Skip to main content
sharethis

เครือข่ายผู้สื่อข่าวองค์กรอาชญากรรมและการทุจริต (OCCRP) และประชาไทตรวจสอบข้อมูลกรณีหมายจับของอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีความสัมพันธ์กับ ‘ทุนมินลัต’ นักธุรกิจใหญ่จากพม่าที่ถูกจับในไทย ถูกเพิกถอนและเปลี่ยนเป็นหมายเรียกแทน พบเพียงความเงียบที่น่าจับตามอง

(หน้าสุด) อุปกิต ปาจรียางกูร

รายงานการเพิกถอนหมายเรียกถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อ 4 ต.ค. 2565 สำนักข่าวเมเนเจอร์ออนไลน์รายงานว่า หมายจับและหมายค้นที่ศาลอาญาอนุมัติเมื่อ 3 ต.ค. เพื่อให้ตำรวจเข้าตรวจค้นและจับกุมอุปกิตถูกถอนและเปลี่ยนเป็นหมายเรียกในวันถัดมา เมเนเจอร์ออนไลน์ลบข่าวดังกล่าวออกจากเว็บไซต์ของตัวเองภายในวันที่เผยแพร่ แต่ยังคงหลงเหลือเนื้อหาอยู่ในช่องทางเผยแพร่ของเมเนอเจอร์ในแพลตฟอร์มของไลน์ ทูเดย์

อนึ่ง แหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์ออกนาม มีข้อมูลและยืนยันกับประชาไทและ OCCRP ว่าศาลได้อนุมัติหมายจับอุปกิต และต่อมาก็ถูกเพิกถอนจริง ส่งผลให้สมาชิกวุฒิสภาคนดังกล่าวอยู่ในฐานะพยาน ไม่ใช่ผู้ต้องหาในความผิดฐานสมคบ สนับสนุนหรือช่วยเหลือในการฟอกเงิน

เหตุการณ์ข้างต้นเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยเข้าตรวจค้นและจับกุมทุนมินลัต นักธุรกิจใหญ่ชาวพม่าที่มีข้อมูลว่าเป็นนายหน้าขายยุทโธปกรณ์และมีสายสัมพันธ์กับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องลาย ผู้นำคณะรัฐประหารพม่า ดีน ยัง จุนทุละ ลูกเขยลูกครึ่งไทย-อเมริกันของอุปกิตและผู้ต้องหาอีกสองราย เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา 

ทั้งสี่ถูกตั้งข้อกล่าวหาฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและการฟอกเงิน โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ตรวจยึดทรัพย์สินรวมมูลค่ากว่า 200 ล้านบาทด้วย 

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสํานักงานตํารวจแห่งชาติแถลงว่า หลังจากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ฝากขังผู้ต้องหาทั้งสี่แล้ว จะดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนขยายผลถึงเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

เมื่อ 10 ต.ค. ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยัง พล.ต.ท.สรายุทธ สงวนโภคัย ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ผบช.ปส.) ได้ข้อมูลว่าทั้งสี่คนจะถูกฝากขังต่อไป หลังจากผ่านการฝากขังในผัดแรกไปแล้ว ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่กำลังรวบรวมพยานหลักฐาน ส่วนอุปกิตยังไม่ได้เข้ามาให้การ ทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดการเดิม

“เราก็ฝากขังต่อไป เราฝากได้ 7 ฝาก ยังอยู่ในระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดี สอบสวนอยู่”

“ยังไม่มีอะไรเลย ยังเหมือนเดิม” สรายุทธกล่าว 

อนึ่ง ผบช.ปส. ไม่ได้ให้คำตอบในเรื่องการเพิกถอนหมายจับของอุปกิต

(ใส่สูท ที่สองจากขวามือ) ทุนมินลัตในนิทรรศการการกลาโหมและความมั่นคง พ.ศ. 2652 ที่กรุงเทพฯ โดยยืนร่วมอยู่กับคณะทหารจากพม่าและ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย (ที่สองจากซ้ายมือ) ที่มาภาพ: Senior General Min Aung Hlaing/Government of Myanmar

แม้ไม่ค่อยมีการเผยแพร่ความคืบหน้าจากฝั่งตำรวจไทยมากนัก แต่ข้อมูลจากกลุ่มนักกิจกรรมจัสติซฟอร์เมียนมาร์ ได้เผยแพร่ข้อมูลตั้งแต่ 26 ก.ย. ว่าดีน ยัง และทุนมินลัต มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทอัลลัวร์ กรุ๊ป จำกัด (Allure Group Company Limited) ที่อุปกิตก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2542 เพื่อทำธุรกิจโรงแรมและคาสิโนในเมืองท่าขี้เหล็กที่ติดกับชายแดนไทย

นอกจากนั้น ข้อมูลของอัลลัวร์กรุ๊ปยังถูกพบอยู่ในกองข้อมูลมหาศาลที่อัพโหลดขึ้นบนโลกออนไลน์โดยกลุ่มนักกิจกรรมด้านความโปร่งใสชื่อ Distributed Denial of Secrets ตั้งแต่ปี 2564 ข้อมูลดังกล่าวระบุว่าอุปกิตได้ทำข้อตกลงกับพ่อของทุนมินลัต นายทหารที่เป็นอธิบดีกรมการท่องเที่ยวของพม่า โดยข้อตกลงดังกล่าวทำให้อัลลัวร์กรุ๊ปสามารถเช่าที่ดินจากกองทัพพม่าได้เป็นเวลานาน 30 ปี

ในส่วนของคาสิโนนั้นก็เป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้บริษัทสตาร์ แซฟไฟร์ กรุ๊ป (Star Sapphire Group) ของทุนมินลัต ซึ่งต่อมาถูกรัฐบาลสหราชอาณาจักรคว่ำบาตรในเดือน ส.ค. 2565 ด้วยเหตุผลว่าบริษัทดังกล่าว “เคยรับผิดชอบในการเป็นนายหน้าซื้อขายสินค้าทางการทหาร”

ผู้แทนบริษัทของทุนมินลัตไม่ได้ตอบคำร้องขอสัมภาษณ์ของผู้สื่อข่าว ทางด้านอุปกิตไม่ได้ตอบข้อความขอสัมภาษณ์ในเฟซบุ๊ค นอกจากนั้น เมื่อสอบถามไปยังผู้ช่วยของอุปกิตตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ได้จากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ก็ไม่ได้ให้ความเห็น และไม่ตอบรับการขอนัดสัมภาษณ์

ประวัติของบริษัทระบุว่าอุปกิตลาออกจากอัลลัวร์กรุ๊ปในปี 2562 ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นวุฒิสภาจากคณะรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยดีน ยัง เป็นผู้อำนวยการ (ผอ.) บริษัทต่อจากนั้น 

ทั้งนี้ ดีน ยัง ดูไม่น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอาชญากรรม ชายคนนี้เคยเป็นนักกอล์ฟมืออาชีพจากมลรัฐนิวเจอร์ซีย์และไม่มีประวัติอาชญากรรมเป็นที่ประจักษ์ในสหรัฐฯ ในปี 2558 เขาแต่งงานกับลูกสาวของอุปกิตและมาอยู่อาศัยในกรุงเทพฯ พร้อมกับลูกอีกสามคน 

สถานทูตฯ สหรัฐฯ ประจำประเทศไทยไม่สามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับคดีความที่เกิดขึ้นกับดีน ยัง ได้ด้วยเหตุผลด้านความเป็นส่วนตัว

“เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายความเป็นส่วนตัวของสหรัฐฯ สำนักงานกงสุลสหรัฐฯ จึงไม่สามารถให้ข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับพลเมืองสหรัฐฯ หากไม่ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร” นิโคล ฟอกซ์ โฆษกสถานทูตฯ ระบุ

จากการสืบค้นในเฟซบุ๊คส่วนบุคคลของดีน ยัง พบว่าเขาเคยมีประวัติทางการงานที่เกี่ยวข้องกับพม่าอยู่ โดยนับตั้งแต่ปี 2560 ผู้สื่อข่าวพบว่า ดีน ยัง ได้เดินทางไปยังนครย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าและศูนย์กลางทางธุรกิจของพม่าอยู่หลายครั้ง โดยหนึ่งในการเดินทางของเขาถูกบรรยายว่าเป็นการเดินทางไปเพื่อ “ทำงาน” ทั้งนี้ ไม่มีรายละเอียดปรากฏว่าใครเป็นนายจ้างของดีน ยัง

มองย้อนกลับไปในอดีต นอกจากธุรกิจของอุปกิตที่มีอยู่ในพม่าแล้ว เฟซบุ๊คของอุปกิตยังมีภาพของตัวเขาร่วมเฟรมภาพอยู่กับชนชั้นนำในแวดวงการเมือง การทหารและธุรกิจของพม่าอีกด้วย

อุปกิต ปาจรียางกูร (ขวาสุด) ในภาพมีกลุ่มคนสวมเสื้อที่เป็นเครื่องแบบของกองทัพเรือพม่า  (ภาพจากเฟซบุ๊คของอุปกิต)

เมื่อ 27 ก.ย. อุปกิตให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ยืนยันว่ากิจการของเขาในพม่าในอดีตเป็นธุรกิจที่สุจริต ลูกเขยของเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทาตามที่ถูกกล่าวหา เท่าที่เขาทราบ ทุนมินลัตไม่มีประวัติด่างพร้อย และข้อมูลที่จัสติซฟอร์เมียนมาร์เชื่อมโยงเข้ากับโครงข่ายฟอกเงินและยาเสพติดนั้นเป็น “ข่าวปลอม”

“เท่าที่ผมรู้จักเขา (ทุนมินลัต) และเขาได้เล่ามาบ้างเกี่ยวกับธุรกิจที่เขาทำ และเท่าที่ผมรู้จักเขา เขาไม่มีประวัติด่างพร้อย ทางสถานทูตฯ เมียนมา ก็ทำหนังสือรับรองให้เขาหลังถูกจับกุม สถานทูตฯ เขาค้ำประกัน ไม่ใช่ผมค้ำประกัน”

“ที่สำคัญคือลูกเขยผม ไม่มีเลย ไม่มีเกี่ยวข้องอะไรเลยกับธุรกิจสีเทา ไม่มีเด็ดขาด คือตัวผมรับแรงเสียดสีแรงกระแทกได้ แต่ว่าสำหรับเด็กที่เขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร ผมก็ต้องกอบกู้ชื่อเสียงของเขาให้” อุปกิตกล่าวในรายการ

ในส่วนของการเพิกถอนหมายเรียก วันที่ 5 ต.ค. ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ผู้ดำเนินรายการเจาะลึกทั่วไทยฯ กล่าวในช่วงต้นของรายการวันนั้นว่าหนึ่งคืนก่อนหน้านั้นมี “ฮอตไลน์ สายลึกลับ” ระบุว่าอุปกิตแจ้งมาว่าไม่ได้ถูกจับกุม เพียงแค่มีหมายเรียกจากศาลอาญาเรียกไปสอบปากคำบางเรื่อง และยืนยันว่า อุปกิตยังไม่ได้ถูกตั้งข้อกล่าวหาเรื่องฟอกเงิน

เมื่อ 11 ต.ค. ประชาไทและ OCCRP สอบถามไปยังบรรณาธิการของเมเนเจอร์ออนไลน์ถึงเหตุผลการลบข่าวการเพิกถอนหมายเรียก ได้คำตอบว่าเขาไม่ทราบเรื่องการลบข่าวดังกล่าวเลย

รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกลกล่าวว่าเขาไม่มีข้อมูลเรื่องการเพิกถอนหมายจับอุปกิต แต่ตั้งข้อสงสัยว่าข้อมูลความคืบหน้าของคดีที่เปิดเผยสู่สาธารณะนั้น “เงียบผิดปกติ” มีเพียงการรายงานข่าวจากสำนักข่าวในช่วงแรกแล้วก็เงียบไป

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นที่รู้จักในด้านการตั้งคำถามกับวงการสีกากี กล่าวด้วยว่าคดีนี้เป็นบททดสอบสำหรับกระบวนการยุติธรรมของไทยเมื่อเจอแรงกดดันในคดีความที่เกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจ

“เราอยากจะรู้ว่าการดำเนินคดีจะเป็นไปอย่างโปร่งใสแค่ไหน จะมีการช่วยเป่าคดีหรือไม่ ตำรวจต้องแถลง มีการให้ข้อมูลกับประชาชนถึงความคืบหน้า ไม่งั้นประชาชนอาจจะพูดได้ว่าสุดท้ายมันก็คือการดึงคดี ปล่อยให้คดีไม่มีอะไร แล้วอาจจะจับได้แค่คนไม่กี่คนเท่านั้น ในขณะที่ปลาตัวใหญ่ คนที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมดไม่ได้ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด” รังสิมันต์กล่าว

คิงส์ลีย์ แอบบอต ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) มองว่ายังไม่สามารถฟันธงได้ว่าเหตุใดจึงมีการเพิกถอนหมายจับ

“อาจเป็นเพราะมีความผิดพลาดในทางกระบวนการแล้วถูกนักกฎหมายโต้แย้งก็ได้ หรืออาจเป็นเหตุผลอื่นก็ได้ เราไม่รู้เลย”

“แต่ในข้อเท็จจริงที่มีการออกหมายเรียกหมายความว่าพนักงานสอบสวนมีความสนใจที่จะคุยกับเขา (อุปกิต)” คิงส์ลีย์กล่าว

รายงานเพิ่มเติมโดยเควิน ฮอลล์ จาก OCCRP

สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมโดยคาริน่า เชดรอฟสกี จาก OCCRP 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net