายความว่าจะมีระบบแจ้งเตือน มันจะมีหอคล้ายๆ กับหอสึนามิที่พอน้ำมันถึงจุดหนึ่งก็จะประกาศแจ้งเตือนว่าให้คนเก็บข้าวเก็บของหนีไปอยู่ที่สูงอะไรก็ว่าไป คือเทศบาลทำได้เพียงรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ว่ามันไม่สามารถจะไปแก้ที่ต้นตอได้ แต่โอเคในแง่ที่ว่าเขาก็มีแผนงานอยู่” 

ข้อเสนอการกระจายอำนาจกับรัฐไทย เป็นไปได้แค่ไหน

ณัฐกรกล่าวถึงข้อท้าทายในทางปฏิบัติ คือทัศนคติของส่วนกลางที่มีลักษณะเป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยยกตัวอย่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่กระทรวงสาธารณสุขกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งจะทำก็ต่อเมื่อเป็นภาระงานที่เกินกำลังของส่วนกลางจริงๆ 

เมื่อเป็นปัญหาน้ำท่วม นักวิชาการด้านท้องถิ่น ยกตัวอย่าง ดราม่าน้ำท่วมกรุงเทพฯ-ปทุมธานี ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยกล่าวถึง การบริหารงานที่มีความขัดแย้งระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ สิ่งที่สำคัญคือบทบาทของรัฐบาลในแง่ของการเป็นตัวกลางเพื่อประสานผลประโยชน์ในพื้นที่รอยต่อ รวมถึงการเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นในแง่การรับมือน้ำท่วม ที่ไม่ใช่แค่ในทางกฎหมายอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ต้องปฏิบัติได้จริงด้วย ยกตัวอย่างเสริมเกี่ยวกับการเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่น เช่น การยกประตูน้ำให้ท้องถิ่นดูแล หรือในประเด็นการขุดลอกกำจัดผักตบชวาในแหล่งน้ำของท้องถิ่น (ณ ขณะนี้ท้องถิ่นทำเองไม่ได้ ต้องไปขอกรมเจ้าท่า) 

“มันต้องคุยกัน อย่างกรณีกรุงเทพรอด-ปทุมท่วม ท่วมพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งการตัดสินใจระดับนี้มันต้องเป็นระดับรัฐบาลที่จะมาตัดสินใจวางแนวทาง แต่ถ้าเราตัดสินใจในระดับจังหวัดใครจังหวัดมัน ทุกคนก็ต้องคิดบนผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่อยากให้พื้นที่ตัวเองท่วม ซึ่งแน่นอนมันจะมีปัญหาการบริหารจัดการน้ำทันที ถ้ามันไม่เกิดการประสานงานกัน ฉะนั้นมันต้องมีการต่อรอง ไม่ใช่แบบห้ามท่วมกรุงเทพเลย แล้วให้ปทุมรับไปเต็มๆ ถ้าจะให้ผู้ว่าแต่ละจังหวัดจัดการกันเองมันก็ยากอยู่นะ มันต้องเป็นรัฐบาลที่ลงมาวางแนวทาง” 

ณัฐกรกล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมของส่วนกลาง อาทิ แผนแม่บทการบริหารทรัพยากรน้ำระดับชาติและคณะอนุกรรมการด้านการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งตนมองว่าอาจยังไม่ตอบโจทย์ ทั้งในแง่การรับมือสถานการณ์เฉพาะหน้าเมื่อน้ำมา ทั้งนี้ยังเป็นการมองปัญหาจากข้างบนเสียมากกว่า ถ้าดูจากรายชื่อคณะอนุกรรมการก็จะเห็นว่ามีแต่คนจากส่วนกลางทั้งสิ้น ส่วนตัวแทนจากท้องถิ่นตนเห็นว่ารายชื่อจะไปอยู่ในคณะกรรมการ 22 ลุ่มน้ำ แทน

“ในแผนแม่บททรัพยากรน้ำมันก็มีพูดเรื่องนี้อยู่ บอกหมดว่าเลยว่าหน่วยงานไหนมีหน้าที่รับผิดชอบอะไร มันจะมียุทธศาสตร์ด้านที่ 3 ว่าด้วยการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย มีหน่วยงานเยอะมาก เป็นสิบๆ หน่วย มีทั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ แต่พอเอาเข้าจริงก็ไม่เห็นว่าทำอะไรไง” 

“มีคณะอนุกรรมการด้านการบริหารจัดการน้ำ ผมไม่รู้ว่าเขาคุยกันเรื่องนี้ไหม จะประชุมกันบ่อยขนาดไหน สมมติว่าเกิดเหตุน้ำท่วม เขาประชุมด่วนเลยหรือเปล่า…แต่โดยโครงสร้างของหน่วยงาน มันสามารถคุยเรื่องการบริหารจัดการน้ำได้ทั้งหมด เพราะมันรวมเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาอยู่ด้วยกัน  

“ในภาคของราชการ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ภาษาทางวิชาการเขาจะเรียกว่า รวมศูนย์แบบแยกส่วน หมายความว่าอำนาจส่วนใหญ่อยู่ที่ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคจะรับแบ่งอำนาจมา แต่ผู้ว่าไม่ได้มีอำนาจแก้ปัญหาตัวเองอย่างเบ็ดเสร็จ เนื่องจากอำนาจมันไปจบที่ข้างบน เวลาจะแก้อะไรมันก็ต้องไปตั้งกรรมการระดับชาติแล้วเอาหัวมานั่ง” นักวิชาการด้านท้องถิ่นกล่าวสรุป

อนึ่ง เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า มีการประชุมเพื่อขับเคลื่อนแผนแม่บทจัดการน้ำ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะอนุกรรมการด้านการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2565 และประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการประชุมทั้ง 2 คณะในวันนี้ เป็นการประชุมครั้งแรก ภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ชุดใหม่ ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อพิจารณาขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีที่ได้วางไว้ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท