Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 65 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีงานรำลึก 46 ปี 6 ตุลา ตามหา(อ)ยุติธรรม ภายในงานมีกิจกรรมเสวนาเ(สื่อ)มสั่งตาย เป็นวงเสวนาที่ชวนสะท้อนและย้อนมองบทบาทสื่อมวลชนในช่วงวิกฤตการเมือง ไล่เรียงตั้งแต่ยุค 6 ตุลามาจนถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรในปี 63 ร่วมพูดคุยโดย นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ อดีตนักกิจกรรมในเดือนตุลาคมและสื่อมวลชนอาวุโสภาคภาษาอังกฤษ ปนัดดา เลิศล้ำอำไพ อดีตสื่อมวลชนคนเดือนตุลา ชนายุส ตินารักษ์ อดีตนักกิจกรรมในเหตุการณ์ตุลาคม ฐปนีย์ เอียดศรีไชย สื่อมวลชนรุ่นหลังที่ผ่านวิกฤตการเมืองมาทุกยุค ดำเนินรายการโดย จอมขวัญ หลาวเพชร์

เสวนาเ(สื่อ)มสั่งตาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ไลฟ์สดเสวนา 'เ(สื่อ)ม สั่ง ตาย' ที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 6 ต.ค. 2565

6 ตุลา ในความทรงจำ

ปนัดดา เล่าว่าในตอนนั้นเธอเป็นนักข่าวที่นิตยสารจัตุรัส หนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา หลังจากที่จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ด้านนิธินันท์ เล่าว่าเธอเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์เมื่อปี 2516 และจบการศึกษาในปี 2519 ทำให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับทั้งสองเหตุการณ์เดือนตุลา เมื่อเรียนจบ เธอเลือกทำอาชีพนักข่าว เพราะเป็นอาชีพที่สามารถต่อสู้ในแนวทางที่เชื่อได้โดยที่เธอไม่ต้องเข้าป่า 

“หลัง 6 ตุลา หนังสือพิมพ์ถูกปิดหมด ผ่านไปสักพัก มันก็เปิดใหม่ เดอะเนชั่น หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ เขาก็รับนักข่าว คุณสุทธิชัย (สุทธิชัย หยุ่น ผู้ร่วมก่อตั้งเครือเนชั่น) ยังผมยาว เดิมเคยดกนะ นั่งพิมพ์ดีดอยู่ เราก็เดินเข้าไปสวัสดีค่ะ มาสมัครนักข่าวค่ะ เขาก็บอกครับ พรุ่งนี้ไปตามนายกฯ เกรียงศักดิ์ เราก็บอกค่ะ จากนั้นก็เริ่มทำงาน จบ” นิธินันท์กล่าว

ส่วนชนายุส เล่าว่าขณะนั้นเขาเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ แผนกอิสระวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน รวมถึงมีตำแหน่งเป็นประธานฝ่ายวัฒนธรรม องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้เขายิ่งถูกเจ้าหน้าที่รัฐเพ่งเล็ง ในเหตุการณ์สังหารหมู่ เขาได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิง หลังจากนั้นมีนายทหารระดับพันโทตามมาเฝ้าถึงบ้าน ข้างบ้านก็มาด่าพ่อแม่ว่า “เลี้ยงลูกยังไงให้เป็นคอมมิวนิสต์” ณ ขณะนั้น เขารู้สึกกลัวตายจึงตัดสินใจหนีเข้าป่าจนกระทั่งถึงปี 2525 หลังจากที่ออกจากป่า ก็กลับมาเรียนต่อที่วารสารศาสตร์จนจบ จากนั้นเลี้ยงชีพด้วยการเป็นนักข่าวสายการเมืองและเศรษฐกิจ ส่วนบทบาทในปัจจุบันยังคงทำงานสื่อมวลชนอยู่

ด้านฐปนีย์ กล่าวสั้นๆ ว่า ในยุคนั้นเธอน่าจะยังอยู่ในชาติที่แล้วเพราะว่ายังไม่เกิด ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ก็จะอยู่ในงานรำลึกทุกปี ตั้งแต่เริ่มเป็นนักข่าวในปี 2543 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ปนัดดา เลิศล้ำอำไพ อดีตสื่อมวลชนคนเดือนตุลา

ความเชื่อมโยงระหว่าง 14 ตุลา กับ 6 ตุลา 

ปนัดดา มองว่าความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่ผู้นำทหาร ในยุค 14 ตุลา 2516 เป็นปัจจัยที่ทำให้ครั้งนั้นประชาชนสามารถชนะฝ่ายเผด็จการได้ 

“เพิ่งค้นกูเกิลเมื่อวานว่า พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ (อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ) ซึ่งสนิทสนมกับ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ผบ.ทบ. ในขณะนั้นได้เล่าให้ฟังว่า พล.อ.กฤษณ์ ได้ใช้กุศลโลบายทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดของวันที่ 14 ตุลาคลี่คลายลง ด้วยการตรวจและก็เก็บคำสั่งที่ไม่ชอบธรรมไว้ ไม่สั่งลงไปยังหน่วยทหาร ทำให้ถนอม-ประภาส-ณรงค์ ต้องออกจากประเทศไป” 

เธอเล่าต่อว่า หลังจากนั้นในช่วงระยะเวลา 2 ปีเศษที่มีรัฐบาลประชาธิปไตยของคึกฤทธิ์ ปราโมชและเสนีย์ ปราโมช ทางฝ่ายความมั่นคงของรัฐก็พยายามวางแผนกอบกู้อำนาจคืนมาเป็นของตน และปรากฎบทบาทของหน่วยข่าวกรองแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ CIA ที่เข้ามาหนุนเสริมอำนาจรัฐด้วยในแง่ของการต่อต้านคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีโดมิโน

“แนวรบทุกด้านก็จะเกิดขึ้น ใครมีความคิดอะไรก็จะได้รับทุนทันที เช่น วัฒนา เขียววิมล ก็สามารถที่จัดตั้งนวพลขึ้นมา ได้ทุนของกอรมน. พลตรี สุตสาย หัสดิน ก็จัดตั้งขบวนการกระทิงแดงขึ้นมาเพื่อต่อต้านนักศึกษา หรือว่าสื่อมวลชนที่ลุกขึ้นมา พันเอกอุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ก็ออกมาพูด หรือว่า นักเขียนอย่างทมยันตี หรือ พระกิตติวุฑโฒที่บอกว่า ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”

ปนัดดาเล่าว่า ในช่วงต้นปี 2518 ถึง 2519 ความรุนแรงโดยรัฐนั้นเพิ่มระดับขึ้นเรื่อยๆ จนทุกคนรับรู้ได้ ไล่มาตั้งแต่การลอบสังหาร อ.บุญสนอง บุณโยทยาน (ผู้ร่วมก่อตั้งและเลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย) ในเดือนกุมภาพันธ์ มาจนถึงการเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำของ พล.อ.กฤษณ์ ในเดือนเมษายน รวมถึงมีการลอบสังหารชาวนาที่เป็นระดับแกนนำเกิดขึ้นทั่วประเทศ สถานการณ์คุกรุ่นขึ้นเรื่อยๆ อย่างผิดปกติ จนกระทั่งในที่สุดเณรถนอม (ถนอม กิตติขจร) สามารถกลับเข้าประเทศไทยได้ จังหวะนี้ฝ่ายอำนาจรัฐเปิดหน้าแล้วว่าไม่ยอม ฝ่ายนักศึกษาเองก็ไม่มีทางยอม

สำหรับปนัดดา ความรุนแรงโดยรัฐที่นำมาซึ่งเหตุการณ์ 6 ตุลานั้นคือการใช้วิชามาร ในช่วงเดือนตุลา คู่ขัดแย้งของรัฐคือกระแสความคิดอุดมคติคอมมิวนิสต์ แต่ในช่วงปี 43-57 คนที่ไม่เคยมีอำนาจ-ไม่ได้อยู่ในระดับอีลีทเริ่มเข้ามาท้าทาย ซึ่งรัฐก็มองว่านี่คือศัตรูที่ปล่อยไม่ได้เหมือนกัน สอดคล้องกันกับความเห็นของฐปนีย์ที่มองว่าในปัจจุบันวิชามารก็ยังคงอยู่ ในปัจจุบันเราจะรู้จักกันดีในชื่อ ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือ ไอโอ ถูกนำมาใช้อย่างโจ่งครึ่ม แต่โซเชียลมีเดียทำให้คนเริ่มรู้เท่าทันมากขึ้น

สื่อเลือกข้างได้ แต่ต้องเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

นิธินันท์ กล่าวถึงทัศนคติของสื่อมวลชนรุ่นเก่าที่มักมีลักษณะหลงตัวเอง เย่อหยิ่งจองหอง คิดว่าตนมีจริยธรรมสูงส่ง รู้รอบเท่าทันไปเสียทุกด้านแล้วก็เผลอด่วนสรุปชี้นำสังคมไปแบบนั้น ซึ่งทัศนคติเหล่านี้อาจเป็นอุปสรรคในการนำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

“กรอบคิดของคนทำข่าวรุ่นเก่า นักข่าวในรุ่นที่เราเข้ามาเนี่ยจะค่อนข้างหลงตัวหน่อยๆ นะ หลงตัวว่าเรามีหน้าที่พิทักษ์ความชอบธรรมของสังคม เป็นฐานันดรที่ 4 บรรพบุรุษยิ่งใหญ่เลย ใช้คำว่าโคตรเดี๋ยวเขาว่าเอา แล้วเราก็จะหลงตัวเย่อหยิ่งจองหอง ฉันไม่รับเงิน ฉันดีแล้ว ฉันเชิดหน้า แต่ความจริงแล้วเราลืมคิดในรายละเอียดว่าบางครั้งเราไม่ได้รับเงินใส่ซองแต่เราสมยอมต่อผู้มีอำนาจ บางครั้งเราอาจไม่นำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ของประชาชนเพราะเรากลัวเขาจะปิดหนังสือพิมพ์เราบ้างหรืออะไรก็แล้วแต่” 

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ อดีตนักกิจกรรมในเดือนตุลาคมและสื่อมวลชนอาวุโสภาคภาษาอังกฤษ

ส่วนบทบาทสื่อในวิกฤตการเมือง เธอเล่าว่าในช่วง 14 ตุลา และ 6 ตุลา ภาพของการต่อสู้คือสู้กับเผด็จการทหารเป็นหลัก ส่วนภาพที่สถาบันกับทหารร่วมมือกันนั้นยังไม่ชัดเจนมากเท่าในปัจจุบัน การทำข่าวของสื่อมวลชนก็จะไปโฟกัสที่ขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเป็นหลักเพราะว่าเห็นใจที่พวกเขาเป็นฝ่ายถูกกระทำ แต่พอมาระยะหลัง อย่างเช่นช่วงยุคทักษิณ เราจะเห็นว่าสื่อสร้างวาทกรรมให้เกิดความเกลียดชังรังเกียจนักการเมือง ทำให้คนในสังคมรู้สึกว่าประชาธิปไตยมันไม่ดี นักการเมืองชั่ว ทุกคนล้วนแต่โกง ซึ่งเธอมองว่า สื่อสมยอมและสร้างวาทกรรมเหล่านี้เพราะสื่อก็ต้องการที่จะอยู่รอด เธอย้ำจุดยืนว่า สื่อเลือกข้างทางการเมืองได้ อย่างไรก็ตาม ต้องทำงานอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย 

"พอมาเป็นยุคเหลือง-แดงปุ๊บ ทัศนคติมันเริ่มเปลี่ยน ทีนี้คุณสนธิ ผู้จัดการ (สนธิ ลิ้มทองกุล) ฟังอยู่อาจจะโกรธดิฉันนะคะ ดิฉันสารภาพนะคะ ดิฉันโกรธคุณสนธิลิ้มมากเลย เพราะว่าคุณทำให้อาชีพที่ดิฉันรักเนี่ย เสียหายมากเลย ในแง่ของทฤษฎีอะค่ะ สื่อเลือกข้างได้ค่ะ ในแง่ของทฤษฎีนะคะ เลือกข้างในที่นี้ มันเป็นศัพท์ที่เรียกว่า Advocacy Journalism อะค่ะ หมายความว่าคุณเลือก คุณประกาศว่าเป็นสื่อของแนวคิดสังคมนิยม ประชาธิปไตย คอมมิวนิสต์ อะไรก็แล้วแต่ แต่ Advocacy Journalism ไม่ใช่พร็อพพาแกนดา พร็อพพาแกนดาคือคุณใส่ไข่ยังไงก็ได้ ทำลายคนอื่นยังไงก็ได้ จริง 7 เท็จ 3 จริง 3 เท็จ 7 อะไรก็ได้หมดเลย แต่ Advocacy Journalism ทำเช่นนั้นไม่ได้ 

"Journalism ยังไงก็ตาม จะต้องทำงานด้วยความเที่ยงธรรม ที่ไม่ได้หมายความว่าต้องแบ่งพื้นที่ให้ทุกฝ่ายเท่ากันเป๊ะๆ แต่คุณต้องให้ความเที่ยงธรรมต่อมนุษย์ทุกคนทุกฝ่าย ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเขา" นิธินันท์ กล่าว

ม็อบ 63 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบัน ขยับเพดานการทำข่าว

ฐปนีย์ เล่าถึงความสงสัยส่วนตัวของเธอเองในฐานะสื่อมวลชนรุ่นหลังคนเดือนตุลา เธอมักสงสัยว่าสื่อสมัยก่อนเขาทำข่าวกันยังไงให้เกิดอิมแพค ในบริบทที่มีแค่หนังสือพิมพ์ วิทยุ-โทรทัศน์ที่เป็นของรัฐ ไม่ได้มีนักข่าวเยอะเท่าตอนนี้ ไม่ได้มีโซเชียลมีเดียที่กระจายข่าวได้เร็วอย่างตอนนี้ จนกระทั่งเธอได้มาเป็นนักข่าวที่สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ที่เกิดมาจากการต่อสู้ของประชาชนในเหตุการณ์ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เธอจึงได้ซึมซับแนวคิดที่ว่าสื่อต้องทำงานเพื่อประชาชน 

เธอกล่าวขอบคุณบทบาทของโซเชียลมีเดียที่เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ขบวนการต่อสู้ของนักเรียนนักศึกษากลับมามีพลังขึ้นอีกครั้งในปี 2563 โดยเฉพาะข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในการชุมนุมวันที่ 10 ส.ค. ที่นับว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญของสื่อไทย สื่อตั้งคำถามกันเองว่าเรารายงานอะไรได้บ้าง วันนั้นเธอตัดสินใจรายงานข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ออกอากาศทางโทรทัศน์ ในรายการข่าวสามมิติ ด้วยเหตุผลที่ว่า การข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมคือรายงานตามข้อเท็จจริง เป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องบันทึก ฉะนั้นเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชน

“ในวันนั้นดิฉันก็รายงานข่าวอยู่ที่นั่นและพูดคำนี้ออกทีวี รายการข่าวสามมิติน่าจะเป็นช่องเดียว คือมันไม่ใช่ว่าสื่อไม่กล้านะคะ แต่มันคือการที่สื่อก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะในสื่อทีวียังมีเรื่องของโครงสร้างอยู่ เราโชคดีที่เรายังมีโซเชียลมีเดีย ดิฉันมี 2 บทบาท วันนั้นดิฉันอยู่ในบทบาทของข่าวสามมิติที่จะต้องรายงานสดในคืนนั้น เราส่งข้อความไปหาคุณกิตติ (กิตติ สิงหาปัด) ในคืนนั้นก่อนที่จะรายงานสดว่ามันมีเรื่องนี้มันมีคำนี้ พี่จะให้รายงานหรือเปล่าเพราะว่าช่องสามมันยังขึ้นอยู่กับโครงสร้างของช่อง 

"พี่กิตติก็ถามว่าแล้วมันเป็นยังไง เราก็พยายามสรุปความ เขียนส่งไปว่ามันเป็นเป็นแบบนี้นะ ซึ่งก็โชคดีว่าเขาก็ให้อิสระในการทำงานกับเรา เพราะเราบอกเลยว่า ถ้าเราอยู่ตรงนั้นแล้วเราจะต้องรายงานสด ถ้าเราไม่พูดเรื่องนี้ ไม่พูดคำนี้ ก็ไม่รายงานค่ะ พี่เอาข่าวไปอ่านเองเลย ดิฉันจะไม่ยืนพูดด้วยหน้าตาของดิฉันว่าคุณกิตติคะ ที่การชุมนุม 10 สิงหาคมที่ธรรมศาสตร์มันเกิดอะไรขึ้น ถ้าไม่ได้พูดเรื่องข้อเรียกร้องนี้ แม้ว่าจะได้พูดแค่สั้นๆ เพราะว่าเวลาของทีวีมันไม่ได้เยอะ"

เธอยกตัวอย่าง เรื่องการที่รัฐประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นความพยายามใช้กฎหมายเพื่อจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข่าว โดยเฉพาะเดอะรีพอร์ตเตอร์ที่เป็นหนึ่งในห้าสำนักข่าวที่ถูกรัฐเพ่งเล็ง ในวันที่ 16 ต.ค. มีการชุมนุมที่แยกปทุมวัน เธอและทีมงานก็ไลฟ์ตั้งแต่ 6 โมงถึงเที่ยงคืน โดยที่ไม่ได้นึกถึงข้อกฎหมายที่ออกมาแต่อย่างใด เพราะนักข่าวมีหน้าที่รายงานเหตุการณ์เบื้องหน้าไปตามจริง ในขณะที่กองบรรณาธิการของหลายๆ สื่ออาจจะยังหวั่นเกรงกับเรื่องนี้อยู่ แต่พอมีคนหนึ่งเริ่มฉีกกฎว่าไลฟ์ได้ มันก็เป็นที่มาให้สื่อทุกคนก็ไม่สนอะไรแล้วฉันก็จะทำหน้าที่ในเหตุการณ์นั้นๆ 

"ในวันที่ 16 ตุลา ณ เวลาที่มีการชุมนุมอยู่ที่แยกปทุมวัน เวลานั้นตำรวจกำลังเข้าสลายการชุมนุม ซึ่งเบื้องหน้าเรามีแต่เด็กๆ ที่ใส่ชุดนักเรียน นักศึกษา พี่ก็รายงานและก็ไลฟ์เหตุการณ์ทุกอย่างที่มีการใช้แก๊สน้ำตา รถจีโน่ และเชื่อไหมว่าคนที่ทำหน้าที่สื่ออะค่ะ ไม่มีใครที่จะนึกถึงไอ้ข้อกฎหมายที่มาข่มขู่คุกคามเราหรอก 

"เมื่อใดก็ตามที่สื่อพร้อมใจกันรายงานเหตุการณ์ที่สำคัญ ไม่มีอะไรที่จะมาปิดกั้นหรือขัดขวางเราได้เลย" ฐปนีย์กล่าว

ชนายุส ตินารักษ์ (ซ้าย) ฐปนีย์ เอียดศรีไชย (ขวา)

สิ่งที่ผู้อ่านควรได้รับจากสื่อมากที่สุด คือความจริง

ด้านชนายุส ผู้เคยทำงานเป็นสื่อมวลชนในหลายสำนัก มีความเห็นสอดคล้องกับฐปนีย์เรื่องบทบาทสื่อที่ต้องรายงานไปตามจริง เพราะสิ่งที่ผู้อ่านควรได้รับจากสื่ออย่างมากที่สุดคือความจริง ส่วนจะถ่ายทอดออกมาในรูปแบบบทความ บทวิเคราะห์เป็นกลางหรือเอียงข้างฝ่ายไหนอย่างไร มองว่าผู้อ่านจะสามารถตัดสินได้เอง 

“ผมทำสื่อมาเยอะมากเพราะอยากรู้ว่าแต่ละค่ายเป็นยังไง ทำตั้งแต่ฐานเศรษฐกิจ มาทำกับคุณสนธิ ลิ้มทองกุลซึ่งตอนนั้นยังดีอยู่ มาทำกับมติชน พี่ช้าง ก็เห็นเจ้าของสื่อแต่ละที่ เขาก็สมกับเป็นเบอร์หนึ่ง เรื่องดี-เลวยังไงเราไม่พูดถึง คำตอบที่ว่าเลือกดูสื่อไหน อาศัยใช้สื่อออนไลน์อย่างที่เมื่อกี้พูด เราสามารถตั้งหัวข้อข่าวได้จากกูเกิลนิวส์ ส่วนใหญ่เป็นประชาไท ภาษาไทยบ้าง ภาษาอังกฤษบ้าง ทุกเช้ามันจะประมวลข่าวให้เรา เราก็เลือกอ่านได้ เราก็ไปแอดไลน์กลุ่มที่เราเสียเงินสมัครสมาชิก มันก็จะมีข่าวเข้ามา ส่วนหลังจากนั้นวิทยุเถื่อนจากพวกสุนัยไรก็เริ่มมีแล้ว ก็ฟังพวกนั้นด้วย ทั้งคนที่ตายไปแล้วที่ภาคใต้ชื่อไรจำไม่ได้ อาคม ซิดนีย์ อะไรเราก็ฟัง คุณสนธิทุกวันนี้ผมก้ยังฟังอยู่ทุกวันศุกร์ สนุกดี เขาพูดเก่ง ต้องยกนิ้วให้เลย ในฐานะคนทำสื่อ เรามีภูมิต้านทานระดับหนึ่งว่าอะไรจริงหรือไม่จริง”  ชนายุสกล่าว     

เช่นเดียวกันกับ นิธินันท์ ที่มองว่าในยุคนี้คนมีทางเลือกเสพสื่อมากขึ้น แนะนำให้เสพสื่อจากทั่วโลกเพราะว่ามันทำให้เราเห็นภาพอะไรได้ชัดเจนกว่า และย้ำบทบาทสื่อต้องทำความจริงให้ปรากฎ ถึงแม้ว่าสื่อจะตัดสินชะตาสังคมไม่ได้ แต่ถ้าคนทำสื่อปราศจากความรู้ ส่งความรู้ผิดๆ ที่ไม่รอบด้านก็จะทำให้สังคมเสื่อมเสียได้

“สื่อไม่ได้เป็นคนที่ฉลาดที่สุด สื่อมีหน้าที่หาความจริงและนำความจริงออกไปสร้างพื้นที่ให้เกิดการถกเถียง เกิดการตระหนักรู้ ให้สังคมก้าวหน้า แม้จะเป็นเรื่องที่สังคมหวาดกลัว สื่อต้องไม่หวาดกลัวตามสังคม ถึงเป็นเรื่องของสถาบันที่มีความพยายามในการห้ามพูดถึงหรืออะไรก็ตาม สื่อควรจะทำให้เรื่องเล่านี้น่ากลัวน้อยลง ทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้าได้อย่างดีที่สุด” นิธินันท์กล่าว

การเปลี่ยนผ่านของ 'จอมขวัญ' จากพิธีกรทีวี สู่เน็ตไอดอล 

ในช่วงที่มีเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญประกอบกับบริบทที่ช่องทีวีต้องปรับตัวมาสู่โลกออนไลน์ บทบาทของ จอมขวัญ หลาวเพชร์ อดีตพิธีกรรายการทอล์คชื่อดัง ‘ถามตรงๆ กับจอมขวัญ’ ที่ออกอากาศทางไทยรัฐทีวีนั้นเป็นที่พูดถึงอย่างมากในฐานะสื่อมวลชนที่สามารถตั้งคำถามแทนประชาชนได้ และนับเป็นรายการแรกๆ ทางโทรทัศน์ที่ให้พื้นที่แกนนำผู้ชุมนุมในการพูดถึงข้อเรียกร้อง

จอมขวัญเล่าเงื่อนไขข้อจำกัดของการรายงานข่าวผ่านทีวีที่มีขั้นตอนที่ซับซ้อนมากกว่า มีปัจจัยอย่างเรตติ้งมาเป็นตัวกำหนดประเด็นการนำเสนอ ส่งผลให้แม้ตัวนักข่าวจะมีความกล้าก็ใช่ว่าจะทำได้อย่างที่ตนเองเชื่อ 

“มีจังหวะที่โทรทัศน์ต้องเลือกว่าจะมีการถ่ายทอดการชุมนุมหรือปล่อยเสียงการพูดบนเวที คือถ้ามีที่หนึ่งทำแต่อีกที่หนึ่งไม่ทำ ก็โดนด่าเหมือนกัน ก็เลือกเอาว่าจะโดนด่าหรือจะโดนบีบ แต่มันก็มีความสลับซับซ้อนของมันเช่น ประเมินว่าใครขึ้นกี่โมง แกนนำคนไหนถูกวางตัวพูดอะไร ก็ขึ้นไว้เพื่อไม่ให้โดนด่าว่าไม่รายงาน แต่บางทีเราอาจจะเลือกไม่ปล่อยเสียงก็ได้” จอมขวัญกล่าว

ในมุมมองของจอมขวัญ ความยากของการนำเสนอก็คือ จะทำยังไงที่จะให้พื้นที่กับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมโดยที่ทีวียังรับได้ ถ้าพูดให้แฟร์กับเจ้าของหรือคนที่เป็นหัวหน้างาน เธอเป็นพนักงานถ้าเกิดอะไรขึ้นมาเต็มที่ก็แค่โดนไล่ออก แต่เจ้าของหรือหัวหน้าจะต้องรับผิดชอบมากกว่านั้น 

“ยกตัวอย่างคำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มักโดนติงว่าพูดสั้นๆ กว่านี้ได้ไหม พูดสั้นคนก็เข้าใจแล้ว เราก็เลยถามว่าแล้วพูดยาวมันจะเข้าใจผิดตรงไหน ก็เป็นคำเดียวกันไม่ใช่เหรอ คืออันนี้คิดจริงๆ นะว่าเขา…เขาคงกลัวโดยบริสุทธิ์ใจอะ” จอมขวัญกล่าว

ด้านฐปนีย์กล่าวถึงบทบาทของจอมขวัญในทีวีว่าเธอรู้สึกขอบคุณมาก เพราะโดยปกติแล้วการปรากฎตัวของแกนนำมักจะอยู่ในสื่อออนไลน์ พร้อมแรงกดดันจากประชาชนที่ส่งผลให้ทีวีต้องรายงานข่าวผู้ชุมนุมมากขึ้น

“ตอนนั้นมันมีจุดที่ทีวีต้องเลือกว่าจะรายงานอะไร เพราะอะไร ทีวีจะมีเรื่องเรตติ้งใช่ไหมคะ แรกๆ จะไม่รายงานข่าวการเมืองเพราะมันไม่เรียกเรตติ้ง แต่เวลานั้นถ้าคุณไม่รายงาน คุณก็ไม่ได้เรตติ้ง เพราะว่าประชาชนทั้งประเทศเรียกร้อง ตอนนั้นมีคดีน้องชมพู่พร้อมๆ กับการชุมนุม สื่อไหนที่รายงานแต่เรื่องน้องชมพู่ คนก็ประกาศจะไม่ดูถ้าไม่รายงานข่าวผู้ชุมนุม พอมันเป็นเรื่องเรตติ้ง สื่อทีวีจะรายงานหรือไม่จึงขึ้นกับแรงกดดันของประชาชน”

เรื่องเล่าจาก 'ฐปนีย์' สื่อที่ถูกโจมตีทุกยุค

ฐปนีย์เล่าเรื่องราวชีวิตการเป็นสื่อมวลชนที่ผ่านการถูกโจมตีในวิกฤตการเมืองมาหลายครั้ง ซึ่งรู้สึกเหมือนอยู่ในทุ่งสังหารตลอดเวลา แรกๆ ก็มีท้อบ้าง แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาก็กลายเป็นภูมิคุ้มกันที่ทำให้เธอเริ่มเข้าใจบทบาทของสื่อกับประเด็นการเมือง ทำให้รู้ว่าเส้นทางของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สื่อมีบทบาทที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อที่อยู่ฝั่งประชาชน

“ตอนปี 49 ดิฉันอยู่ไอทีวี แน่นอนมันเป็นสื่อที่ถูกตราหน้าว่าอยู่ในยุคทักษิณเนอะ ตอนนั้นมีม็อบพันธมิตร ดิฉันก็ไปรายงานข่าวอยู่ที่สนามหลวง นั่นเป็นครั้งแรกที่ถูกเขวี้ยงขวดน้ำ เขวี้ยงสิ่งของ รถดาวเทียมถูกเผาจนเราต้องหนีออกจากสนามหลวง ได้ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์เป็นครั้งแรกในชีวิต ดีใจมาก แต่ก็นั่นแหละ มันทำให้เราคิดว่าเราเป็นนักข่าวแต่ทำไมเราต้องเป็นเหยื่อในสิ่งเหล่านี้ ทั้งๆที่เราก็ทำหน้าที่ของเรา”

“พอมายุค นปก. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) ดิฉันก็ถูกตีตราว่าเป็นสื่อเสื้อแดงอีก พอทำข่าวที่สามจังหวัด ดิฉันไปสัมภาษณ์กลุ่มบีอาร์เอ็น ดิฉันก็ถูกตราหน้าว่าเป็นสื่อโจรอีก ดิฉันเป็นสื่อหลายประเภทมาก ปัจจุบันเขาเรียกว่าเป็นสื่อสามกีบค่ะ โดนมาตลอด” 

“ดิฉันไปทำข่าวเรื่องการช่วยเหลือโรฮิงญาดิฉันก็โดนเล่นงาน เป็นเรื่องแรงงานประมงที่ถูกค้ามนุษย์จนทำให้ประเทศไทยได้ใบเหลืองไอยูยู (Illegal, unreported, and unregulated: IUU) ดิฉันก็โดนท่านนายกด่าข้ามประเทศว่าสนุกนักเหรอ วิ่งข้ามไปเกาะนั้นเกาะนี้ ถ้ามีเงินสองหมื่นล้านมาใช้หนี้ไอยูยูรึเปล่า เนี่ย คือมันโดนอะไรอย่างงี้มาตลอดเวลา ทำให้เรารู้ว่ามันมีกระบวนการบางอย่างที่มาคุกคามสื่อหรือใครก็ตามที่รายงานข่าวขั้วตรงข้ามกับอำนาจรัฐ” 

ฐปนีย์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่สำคัญก็คือการเรียนรู้ที่จะรับมือ เพราะถ้าการทำหน้าที่ของเรามันไปกระทบกับอำนาจรัฐ เราหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธไม่ได้ที่เราจะเจอสิ่งเหล่านี้ 

“แต่พอโตขึ้นก็เริ่มรู้ว่าถ้ารายงานข่าวรัฐบาลหรือไปตีแผ่เรื่องอะไร ค้ามนุษย์ที่ไปกระทบกับนโยบายรัฐ เตรียมรับมือเลย วันรุ่งขึ้นมันจะมีเพจที่เราหน้าดิฉันไปใส่ถ้อยคำต่างๆ ซึ่งสมัยก่อนดิฉันก็…อุ๊ย ทำไมทำแบบนี้ล่ะ เสียใจจัง สมัยนี้… เรารายงานอะไรไปแค่ครึ่งชั่วโมง ก็มีกราฟิกออกมาเต็มไปหมด เราก็คิดนะ ทำไมทำเร็วกันขนาดนี้ มันจะมีคนที่เกลียดเราแล้วทำกราฟิกด่าเราขนาดนั้นเลยเหรอ” ฐปนีย์กล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

“คนในรัฐบาลมาเล่าให้ฟังว่าช่วงที่มีการชุมนุมนะ ในห้องวอร์รูมเขาจะเปิดไลฟ์เดอะรีพอร์ตเตอร์ขึ้นจอเลยเพื่อมอนิเตอร์เรา แค่มาบอกอย่างงี้ บางทีคนที่ฟังเขาอาจจะรู้สึกกลัวเนอะ พี่บอกน้องๆ ยังไงรู้ไหม พี่บอกถ้าเขาดูอยู่แบบนี้ก็เต็มที่ไปเลย เพราะมันจะส่งตรงไปถึงห้องวอร์รูมของไอโอ พล.อ.ประวิตร ดูอยู่ก็จะได้รู้ว่าน้องรุ้งพูดอะไร สำคัญที่สุดคือพลังของประชาชน ถ้าประชาชนไม่กล้าพูด เราก็รายงานอะไรไม่ได้ 

เธอกล่าวสั้นๆ ว่า ถ้าประชาชนกล้าส่งเสียงแล้วสื่อมวลชนไม่กล้าทำข่าว เราอย่าเป็นนักข่าวเลย

เสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพประชาชน 

ฐปนีย์ เล่าถึงหน้าที่ของสื่อที่มากกว่าการรายงานข่าวนั่นคือการปกป้องประชาชน โดยยกตัวอย่าง ในช่วงโควิด รัฐบาลออกข้อกำหนดที่ 29 ของพรก.ฉุกเฉินที่ว่าห้ามโพสต์อะไรก็ตามที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว สื่อออนไลน์เล็กๆ หลายสำนักจึงรวมตัวกันยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีต่อศาลแพ่ง โดยสื่อเป็นโจทก์ และมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นจำเลยที่หนึ่ง จนนำมาซึ่งการยกเลิกข้อกำหนดที่ 29 ในท้ายที่สุด

“ต้องขอบคุณภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งจริงๆ ไม่ได้ต่างอะไรกับการต่อสู้เรียกร้องของผู้ชุมนุมหรอก ณ วันนั้นแค่เราบอกว่าเรากำลังจะตายเพราะโควิด เพราะเราไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนจากรัฐ ไม่ต้องไปเป็นเรื่องอะไรที่ใหญ่กว่านั้นหรอก เอาแค่พูดเพื่อปกป้องชีวิตตัวเอง มันก็เป็นบทพิสูจน์ชัดแล้วว่า ถ้าเรารวมตัวกัน มันสามารถต่อสู้การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมจากรัฐได้เสมอ”

สอดคล้องกับจอมขวัญที่กล่าวเสริมว่า บทบาทของฐปนีย์และทีมงานในการไลฟ์ ทำให้สื่ออื่นก็กล้าไลฟ์มากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นการขยับเพดานเสรีภาพสื่อ 

“นางก็คือตัวแม่ถูกไหม หน้าเมือกตัวแม่เพื่อรายงานให้เห็น ทุกคนก็จะอ้างได้ว่าพี่แยมยังรายงานเลย พี่แยมยังไลฟ์เลย ขอบคุณมากนะคะพี่ 

“สิ่งที่ประชาชนทุกคนสามารถช่วยสื่อได้คือคุณไม่ต้องลงไปไลฟ์เอง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เดอะรีพอร์ตเตอร์ไลฟ์กรุณากระจุกตัวกันที่เพจของเขาเยอะๆ เพราะว่านักข่าวจะแคป แล้วไปบอกต้นสังกัดของตัวเองว่าดูดิ คนดูตั้งหมื่นกว่าแสนกว่า เขาไม่ยอมกันหรอกค่ะ อันนี้เราทำได้ง่ายมาก” จอมขวัญกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

ด้านนิธินันท์ กล่าวว่า โลกนี้ไม่ได้ดำเนินไปแบบหนังการ์ตูน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดที่จะมาเร็ว สิ่งที่เราทำได้มีแค่ต่อสู้ไปจนถึงลมหายใจสุดท้าย ถ้าเธอต้องตายก็จะไม่เสียใจ เพราะถือว่าชีวิตที่มีอยู่ได้ทำในสิ่งที่เชื่อ 

“เพราะฉะนั้นต่อสู้ในสิ่งที่คุณเชื่อตลอดชีวิต ไม่ต้องท้อถอย ไม่ต้องเสียใจ ถ้าคุณเชื่อในสิ่งที่คุณเชื่อ คุณก็ทำไป และตายตาหลับเท่านั้นเองแหละค่ะ”  นิธินันท์ ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net