งานวิจัยเผย 'เฟคนิวส์' ส่งผลทำลายประชาธิปไตยจริง แต่ด้วยเหตุผลอื่นที่ลึกไปกว่าเรื่องคนเชื่อข้อมูลลวง

งานวิจัยฉบับล่าสุดจากมหาวิทยาลัยแห่งเบอร์มิงแฮมระบุว่า "เฟคนิวส์" หรือ "ข่าวปลอม" เป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบทางลบต่ออินเทอร์เน็ตและกระบวนการประชาธิปไตย แต่สาเหตุไม่ได้เป็นเพราะมีคนหลงเชื่อข่าวปลอมหรือข้อมูลที่ผิดเหล่านี้ แต่เป็นเพราะอะไรกันแน่

30 ก.ค. 2565 ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกออนไลน์ปัจจุบันนี้มีข้อมูลที่ผิดเผยแพร่ปะปนกับข้อมูลจริง ซึ่งไม่ว่าจะมาจากการหลอกลวงต้มตุ๋นหรือมาจากขบวนการของพวกเผด็จการอำนาจนิยมที่พยายามใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองแล้วกล่าวหาว่าฝ่ายตรงข้ามเป็น "ข้อมูลเท็จ" ทั้งๆ ที่พวกฝ่ายอำนาจนิยมเองต่างหากที่เป็น "เฟคนิวส์" หรือข้อมูลที่ผิด

เรื่องที่ฟังดูชวนให้สับสนพัลวันเช่นนี้เองทำให้ "เฟคนิวส์" หรือ "ข่าวปลอม" เป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย ไม่ใช่เพราะว่าคนส่วนมากเชื่อในเนื้อหาหลอกลวงเหล่านี้ แต่เป็นเพราะผลกระทบจากการบ่อนเซาะทำลายความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชนและทำลายความเชื่อใจในสถาบันประชาธิปไตยที่เป็นตัวแทนของพวกเขา

มีการยกตัวอย่างว่านับตั้งแต่ในสมัยที่มีการทำประชามติเบรกซิทหรือการออกจากสมาชิกภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร มาจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2559 ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับตำแหน่ง กรณีเฟคนิวส์ทำให้นักวิจารณ์จำนวนมากเกิดความกังวลว่าผู้รับข้อมูลข่าวสารจะซึมซับเอาข้อมูลที่ผิดเข้าไป อีกทั้งเคยมีการสำรวจในหมู่ผู้ที่ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงพบว่าพวกเขามีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องเฟคนิวส์ในโซเชียลมีเดียอย่างเฟสบุค

แต่อันตรายที่แท้จริงของเฟคนิวส์ที่มีต่อประชาธิปไตยคือการที่ประชาชนมองว่าเฟคนิวส์มีอิทธิพล ไม่ว่าผู้คนจะเชื่อในข่าวปลอมเหล่านั้นหรือไม่ก็ตาม นั่นหมายความว่าผลกระทบด้านลบจะเกิดขึ้นไม่ใช่ว่าเพราะมีคนเชื่อหรือไม่เชื่อในข่าวปลอมเหล่านั้น แต่เป็นเพราะความกลัวว่าคนอื่นจะเชื่อในข่าวปลอมเหล่านั้น เรื่องนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำลายกระบวนการประชาธิปไตย

มีการนำเสนอเรื่องนี้ในวารสารด้านจริยศาสตร์และปรัชญาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งเบอร์มิงแฮม นักวิจัยคือ เมอร์เทน เรกลิตซ์ ระบุว่าเฟคนิวส์ในโลกออนไลน์เป็นปัญหาใหญ่ที่ยังต้องมีการศึกษาต่อไปเพื่อให้เข้าใจปัญหาทั้งหมด โดยเฉพาะในเรื่องผลกระทบต่ออินเทอร์เน็ตและกระบวนการประชาธิปไตย

เรกลิตซ์ระบุว่า "สถาบันประชาธิปไตยใหญ่ๆ อย่างรัฐสภาอังกฤษและสหภาพยุโรปพูดได้ถูกต้องมีบอกว่าเฟคนิวส์เป็นอันตรายต่อค่านิยมและกระบวนการประชาธิปไตย แต่อันตรายที่แท้จริงของเฟคนิวส์คือผลกระทบจากการบ่อนเซาะ (corrosive effect) ที่เรื่องโกหกหลอกลวงในโลกออนไลน์ส่งผลทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อประชาธิปไตยของพวกเขา"

เรกลิตซ์ระบุอีกว่า "เคยมีผลโพลที่น่าเชื่อถือแสดงให้เห็นว่าเฟคนิวส์นำไปสู่การสูญเสียความเชื่อใจกันของประชาชน เป็นหนึ่งในสาเหตุใหญ่ๆ ที่ทำลายเสถียรภาพของกระบวนการประชาธิปไตยและทำลายสิ่งที่เป็นข้อดีที่เป็นเครื่องให้ความชอบธรรมทางศีลธรรมของสถาบันประชาธิปไตย"

งานวิจัยดังกล่าวยังเน้นให้เห็นว่ามีการสำรวจโพลอีกหลายโพลของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่แสดงให้เห็นว่าผู้คนจำนวนมากมีความกังวลว่าเฟคนิวส์จะแพร่ขยายไปทั่วและอาจจะทำให้คนอื่นๆ เชื่อตาม แค่ความกังวลนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำลายความเชื่อใจกันในหมู่ประชาชน

มหาวิทยาลัยแห่งเบอร์มิงแฮมระบุว่าระบอบประชาธิปไตยตั้งอยู่บนฐานของการตัดสินใจร่วมกันของประชาชนโดยที่ทุกคนมีความเสมอภาคกันในกระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ชีวิตของผู้คนทุกคนจึงได้รับอิทธิพลจากสิ่งที่คนอื่นๆ คิดว่าอะไรเป็นเรื่องที่ถูกต้องทางศีลธรรมหรือถูกต้องตามหลักข้อเท็จจริง เพราะคุณภาพของกฎหมายขึ้นอยู่กับคุณภาพของการตัดสินใจจากกลุ่ม ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาในสภา

ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันของผู้คนจึงทำให้เกิดผลกระทบที่เลวร้ายต่อประชาธิปไตย เนื่องจากทำให้ประชาชนอาจจะมองว่ากฎหมาย กระบวนการต่างๆ หรือแม้กระทั่งระบอบประชาธิปไตยในตัวมันเองไม่ควรค่าแก่การเคารพอีกต่อไป เพราะพวกเขามองว่ามันขึ้นอยู่กับความเชื่อผิดๆ และการตัดสินใจที่ผิดผ่านเสียงข้างมากที่พวกเขาเชื่อว่าถูกหลอกลวง

เรกลิตซ์กล่าวว่า ในฐานะคนๆ หนึ่งแล้ว ถ้าหากเขาไม่เชื่อมั่นในความสามารถและไม่เชื่อใจผู้คนไปจนถึงจุดๆ หนึ่งแล้ว เขาก็จะเลิกเชื่อว่าผู้คนจะสามารถดำเนินการตัดสินใจร่วมกันได้ ในเรื่องที่จะส่งอิทธิพลต่อชีวิตของเขาหรือในเรื่องที่จะมากำหนดชีวิตของเขา

เรกลิตซ์ยกตัวอย่างว่าถ้าหากมีคนจำนวนมากได้รับข้อมูลที่ผิดเกี่ยวกับความเสี่ยงและประโยชน์ของวัคซีนแล้ว เขาก็กลัวว่าคนพวกนี้จะเลือกนักการเมืองที่จะทำการจำกัดการเข้าถึงวัคซีนหรือรณรงค์ต่อต้านการใช้วัคซีน ทำให้ทางเลือกของเขาถูกจำกัดลง สุขภาพของเขาก็ตกอยู่ในอันตรายเพราะไวรัสที่แพร่กระจายอยู่ แม้ว่าตัวเขาเองจะเชื่ออย่างถูกต้องว่าวัคซีนมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงก็ตาม

งานวิจัยของเรกลิตซ์ระบุว่าในช่วงยุคสมัยก่อนที่อินเทอร์เน็ตจะแพร่หลาย ประชาชนมีแหล่งข้อมูลที่ค่อนข้างจำกัดเช่น หนังสือพิมพ์ หรือ สถานีโทรทัศน์ ทำให้มีข้อมูลคาบเกี่ยวกันมากกว่า ผู้คนมี "ประสบการณ์ร่วมกัน" มากกว่า มันทำให้มีสาเหตุให้ต้องเป็นห่วงเกี่ยวกับความเชื่อของคนอื่นน้อยกว่าด้วย

การที่ผู้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทำให้สถานการณ์นี้เปลี่ยนไป การที่ประชาชนต้องเผชิญกับแหล่งข้อมูลจำนวนมากขึ้น มีประสบการณ์ร่วมกันน้อยลง และมีความตระหนักรู้ว่าคนอื่นๆ อาจจะมีความเชื่อพื้นฐานร่วมกันน้อยกว่าในอดีต

เรียบเรียงจาก
‘Fake news’ poses corrosive existential threat to democracy - study, University of Birmingham, 27-07-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท