Skip to main content
sharethis

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เผยว่า ณ วันที่ 25 ส.ค. ยังมีน้ำท่วมพื้นที่ 6 จังหวัด รวม 37 อำเภอ 156 ตำบล 940 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 21,824 ครัวเรือน ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงทุกพื้นที่ - รมว.สำนักนายก ตั้งศูนย์ JIC ระดมข้อมูลน้ำท่วม ย้ำเร่งสื่อสารให้ความช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤต


แฟ้มภาพกรมประชาสัมพันธ์

25 ส.ค. 2567 เว็บไซต์ FM91 Trafficpro รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ เพชรบูรณ์ และนครศรีธรรมราช รวม 37 อำเภอ 156 ตำบล 940 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 21,824 ครัวเรือน ประสานพื้นที่เร่งคลี่คลายสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชน

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย

ในขณะที่มีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบนปกคลุม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ระหว่างวันที่ 16 - 25 ส.ค. 67 มีสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ เพชรบูรณ์ อุดรธานี ระยอง ภูเก็ต ยะลา และนครศรีธรรมราช รวม 64 อำเภอ 260 ตำบล 1,459 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 30,807 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 22 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 19 ราย

โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2567) ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 6 จังหวัด รวม 37 อำเภอ 156 ตำบล 940 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 21,824 ครัวเรือน ดังนี้

1) เชียงราย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ อ.เวียงชัย อ.เชียงแสน อ.ป่าแดด อ.พญาเม็งราย อ.แม่สาย อ.แม่จัน อ.เทิง อ.เชียงของ อ.ขุนตาล อ.เวียงแก่น และ อ.เวียงป่าเป้า รวม 33 ตำบล 231 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,381 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ระดับน้ำลดลง

2) พะเยา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ปง อ.เชียงม่วน อ.ดอกคำใต้ อ.ภูซาง อ.เมืองฯ และ อ.เชียงคำ รวม 40 ตำบล 313 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,500 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ระดับน้ำลดลง

3) น่าน เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.เวียงสา อ.นาน้อย อ.เชียงกลาง อ.ทุ่งช้าง อ.บ้านหลวง อ.ท่าวังผา อ.ปัว อ.ภูเพียง อ.เมืองฯ และ อ.บ่อเกลือ รวม 56 ตำบล 283 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10,517 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ระดับน้ำลดลง

4) แพร่ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.ร้องกวาง อ.สอง อ.เมืองฯ อ.สูงเม่น และ อ.หนองม่วงไข่ รวม 23 ตำบล 102 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 383 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ระดับน้ำลดลง

5) เพชรบูรณ์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.วังโป่ง อ.ชนแดน และ อ.เมืองฯ รวม 6 ตำบล 22 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,726 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

6) นครศรีธรรมราช เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ อ.ฉวาง รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว

ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงทุกพื้นที่ สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน

โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล เครื่องสูบน้ำ รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย และรถผลิตน้ำดื่ม เพื่อแก้ไขปัญหา เร่งระบายน้ำ บรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัย และผลิตน้ำดื่มสะอาดแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ในส่วนของการเสริมกำลังช่วยน้ำท่วมภาคเหนือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับกองทัพบก (ทบ.) สนธิกำลังร่วมส่งเฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัย KA-32 จำนวน 1 ลำ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กู้ภัยประจำ ฮ.ปภ.32 "The Guardian Team" สนับสนุนภารกิจการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ และเตรียมพร้อมรับมือสาธารณภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่

นอกจากนี้ ปภ. ยังได้ส่งทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย ยานพาหนะ จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตใกล้เคียงและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตภาคอื่นที่ไม่มีสถานการณ์ภัย เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ประกอบไปด้วย

ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 10 ลำปาง สนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 6 ขอนแก่น สนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 5 นครราชสีมา สนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดแพร่และน่าน

สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป

ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT”

ตั้งศูนย์ JIC ระดมข้อมูลน้ำท่วม ย้ำเร่งสื่อสารให้ความช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤต

เว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานว่านางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต่อสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด โดยเฉพาะการติดตามและรับข้อมูลข่าวสารของพี่น้องประชาชน จึงได้สั่งการให้กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับดูแล ทำหน้าที่เป็นหน่วยเชื่อมประสานระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับประชาชน โดยยึดแนวทางการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการประชาสัมพันธ์ในภาวะวิกฤต (แผนพระอินทร์) ของกรมประชาสัมพันธ์

นางสาวจิราพร กล่าวว่า กรมประชาสัมพันธ์ได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารร่วม (Joint Information Center : JIC) ซึ่งจะทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวสารสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัย โดยมีสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และบูรณาการการทำงาน ระดมผู้ปฏิบัติงานสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ที่มีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ พร้อมทั้งรายงานข่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือประชาชนต่อไป

นอกจากนี้ กรมประชาสัมพันธ์ยังได้ปรับรูปแบบการนำเสนอรายการข่าวและรายการต่างๆ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อรองรับการสื่อสารสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งสามารถติดตามได้จากช่องทางต่างๆ ดังนี้

1. สถานีโทรทัศน์ : NBT2HD ซึ่งเปิดช่วงพิเศษ “สถานการณ์-ช่วยเหลือน้ำท่วม” ในรายการ Better Future เวลา 10.00 - 11.00 น. ทุกวัน และรายการ NBT มีคำตอบ เวลา 15.00-16.00 น. ทุกวันจันทร์-ศุกร์ สรุปสถานการณ์น้ำ ในรายการข่าวภาคค่ำ เวลา 17.30 น. ของทุกวัน

2. วิทยุ : FM 92.5 MHz

3. ช่องทาง Online : สามารถติดตามทาง X และ Facebook:  NBT CONNEXT NBT2HD กรมประชาสัมพันธ์ เพจสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด Live : กรมประชาสัมพันธ์ Website : www.prd.go.th และ http://prdee.prd.go.th

“กรมประชาสัมพันธ์จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลข่าวสาร สถานการณ์อุทกภัย เพื่อสื่อสารกับประชาชนในช่องทางต่างๆ นำไปสู่การดูแลช่วยเหลือจากภาครัฐได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ พี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย สามารถประสานมายังช่องทางต่าง ๆ ที่กรมประชาสัมพันธ์ดำเนินการ หรือโทรสายด่วน 1111 ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล สายด่วน 1784 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สายด่วน 1567 ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย สายด่วน 1586 ทางหลวง และทุกช่องทางของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งทางรัฐบาลเตรียมพร้อมในการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่“ นางสาวจิราพร กล่าว

พบร่างผู้สูญหายจากเหตุการณ์ดินโคลนถล่มภูเก็ต ครบแล้ว สรุปยอดผู้เสียชีวิต 13 ราย บาดเจ็บ 19 ราย

NBT Connext รายงานเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2567 ว่านายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ประชุมพร้อมประกาศยุติการค้นหาร่างผู้สูญหายจากเหตุการณ์ดินโคลนถล่มพื้นที่ตำบลกะตะ อำเภอเมืองภูเก็ต เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา หลังเจ้าหน้าที่เจอร่างผู้สูญหายครบแล้ว 13 ราย จากการนำสุนัขค้นหาและกู้ภัยแห่งชาติ K9 ร่วมในการค้นหา โดยยอดผู้เสียชีวิตรวม 13 ราย เป็นชาย 5 รายหญิง 8 ราย ซึ่งเป็นหญิงไทย 2 ราย ชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดสกลนคร ชาวรัสเซีย 2 ราย เป็นสามีภรรยา และแรงงานพม่า 9 ราย เป็นชาย 4 ราย และหญิง 4 ราย ส่วนผู้ได้บาดเจ็บ 19 ราย มีครัวเรือนได้รับผลกระทบ 209 ครัวเรือน 3 ตำบล 9 หมู่บ้าน

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต  ได้สั่งการเน้นย้ำการให้ความช่วยเหลือและเยียวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตามระเบียบอย่างรวดเร็ว ส่วนกรณีชาวต่างชาติให้ประสานสถานทูตและกงสุลในพื้นที่ ประสานทำความเข้าใจและให้ความช่วยเหลือตามกระบวนการ และในส่วนของแรงงานพม่า ได้มอบหมายให้แรงงานจังหวัด ตรวจสอบข้อมูลการเข้าทำงาน พร้อมประสานผู้ประกอบเพื่อติดตามการให้ความช่วยเหลือให้ได้มากที่สุด และมอบหมายให้ คปภ. ดูแลตรวจสอบเรื่องประกันของผู้ได้รับผลกระทบ หากเข้าข่ายที่สามารถช่วยเหลือได้ให้เร่งดำเนินการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในการการคลี่คลายพื้นที่ ได้บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนเข้าคลี่คลายพื้นที่ เพื่อให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และคืนพื้นที่เพื่อให้ประชาชนดำเนินชีวิตได้ตามปกติใน 1-2 วันนี้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net