Skip to main content
sharethis
  • วงเสวนาสะท้อนปัญหาที่ไทยยังไม่ได้เข้าร่วม ICC ว่าเป็นเพราะฝ่ายไทยมัวแต่กังวลว่าธรรมนูญกรุงโรมจะกระทบกับการคุ้มกันประมุขของประเทศตามรัฐธรรมนูญ ทั้งที่หลายประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์เหมือนกันและมีการคุ้มกันในลักษณะเดียวกันด้วยกฎหมายภายในก็ยังเข้าร่วมเป็นภาคี เนื่องจากการบริหารประเทศและผู้ที่มีอำนาจสั่งการจริงๆ เป็นของรัฐบาล
  • อย่างไรก็ตามถึงจะไม่ได้เข้าร่วมกับ ICC แต่ก็ยังสามารถใช้ข้อ 12(3) ของธรรมนูญกรุงโรมเพื่อยื่นเรื่องต่อ ICC เพื่อพิจารณาเป็นรายกรณีเช่นส่งเพียงคดีที่เกี่ยวกับการสลายการชุมนุมปี 53 อย่างเดียวก็ได้โดยไม่ต้องรับข้อ 27 ของธรรมนูญกรุงโรมที่ถอนการคุ้มกันประมุขของประเทศในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการสั่งการต่างๆ และผู้ลงนามในประกาศและคำสั่งที่ใช้ในการสลายการชุมนุมเวลานั้นก็มีเพียงอภิสิทธิ์และสุเทพเท่านั้น
  • แต่ที่ผ่านมาการพยายามผลักดันเพื่อให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันในธรรมนูญกรุงโรมก็กลายเป็นประเด็นที่ใช้กล่าวหาผู้ผลักดันว่าต้องการล้มสถาบันฯ แม้ว่าการผลักดันเหล่านี้จะมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันการลอยนวลพ้นผิดจากการก่ออาชญากรรมของรัฐไม่ว่าจะเป็นการสลายการชุมนุม ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้หรือแม้กระทั่งสงครามยาเสพติด
  • อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาลอยนวลพ้นผิดแม้จะต้องอาศัยเวลาในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่การผลักดันประเด็นการนำตัวคนผิดมาลงโทษก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มหลังผู้มีอำนาจยอมปล่อยมือหรือต้องนิรโทษกรรมกันก่อน อีกทั้งการปล่อยให้ผู้มีอำนาจที่ก่ออาชญากรรมเหล่านี้ไว้โดยไม่ทำอะไรอาจทำให้พวเขากลับมาสู่วงจรอำนาจอีกครั้ง เช่น ที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์

เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2565 ผ่านมาที่แกลอรี่ กินใจ คอนเทมโพราลี่ ในงานนิทรรศการ “6 ตุลาฯ เผชิญหน้าปิศาจ” มีเสวนาเปิดนิทรรศการในหัวข้อ “ICC กับความยุติธรรมที่ยังเอื้อมไม่ถึง” ที่ได้กล่าวย้อนถึงปัญหา ข้อติดขัดที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อนที่ไทยไม่สามารถนำเรื่องการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 โดยรัฐบาลอภิสิทธิ์เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศหรือInternational Criminal Court (ICC) ได้ รวมถึงข้อโต้แย้งสำคัญของฝ่ายอนุรักษ์นิยมในเวลานั้นคือจะกระทบต่อรัฐธรรมนูญไทยที่ให้การคุ้มกันกษัตริย์ที่เป็นประมุขของประเทศจะละเมิดและฟ้องร้องไม่ได้ทำให้ไทยไม่ได้ให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรมที่เท่ากับเป็นการยอมรับเขตอำนาจของ ICC และยังกลายเป็นข้อกล่าวหาต่อผู้ผลักดันเรื่องนี้ว่าต้องการจะล้มสถาบันฯ

ในการเสวนาครั้งนี้ได้อธิบายขั้นตอนต่างๆ ทั้งการเข้าร่วม ICC หรือการยื่นเรื่องเฉพาะกรณีที่ยุ่งยากน้อยกว่า ไปจนถึงความไม่สมเหตุสมผลของข้อโต้แย้งต่างๆ ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมใช้โต้แย้งและขัดขวางการเข้าร่วมกับระบบที่อารยประเทศต่างก็เข้าร่วม

ผู้เข้าร่วมเสวนาครั้งนี้บางรายเคยอยู่ในการถกเถียงและผลักดันให้ไทยเข้าสู่ร่วมกับ ICC มาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้วทั้งปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้าที่ในเวลานั้นยังเป็นอาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์สมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ ธิดา ถาวรเศรษฐ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) หรือที่เรียกว่าคนเสื้อแดง พวงทอง ภวัครพันธ์ุ นักวิชาการที่ร่วมทำงานกับศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 (ศปช.) และเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง จากรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

12 ปี ที่ไม่คืบหน้าของคดีสลายชุมนุมคนเสื้อแดงปี 53

พวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 (ศปช.) เริ่มการเสวนาโดยการสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53 ว่า การตายที่เกิดขึ้น 94 ศพในวเลานั้นเป็นประชาชน 84 คนและเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 10 คน ตามรายงานของ ศปช. ซึ่งประเด็นเรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ครั้งนั้นเพื่อนำตัวผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสังหารประชาชนมาดำเนินคดี

พวงทอง ภวัครพันธุ์

เวลานั้นฝ่ายประชาชนก็ยืนยันว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ส่วนรัฐบาลก็กล่าวหาว่ามวลชนมีอาวุธมีชายชุดดำแล้วรัฐบาลก็ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ขึ้นมาและออกรายงานที่เน้นไปในการชี้ตัวชายชุดดำและไม่กล่าวถึงการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐ และสื่อมวลชนเวลานั้นก็รายงานว่ามวลชนเสื้อแดงเป็นผู้ใช้ความรุนแรง ไม่มีการเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐหรือทหารที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตมาดำเนินคดี ขณะเดียวกันก็เกิด ศปช.ขึ้นมาทำรายงานที่นำเสนอข้อมูลตรงกันข้ามว่าผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตทั้งหมดไม่มีใครเลยที่มีอาวุธปืนในมือที่จะทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐได้ และในขณะที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นรัฐบาลคดีการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นกว่า 90 ศพก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ

แต่ก่อนการรัฐประหารปี 2557 คดีของผู้เสียชีวิตบางรายได้เข้าสู่กระบวนการไต่สวนการตายที่เป็นขั้นตอนในการชี้ว่าการตายเกิดขึ้นได้อย่างไรและมีคดีที่ศาลระบุว่าเกิดจากกระสุนที่ยิงมาจากทหารแล้วอย่างน้อย 17 คน แต่ก็ยังไม่ใช่กระบวนการพิจารณาคดีที่มีการตัดสินว่าเจ้าหน้าที่กระทำความผิดเนื่องจากการพิจารณาคดีอาญาจะต้องไปเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาลอาญาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษก็นำคดีของผู้เสียชีวิตทั้ง 17 คนนี้ทำสำนวนร่วมกับอัยการเพื่อฟ้องอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ ในคดีร่วมกันก่อหรือร่วมกันใช้ให้ผู้อื่นฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่า ศาลอาญาก็รับฟ้องแต่คดีจบไปเมื่อหลังการรัฐประหารโดย คสช. จากที่ศาลรับฟ้องเอาไว้ก็มีความเห็นตามคำร้องของพรรคประชาธิปัตย์ว่าคดีไม่ได้อยู่ในอำนาจของตัวเอง แล้วก็ส่งคดีไปที่ ปปช.เพราะศาลเห็นว่าทั้งอภิสิทธิ์และสุเทพใช้อำนาจหน้าที่ตามตำแหน่งราชการในฐานะนายกรัฐมนตรีและรองนายกฯ ไม่ใช่การกระทำความผิดทางอาญาโดยส่วนตัว

“พูดง่ายๆ ว่าศาลลดระดับความรุนแรงของคดีอาญามาเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความรุนแรงลดลงทันที พูดง่ายๆ ว่าสามเดือนให้หลังศาลอาญาโยนทิ้งออกจากศาลไปให้ ปปช. ก็พอคาดเดาได้ว่า ปปช.จะมีคำตัดสินอย่างไร ปปช.ตัดสินว่าไม่มีความผิดโดยไม่มีการเรียกพยานหลักฐานเพิ่มเติมใดๆ ทั้งสิ้น”

อย่างไรก็ตามญาติของผู้เสียชีวิตและ นปช.ก็พยายามสู้ต่อยื่นอุทธรณ์และศาลฎีกา แต่ศาลก็ยืนตามศาลชั้นต้นว่าศาลอาญาไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ เท่ากับว่าการดำเนินคดีด้วยกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศมาถึงทางตัน แต่ก่อนที่คดีปี 53 จะมาถึงทางตันความพยายามจากกลุ่มบุคคลที่ธิดา ถาวรเศรษฐ์ในฐานะที่เป็นประธาน นปช. และพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของกมนเกด อัคฮาด ผู้เสียชีวิตจากการถูกทหารยิงในวัดปทุมวนาราม ธงชัย วินิจกุล และโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ขอเข้าพบอัยการของ ICC เพื่อขอให้เข้ามาสอบสวนกรณีนี้หลังจากไปเข้าพบอัยการก็ตอบรับและบอกว่ากรณีสลายชุมนุมปี 53 นี้เข้าข่ายที่ ICC จะพิจารณาได้ และอัยการของ ICC ก็เดินทางเข้ามาพบและบอกกับสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศในขณะนั้นว่า ICC สามารเข้ามาดำเนินการได้ถ้ารัฐบาลไทยให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรม แต่การให้สัตยาบันก็ไม่เกิดขึ้นจนกระทั่ง คสช.ทำรัฐประหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดคุยกันต่อ

เมื่อสถาบันฯ ไม่ได้ใช้อำนาจบริหารด้วยตัวเองก็ไม่เกี่ยว

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า อธิบายถึงวิธีการส่งเรื่องให้ ICC พิจารณามี 4 วิธีคือ

  1. ไทยเป็นรัฐสมาชิกโดยการให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคี รัฐที่เป็นสมาชิกก็สามารถส่งเรื่องได้ทันที

  2. คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือ UNSC เห็นว่าเป็นเรื่องร้ายแรงก็เข้ามาจัดการส่งเองแม้ว่ารัฐนั้นจะไม่ได้เป็นสมาชิกเช่นกรณีในลิเบียและอูกันด้า

  3. ทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลเป็นรายกรณีเฉพาะช่วงเวลาโดยอาศัยข้อ 12(3) ของธรรมนูญกรุงโรม เช่น กรณีของไอวอรี่โคสต์

  4. อัยการของ ICC ใช้อำนาจเปิดกระบวนวิธีพิจารณาคดีด้วยตัวเอง เช่นกรณีของเคนยา

ปิยบุตร แสงกนกกุล

เลขาฯ คณะก้าวหน้าอธิบายปัญหาของแต่ละช่องทางว่า สำหรับไทยที่เป็นรัฐสมาชิกเพราะเคยลงนามเอาไว้แต่ไม่ได้ให้สัตยาบันทำให้ไทยไม่สามารถส่งเรื่องอะไรไปที่ ICC ได้เลย ส่วนกรณีที่ UNSC เข้ามาจัดการด้วยตัวเองก็เป็นกรณีที่ UNSC เห็นว่าร้ายแรงจริงๆ ถึงขนาดที่เขาจะเปิดกระบวนพิจารณาเองเหมือนกรณีตัวอย่างที่ตายกันเป็นพันเป็นหมื่นแล้วกรณีที่ UNSC เข้าไปพัวพันเองก็เป็นกรณีที่ส่งผลระดับการเมืองระหว่างประเทศด้วยเพราะต้องอาศัยเสียงโหวตของประเทศที่ร่วมอยู่ใน UNSC

อย่างไรก็ตามยังมีช่องทางให้ใช้ได้คือการใช้ ข้อ 12(3) ของธรรมนูญกรุงโรม ทำคำประกาศฝ่ายเดียวยอมรับเขตอำนาจของศาลได้ ซึ่งมีข้อดีคือต่อให้รัฐบาลประเทศไทยยังไม่ให้สัตยาบันด้วยข้ออ้างต่างๆ ก็ใช้ข้อนี้ได้ และยังใช้กับกรณีที่เกิดขึ้นก่อนรัฐบาลจะให้สัตยาบันได้ เพราะต่อให้รัฐบาลยอมให้สัตยาบัน ณ ปัจจุบันนี้เขตอำนาจของศาลก็จะครอบคลุมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังให้สัตยาบันโดยไม่ย้อนหลังกลับไปครอบคลุมเหตุการณ์ปี 2553 โดยทันทียกเว้นแต่จะมีการประกาศใช้ข้อ 12(3) เท่านั้น แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถใช้ย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 ได้เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนจะมีการประกาศใช้ธรรมนูญกรุงโรมเมื่อ 1 ก.ค.2545

ส่วนช่องทางที่สี่ที่อัยการ ICC จะเป็นฝ่ายเปิดกระบวนการพิจารณาเองก็ยังติดประเด็นเรื่องที่รัฐบาลไทยยังไม่ให้สัตยาบัน

“ผมเสนอแบบนี้ตรงไปตรงมา ปีหน้าจะเกิดการเลือกตั้งแน่นอนถ้าไม่มีอุบัติเหตุบ้าๆ บอๆ เสียก่อน ทีนี้พอช่วงการเลือกตั้งเกิดขึ้นก็จะมีการรณรงค์หาเสียงกัน ฝ่ายที่ต้องการให้ประเทศไทยให้สัตยาบัน ICC ควรจะเรียกร้องตรงไปตรงมา” เลขาฯ คณะก้าวหน้าเสนอพร้อมกับอธิบายกระบวนการอีก 3 ข้อ

  1. รัฐบาลไทยให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมทันที เพื่อที่ต่อไปในอนาคตถ้ามีเหตุการณ์สลายการชุมนุมอีก มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติโดยรัฐบาลไทยความผิดเหล่านี้ก็จะสามารถนำเข้าสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศไทยได้

  2. รัฐบาลประกาศยอมรับอำนาจศาลตามข้อ 12 (3) เพื่อให้ครอบคลุมเรื่องที่เกิดในอดีต โดยรัฐบาลสามารถเลือกเหตุการณ์อื่นๆ ได้โดยไม่จำเพาะเจาะจงกับเหตุการณ์พฤษภา 53 แต่จะรวมถึงความรุนแรงที่เกิดใน 3 จังหวัดชายแดนใต้หรือสงครามยาเสพติดก็ได้ โดยเขายกตัวอย่างกรณีที่เกิดกับดูเตอเต้ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่มีการใช้นโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างรุนแรงก็เป็นกรณีที่มีการส่งเรื่องถึง ICC แล้วเช่นกันและ ICC ก็กำลังสืบสวนอยู่ นอกจากนั้นยังมีกรณีของไอวอรี่โคสต์ และโกตดิวัวร์ด้วย ที่ประกาศยอมรับข้อ 12(3) โดยมีเพียงรัฐมนตรีเซนยอมรับเพียงคนเดียว การประกาศยอมรับนี้จึงไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐบาลประกาศยอมรับแต่เป็นระดับรัฐมนตรีเซนเองเพียงคนเดียวก็ได้ ซึ่งตัวเขาเองเคยพยายามผลักดันเรื่องนี้กับรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ก่อนเกิดการรัฐประหาร 2557 แล้วแต่ตอนนั้นรัฐมนตรีของพรรคก็ไม่ได้ทำ

  3. พรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาลชุดหน้าให้ใช้เสียงข้างมากออกกฎหมายใหม่หรือแก้กฎหมายอาญาเดิมให้มีฐานความผิดระหว่างประเทศทั้ง 4 ฐานเข้าไปในกฎหมายไทย ได้แก่ อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรสงคราม และการรุกราน แต่ไม่เคยมีการถกเถียงเรื่องการแก้กฎหมายไทยนี้มีแต่การพูดกันว่ารับกฎหมายจากข้างนอกมาแล้วจะใช้ได้อย่างไร ดังนั้นสภาก็ผลักดันแล้วแก้กฎหมายได้และการทำแบบนี้ก็คือการปรับแก้กฎหมายภายในให้เป็นไปตามอนุสัญญาที่รัฐไทยเข้าเป็นภาคีจึงมีความชอบธรรมสูงมาก

“ที่เรานั่งคุยกันว่า 53 ได้มั้ย 3 จังหวัดได้มั้ย สงครามยาเสพติดได้มั้ย เรื่องนี้ส่งไปเลยครับแล้วไปลุ้นกันอีกทีว่าศาลอาญาระหว่างประเทศจะรับหรือไม่รับ แต่อย่างน้อยมันส่งได้แล้ว ส่งไปแล้วศาลอาญาระหว่างประเทศเขาจะมีเงื่อนไขอื่น เช่น กระบวนการยุติธรรมภายในประเทศยังทำงานอยู่หรือเปล่าถ้ายังดำเนินการอยู่ก็จะต้องรอให้จบก่อน หรือไม่ร้ายแรงเพียงพอเขาอาจจะไม่รับก็ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดให้เขาเป็นคนบอกไม่ใช่พวกเราเป็นคนปฏิเสธไม่ไปเอง”

ทั้งนี้พวงทองได้ขอให้ปิยบุตรอธิบายเพิ่มเติมในประเด็นที่เคยเป็นข้อถกเถียงในการไม่ให้สัตยาบันรับธรรมนูญกรุงโรมของรัฐบาลไทยเพราะจะกระทบต่อสถาบันกษัตริย์เพราะธรรมนูญกรุงโรมได้ครอบคลุมถึงกษัตริย์ประมุขของประเทศไทย

เลขาฯ คณะก้าวหน้าตอบประเด็นนี้ว่า ธรรมนูญกรุงโรมเองมีความพยายามแก้ปัญหากรณีที่ผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้นำเผด็จการที่มักออกกฎหมายมาคุ้มครองตัวเอง ดังนั้นธรรมนูญกรุงโรมข้อ 27 จึงกำหนดว่าต่อให้กฎหมายภายในของรัฐสมาชิกทั้งหลายเขียนคุ้มกันไม่ให้ดำเนินคดีเอาไว้ แต่เมื่อต้องมาขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศจะถูกปลดการคุ้มกันทางกฎหมายทั้งหมด

ประเด็นข้างต้นนี้กลายเป็นปัญหาในไทยเพราะว่าเมื่อตอนปี 2555 สุนัย จุลพงศธร กรรมาธิการระหว่างประเทศในเวลานั้นได้เชิญข้าราชการจากกระทรวงต่างประเทศมาพูดเรื่องนี้ ทางฝ่ายข้าราชการก็บอกว่ารับธรรมนูญกรุงโรมไม่ได้เพราะจะขัดกับรัฐธรรมนูญ 2550 ที่บัญญัติว่ากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะจะละเมิดมิได้เนื่องจากข้อ 27 จะปลดสถานะคุ้มกันของกษัตริย์ กษัตริย์ก็จะเดือดร้อน

“ให้เหตุผลอย่างนี้ไม่เป็นคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เพราะข้อที่ 1 รัฐที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขทั่วโลกส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดลงนามกับ ICC หมดเลยขนาดเพื่อนบ้านเรากัมพูชาซึ่งเคยมีเหตุการณ์ความรุนแรงบ่อยครั้ง ตายมากกว่าเราแน่ๆ ตายเป็นเบือ เขาก็มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเขายังลงนามเลย”

“ข้อที่สองให้เหตุผลแบบนี้มันพิศดารในทางกลับกันจะกระทบต่อตัวสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะอะไร สาเหตุที่หลายรัฐเขาไปลง ก็เพราะว่าระบอบสถาบันกษัตริย์ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญแต่ละที่ก็เขียนแบบนี้ว่าพระมหากษัตริย์ละเมิดมิได้ นั่นหมายถึงว่าดำเนินคดีพระมหากษัตริย์ไม่ได้ เพราะพระมหากษัตริย์ไม่ได้ใช้อำนาจเอง”

ปิยบุตรยกตัวอย่างว่าถ้าในประเทศเหล่านี้มีรัฐบาลชุดหนึ่งไปก่อกรรมทำเข็ญกับมวลราษฎร ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ไปก่ออาชญากรรมสงครามกับประเทศอื่นซึ่งเป็นความผิดในฐานความผิดที่กำหนดไว้ในธรรมนูญกรุงโรม สถาบันกษัตริย์ก็ไม่ต้องมารับผิดชอบ รัฐบาลที่ก่อเหตุก็ไปรับผิดชอบกันเองสถาบันไม่เกี่ยวด้วย แต่การที่ฝ่ายรัฐคอยแต่บอกว่าข้อ 27 ธรรมนูญกรุงโรมขัดกับรัฐธรรมนูญไทยคนก็จะตั้งคำถามว่าสถาบันกษัตริย์เกี่ยวข้องหรือไม่

“ผมเลยแปลกใจว่าคนที่ประกาศตัวว่าจงรักภักดี พวกนี้ให้เหตุผลอันตรายนะ” เขาตั้งคำถามกลับว่าคนที่ยกประเด็นเรื่องข้อ 27 ในธรรมนูญกรุงโรมขึ้นเพราะไม่รู้ว่าสถาบันกษัตริย์เกี่ยวข้องด้วยหรือไม่อย่างไร อีกทั้งประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์อื่นๆ ที่รับธรรมนูญกรุงโรมกันเพราะเขาก็มั่นใจว่าสถาบันกษัตริย์ของประเทศเขาไม่เกี่ยวข้องด้วยอยู่แล้วแต่รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบเอง ดังนั้นการยกประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมาอ้างเพื่อไม่ยอมรับธรรมนูญกรุงโรมก็ยิ่งทำให้คนคิดว่าตกลงแล้วรัฐบาลหรือสถาบันกษัตริย์ที่เป็นคนใช้อำนาจกันแน่

ปิยบุตรเล่าย้อนไปว่าเมื่อ 10 ปีก่อนที่อัยการจาก ICC มาที่ประเทศไทยก็เคยเล่าถึงคำตอบของกระทรวงการต่างประเทศของไทยที่ยกเหตุผลเหล่านั้นมาเพื่อไม่รับธรรมนูญกรุงโรมและทางอัยการยังตั้งถามว่ากษัตริย์ของไทยใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินด้วยตัวเองใช่หรือไม่

พวงทองอธิบายเพิ่มว่าสำหรับกรณีสลายชุมนุมปี 53 ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.ก็ถูกตั้งขึ้นมาตามคำสั่งของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่เป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ได้มีการลงพระปรมาภิไธย สุเทพ เทือกสุบรรณก็เป็นผู้ที่ลงนามในคำสั่งใช้กำลังโดยไม่มีการลงพระปรมาภิไธยจึงไม่มีอะไรเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

ปิยบุตรกล่าวเสริมว่า ตอนที่เขาตั้งพรรคอนาคตใหม่แล้วเอาข้อเสนอข้างต้นทั้งสามข้อมาเป็นนโยบายของพรรค กลับถูกณฐพร โตประยูร นำเรื่องนี้ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคด้วยว่าพรรคอนาคตใหม่จะล้มล้างการปกครองจากการจะไปรับเขตอำนาจ ICC แม้สุดท้ายพรรคอนาคตใหม่จะไม่ได้ถูกยุบเพราะเรื่องนี้ก็ตาม

ถ้ายื่นเฉพาะเรื่องสลายชุมนุม 53ไม่จำเป็นต้องให้สัตยาบัน

ธิดา ธาวรเศรษฐ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ เล่าถึงความพยายามในการผลักดันให้การสลายชุมนุมปี 53 ได้รับการพิจารณาคดีโดย ICC ตอนนั้นว่าเพราะไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันเกิดซ้ำขึ้นอีกแล้วคนที่ฆ่าประชาชนก็ลอยนวลพ้นผิดได้รับการนิรโทษกรรมคนลงมือก็จะย่ามใจเหมือนกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

ธิดา ธาวรเศรษฐ

แกนนำ นปช.เล่าว่าตอนนั้นธงชัย วินิจกุลยังได้ส่งจดหมายถึง ICC เพื่อขอร้องให้อย่ามองแค่เรื่องจำนวนคนตายที่อาจไม่ได้มากเหมือนในประเทศอื่นๆ แต่ในไทยยังเกิดการกระทำซ้ำๆ หลายครั้งและเกิดกับประชาชนที่ยังไม่ได้ตายไปด้วย

ธิดาเล่าต่อว่านับตั้งแต่เธอได้เป็นประธาน นปช.ตอนธันวาคมปี 2553 ก็ได้ส่งจดหมายไปเพื่อขอให้ ICC เข้ามาสอบสวนเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เพราะเกิดการเสียชีวิตเกือบร้อย บาดเจ็บกว่าสองพันคนและมีการจับคนไปคุมขังเป็นจำนวนมากหลักพันคนซึ่งตอนนั้นการให้ความช่วยเหลือเป็นไปได้อย่างยากลำบาก แต่ก็ยังได้รับความช่วยเหลือจากโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความที่คอยส่งจดหมายถึง ICC เป็นระยะเพื่อให้อัยการรับเรื่อง สุดท้ายแล้วฟาตู เบนโซดา(Fatou Bensouda) อัยการของ ICCก็เดินทางมาประเทศไทยแล้วเข้าพบและพูดคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย

ธิดาตั้งข้อสังเกตต่อเรื่องนี้ทั้งรัฐมนตรีและไทยเองเวลานั้นคงยังสับสนว่าการรับเขตอำนาจศาล ว่าการยืนเรื่องพิจารณาเฉพาะเรื่องตามข้อ 12(3) ไม่ต้องให้สัตยาบัน แล้วประชาธิปัตย์เองก็เคยร้องเฉพาะเรื่องสงครามปราบยาเสพติด แต่ทาง ICC จะรับเรื่องกรณีสลายชุมนุมไว้ เธอกับธงชัยจึงเดินทางไปพบเพื่ออธิบายให้กับ ICC เข้าใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

พวงทองถามเพิ่มเติมว่าตอนที่ดำเนินการเรื่องนี้มีการปรึกษากับทางพรรคเพื่อไทยหรือไม่ แต่ประธาน นปช.ตอบว่าไม่ได้ปรึกษา แล้ว นปช.ก็ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย แต่ตอนไปก็ได้รับความช่วยเหลือจากทนายความอัมสเตอร์ดัมแม้ว่าตัวเขาเองจะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือสนับสนุนอะไรมากนัก

ส่วนเรื่องที่เบนโซดาได้คุยกับสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุลนั้น ธิดาบอกว่าแม้จะไม่ได้เข้าไปคุยด้วยแต่เบนโซดาก็มาเล่าให้ฟังถึงเรื่องที่คุยกันว่าได้อธิบายถึงขั้นตอนต่างๆ ในการนำเรื่องเข้าสู่ ICC ให้แก่สุรพงษ์ฟังว่าสามารถใช้ข้อ 12(3) ได้โดยไม่ต้องให้สัตยาบันและไม่ต้องกังวลประเด็นเรื่องกษัตริย์จะถูกดำเนินคดีด้วยเพราะไม่เกี่ยวเลย แต่ให้เอาเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการสลายการชุมนุมอย่างเดียวอีกทั้งศาลไทยก็ยังทำงานต่อไปได้แต่ถ้าศาลไทยไม่ทำเรื่องนี้ ICC ก็จะเข้ามาทำแทน

ธิดากล่าวถึงอุปสรรคในรัฐธรรมนูญของไทยว่า ข้อความที่ว่ากษัตริย์จะละเมิดมิได้ที่อยู่ในมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้แต่เดิมไม่เคยมีข้อความที่ว่าจะฟ้องร้องกษัตริย์ไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ 2475 แต่ถูกเพิ่มเข้ามาในฉบับ 2492 และมีอยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ไม่ว่าฝ่ายไหนก็กลัว

“แม้กระทั่งใกล้วันรัฐประหารคุณหมอเหวง(โตจิราการ) โทรไปขอร้อง(สุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล) ว่านี่อีกไม่กี่วันเขาทำรัฐประหารแน่นอน คุณช่วยกรุณาได้มั้ยเซนซะหน่อย คำตอบก็ไม่มี แต่ความคิดของดิฉันคือเขาเกรงว่าธรรมนูญกรุงโรมข้อ 27 จะไปมีปัญหากับมาตรา 6” และตั้งข้อสังเกตุว่าสังคมไทยกลัวมากกับเรื่องกษัตริย์ไทยจะถูกฟ้องร้องใช่หรือไม่

อย่างไรก็ตามธิดาก็บอกว่าสำหรับมาตรา 12(3) เป็นการยื่นเรื่องเฉพาะกรณีที่มีแค่อภิสิทธิ์และสุเทพไม่ได้เกี่ยวกับประมุขของประเทศเลยตามที่ปิยบุตรอธิบายไว้ แล้วต่อมาทางทนายความอัมสเตอร์ดัมก็ค้นพบว่าอภิสิทธิ์ยังมีสัญชาติอังกฤษแล้วไม่ได้ถอนซึ่งถือว่าเป็นรัฐภาคีในธรรมนูญกรุงโรมซึ่งเขาเห็นว่าฟ้องได้แต่สุเทพยังฟ้องไม่ได้เพราะไม่ได้มีสัญชาติอื่นที่อยู่เป็นรัฐภาคีแบบอภิสิทธิ์

“เราทำการบ้านกันมาหมดแล้วว่าฟ้องอภิสิทธิ์ได้ นอกจากนั้นก็เป็นศาลเสริม คุณเบนโซดาก็บอกว่าขอให้ได้นับหนึ่งเปิดประตูแล้วมันยังใช้เวลาอีกนานถ้ามีกฎหมายอะไรที่ไม่สอดคล้องมันยังมีเวลาจัดการได้ และขอให้รัฐไทยหมายถึงรัฐมนตรีต่างประเทศเซนรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณีปี 53 ก่อนเลย”

พวงทองถามธิดาในฐานะประธาน นปช.ว่าขณะนี้เป็นช่วงใกล้เลือกตั้ง นปช.ที่เป็นพลังสำคัญในการหาเสียงเลือกตั้งด้วยจะทำอะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้

ธิดาตอบประเด็นนี้ว่าไม่ได้คิดว่า นปช.ยังมีภาวะการนำในลักษณะที่เป็นองค์กรแล้ว แล้วแกนนำเดิมของ นปช.เองก็แยกย้ายไปแล้ว แต่ที่ผ่านมาตอนที่ นปช.ยังมีโรงเรียนการเมืองอยู่ก็ได้สร้างประชาชนให้เข้าใจว่าทำงานการเมืองนอกรัฐสภาไปเพื่ออะไรส่วนการเมืองในสภาประชาชนเหล่านี้ก็เลือกเพื่อไทยหรือบางส่วนก็มาก้าวไกลแล้วก็มีโดยที่พวกเขาไม่ไปเลือกคนอื่นสำหรับเธอทำได้แค่นี้ก็เป็นเรื่องน่าดีใจแล้ว เรื่องนี้สำหรับตัวเธอเองแล้วก็สามารถพูดแทนแกนนำอื่นๆ หรือสมาชิก นปช.ได้ แต่ในเมื่อองค์กร นปช.ไม่ได้มีการประชุมแล้วภาวะการนำในฐานะองค์กรก็ไม่มีแล้ว

ทั้งนี้ธิดามีข้อเสนอคล้ายกับปิยบุตรแต่มองว่าให้พรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาลยอมรับเฉพาะข้อ 12(3) ของธรรมนูญกรุงโรมเพื่อให้ ICC เข้ามาพิจารณาเฉพาะกรณีสลายการชุมนุมปี 53หรือจะส่งกรณีอื่นๆ ด้วยก็ทำได้ง่ายกว่าขั้นตอนอื่นๆ จึงควรทำเป็นอย่างแรกเพื่อไม่ให้เกิดการฆ่าประชาชนโดยรัฐอีก

อดีตประธาน นปช. กล่าวถึงข้อเสนอข้อที่สองที่เธอมองว่าทำได้ยากกว่าคือ พรรคการเมืองต้องแก้กฎหมายภายในต่างๆ ให้สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมถึงสอดคล้องกับธรรมนูญกรุงโรมด้วยและการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 6 ในส่วนที่มีการเพิ่มประเด็นห้ามฟ้องร้องกษัตริย์เข้ามาภายหลังนี้ด้วย

“คือเราชูธงด้านบวกถ้าคุณอยากให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยแบบสากลคุณต้อง แก้กฎหมายให้สอดคล้อง นี่ไม่ได้พูดเรื่องไปล้มสถาบันไหนเลย” ธิดาย้ำก่อนจะกล่าวถึงข้อเสนอข้อที่สามคือให้สัตยาบันกับธรรมนูญกรุงโรมเพราะกว่าจะทำได้ก็ต้องแก้ข้อสองก่อนด้วยและเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความร่วมมือกันในการผ่านความคิดของฝ่ายจารีตไปให้ได้

ธิดากล่าวว่าสำหรับเธอแล้วยินดีสนับสนุนเต็มที่และขอให้มีความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะแค่ตัวเธอเองส่งเสียงถึงพรรคการเมืองก็ยังคงไม่ได้มีน้ำหนักเท่าไหร่ แต่ก็ยังต้องตั้งคำถามต่อพรรคการเมืองที่บอกว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตยว่าจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ตามข้อเสนอที่สองที่ได้เสนอไป

“คนทั้งโลกเข้าตกลงกันอย่างนี้เราจะเห็นด้วยไหม พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคไหนจะเห็นด้วยไหมหรือว่าอยากเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ หรือไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยก็บอกมา” ธิดากล่าวถึงการรณรงค์เพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้คนที่มีความคิดก้าวหน้าได้เข้าไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญ

การเอาผิดอาชญากรรมโดยรัฐต้องใช้แรงและเวลาเปลี่ยนแปลงระบอบจากภายใน

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ด้านกฎหมายมหาชน จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มด้วยการกล่าวถึงอุปสรรคใหญ่ในการเอาผิดอาชญากรรมโดยรัฐมีอยู่ 2 ประเด็น ประเด็นแรกก็คืออายุความที่พอหมดแล้วก็จะไม่สามารถเอาผิดทางกฎหมายได้ก็จะเหลือแต่ประเด็นทางศีลธรรมของคนทำ

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

อุปสรรคต่อมาคือการคุ้มกันใน 2 แบบ แบบแรกคือประมุขของรัฐจะได้รับการคุ้มกันจะไม่ถูกจับกุมแม้ว่าจะไปอยู่ในดินแดนอื่นซึ่งลักษณะนี้เป็นการคุ้มกันระหว่างประเทศ อีกแบบคือการคุ้มกันด้วยกฎหมายภายในประเทศที่มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม

เข็มทองยกตัวอย่างกรณีที่ทำให้เห็นว่าอุปสรรคเหล่านี้สามารถแก้ได้ด้วยระบบที่มีอยู่ภายในประเทศ โดยยกกรณีของประเทศชิลีที่สามารถเอาผิดเอากุสโต ปิโนเช ผู้นำเผด็จการชิลีช่วงปีค.ศ. 1973-1990 ที่เป็น 1 ในรัฐเผด็จการในละตินอเมริกาที่ได้รับการสนับสนุนจากปฏิบัติการคอนดอร์ของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้เกิดการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายประชาชนเป็นจำนวนมากอย่างเป็นระบบ

“มันไม่ใช่เรื่องของตำรวจไม่กี่คน แต่มันเป็นเรื่องขององคาพยพทหารตำรวจทั้งหมด รวมทั้งศาลช่วยเหลือด้วย ไปฟ้องศาลในช่วงนั้นว่ามีคนถูกอุ้มหายสูญหายขอให้ศาลออกหมายเรียกผู้ที่ถูกตำรวจอุ้มไป ศาลไม่ให้เพราะศาลบอกไม่มีหลักฐาน”

หลังจากเหตุการณ์แบบนี้ดำเนินไปตลอดช่วงที่ปิโนเชมีอำนาจจนกระทั่งหมดอำนาจรวมเป็นเวลา 17 ปี แต่เมื่อปิโนเชหมดอำนาจลงแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าระบอบของปิโนเชหมดลงไปทันทีแต่ยังมีอิทธิพลอยู่ จนกระทั่งถึงช่วงปี 1998-1999 ที่ปิโนเชเดินทางจากชิลีไปรักษาตัวที่อังกฤษแล้วศาลสเปนออกหมายจับและศาลอังกฤษรับว่ากรณีของปิโนเชนี้อยู่ในเขตอำนาจสากล(Universal Jurisdiction) และทำการจับกุมปิโนเช

เข็มทองอธิบายว่าเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะปิโนเชเองเป็นอดีตประมุขของรัฐที่ได้รับการคุ้มกันที่จะไม่ถูกจับ แต่ก็ถูกอังกฤษจับในฐานะที่ก่ออาชญากรรมละเมิดสิทธิมนุษยชน แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะหลุดกลับไปชิลีได้แต่ชิลีก็ทำการสอบสวนต่อแต่สุดท้ายแล้วปิโนเชก็ตายก่อนถูกเอาผิด

“แต่การจับปิโนเชเป็นการขยับหมุดหมายทางการเมืองที่ขยับอะไรบางอย่างในวงการตุลาการของชิลี” เขาอธิบายว่าหลังจากปิโนเชหมดอำนาจไปแล้วเป็นเวลาเกือบสิบปีที่ไม่ถูกดำเนินคดีอะไรเลยจนกระทั่งถูกจับในอังกฤษทำให้เกิดความพยายามอีกรอบชิลีแล้วเกิดการเปลี่ยนทิศทางในแวดวงตุลาการของชิลีเอง ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาที่ศาลภายในประเทศชิลีมีคำวินิจฉัยออกมาเองโดยข้ามประเด็นเรื่องอายุความไป

“ศาลบอกเลยว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ออกมามันใช้ไม่ได้ แล้วก็เริ่มมีการเอาผิดทหาร เร็วๆ นี้ก็มีการเอาผิดผู้พิพากษา ปี 2013 ประธานศาลฎีกาเองก็ออกมาขอโทษประชาชนยอมรับว่าในช่วงของเผด็จการยาวนาน 10 กว่าปี สถาบันตุลาการไม่ได้ทำหน้าที่สำคัญที่สุดของตัวเองก็คือเป็นผู้ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน อันนี้คือศาลยอมรับผิดด้วย”

เข็มทองอธิบายปรากฏการณ์ในชิลีนี้ว่านอกจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดจากการสิ้นสุดของยุคสมัยหลังปิโนเชถูกจับกุม แต่กว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงก็มีความพยายามและการทำงานอย่างหนักภายในประเทศที่มีทั้งการเปลี่ยนแปลงภายในระบบตุลาการเมื่อเกิดการตรวจสอบประวัติของผู้พิพากษาว่าใครเคยทำอะไรเอาไว้บ้าง ทำให้ผู้พิพากษาหลายคนต้องรีบลาออกก่อนเพราะรู้ตัวว่าสมัยปิโนเชตัวเองเป็นผู้สนับสนุนร่วมมือด้วย พอผู้พิพากษาเก่าลาออก ระบอบใหม่ก็มีโอกาสที่จะตั้งผู้พิพากษาที่เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้าไปได้ แต่สิ่งเหล่านี้เกิดจากการทำงานหนักเช่นการอบรมผู้พิพากษาก็ต้องเปลี่ยนใหม่จากเดิมที่เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องรองก็กลายเป็นเรื่องหลัก ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จึงเกิดได้เพราะปัจจัยหลายอย่างรวมกัน

เข็มทองมองว่า ICC ก็เป็นทางออกหนึ่งที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อยุติการลอยนวลพ้นผิดจากการคุ้มกันของรัฐที่ยกเว้นการรับผิดเอาไว้ ทั้งเรื่องอายุความและการคุ้มกันประมุขของรัฐคือเรื่องของกฎหมายภายในประเทศแต่ไม่ได้อยู่ในกฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้แม้คดีจะหมดอายุความไปแล้วก็ยังถือว่าอยู่ในอำนาจของ ICC ที่จะพิจารณาคดีได้

พวงทองถามว่าการที่กระแสโลกเปลี่ยนหรือการมีคนรุ่นใหม่ๆ ที่ทัศนคติต่อการลอยนวลพ้นผิดที่เปลี่ยนไปจะมองว่าเป็นความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงในระบบตุลาการไทยได้หรือไม่ เพราะการเชิญให้ ICC เข้ามาคือการบอกว่าระบบตุลาการในไทยล้มเหลวโดยสิ้นเชิงไม่สามารถเป็นความหวังของประชาชนได้อีกต่อไป

เข็มทองตอบประเด็นนี้โดยการอธิบายว่าบาดแผลใหญ่ทางประวัติศาสตร์ในวงการกฎหมายไทยคือเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่ชาติตะวันตกและญี่ปุ่นมาขอให้ยกเว้นการใช้กฎหมายกับคนของตัวเอง กลายเป็นแรงกดดันในทางบวกที่ทำให้ไทยปฏิรูปกฎหมาย แต่ว่าเรื่องเล่าของการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้กับชาติเหล่านี้กลายเป็นตัวปลุกความเป็นชาตินิยมของไทยว่าอธิปไตยของไทยเคยถูกต่อรอง

บาดแผลที่สองคือที่ไทยไปรับอำนาจศาลยุติธรรมรระหว่างประเทศหรือศาลโลก(International Court of Justice – ICJ) ในกรณีปราสาทเขาพระวิหารและไทยก็แพ้คดี ทำให้ไทยลาออกจากการเป็นภาคีของ ICJ ทำให้เรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศ(ICC) ไปปลุกกระแสชาตินิยมอีกครั้งเพราะมองว่าระบบตุลาการที่ปฏิรูปมาตั้งแต่อดีตนั้นบกพร่องแล้วก็ไปกระทบกับอำนาจอธิปไตยของไทยจะให้เอาประมุขของเราหรือรัฐบาลของเราไปขึ้นศาลนอกประเทศ

เข็มทองมองว่าเรื่องความรู้สึกเหล่านี้เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ แต่ว่าความหวังของเขาคือผู้พิพากษาที่เป็นส่วนที่อนุรักษ์นิยมที่สุดในกลุ่มคนที่เรียนกฎหมายแล้วเข้ามาทำงานในระบบตุลาการที่ทิศทางในปีหลังๆ ก็ยังค่อยๆ ก้าวไปข้างหน้า เขายกตัวอย่างกรณีที่ผู้พิพากษาที่ไม่ถูกกดทับจากผู้บริหารศาลก็สามารถตัดสินคดีได้อย่างเป็นอิสระ เช่นศาลในต่างจังหวัดที่ตัดสินคดีความมั่นคงอย่างคดีมาตรา 112 ก็ทำได้อย่างตรงไปตรงมา สะท้อนให้เห็นว่าคนข้างในไม่ได้เป็นอนุรักษ์นิยมสุดโต่งทั้งหมด

“มันสำคัญที่คนแบบนี้ยอมรับได้ว่าระบบตุลาการที่ตัวเองดำรงอยู่มันมีข้อบกพร่อง มันไปไม่ถึงที่จะเอาผิดกับอาชญากรรมพวกนี้ที่ผ่านมา และยอมรับได้ว่าอำนาจตุลาการบางส่วนจะถูกใช้โดย ICC พูดง่ายๆ คือมีทัศนคติที่เป็นสากลนิยม(Cosmopolitan) คือมันกว้างไกลมันเชื่อมกับโลกมากกว่าความคิดที่เป็นชาตินิยมของเราที่ไม่ให้ใครเข้ามาแตะ”

แม้เข็มทองจะมองว่ากระแสต่อต้านอาจจะยังมีอยู่ แต่ยิ่งเวลาผ่านไปหลักสูตรนิติศาสตร์ที่เปลี่ยนไป ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือประวัติศาสตร์บาดแผลต่างๆ จะทำให้แรงต้านจากฝ่ายตุลาการน้อยลงแม้ว่าจะช้าก็ตาม

ถ้าทำเรื่องใหญ่ยังไม่ได้ ควรจะเริ่มจากเรื่องเล็กก่อน?

พวงทองใช้ข้อสังเกตต่อเนื่องจากงานศึกษาเรื่องการลอยนวลพ้นผิดในไทยที่ชื่อ “In Plain Sight: Impunity and Human Rights in Thailand” ของไทเรล ฮาเบอร์คอน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ที่ศึกษาการเมืองไทยว่าการปกป้องผู้มีอำนาจให้ลอยนวลพ้นผิดนี้มีการทำอย่างเป็นระบบ เช่น การปราบปรามผู้ชุมนุมไม่ได้เกิดจากการกระทำของคนๆ เดียวแต่เกิดจากความร่วมมือของกลไกอนาำจรัฐร่วมมือกัน ดังนั้นพวกเขาจึงต้องหาทางช่วยปกป้องกันและกันไม่เช่นนั้นระบอบอาจจะพังแล้วทำให้คนที่อยู่ในระบอบพังตามไปด้วย โดยในงานดังกล่าวของไทเรลมีข้อเสนอว่าการพยายามจะเอาผิดในกรณีเหตุการณ์ครั้งใหญ่ๆ เช่นการสลายการชุมนุมปี 2553 ทำได้ยากมาก แต่ถ้าจัดการการลอยนวลพ้นผิดกับคนในระบอบด้วยกรณีที่เล็กลงมาก่อน เช่น ทุจริตต่างๆ หรือการใช้อำนาจข่มเหงของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำให้เห็นว่ามีกลไกรัฐส่วนใดเกี่ยวข้องบ้าง การจัดการเอาผิดในกรณีเล็กๆ เหล่านี้ก่อนอาจจะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้คนในระบอบได้

เข็มทองตอบในประเด็นนี้ว่าเขาเองไม่ค่อยเชื่อว่าการทำแบบนี้จะได้ผลนักเพราะถึงจะจัดการเอาผิดกับผู้กระทำความผิดได้แต่ผลที่ได้ก็จำกัดมากแต่กลับต้องใช้ทรัพยากรมาก ซึ่งที่ผ่านมาก็มีความพยายามของคนที่จะร้องเรียนเรื่องเหล่านี้มีการเปิดโปงแล้วแต่ระบบก็ไม่ขยับไม่ว่าจะทั้งตำรวจ หน่วยงานปราบการทุจริต หรืออัยการ

“การเปิดโปงทั้งหมดที่เห็นมันเป็นการเปิดโปงหรือพยายามเอาผิดทางการเมืองแต่ว่ามันยังเป็นพื้นที่ที่มีฝ่ายค้านอยู่แล้วรัฐบาลก็ยังคุมฝ่ายค้านไม่ได้ ฝ่ายค้านก็พยายามจะเอาเรื่องต่างๆ มาเปิดโปงในเวทีการเมือง แต่พอเราพยายามจะก้าวข้ามเรื่องอื้อฉาวทางการเมืองให้เป็นคดีทางกฎหมาย แล้วพอคดีไปอยู่ในมือตำรวจก็จะเห็นว่าคดีมันหายไปเลยก็ชะลอไป ปปท. ปปช.มันก็ชะลอไป แล้วมันก็ไปไม่ถึงไหน” เขาสะท้อนถึงปรากฏการณ์ที่ฝ่ายค้านพยายามเปิดโปงการทุจริตต่างๆ ของรัฐที่ไม่มีความคืบหน้า ซึ่งเขามองว่าปัญหาของเรื่องนี้คือกลไกรัฐทั้งหมดไม่ได้อยู่กับประชาชน

เข็มทองยกตัวอย่างกรณีที่ศาลมีคำตัดสินคดีได้เป็นธรรมมากขึ้นได้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้เองเพราะระบบที่กดเอาไว้จะทำให้ผู้พิพากษาอยู่กันเฉยๆ เพราะปลอดภัยกับตัวเองมากกว่า แต่เมื่อเกิดแรงผลักดันบางอย่างเช่นกรณีของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะที่ฆ่าตัวตายจากการถูกแทรกแซงอำนาจพิพากษาคดีก็ทำให้ผู้พิพากษาใหม่ๆ ได้คิด หรือแม้กระทั่งการถูกวิจารณ์จากประชาชนที่ไปชุมนุมหน้าศาลหรือนักวิชาการที่ต้องช่วยกันออกแรงผลักดันกันเยอะมาก

“เราทำกับแต่ศาลได้ก็หมดแรงแล้ว กับตำรวจจะไปด่ากดดันตำรวจให้ทำคดีตรงไปตรงมามันก็ยาก” เขาสะท้อนปัญหาที่ต้องอาศัยทรัพยกรจำนวนมากในการผลักดันแต่ละองค์กรในกระบวนการยุติธรรม

เข็มทองจึงมองว่าความพยายามที่จะเอาผิดกับการกระทำเล็กๆ เหล่านี้เกิดขึ้นช้าเกินไป อาจจะพอเป็นไปได้ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาบรรทัดฐานของสังคมเรื่องความรับผิดแย่ลงเรื่อยๆ จนวันนี้การเอาผิดกับเรื่องเล็กๆ ก่อนไม่ทันแล้ว เขายกตัวอย่างว่าเมื่อก่อนถ้ามีสื่อรายงานการทุจริตระบบก็ยังมีการสั่งย้ายราชการหรือมีการลงโทษบ้าง แต่ปัจจุบันนี้ต่อให้มีการรายงานก็ไม่เกิดอะไรขึ้นเพราะการลอยนวลพ้นผิดได้พัฒนาความเข้มแข็งขึ้นมากตราบใดที่กฎหมายยังอยู่ในมือผู้มีอำนาจ เขาจึงมองว่าการจัดการกับกรณีใหญ่ๆ ได้จึงสำคัญเพราะจะทำให้เกิดแรงผลักดันให้เกิดการเอาผิดได้

“การรับ ICC มันถึงสำคัญ เพราะว่าต่อให้ไม่รู้จะเอาผิดได้หรือไม่ได้ หรือเข้า ICC ได้หรือเปล่าไม่รู้ แต่คิดว่าอย่างน้อยผลที่ตามมาคือระบบกฎหมายไทยต้องขยับ” เข็มทองย้ำถึงความสำคัญในการผลักดันให้เข้าสู่กลไกที่เป็นสากล

ปิยบุตรแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้แยกเป็นสองประเด็นคือ การจับมือกันของผู้มีอำนาจและชนชั้นนำที่ช่วยกันจัดการปัญหากันไปทุกครั้งทั้งการนิรโทษกรรมไปจนถึงการไม่บันทึกเหตุการณ์อะไรเอาไว้เลยและไม่เคยยอมรับความผิดหรือเรียนรู้ว่าในอนาคตจะไม่ทำผิดอีก

“ก็มีการจับไม้จับมือกัน นานวันเข้าก็พูดกันด้วยซ้ำว่าต้องยอมทำกันเรื่องนี้ กลืนเลือดคนละคำสองคำเพื่อให้มันไปต่อได้ มันเป็นสไตล์การปรองดองแบบไทยๆ จริงๆ”

เลขาฯ คณะก้าวหน้ามองว่าในอนาคตอีกไม่นานก็จะเกิดการนิรโทษกรรมทุกฝ่ายกันอีกอย่างแน่นอนถ้าผู้ทรงอำนาจในระบอบต้องการและคนในระบอบทั้งระบอบก็เอาด้วยเหมือนกับเหตุการณ์หลัง 6 ต.ค.2519 หรือ พฤษภาฯ 2535 ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก็คือการรณรงค์สู้ต่อไปจนกว่าการเมืองจะก้าวหน้าไปอีกจนมีคนรุ่นใหม่เข้ามาระบบมากขึ้นก็ยังสามารถใช้กลไกทางกฎหมายได้ เช่นในกรณีที่เกิดในชิลีหรืออาเจนติน่าที่ต่อให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดไปหมดแล้วในเวลาต่อมาศาลก็ออกมาวินิจฉัยว่าการนิรโทษกรรมที่ผ่านมาเป็นโมฆะได้

“ดังนั้นต่อให้มัน(ผู้มีอำนาจ) ร่วมมือกันจริงๆ แล้วเราสู้มันไม่ได้ ณ เวลานี้ คำตอบคืออย่าหยุด แล้วโอกาสมันจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง”

ส่วนประเด็นการเอาผิดในกรณีการกระทำความผิดเล็กๆ ก่อน ปิยบุตรมองว่า ตอนที่เขาเพิ่งเริ่มติดตามการเมืองเกิดกรณีเปิดโปงการทุจริตโดยที่ตอนนั้นก็ยังไม่มีองค์กรอิสระอะไรก็มีกรณีที่เอาผิดนักการเมืองทุจริตได้ เช่น รักเกียรติ สุขธนะ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข(รัฐบาลชวนปี 40-41) รับสินบนบริษัทยา หรือกรณีคดีกินเปล่าสมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์

“ไม่ค่อยมีกรณีที่สามารถเอาคนเข้าคุกหรอก แต่อย่างน้อยที่สุดกลไกรัฐมันไม่น่าเกลียดเท่าปัจจุบัน ปัจจุบันพูดอย่างสั้นๆ คือ มึงมาเป็นพวกกูมึงไม่ผิด แต่ถ้าอยู่ตรงข้ามกูทำอะไรมันก็ผิด” ปิยบุตรมองว่าเรื่องนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้มีนักการเมืองย้ายพรรคกัน

เลขาฯ คณะก้าวหน้ากล่าวว่าสิ่งที่พอจะทำได้คือการออกกฎหมายมาคุ้มครองผู้เป่านกหวีด(Whistle-blower) ที่ออกมาเปิดโปงการทุจริต เพราะสำหรับประเทศไทยคนที่ออกมาเปิดโปงหรือตั้งคำถามก็มักจะถูกใช้กระบวนการทางกฎหมายในการปิดปากเช่นการฟ้องหมิ่นประมาทและการปิดปากด้วยกฎหมายแบบนี้ไม่ได้มีแต่รัฐที่ทำกับประชาชนแต่เอกชนก็ยังใช้วิธีการเดียวกันนี้ในการปิดปากคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเล็ก

นอกจากการมีกฎหมายคุ้มครองเขามองว่ายังต้องเลิกกฎหมายปิดปากด้วย เช่น กฎหมายคอมพิวเตอร์ หรือการเอาโทษทางอาญาออกจากกฎหมายหมิ่นประมาทเหลือแค่โทษปรับหรือทางแพ่ง แล้วก็มีการยกเว้นความผิดในกรณีที่เป็นการพูดที่เป็นประโยชน์สาธารณะจะดำเนินคดีไม่ได้ถ้ามีการฟ้องต่อศาล ศาลสามารถพิจารณาไม่รับฟ้องได้ตั้งแต่มีการไต่สวนมูลฟ้องนัดแรก และถ้าศาลไม่กล้าใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องก็ให้เขียนไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบังคับศาลว่าศาลสามารถใช้ดุลพินิจไม่รับฟ้องได้โดยไม่ต้องไปถึงขั้นดำเนินคดีแล้วถึงออกคำพากษามาว่าไม่มีความผิดเพราะเป็นการพูดเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ธิดากล่าวว่าสำหรับเธอแล้วไม่ขัดข้องถ้าจะมีการจัดการกับเรื่องเล็กๆ ก่อนและถ้าสำเร็จก็เป็นเรื่องน่ายินดี แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องร่วมกันทำให้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นปัญหาของระบอบการเมืองภาพใหญ่ที่มีทั้งการอุปถัมภ์เครือข่ายของพวกอำนาจนิยมหรือฝ่ายจารีตที่จะเข้ามาปิดปากคนไปตลอดไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเล็กถ้าระบอบไม่เปลี่ยน ดังนั้นก็ต้องไปพึ่ง ICC แม้ว่าอาจจะไม่สามารถเอาใครเข้าคุกได้แต่ก็สร้างผลกระทบกระเทือนกับระบบยุติธรรมในประเทศเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

ปล่อยคนผิดลอยนวล อาจทำให้กลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวตั้งคำถามต่อวิทยากรเพิ่มเติมสองประเด็นคือ ประเด็นแรกที่มีการยกตัวอย่างในต่างประเทศมาที่มีกรณีนิรโทษกรรมไปก่อนจนผู้มีอำนาจเดิมลงจากอำนาจถึงนำตัวมาดำเนินคดีเพื่อเอาผิดทางกฎหมายในภายหลัง แต่ในไทยความพยายามเอาผิดผู้มีอำนาจภายหลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงปรากฏการณ์ที่ตามมาก็คือผู้มีอำนาจสืบทอดอำนาจตัวเองที่คณะรัฐประหารอย่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มีผู้นำการรัฐประหารอย่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและพวกพ้องส่วนหนึ่งก็คือคนที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมปี 53 จะสามารถออกจากวังวนนี้ได้อย่างไร?

เข็มทองตอบว่า ในช่วงปีค.ศ.1980-1990 การเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการมันต้องยอมกลืนเลือดขอให้มีการนิรโทษกรรมเช่นในฮังการีหรือโปแลนด์ตอนที่ระบอบคอมมิวนิสต์สิ้นสุดลงไม่ได้เกิดจากการหักล้างกันด้วยความรุนแรงแต่มันเกิดจากคุยกันแล้วก็ให้มีการรับรองในรัฐธรรมนูญให้เป็นพรรคการเมืองเข้าสู่ระบบการเลือกตั้งเขาก็ทำกันเพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด

“แต่ผมคิดว่าตั้งแต่หลัง 2010 เป็นต้นมาทั่วโลกคิดว่าวิธีคิดนี้อาจจะคิดน้อยไปหรือคิดสั้นไป ไม่นิรโทษเขาก็ไม่ไว้เราอยู่ดี เหมือนความสัมพันธ์ที่เป็นพิษคือทำดีก็โดนทำไม่ดีก็โดน มันก็เหลือคำตอบเดียวก็คือทำให้มันเด็ดขาด อย่างยูเครนที่เอาใจรัสเซียสารพัด สุดท้ายเขาจะบุกเขาก็บุก”

นอกจากนั้นเข็มทองยังยกตัวอย่างกรณีของฟิลิปปินส์ที่ครอบครัวของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้นำเผด็จการที่ครองอำนาจอยู่ในช่วงปีค.ศ.1965-1989 ได้ส่ง บองบอง มาร์กอส ลูกชายของเขากลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ณ ปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นได้ว่ากลุ่มอำนาจเก่าไม่ได้กลับเข้าสู่อำนาจทางการเมืองทันทีแต่มีการต่อสู้ในเรื่องเล็กๆ ก่อนทั้งการปลดล็อกทรัพย์สินของมาร์กอสผู้พ่อที่ถูกอายัดไว้หรือการสร้างเรื่องเล่าใหม่เกี่ยวกับการปกครองในยุคของมาร์กอสผู้ว่าเป็นช่วงที่ดี เรื่องนี้ทำให้เห็นถึงกลไกที่ทำงานอยู่และส่งให้มาร์กอสคนลูกเข้าสู่อำนาจทางการเมืองได้

“ถ้าตอบแบบอุดมคติคือถ้าคุณไปยอมเค้า มันก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์มันดีขึ้นมา” เข็มทองย้ำ

ปิยบุตรตอบในประเด็นที่จะให้ผู้กระทำความผิดลงจากอำนาจต้องยอมนิรโทษให้ก่อนว่า เขาเห็นด้วยกับเข็มทองในประเด็นที่ว่าในช่วงทศวรรษ 1970-1990 จะเป็นการเจรจากันแต่แนวโน้มในช่วงหลังจากนั้นมาก็เปลี่ยนไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม เขาตั้งข้อสังเกตว่าการนิรโทษกรรมที่เกิดขึ้นในไทยตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 จนถึงพฤษภาทมิฬปี 2535 ไม่เคยเกิดจากการเจรจา ฝ่ายผู้เสียหายหรือรัฐบาลที่ถูกปล้นอำนาจไปในช่วงนั้นไม่เคยได้เข้าไปเจรจากับผู้กระทำ แต่เป็นฝ่ายผู้มีอำนาจที่คิดกันเองแล้วก็นิรโทษกรรมเลย ไม่เหมือนกับการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในโปแลนด์ หรือรัฐเผด็จการอย่างชิลี หรืออาร์เจนติน่า ที่แต่ละฝ่ายเข้ามานั่งเจรจากันอย่างจริงจังก่อน

“ของเราอย่าว่าแต่ตกลง ยังไม่มีโอกาสตกลงด้วยครับ เพราะไม่เคยเอาเข้าไปอยู่ในสมการให้ได้นั่งคุยด้วย ดังนั้นการนิรโทษหรือแม้กระทั่งล่าสุดที่ลองทำเหม่าเข่งผมก็เชื่อว่าไม่ได้ตกลงกันก่อน ลองทำไปดูแล้วสุดท้ายก็จบแบบเนี่ยะ พูดง่ายๆ ว่ามันไม่เคยมีความคิดเจรจาจากเบื้องล่างขึ้นไปแล้วเบื้องบนมาตบมือเอาด้วย แต่มันมีแต่เบื้องบนบอกว่าวันนี้กูพอละ”

“เราเชื่อว่าการไปเจรจากับปิศาจ ปิศาจมันมาใหม่ แล้ววันนึงปิศาจมันฟื้นชีวิตมันก็กลับมาเล่นเราใหม่” ปิยบุตรสนับสนุนความเห็นของเข็มทองที่ชี้ว่าแนวโน้มในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้วเพราะทัศนคติหรือแนวคิดของระบอบอำนาจนิยมพร้อมจะกลับมาได้เสมอถ้าไม่จัดการให้หมดสิ้น แต่ถ้าสามารถเอาผิดกับผู้กระทำความผิดได้ผู้มีอำนาจรุ่นหลังจากนั้นมาก็จะไม่กล้าทำแบบเดียวกันอีก เช่น การเอาผิดกับผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือเอาผิดกับทหารที่ทำรัฐประหารเข้าคุกได้ก็จะทำให้ไม่มีใครกล้าทำตามด้วยเช่นกัน

“เรื่องนี้ต้องยืนยันหลักให้มั่น แล้วสุดท้ายใครจะไปเจรจาต้าอ่วยแล้วมาจบที่เหมาเข่งกันอีกรอบให้เขาทำไป แล้วถึงเวลาที่ฝ่ายรณรงค์เรื่องนี้ต้องเดินหน้าต่อ เพราะตราบใดก็ตามที่คนก่อกรรมทำเข็ญ ก่ออาชญากรรมขนาดใหญ่ขนาดนี้ประชาชนตายขนาดนี้ไม่ถูกรับผิดมันก็จะเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก

ธิดา กล่าวถึงประเด็นเรื่องนิรโทษกรรมว่าสำหรับในไทยถ้าฝ่ายผู้กระทำยังอยู่ในอำนาจแล้วรู้สึกได้เปรียบอยู่ก็จะไม่จำเป็นต้องนิรโทษกรรม แต่การนิรโทษกรรมจะเกิดก็ต่อเมื่อผู้กระทำมองเห็นว่าจะเกิดผลเสียในอนาคตถึงจะทำการนิรโทษกรรมเช่นตอนหลัง 6 ต.ค.2519

10 ปี สลายชุมนุมเสื้อแดง ยังเติบโตจนสุดเอื้อมถึง

“ระบบราชการมันฆ่าคนโดยที่ไม่มีใครเป็นคนผิดซักคนในระบบ”

ผู้สื่อข่าวถามต่อในประเด็นการคุ้มครองผู้เป่านกหวีดที่ปิยบุตรเสนอการแก้กฎหมายไว้ เนื่องจากเดิมทีในกฎหมายไทยก็มีการเปิดช่องให้อัยการและศาลสามารถใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะหรือมีการฟ้องกลั่นแกล้งได้อยู่แล้ว แต่ก็ไม่ถูกนำมาใช้และระเบียบภายในองค์กรอัยการยังทำให้อัยการที่เลือกจะใช้ดุลพินิจไม่สั่งฟ้องคดีต้องเผชิญการถูกตรวจสอบมากกว่าการเลือกที่จะสั่งฟ้องคดีต่อศาลไปก่อนเพื่อให้ศาลเป็นผู้ตัดสินจนทำให้อัยการมักจะไม่ใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้อง จะสามารถแก้ปัญหาลักษณะนี้ของสถาบันตุลาการได้อย่างไร หรือต้องอาศัยฝ่ายการเมือง?

ประเด็นนี้ เข็มทองมองว่าคนในกระบวนการยุติธรรมอย่างอัยการหรือศาลก็ต้องกล้าใช้กฎหมายไปให้เป็นไปตามกฎหมายที่จะสั่งไม่ฟ้องหรือไม่รับฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ แม้ว่ามันอาจจะยุ่งยากบ้างแต่ไม่ถึงกับต้องไปขอให้เขาทำผิดกฎหมายหรือเอาชื่อเสียงมาเสี่ยง

“แต่ผู้พิพากษาในระบบของเราปัจจุบันคือกลัวอภิสิทธิ์ ความสุขสบายของตัวเองจะสั่นคลอน กลัวถูกมองเป็นเด็กไม่น่ารักของผู้ใหญ่ สุดท้ายเราได้คนไม่กล้าตัดสินใจ ประกอบกับหลักหมิ่นประมาทของเราที่สอนกันมาตั้งแต่โรงเรียนกฎหมายที่ว่ายิ่งจริงยิ่งหมิ่นประมาท สังคมไทยให้ความสำคัญกับการรักษาหน้าหรือการรักษาสถานะของคนมากกว่าความจริง” เขาคิดว่าเรื่องนี้ควรเกิดการเปลี่ยนแปลงได้แล้วโดยยกตัวอย่างว่าปัจจุบันแม้กระทั่งสื่อเองยังไม่กล้าจะรายงานชื่อของร้านอาหารที่มีปัญหาแล้วก็เบลอภาพให้คนไปเดากันเองว่าเป็นร้านไหนทั้งที่เรื่องทำนองนี้ก็เป็นประโยชน์สาธารณะ แต่คดีหมิ่นประมาทของไทยก็ถูกนำมาใช้เอาผิดคนมากเกินไป ซึ่งเป็นเรื่องที่โรงเรียนกฎหมายต้องสอนให้อัยการผู้พิพากษากล้าที่จะตัดสินใจว่าคดีไหนเป็นประโยชน์สาธารณะจะไม่ฟ้องหรือยกฟ้องไปตั้งแต่วันแรกที่เข้าสู่ระบบ

เข็มทองยกตัวอย่างปัญหาอีกว่า แม้เวลานี้คดีม.112 ในศาลต่างจังหวัดจะชี้ว่ามาตรานี้จะคุ้มครองบุคคลในสถาบันกษัตริย์เพียง 4 ตำแหน่ง แต่ถ้าไปถามตำรวจก็จะบอกว่าคดีที่ศาลยกฟ้องนี้เป็นเพียงศาลชั้นต้น แต่คำพิพากษาศาลฎีกากรณีหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 4 ก็ยังอยู่ ตำรวจเขาก็ทำตามหน้าที่ในระบบราชการเขาก็ยึดคำพิพากษาฎีกาแล้วก็ต้องรายงานผู้บังคับบัญชา เขาไม่กล้าเอาคำพิพากษาใหม่ๆ ของศาลชั้นต้นมาใช้ แล้วเรื่องก็ถูกส่งให้อัยการ แล้วอัยการก็ส่งฟ้องศาลต่อจนกระทั่งไปจนถึงศาลฎีกา ทำให้เห็นว่าปัญหานี้เกิดจากผู้บังคับใช้กฎหมายไม่กล้าตัดสินใจซึ่งเป็นปัญหาของวงการกฎหมาย

“ระบบราชการมันฆ่าคนโดยที่ไม่มีใครเป็นคนผิดซักคนในระบบ” เข็มทองแสดงความเห็น

ส่วนประเด็นเรื่องกฎหมายคุ้มครองผู้เป่านกหวีดนี้ ปิยบุตรมีความเห็นว่าในทางกฎหมายพอจะป้องกันได้อยู่ เช่น การเอาโทษอาญาออกจากหมิ่นประมาทให้หมดเลยแล้วเหลือแค่การชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งอย่างเดียว แล้วก็ต้องแก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งด้วยว่าการวิจารณ์โดยสุจริตศาลสามารถไม่รับฟ้องได้เลยไม่ต้องพิจารณาต่อ คือต้องเขียนกฎหมายคุมผู้พิพากษาด้วยแม้อาจจะคุมไม่ได้ทั้งหมดเพราะถึงเวลาก็อาจจะอาศัยช่องโหว่ได้

ปิยบุตรกล่าวถึงแนวโน้มของการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทที่แพร่กระจายอย่างมากในเวลานี้ที่มีทั้งคนทั่วไป บุคคลสาธารณะ เช่น ดารา นักร้อง นักการเมืองไปจนถึงฝ่ายรัฐ ซึ่งเขาเห็นว่าควรต้องหยุดกระแสที่เกิดขึ้นนี้ด้วย

เข็มทองเสริมว่าสำหรับการฟ้องคดีหมิ่นประมาทในเวลานี้ใช้แค่ภาพจับหน้าจอมาแผ่นเดียวก็ฟ้องกันได้แล้วก็ไปแจ้งความว่าความเห็นนี้เป็นความผิด ต้นทุนการฟ้องคดีคือเท่ากับศูนย์ทนายความก็ไม่ต้องใช้ แต่ตำรวจก็ต้องใช้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกพยานมาใช้เวลาพิจารณาคดีอีกอาจจะเป็นเดือนหรือเป็นปีกลายเป็นต้นทุนของระบบยุติธรรมมหาศาล

ช่วงสุดท้ายของเสวนา พวงทองกล่าวว่าการจะยกเลิกการลอยนวลพ้นผิดได้ไม่ได้มาจากการยอมศิโรราบแต่มาจากการต่อสู้และการเรียกร้องการต่อสู้นี้เราไม่ได้เรียกร้องจากปัจเจคชนเท่ากลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองซึ่งบอกว่าอาสาเข้ามาทำให้การเมืองดีขึ้น ประเทศเป็นประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชนจึงมองว่ามีความชอบธรรมที่จะเรียกร้องเอาจากพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองที่เราเลือกหรือไม่เลือกก็ตาม และการเมืองไม่ใช่เรื่องของคนใดคนนหึ่งแต่เป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้กับกลุ่มที่มีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่าง

เข็มทองกล่าวทิ้งท้ายว่าเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ไทยมีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรรมของรัฐที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยในระดับที่สามารถระบุคนทำคนสั่งการรวมถึงกำลังพลที่ใช้ได้ รวมถึงมีคำวินิจฉัยของศาลต่อกรณีการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น เพราะการเข้า ICC เป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ถ้าคิดแบบทนายความการจะฟ้องคดีก็ต้องมีหลักฐานต่างๆ และเป็นโชคดีที่ครั้งนี้เป็นภาคประชาชนทำการบันทึกข้อมูลไว้เองไม่ปล่อยให้รัฐเป็นคนคุมข้อมูลไว้ฝ่ายเดียวเพราะมันจะไม่มีประโยชน์

“ปี 53 เป็นเคสนึงที่ถ้าเราจะเอาผิดรัฐไทย ก็เป็นเคสที่เรามีความหวังมาก” เข็มทองกล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net