Skip to main content
sharethis

รายงานฉบับใหม่ขององค์กรสิทธิมนุษยชน โกลบอลวิตเนส ระบุว่าเว็บโซเชียลมีเดียต่างก็มีส่วนในการแพร่กระจายข้อมูลบิดเบือนในช่วงที่มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในบราซิล นอกจากนี้ยังมีสื่อต่างประเทศที่ตีแผ่ว่าในการเลือกตั้งของบราซิลมีการนำวิธีการบิดเบือนข้อมูลมาใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามหรือสร้างความไขว้เขวให้ผู้รับสารได้อย่างไรบ้าง


ที่มาภาพประกอบ: Lauren Walker/Truthout (CC BY-NC-ND 2.0)

22 ต.ค. 2565 บราซิลกำลังจะมีการเลือกตั้งรอบที่ 2 ในวันที่ 30 ต.ค. ที่จะถึงนี้ซึ่งจะเป็นรอบตัดสินว่าจาอีร์ บอลโซนาโร ประธานาธิบดีฝ่ายขวาจะยังคงได้ดำรงตำแหน่งต่อไป หรือ ลูอิซ อักนาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ผู้นำฝ่ายซ้ายที่เคยได้รับการชื่นชมในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีก่อนหน้านี้จะสามารถนำพรรคฝ่ายซ้ายกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลได้อีกครั้ง

ขณะเดียวกันก็มีการวิเคราะห์ในเรื่องการใช้พื้นที่ในโซเชียลมีเดียในการหาเสียงหรือการโฆษณาอื่นๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยที่องค์กรสิทธิมนุษยชน โกลบอลวิตเนส ระบุในรายงานที่ออกมาเมื่อ 20 ต.ค. ที่ผ่านมาว่า พื้นที่ของบริษัทโซเชียลมีเดียใหญ่ๆ อย่างยูทูบและเฟสบุ๊คยังคงปล่อยให้มีข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีบราซิลมีโฆษณาอยู่ในพื้นที่ของพวกเขา

โกลบอลวิตเนส ระบุว่าพวกเขาได้ทำการทดสอบวิจัยในเรื่องนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้วนับตั้งแต่ที่เริ่มฤดูกาลการเลือกตั้งของบราซิล ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาพวกเขาพบว่ามีโฆษณาเกี่ยวกับการเลือกตั้งบราซิลที่ได้รับการอนุมัติจากเฟสบุ๊คทั้งหมดร้อยละ 100 รวมถึงสิ่งที่เป็นข้อมูลที่ผิดด้วย อย่างเช่นการบิดเบือนข้อมูลวันเวลาการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง รวมถึงโฆษณาชวนเชื่อที่อ้างว่าการเลือกตั้งไม่น่าเชื่อถือและเรียกร้องให้ประชาชนอย่าไปลงคะแนนเสียง

ในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา มีโฆษณาแบบเดียวกันนี้ครึ่งหนึ่งที่ได้รับการอนุมัติจากเฟสบุคให้สามารถเผยแพร่ได้ และในการทดสอบวิจัยล่าสุดหลังจากที่มีการเลือกตั้งรอบแรกเสร็จสิ้นลงแล้ว ทางเฟสบุ๊คก็ยังคงปล่อยผ่านโฆษณาที่มีลักษณะการใช้ข้อมูลที่ผิดร้อยละ 50 รวมถึงโฆษณาตัวที่พวกเขาเคยปฏิเสธมาก่อนหน้านี้ด้วย

สำหรับการทดสอบวิจัยกับแหล่งอื่นๆ รวมถึงยูทูบ โฆษณาทั้งหมดได้รับการอนุมัติโดยพื้นที่โซเชียลมีเดียที่มีกูเกิลเป็นเจ้าของ ซึ่งในบางโฆษณามีการให้ข้อมูลที่ผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งบราซิลว่ามีการเลื่อนการลงคะแนนจากวันที่ 30 ต.ค. ไปเป็นวันที่ 31 ต.ค. นอกจากนี้ยังมีข้อมูลกล่าวหาว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีการกำหนดล็อกผลการเลือกตั้งเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว โฆษณาเหล่านี้ได้รับการเผยแพร่ผ่านทางยูทูบที่มีกูเกิลเป็นเจ้าของ

โกลบอลวิตเนส ระบุอีกว่ามีโฆษณาอื่นๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งบราซิลที่มีลักษณะให้ข้อมูลแบบบิดเบือน เช่นรูปถ่ายตัดต่อและข่าวลวงเกี่ยวกับผู้แทนทั้งสองคน

จอน ลอยด์ ที่ปรึกษาอาวุโสขององค์กรโกลบอลวิตเนสกล่าวว่า "มันเป็นเรื่องชวนให้ตะลึงจริงๆ ที่บริษัทใหญ่ๆ ที่มีกำลังทางเทคโนโลยีอย่างเห็นได้ชัด ไม่สามารถกรองเอาข้อมูลบิดเบือนที่เห็นอยู่โต้งๆ ออก ก่อนที่จะเสนอข้อมูลเหล่านี้ให้กับผู้ใช้งานของพวกเขา ในกรณีของเฟสบุ๊ค ไม่ใช่แค่ครั้งหรือสองครั้ง เท่านั้น แต่เป็น 3 ครั้งที่มีการอนุมัติโฆษณาตัวเดิมแบบนี้"

ลอยด์วิจารณ์สื่อโซเชียลมีเดียเหล่านี้ว่า "ขาดความรับผิดชอบ" ในการปกป้องไม่ให้ระบอบประชาธิปไตยถูกทำลายโดย "การจงใจหลอกลวงด้วยความเท็จและชวนให้ไขว้เขว" ลอยด์บอกอีกว่าการเตือนให้เห็นถึงปัญหาการแพร่กระจายข้อมูลผิดๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ทำให้โซเชียลมีเดียอย่างเฟสบุ๊คและยูทูบไม่มีข้ออ้างใดๆ ที่จะไม่จัดระเบียบพื้นที่โซเชียลมีเดียของตัวเอง

ลอยด์บอกอีกว่า การเลือกตั้งในบราซิลครั้งล่าสุดนี้เผชิญกับอุปสรรคอย่างความรุนแรงทางการเมืองเพิ่มขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นการฆาตกรรม, การข่มขู่คุกคาม และการลักพาตัว มันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่มีการสุมไฟความตึงเครียดทางการเมืองเช่นนี้ผ่านทางโลกออนไลน์ มันไม่ใช่ว่าอาจจะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นหรือไม่ มันได้เกิดขึ้นแล้ว

มีการชี้ให้เห็นว่าบริษัทเมตาซึ่งเป็นเจ้าของเฟสบุ๊คไม่ยอมตรวจสอบการซื้อโฆษณาที่มาจากนอกประเทศบราซิล ทำให้ถึงแม้ว่าทางเฟสบุ๊คจะมีระบบตรวจสอบ "การอนุญาตโฆษณา" เนื้อหาที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งบราซิล แต่ผู้ซื้อโฆษณาก็สามารถข้ามขั้นตอนระบบการอนุญาตโฆษณาที่ว่าได้ ถ้าหากพวกเขาซื้อโฆษณาด้วยบัญชีผู้ใช้งานที่อยู่นอกประเทศ ถึงแม้ว่าจะมีเนื้อหาการโฆษณาเกี่ยวกับการเลือกตั้งบราซิลก็ตาม

ทางโกลบอลวิตเนสได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการวิจัยของพวกเขาทั้งในสื่อของบราซิลและในสื่อนานาชาติ รวมถึงแจ้งต่อเฟสบุ๊คว่าพวกเขามีข้อเสียอย่างไรในเรื่องการป้องกันไม่ให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน

โฆษกของเมตากล่าวโต้ตอบงานวิจัยของโกลบอลวิตเนส อ้างว่าโกลบอลวิตเนสทำการทดลองโดยอาศัย "กลุ่มตัวอย่างที่เป็นโฆษณาจำนวนน้อยมาก" และ "ไม่ถือเป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นจริง" จากการที่พวกเขามีการพิจารณาโฆษณาทางการเมืองทั่วโลกจำนวนมากต่อวัน นอกจากนี้เมตายังบอกอีกว่ากระบวนการพิจารณาโฆษณานั้นมีการวิเคราะห์และตรวจทานหลายขั้นตอน และมีการใช้ทรัพยากรไปกับการทำให้การเลือกตั้งดำเนินไปอย่างสุจริต ส่วนกูเกิลยังไม่ได้แถลงโต้ตอบใดๆ ต่องานวิจัยนี้

ทางโกลบอลวิตเนสได้ทำการตรวจสอบพบว่ามีโฆษณา 11 ชุดที่เผยแพร่ในเฟสบุ๊ค และมากกว่า 20 ชุดที่เผยแพร่ในยูทูบ เป็นเนื้อหาที่จัดอยู่ในประเภท "ข้อมูลบิดเบือน" และมีการปล่อยให้โฆษณาเหล่านี้คงอยู่ในเว็บไซต์ของพวกเขาเป็นเวลา 30 วัน

ในช่วงโกลบอลวิตเนสเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยชุดแรกในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ทางเฟสบุ๊คก็ได้โต้ตอบว่าพวกเขาจะ "สั่งห้ามโฆษณาที่ตั้งคำถามในเรื่องความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น" และบอกว่าจะมีการแก้ไขนโยบายที่มีอยู่

หลังจากที่มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่ายังคงมีการเผยแพร่โฆษณาที่เป็นข้อมูลที่ผิดผ่านทางเฟสบุ๊คและยูทูบ  ทางโกลบอลวิตเนส ก็ได้เรียกร้องให้มีการดำเนินการในหลายเรื่อง เรื่องเร่งด่วนคือการเพิ่มความสามารถในการดูแลเนื้อหาและมีระบบที่มีความสามารถในการขจัดความเสี่ยงในช่วงก่อน ช่วงหลัง และช่วงที่กำลังมีการเลือกตั้ง และให้ผู้ดูแลเว็บไซต์มีปากมีเสียงในเรื่องนี้ด้วย

นอกจากนี้โกลบอลวิตเนส ยังเรียกร้องให้สื่อโซเชียลมีเดียมีความเข้าใจในภาษาและวัฒนธรรมของบราซิลมากขึ้น และมีการใช้ทรัพยากรไปเพื่อการดูแลจัดการเนื้อหาในที่ต่างๆ ทั่วโลก ให้มีการจ่ายค่าจ้างแก่ผู้ดูแลเนื้อหาเว็บไซต์อย่างเป็นธรรม และอนุญาตให้พวกเขาจัดตั้งสหภาพแรงงานและให้การช่วยเหลือทางการจิตใจต่อผู้ดูแลเนื้อหาเหล่านี้

โกลบอลวิตเนส ระบุอีกว่าโซเชียลมีเดียเฟสบุ๊คและยูทูบควรจะทำการเพิ่มความเข้มงวดในการยืนยันบัญชีผู้ใช้งานที่เป็นฝ่ายโฆษณา เพื่อให้มีการตรวจหาบัญชีผู้ใช้งานที่ทำลายความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังควรทำให้โฆษณามีความโปร่งใสมากกว่านี้ด้วยการแสดงให้เห็นในส่วนของ ad library ว่าเนื้อหานั้นๆ มีการตั้งเป้าหมายเป็นใคร, ผู้รับสารเป็นใคร, ใช้เงินซื้อไปเท่าไหร่ และมีผู้ซื้อเป็นใคร นอกจากนี้ยังขอให้มีการสอบทานจากภายนอกเพื่อทำให้เมตากับกูเกิลต้องรับผิดชอบกับผลกระทบที่ตามมาจากการกระทำของพวกเขา และให้สองเว็บไซต์นี้ตีพิมพ์เผยแพร่การประเมินความเสี่ยงก่อนการเลือกตั้งบราซิลด้วย

วิธีการที่ใช้ในการโฆษณาบิดเบือนข้อมูล

นอกจากโกลบอลวิตเนสแล้ว สำนักข่าวเอเอฟพีก็ได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงระบุถึงเทคนิควิธีการต่างๆ ที่ผู้เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนและการใส่ร้ายป้ายสีในโลกออนไลน์นำมาใช้ เช่น วิธีการ "โควตอ้างอิงข้อความออกมาจากบริบทดั้งเดิม" ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การตัดต่อวิดีโอ หรือตัดต่อข้อความ ทำให้ไม่สามารถรับรู้ประโยคหรือคำแถลงในบริบทที่แท้จริงได้ ทำให้ความหมายเปลี่ยนไปจากเดิมจนสร้างความเข้าใจผิด

เช่น นักบวชคริสต์นิกายอีแวนเจลิกชื่อดัง ซิลาส มาลาไฟอา ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนผู้สมัครขวาจัดบอลโซนาโร ได้ตัดต่อวิดีโอที่ชวนให้คนเข้าใจผิดต่อคำพูดของ ลูลา ดา ซิลวา ฝ่ายซ้ายคู่แข่งของบอลโซนาโร โดยที่ ลูลา พูดประโยคเต็มว่าบอลโซนาโร "เป็นจอมโกหก เขา(บอลโซนาโร)เคยพูดออกมาตรงๆ เลยว่า 'ผมจำเป็นต้องโกหก นักการเมืองจำเป็นต้องโกหก' " แต่ซิลาส ตัดต่อมาแค่ประโยคที่ว่า "ผมจำเป็นต้องโกหก นักการเมืองจำเป็นต้องโกหก" เพื่อให้คนเข้าใจผิดว่าลูลาสนับสนุนการโกหก

บอลโซนาโรเองก็ตกเป็นเหยื่อวิธีการตัดต่อใส่ร้ายป้ายสีแบบนี้ด้วยเช่นกัน โดยมีคลิปวิดีโอตัดต่อที่เผยให้เห็นบอลโซนาโรพูดว่าจะแต่งตั้งอดีตประธานาธิบดีผู้อื้อฉาวคือ เฟอร์นานโด โคลเลอร์ ให้ร่วมคณะรัฐมนตรีของเขาเพื่อ "ยึดบำนาญเกษียณอายุ" แต่ในความเป็นจริงแล้วบอลโซนาโรแค่พูดถึงข่าวลือในโลกออนไลน์เท่านั้น

อีกวิธีหนึ่งที่มีการนำมาใช้คือการกล่าวหาในเชิงว่าฝ่ายตรงข้ามเป็นคอมมิวนิสต์หรือมีแนวทางใกล้ชิดกับแนวคิดสังคมนิยม เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ภูมิภาคลาตินอเมริกากำลังมีกระแสฝ่ายซ้ายครั้งใหม่แบบที่เรียกว่า "กระแสสีชมพู" (Pink Tide) กลับมาอีกครั้งในประเทศอย่างอาร์เจนตินา, ชิลี และโคลอมเบีย ฝ่ายบอลโซนาโรก็ใช้วิธีกล่าวหาว่าลูลา ที่เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2546-2553 พยายามจะ "นำคอมมิวนิสต์มาใช้" ในบราซิล

นอกจากนี้บอลโซนาโรยังทำการใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายซ้ายอื่นๆ ในภูมิภาค เช่นกล่าวหาว่าประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายของโคลอมเบีย กุสตาโว เปโตร เป็น "พวกใคร่เด็ก" จากการที่โคลอมเบียมีการผ่านร่างกฎหมายอนุญาตให้แต่งงานกับบุคคลอายุ 14 ปีขึ้นไป แต่ทว่ากฎหมายดังกล่าวนี้มีการผ่านร่างมาตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีอนุรักษ์นิยม อีวาน ดูเก้ แล้ว นอกจากนี้ยังอาศัยวิดีโอเก่าของการประท้วงต่อต้านดูเก้ มาใส่เรื่องเล่าใหม่ว่าเป็น "กลุ่มคนในท้องถิ่นที่กำลังอดอยากโจมตีเกษตรกรฟาร์มไก่และหมูในอาร์เจนตินา" ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง

อีกวิธีหนึ่งคือการอ้างใช้โพลปลอม เช่นอ้างว่าบอลโซนาโรมีคะแนนนิยมนำลูลาอยู่สูงมาก ซึ่งเป็นโพสต์ที่ใช้โปรแกรมตัดต่อในคอมพิวเตอร์ตัดต่อเอาเอง ทั้งที่จริงๆ แล้วโพลของจริงในบราซิลแสดงให้เห็นว่าลูลามีคะแนนนิยมนำบอลโซนาโรอยู่เล็กน้อย

วิธีต่อมาคือการอ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้งเกิดขึ้นในช่วงที่มีการเลือกตั้งรอบแรกซึ่งลูลามีคะแนนนำบอลโซนาโร แต่โพสต์ที่อ้างเรื่องการโกงการเลือกตั้งมีการระบุตัวเลขไม่ถูกต้องและมีชื่อเมืองบางเมืองที่ระบุในโพสต์เป็นเมืองที่ไม่มีอยู่จริง หรือวิธีสุดท้ายคือถึงขั้นอ้างเนื้อหาจากข่าวหรือบทความปลอมที่กุขึ้นมาเองแล้วอ้างว่าเป็นข่าวหรือบทความของสื่อใหญ่ๆ อย่างช่อง G1 ของ "โกลโบ" บรรษัทสื่อที่ใหญ่ที่สุดในบราซิล มีการใส่โควตหรือการอ้างอิงคำพูดที่ลูลาไม่ได้พูดออกมาจริงๆ แต่เอามาจากบทความปลอมที่ไม่มีอยู่จริงซึ่งอ้างว่าเป็นของ G1

ศาลสูงด้านการเลือกตั้งของบราซิลประกาศเมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมาว่าพวกเขาจะแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนในช่วงก่อนการเลือกตั้งรอบที่ 2 ในวันที่ 30 ต.ค. ที่จะถึงนี้ โดยบอกว่าจะมีมาตรการเข้มงวดขึ้นในการยับยั้งการแพร่กระจายของข่าวปลอมในโลกออนไลน์ ออกมาตรการต่อต้าน "การบิดเบือนข้อมูลและสิ่งที่เป็นภัยต่อความเที่ยงตรงของกระบวนการการเลือกตั้ง"

โดยที่ภายใต้มาตรการนี้ ศาลสูงด้านการเลือกตั้งของบราซิลจะสามารถสั่งให้บริษัทโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ถอนข้อมูลที่ต้องสงสัยว่าเป็นข้อมูลบิดเบือนได้ นอกจากนี้มาตรการใหม่ยังสั่งห้ามไม่ให้มีการเผยแพร่โฆษณาที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่มาจากการซื้อโฆษณาภายในช่วงระยะเวลา 48 ชั่วโมงก่อนการลงคะแนนเสียงไปจนถึง 24 ชั่วโมงหลังลงคะแนนเสียงเสร็จสิ้นแล้ว


เรียบเรียงจาก
After repeated warnings YouTube and Facebook continue to approve blatant disinformation on their platforms ahead of tense Brazilian presidential run off, Global Witness, 20-10-2022
YouTube and Facebook letting disinformation spread during Brazil election: Report, Wion, 20-10-2022
Brazil's dirty campaign: A disinformation guide, CNA, 21-10-2022
Brazilian authorities clamp down on disinformation ahead of 2nd-round vote, AA, 21-10-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net