Skip to main content
sharethis

‘พิชัย’ นำทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย แถลงเรื่องการบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของรัฐบาลประยุทธ์ ทั้งเรื่องการอนุญาตให้ต่างชาติซื้อที่ดินโดยง่าย ค่าไฟพุ่งสูง ชี้ผู้นำขาดความรู้ยิ่งจะพากันลงเหว แนะ เพิ่มรายได้คนไทย-ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค 

(เรียงจากซ้าย) จุฑาพร - เอกชัย - พิชัย - กฤษฎา

1 พ.ย. 2565 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทย รายงานต่อสื่อมวลชนว่า พิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ กฤษฎา ตันเทอดทิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย เขต 1 พรรคเพื่อไทย และ อดีตรองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เอกชัย ทรงอำนาจเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย จุฑาพร เกตุราทร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม. บางรัก และโฆษกคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงเรื่องการบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของรัฐบาลประยุทธ์ 

พิชัย ระบุว่า ความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจของพล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการยอมรับและตอกย้ำอีกครั้งจากการกระทำของพล.อ.ประยุทธ์เองที่อนุญาตให้ต่างชาติซื้อที่ดินได้ง่าย โดยอ้างว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ที่ดินราคาเพิ่มขึ้นสูง และ คนไทยส่วนใหญ่ประมาณ 80% ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองจะเดือดร้อนและจะไม่มีปัญญาซื้อที่ดินเป็นของตัวเองได้ ทำให้ถูกโจมตีทั้งโซเชียลอย่างหนักว่าเป็นการขายชาติ ทำให้คนส่วนใหญ่สงสัยกันว่าน่าจะเป็นการขายชาติมากกว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่

ความเห็นของรองปธ.ยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ในประเด็นการขายที่ดินให้ต่างชาติสอดคล้องกันกับ กฤษฎา ส.ส.หนองคาย เขต 1 พรรคเพื่อไทย ที่กล่าวว่า การที่รัฐบาลออกนโยบายขายทรัพย์สินของชาติให้คนต่างประเทศนั้น หากประเทศมีสภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและคนในประเทศมีกำลังซื้อที่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านและต่างประเทศได้ นโยบายนี้ก็อาจจะเป็นประโยชน์เพราะน่าจะเป็นการดึงเอาคนเก่งและนักลงทุน เข้ามาในประเทศ และต่อยอดให้เศรษฐกิจในภาครวม แต่วันนี้ เรายังเป็นรองประเทศเพื่อนบ้านมาก ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน เม็ดเงินการลงทุน รวมไปถึงความพร้อมของคนในชาติ เกรงว่านโยบายนี้จะยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของคนในชาติ และยิ่งจะทำให้ต่างชาติเข้ามาตักตวงผลประโยชน์

วันนี้หากรัฐบาลต้องการจะขับเคลื่อนนโยบายนี้จริง ยิ่งควรจะต้องปูพื้นฐานให้คนในชาติ โดยเฉพาะรายได้ต่อหัว ควรจะต้องสูงกว่านี้ก่อน แต่วันนี้ เป็นเพราะรัฐบาลน่าจะหมดหนทางในการหารายได้และดึงดูดนักลงทุน เลยใช้วิธีการขายทรัพย์สินแทน เพราะเป็นวิธีที่ง่ายในการเพิ่มเงินลงทุนในประเทศ แต่ในระยะยาวน่าจะมีผลเสียมากกว่าผลดี เพราะสุดท้ายจะทำให้ที่ดินและทรัพย์สินแพงขึ้นจนคนไทยที่มีรายได้น้อยจะไม่สามารถเป็นเจ้าของได้ 

สิ่งเหล่านี้เป็นการตอกย้ำว่า รัฐบาลลงทุนผิดพลาด โดยเฉพาะในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน วันนี้หากในสมัยท่านนายกยิ่งลักษณ์ ได้ขับเคลื่อนนโยบาย 2 ล้านๆ เสร็จตั้งแต่ปี 2563 ก็คงจะมีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาแล้ว บทเรียนที่สำคัญก็คือ วันนี้ประเทศลาว มีเม็ดเงินจำนวนมากจากหลายประเทศมุ่งเข้าไปลงทุน โดยเฉพาะหัวเมืองที่มีสถานีรถไฟความเร็วสูง เช่น บ่อเตน หลวงพระบาง วังเวียง จนถึงแม้แต่ตัวเวียงจันทน์เอง วันนี้เราช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายก้าว และหากจะยังดำเนินนโยบายล่าช้า และไม่ทันโลกแบบนี้อยู่ ก็เป็นไปได้ว่าสุดท้ายก็ต้องกู้เพิ่มแน่นอน

ด้านจุฑาพร กล่าวว่า มติครม. ล่าสุดที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้อที่ดินในประเทศไทยได้ในจำนวนไม่เกิน 1 ไร่  หากลงทุนตั้งแต่ 40 ล้านบาทขึ้นไป และต้องคงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปีในธุรกิจ สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะกฎหมายนี้จะส่งผลกระทบต่อชีวิต ความเป็นอยู่ ประชาชนในหลายมิติ

ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม. บางรัก กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันในหลายพื้นที่มีชาวต่างชาติ ซื้อที่ดินในไทยแล้ว แต่ใช้คนไทยเป็นนอมินีใส่ชื่อแทนไว้ หากร่างกฎหมายนี้นำมาบังคับใช้ ราคาอสังหาริมทรัพย์จะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยและคนรุ่นใหม่ที่พยายามสร้างเนื้อสร้างตัว ไม่สามารถมีบ้านและที่ดินเป็นของตนเองได้ รวมถึงจำนวนคนไร้บ้านจะเพิ่มสูงขึ้นอีก ซึ่งในปัจจุบันคนไร้บ้านมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  แม้ในพื้นที่กลางเมืองหลวง เขตบางรัก พบเห็นคนนอนตามฟุตบาทมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก รัฐบาลที่ดีจะมีนโยบายที่จะต้องสร้างรายได้ให้ประชาชนให้เพิ่มขึ้น ประชาชนจะได้มีเงินมาซื้อที่ดินเป็นของตัวเอง และทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของที่ดินง่ายขึ้น มากกว่าจะคิดขายที่ดินให้กับต่างชาติในขณะที่คนส่วนมากยังไม่มีที่ดินของตัวเอง

สำหรับเรื่องราคาพลังงานพุ่งสูง รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่าการที่ผู้นำขาดความรู้ความเข้าใจยิ่งทำให้เรื่องนี้เป็นปัญหามาตลอด โดยเฉพาะในช่วงหลังที่ราคาพลังงานมีราคาแพงขึ้นมาก ทำให้เห็นความผิดพลาดในการบริหารจัดการเพิ่มมากขึ้น ทั้งราคาน้ำมันที่มีราคาเพิ่มขึ้นมาก ราคาก๊าซหุงต้มที่พุ่งสูง และ ราคาไฟฟ้าที่มหาโหด 

โดยเฉพาะราคาไฟฟ้าที่พุ่งขึ้นมากถึงหน่วยละ 4.72 บาท และยังมีแนวโน้มที่จะขึ้นต่ออีก สาเหตุมากจากการบริหารเชื้อเพลิงที่ผิดพลาด และอีกส่วนหนึ่งมาจากให้ใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าที่เกินกว่าความจำเป็นมาก ทำให้มีปริมาณการผลิตไฟฟ้าสูงกว่า 50% ทำให้ต้องจ่ายค่าความพร้อมสำหรับโรงงานไฟฟ้าที่สร้างเสร็จแต่ไม่ได้จ่ายไฟฟ้าเป็นจำนวนที่สูงเดือนละหลายพันล้านบาท แต่ล่าสุดทั้งๆที่มีปริมาณการผลิตที่เกิน แต่พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังจะออกใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าใหม่ถึง 5,203 เมกกะวัตต์ ซึ่งจะยิ่งทำให้การผลิตไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตล้นอยู่แล้ว ล้นเพิ่มขึ้นอีก และถึงแม้จะอ้างว่าเป็นการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดและลมซึ่งเป็นอนาคต แต่คำถามก็ยังคงมีว่าแล้วแล้วได้มีการลดการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอซซิลลดลงไหม ซึ่งไม่เห็นมี การผลิตไฟฟ้าเพิ่มโดยไม่ลดส่วนอื่นลง อย่างไรก็ยิ่งทำให้การผลิตไฟฟ้าล้นเกินและจะมาเพิ่มค่าความพร้อมให้มากขึ้นไปอีก ดังนั้นจึงอยากให้พิจารณาให้ดี อย่าดำเนินการโดยไม่ได้ศึกษาหรือต้องการแค่จะเอาใจนายทุนเท่านั้น เพราะจากข้อมูลที่ได้รับ ทีการล็อกสเป็กให้กับผู้ประกอบการบางกลุ่มไว้แล้ว โดยมีผู้ประกอบการหลายรายไม่สามารถจะเข้าร่วมโครงการนี้ได้ นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งในวงการพลังงานในระดับสูงแทบทุกระดับ ตามที่จะมีข่าวการเปลี่ยนประธานบอร์ด บมจ. ปตท. ทั้งที่เจ้าตัวยังไม่ได้ลาออก และจะลามไปเป็นการเปลี่ยนซีอีโอ ของ บมจ. ปตท. ด้วย รวมถึงการจะเปลี่ยนปลัดกระทรวงพลังงาน ทั้งนี้เพราะไม่ตามใจผู้มีอำนาจ หรือ ต้องการเอาใจนายทุนผู้มีอิทธิพลเท่านั้น ซึ่งหากเป็นจริงความเสียหายทางด้านพลังงานจะมีปัญหามากยิ่งขึ้น และหากเป็นจริงนี่ก็เป็นการขายชาติทางด้านพลังงานอีกรูปแบบหนึ่งและไม่ได้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด

รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่รัฐบาลอ้างว่าผลการบริหารงานทำให้คนจนและคนว่างงานลดลง ซึ่งย้อนแย้งกับปริมาณบัตรคนจนที่แจกมากขึ้นถึง 23 ล้านใบ อีกทั้งหลักการการนับปริมาณคนว่างงานของไทยยังไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง เพราะคนว่างงานของไทยมากกว่าตัวเลขที่รายงานมาก แถมยังมีการว่างงานแฝงในภาคเกษตรกรรมอีกเป็นจำนวนมาก 

สำหรับประเด็นน้ำท่วมที่อุบลราชธานี-ภาคอีสาน เอกชัย ส.ส.อุบลราชธานี และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาอุบลราชธานี และ พื้นที่อีสานหลายพื้นที่ ประสบวิกฤติน้ำท่วม น้ำท่วมครั้งนี้ระดับน้ำ ในจังหวัดอุบลราชธานี สูงที่สุดในรอบ 44 ปี ท่วมหนักกว่า ปี 2562 ท่วมหนักกว่าปี 2554 และยังท่วมยาวนานกว่ามากอีกด้วย แม้กระทั่งขณะนี้ถนนหลายสายในจังหวัดอุบลราชธานี ก็ยังจมน้ำอยู่ บ้านหลายหลังยังมีน้ำท่วมขัง พื้นที่เกษตรหลายพื้นที่เสียหายจากน้ำท่วม ผลผลิตทางการเกษตรสูญสิ้น พี่น้องเกษตรกรที่ประสปภัยน้ำท่วม ควรได้รับการช่วยเหลือเยียวยามากกว่าเกษตรกรที่ไม่ได้ประสบปัญหาน้ำท่วม ไม่ควรตัดสิทธิในการได้รับเงินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 1,000 บาท และ สิทธิในการได้รับเงินส่วนต่างประกันรายได้ ซึ่งถ้าตัดสิทธิ์ในการได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและเงินส่วนต่างประกันรายได้ของเกษตรกรผู้ถูกน้ำท่วม เชื่อว่าชาวนาหลายรายคงไม่ได้แจ้งให้ทางรัฐบาลทราบเพราะเกรงจะได้เงินช่วยเหลือน้อยกว่าเดิม ทั้งๆ ที่น้ำท่วมข้าวเสียหายหมด แต่ได้รับเงินช่วยเหลือสนับสนุนน้อยกว่าผู้ที่น้ำไม่ท่วม รัฐบาลต้องมีความชัดเจนในการคงการรับสิทธิ์ต่างๆที่ได้รับแต่เดิมด้วย วันนี้น้ำท่วมกำลังจะผ่านไปแต่ผลกระทบนั้นมากมาย นอกจากการช่วยเหลือเยียวยาบ้านเรือนและเกษตรกรแล้ว การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ธุรกิจภูมิภาค และโครงสร้างพื้นฐานอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญ ควรอาศัยโอกาสนี้ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาค โครงสร้างพื้นฐานที่ดีจะดึงดูดการลงทุน ยังมีอีกหลายวิธีที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและดึงดูดการลงทุน นอกเหนือจากการขายที่ดินให้ต่างชาติ 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net