'เพนกวิน พริษฐ์' เปิดล่าชื่อ change.org ร้องเรียนรัฐบาลหยุดการนองเลือดในพม่า

เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ เปิดแคมเปญล่ารายชื่อเรียกร้องถึงรัฐบาลให้หาแนวทางยุติการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลทหารพม่าที่สังหารและจับกุมประชาชนตัวเองที่ออกมาต่อต้านนับตั้งแต่กองทัพทำรัฐประหารนับตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นต้นมามีจำนวนผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 2,000 คน

บนเว็บไซต์ Change.org พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน เปิดแคมเปญล่ารายชื่อเพื่อเรียกร้องถึงประยุทธ์ จันทรโอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และใฐานะที่ปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเอเปก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ต้องมีแนวทางในการยุติความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศพม่าโดยรัฐบาลทหารพม่าใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหารที่ดำเนินมาแล้วกว่า 20 เดือน

ในแคมเปญระบุว่านับตั้งแต่รัฐบาลทหารพม่าทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ.2564มีพลเรือน นักศึกษา นักเคลื่อนไหว คนทำงานด้านสาธารณสุข เเละนักการเมืองที่ไม่ยอมรับการทำรัฐประหาร ถูกสังหารกว่า 2,000 คน อีกเกือบ 15,000 คน ถูกจับกุม และยังมีประชาชนกว่า 1.3 ล้านคน ที่ต้องพาครอบครัวหนีออกจากบ้านเรือนของตนเอง และในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สัญญาณความโหดร้ายได้ก่อตัวขึ้นอีก เมื่อกองทัพกลับมาประหารชีวิตนักโทษการเมืองอีกครั้งหลังหยุดใช้โทษนี้ไปกว่า 50 ปี และการจะหยุดสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้ต้องกระตุ้นรัฐบาลทั่วโลกให้หยุดส่งเสริมกองทัพพม่าและหน่วยงานที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนต้องได้รับการลงโทษตามกฎหมาย

นอกจากนั้นรัฐบาลทหารเมียนมากลับสังหาร ลักพาตัว จับกุมคุมขัง ทรมาน ข่มขืน จนไปถึงการใช้โทษประหารชีวิตเพื่อกำจัดคนที่เห็นต่าง และกองทัพยังก่อความรุนแรงและอาชญากรรมสงครามโดยใช้อาวุธสงครามประเภทต่างๆ ต่อผู้ประท้วงอย่างสงบและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ทำให้ประชาชนต้องบาดเจ็บ ทรมาน เสียชีวิต และต้องหลบหนีเพื่อเอาตัวรอดไปยังถิ่นฐานอื่น นอกจากนี้ กองทัพยังสั่งตัดอินเทอร์เน็ตในบางพื้นที่ เพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล เผาทำลายหมู่บ้าน จำกัดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไม่ให้ประชาชนเข้าถึง

“แม้จะเกิดการปราบปรามนองเลือดเช่นนี้ แต่ชาวเมียนมาหลายล้านคนยังคงต่อสู้ยืนหยัดอย่างกล้าหาญต่อไป ผมจึงอยากเชิญชวนทุกคนร่วมลงชื่อเพื่อยืนหยัดเคียงข้างการต่อสู้ของพี่น้องประชาชนเมียนมา เช่นเดียวกับที่พวกเขาร่วมยืนหยัดเคียงข้างการต่อสู้ของประชาชนไทยที่ผ่านมา และเพื่อยืนยันว่าสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยเป็นสมบัติร่วมกันของคนทุกชาติ โดยไม่มีเส้นพรมแดนใดกีดกั้น หากประชาธิปไตยมาถึงเมียนมา ก็จะมาถึงไทยเช่นกัน” พริษฐ์ ระบุในแคมเปญ และได้ระบุถึงข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยไว้ 4 ข้อ คือ

1. ในฐานะเจ้าภาพผู้จัดการประชุมเอเปก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) รัฐบาลไทยต้องใช้วิธีการทุกอย่างที่เป็นไปได้ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระหว่างชายแดน

2. ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน กลุ่มพหุภาคี และองค์การระหว่างประเทศเช่นหน่วยงานในสหประชาชาติเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและด้านมนุษยธรรมในเมียนมา

3. รับผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและประกันการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในประเทศไทย รวมทั้ง ละเว้นจากการเนรเทศหรือการส่งกลับของผู้ขอลี้ภัยชาวเมียนมาจากความหวาดกลัวซึ่งมีมูลอันจะกล่าวอ้างได้ว่าจะถูกประหัตประหาร และให้ความคุ้มครองแก่ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและหยุดการดำเนินคดีกับพวกเขาระหว่างพำนักในประเทศไทย

4. หน่วยงานของรัฐต้องออกประกาศ ระเบียบ หรือกฎกระทรวงอย่างเป็นทางการแก่ผู้ประกอบการธุรกิจและรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามหลักการของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGP) ที่ลงนามโดยประเทศไทย เพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบของบริษัทอย่างเต็มที่ที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ หรือมีส่วนร่วมในกองทัพเมียนมาและหน่วยงานในเครือในฐานะผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ หน่วยงานของรัฐเหล่านี้จะต้องกำหนดมาตรการคว่ำบาตรโดยเจาะจงต่อบริษัทในเครือทางทหาร และระงับความช่วยเหลือทางการเงินและการลงทุนในโครงการระหว่างรัฐในเมียนมา

ณ วันที่ 3 พ.ย.2565 เวลา 13.30 น. ผู้ร่วมลงชื่อแล้ว 1,614 รายชื่อ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท