Skip to main content
sharethis

เยาวชนทะลุแก๊ซวัย 13 ปี และนักกิจกรรมภาคีSaveบางกลอย เข้าพบตัวแทน UN ขอให้ช่วยเร่งรัด จนท. สอบสวนคดีที่เจ้าตัวถูกกลุ่มบุคคลไม่ทราบฝ่ายทำให้มอเตอร์ไซค์ชำรุดจนเกิดอุบัติเหตุ-ถูกคุกคามทำร้าย หลังเคยแจ้งความที่ สน.แล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

 

3 พ.ย. 2565 สื่อ The Reporters รายงานวันนี้ (3 พ.ย.) ที่หน้าสำนักงานสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก เวลา 12.30 น. สมาชิกภาคีSaveบางกลอย ได้แก่ อัญชลี อิสมันยี และ 'พิมพ์' แทนฤทัย แท่นรัตน์ วัย 22 ปี และ 'เอีย' สมาชิกทะลุแก๊ซอายุ 13 ปี ขอเข้าพบตัวแทนสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ประจำประเทศไทย เพื่อขอให้เร่งรัดการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐติดตามกรณีที่สมาชิกภาคีSaveบางกลอย และสมาชิกทะลุแก๊ซ ถูกบุคคลไม่ทราบฝ่ายคุกคาม และทำร้ายร่างกาย 

การยื่นเข้าพบตัวแทนของยูเอ็น ประจำประเทศไทย ของกลุ่มภาคีSaveบางกลอย วันนี้ (3 พ.ย.) เป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากเมื่อ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากนักกิจกรรมการเมืองว่า 'พิมพ์' สมาชิกภาคีSaveบางกลอย ถูกบุคคลใช้คีมบิดสายคลัตช์ จนประสบอุบัติเหตุที่บริเวณสะพานพระราม 8 

อีกกรณีคือเมื่อ 22 ต.ค. 2565 เวลาประมาณตี 3 มีรายงานจากนักกิจกรรมแจ้งด้วยว่า 'เอีย' เยาวชนวัย 13 ปี และเป็นสมาชิกกลุ่มทะลุแก๊ซ ถูกบุคคลไม่ทราบฝ่าย 6 คน และทั้งหมดมีการพกอาวุธติดตัว เข้ามารุมทำร้ายโดยไม่ทราบสาเหตุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัญชลี กล่าวว่า ที่มายื่นหนังสือวันนี้เพื่อขอให้ทางยูเอ็นช่วยรับรองความคุ้มครอง และเร่งรัดทางการไทยให้ช่วยเหลือเรื่องการคดีการทำร้ายนักกิจกรรมทั้ง 2 ราย โดยเฉพาะในกรณีของ 'เอีย' ซึ่งเป็นเยาวชน และเป็นกลุ่มเปราะบางที่ถูกทำร้ายร่างกาย นอกจากนี้ ในเหตุการณ์ที่มีการทำร้าย 'เอีย' เมื่อ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่บริเวณที่ถูกคุกคาม แต่ในช่วงที่มีการทำร้ายร่างกาย กลับไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ายับยั้งเหตุการณ์ดังกล่าว 

อัญชลี อิสมันยี ภาคีSaveบางกลอย (ที่มา: ไลฟ์สด The Reporters)

ภาคีSaveบางกลอย กล่าวต่อว่า แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีหลักฐาน หรือฟันธงได้ว่าผู้ที่คุกคามเป็นใคร หรือมาจากไหน แต่เธอตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่รัฐอาจมีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากประชาชนทั้ง 2 คนเคยออกมาร่วมชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองหลายครั้ง และเคยมีรายงานถูกเจ้าหน้าที่ติดตามตัวมานาน นอกจากนี้ เธอกล่าวต่อว่า จากเหตุการณ์ทำร้ายเยาวชนวัย 13 ปี ผู้ก่อเหตุมีการพกอาวุธติดตัว ซึ่งเธอมองว่าคนธรรมดาไม่น่าจะพกสิ่งของเหล่านี้ได้ หรือในเหตุการณ์ที่มีความพยายามทำให้สายคลัตช์มอเตอร์ไซค์ของนักกิจกรรมชำรุดในจุดที่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าอยู่บริเวณดังกล่าว คนอื่นจะทำได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่ทางเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง 

ก่อนหน้านี้มีการไปแจ้งความและลงบันทึกประจำวันกับทางสถานีตำรวจในท้องที่ แต่ยังไม่มีความคืบหน้า แต่อย่างไรก็ตาม สมาชิกภาคีฯ ยืนยันว่า เธอจะต่อสู้ตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป

นอกจากแจ้งความแล้ว อัญชลี และผู้เสียหายทั้ง 2 คน มีการยื่นเรื่องร้องเรียนกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. เมื่อ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งอัญชลี เผยว่า ทาง กสม.รับเรื่องและแสดงความเป็นห่วงต่อกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะกรณีของเอีย เยาวชนอายุ 13 ปี ที่ถูกทำร้ายร่างกาย นอกจากนี้ สมาชิกภาคีฯ กล่าวย้ำว่า เธอเองมีความกังวลด้านจิตใจของเยาวชนอีกด้วย 

“ที่เราออกมาทำเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะว่าพิมพ์ เป็นเพื่อนเรา หรือเอีย เป็นนักกิจกรรมประชาธิปไตย แต่เรามองว่า ไม่มีใครสมควรที่จะต้องมาเจอเรื่องนี้ ไม่ว่าจะจากเจ้าหน้าที่ หรือใครก็ตาม จากการถูกคุกคามอย่างนี้”

"(ผู้สื่อข่าว - อยากกระตุ้นเตือน) คนในสังคมด้วย เพราะว่าเรื่องแบบนี้มันไม่ใช่แค่คนที่ออกมาเรียกร้อง แม้กระทั่งคนธรรมดาที่อยู่ในสังคม ก็ถูกทำร้ายเมื่อไรก็ได้ โดยปราศจากการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐ มันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น" อัญชลี กล่าวทิ้งท้าย

ผู้สื่อข่าว The Reporters รายงานต่อว่า กำหนดการหลังจากนี้ อัญชลี อิสมันยี 'พิมพ์' แทนฤทัย แท่นรัตน์ และ 'เอีย' เยาวชนอายุ 13 ปี จะเข้าด้านในสำนักงานยูเอ็น เพื่อพบและพูดคุยถึงความกังวลต่อไป 

UN เตรียมรับช่วยต่อ หากไร้ความคืบหน้า

อัญชลี ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวประชาไท เมื่อเวลา 15.00 น. หลังเข้าพบกับยูเอ็น ระบุว่า ทางยูเอ็นมีการสอบถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหายทั้ง 2 ราย และทางยูเอ็น จะให้การช่วยเหลือโดยการประสานกับ กสม.ก่อนว่า ทำเรื่องกดดันไปยัง สน.ท้องที่เกิดเหตุรึยัง ซึ่งหาก กสม.ยังไม่ได้ดำเนินการ ทางยูเอ็น จะรับเรื่อง และดำเนินการแทน

อัญชลี อิสมันยี และแทนฤทัย แท่นรัตน์ ยื่นหนังสือถึง กสม. เมื่อ 27 พ.ย. 2565

อัญชลี กล่าวต่อว่า ทางยูเอ็น แนะนำกับผู้เสียหายด้วยว่า หากยังรู้สึกไม่ปลอดภัย สามารถยื่นร้องเรียนไปที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จะช่วยดำเนินการอีกทางโดยการส่งเรื่องไปสำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถ้าพิจารณาแล้วมีข้อกังวล ทางยูเอ็นจะส่งจดหมายกลับมายังรัฐบาลไทย และกดดันกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ทราบว่ายูเอ็น จับตาดูเรื่องนี้อยู่ แต่อัญชลี กล่าวเพิ่มว่า ถ้าถามว่าสามารถกดดันรัฐบาลไทยได้ขนาดไหน เรื่องนี้อาจไม่สามารถตอบไต้ 

สมาชิกภาคีSaveบางกลอย กล่าวถึงความรู้สึกหลังคุยกับทางยูเอ็นว่า อุ่นใจมากขึ้น เพราะเรื่องการถูกคุกคามได้มาพูดในระดับสากล ซึ่งไม่ใช่แค่คุยในวงนักกิจกรรม แต่เรื่องนี้ไปถึงระดับสหประชาชาติ และผู้ประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน เป็นผู้ลงมารับเรื่องเอง และทางยูเอ็น บอกเองด้วยว่า เรื่องนี้เป็นการคุกคามถึงชีวิต และก็มีความห่วงใยและตั้งใจรับฟังเรื่องร้องเรียน

สภาพจิตใจเยาวชนทะลุแก๊ซ

สำหรับสภาพจิตใจของนักกิจกรรมทั้ง 2 รายนั้น อัญชลี ระบุว่า กรณีของ ‘เอีย’ หลังจากเกิดเหตุการณ์ถูกทำร้าย ก็ไม่กล้าขับมอเตอร์ไซค์อีกเลย และก่อนหน้านี้ ‘เอีย’ เคยเล่าให้เธอฟังว่า เขาเคยถูกเอาปืนจี้โดยบุคคลที่คาดว่าจะเป็นตำรวจแถวสะพานพุทธด้วย ขณะที่ ‘พิมพ์’ มีอาการปวดศีรษะหลังประสบอุบัติเหตุ แต่ยังไม่มีโอกาสไปพบแพทย์

สร้างสถานการณ์ (?)

จากกรณีที่มีผู้ตั้งคำถามว่า การกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคุกคามนักกิจกรรมถือเป็นการด่วนสรุปที่เร็วเกินไป หรือเป็นการสร้างสถานการณ์ของนักกิจกรรมเองหรือไม่นั้น สมาชิกภาคีSaveบางกลอย ยอมรับว่าปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัดเจาะจงว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง และพอไปขอหลักฐาน เจ้าหน้าที่ก็ระบุว่าไม่เห็นตัวผู้กระทำผิด หรือถ้ามองอย่างเป็นกลางอาจจะเป็นใครก็ได้ที่เป็นผู้กระทำผิด หรืออาจเกิดจากความขัดแย้งส่วนตัว แต่ทั้ง 2 คนยืนยันว่าไม่เคยมีปัญหาส่วนตัวในระดับรุนแรง

อย่างไรก็ตาม สมาชิกภาคีฯ มองว่า สิ่งที่แย่คือเจ้าหน้าที่รัฐที่ควรมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองประชาชน และนำเขาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือหาหลักฐานให้ แต่กลับเตะถ่วงการสอบสวน และนำไปสู่การตั้งข้อสังเกตว่า ‘คุณเป็นผู้ลงมือกระทำเองรึเปล่า หรือคุณมีส่วนสมรู้ร่วมคิด’ ซึ่งนี่ไม่ใช่การฟันธงตั้งแต่แรก แต่การที่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่นี่แหละที่สร้างข้อสงสัยนี้

“ถ้าคุณจะเอาตัวเองให้พ้นข้อกล่าวหาเหล่านี้ได้ หรือดีเฟนซ์ตัวเอง พวกคุณต้องทำเรื่องมันโปร่งใสที่สุด เริ่มจากการเอาหลักฐานออกมาเพื่อเคลียร์ตัวเอง และไม่ใช่แค่เพื่อตัวของเราเอง เพื่อตัวของคุณเองทั้ง สน.ดุสิต และ สน.ชนะสงคราม ว่าพวกคุณไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ 2 เหตุการณ์นี้จริงๆ” สมาชิกภาคีSaveบางกลอย กล่าวทิ้งท้าย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net