Skip to main content
sharethis

ไทยเสนอกระชับความเป็นหุ้นส่วนอาเซียน-สหรัฐ 3 ประเด็น หวังยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก และข้อริเริ่มอื่นๆ ของสหรัฐฯ อาทิ “ออคัส” กลุ่มภาคี “คว้อด” และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก จะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ และหวังที่จะเห็นมหาอำนาจและผู้เล่นสำคัญในภูมิภาคทำงานร่วมกัน

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ครั้งที่ 10 ซึ่งเป็นการประชุมแบบเต็มคณะ (plenary) โดยมีสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เป็นประธานการประชุม และมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ (เมียนมาไม่เข้าร่วม) นายโจเซฟ อาร์. ไบเดน จูเนียร์ ประธานาธิบดีสหรัฐ และเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วม โดยในการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ทบทวนความคืบหน้าและกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐ ด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยภายหลังการประชุม นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยสาระสำคัญจากคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี ดังนี้

นายกรัฐมนตรีถือว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมสำคัญที่จะได้ทบทวน กำหนดทิศทางความสัมพันธ์ว่าจะก้าวไปข้างหน้าร่วมกันอย่างไร ท่ามกลางวิกฤตและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกและในภูมิภาค ความท้าทายในโลกยังทวีความรุนแรงและซับซ้อนยิ่งขึ้น เกิดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนา วิกฤตด้านอาหารและพลังงาน ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความขัดแย้งระหว่างประเทศ

นายกรัฐมนตรีเห็นว่าการจะก้าวข้ามผ่านอุปสรรคเหล่านี้ได้ต้องสร้างความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้กระชับความเป็น “หุ้นส่วน” ใน 3 ประเด็น ดังนี้

1. “หุ้นส่วนเพื่อสร้างบรรยากาศของความร่วมมือในภูมิภาค” ยินดีที่สหรัฐฯ สนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง และหวังว่ายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก และข้อริเริ่มอื่น ๆ ของสหรัฐฯ อาทิ “ออคัส” กลุ่มภาคี “คว้อด” และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ และหวังที่จะเห็นมหาอำนาจและผู้เล่นสำคัญในภูมิภาคทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือภายใต้หลักการของมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก โดยควรคว้าโอกาสทองจากการประชุมใหญ่สามการประชุมในภูมิภาคในห้วงสัปดาห์นี้ เพื่อหารือทางออกที่เป็นไปได้สำหรับวิกฤตที่เร่งด่วน

2. “หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจ” สหรัฐ ควรส่งเสริมการพัฒนาด้านดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการพัฒนาขีดความสามารถให้แก่แรงงานและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ MSMEs สตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการสตรี นายกรัฐมนตรีหวังว่า กิจกรรม “เทรดวินส์บิสซิเนสฟอรั่ม” ที่ไทยในปีหน้า จะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจในสาขาเหล่านี้ด้วย

3. “หุ้นส่วนเพื่อการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ยินดีที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับวาระนี้ เพื่อดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบรรลุผลต้องสนับสนุนกลไกทางการเงินสีเขียว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และการลงทุนและการสร้างงานในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในโอกาสนี้ ไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคจะมุ่งเน้นการสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง และสมดุลแบบองค์รวม โดยมีโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวคิดพื้นฐาน ซึ่งไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับสหรัฐ ในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีหน้า เพื่อขับเคลื่อนวาระนี้อย่างต่อเนื่องและให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าความเป็นหุ้นส่วนในประเด็นเหล่านี้จะเป็นแกนหลักสำคัญช่วยให้ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐ มีความเข้มแข็ง และเป็น “พลัง” พาภูมิภาคและโลกเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนกว่าเดิม

ประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย เน้นย้ำจุดแข็งร่วมกัน

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 19 โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ (เมียนมาไม่เข้าร่วม) นายชัคทีป ธันขระ รองประธานาธิบดีอินเดีย และเลขาธิการอาเซียน เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย ตลอดจนทบทวนความคืบหน้า และกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ในทุกมิติ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่ารู้สึกยินดีที่ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ความร่วมมือของอาเซียนและอินเดียได้พัฒนาก้าวหน้าไปในทุกมิติบนพื้นฐานของความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์และสายสัมพันธ์ทางอารยธรรม อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีมองว่าอาเซียนและอินเดียมี “จุดแข็งร่วมกัน” ที่จะช่วยปลดล็อกศักยภาพด้านเศรษฐกิจ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้พร้อมเดินหน้าผ่านความท้าทายต่าง ๆ ไปสู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน ดังนี้

จุดแข็งแรก คือ “ความเชื่อมโยง” อาเซียนและอินเดียควรใช้ประโยชน์จากความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ ส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านกายภาพ ผ่านการผลักดันการดำเนินโครงการทางหลวงสามฝ่ายฯ และส่วนขยาย รวมถึงการเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือสำคัญต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจที่มีศักยภาพระหว่างกัน และอาจขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้ได้ด้วย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ ไทยยินดีที่อาเซียน-อินเดียเริ่มกระบวนการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าระหว่างกัน ให้ทันสมัยและอำนวยความสะดวกต่อภาคธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคด้วย

จุดแข็งที่สอง คือ “การพัฒนาด้านดิจิทัล” ไทยสนับสนุนให้อินเดียคว้าโอกาสในตลาดดิจิทัลอาเซียน ที่คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 360,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยการกระชับความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในภูมิภาค โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและการค้าดิจิทัล ซึ่งไทยมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีศักยภาพรองรับการลงทุนและการส่งเสริมความร่วมมือดังกล่าว นอกจากนี้ อินเดียในฐานะประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมดิจิทัล และมีธุรกิจที่มีมูลค่าสูง (ยูนิคอร์น) กว่า 100 ราย สามารถขยายการลงทุน และช่วยบ่มเพาะผู้ประกอบการดิจิทัลสตาร์ทอัพและ MSMEs ตลอดจนสร้างยูนิคอร์นรายใหม่ ๆ ในภูมิภาค เพื่อให้สามารถแข่งขันในเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย

จุดแข็งที่สาม คือ “ความร่วมมือใต้-ใต้ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่สำคัญ อาทิ เกษตรอัจฉริยะ การวิจัยและพัฒนายาและวัคซีน และพลังงานหมุนเวียน เพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหาร สาธารณสุข และพลังงาน ตลอดจนเร่งสร้างความคืบหน้าของการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งยังสามารถร่วมกันผลักดันแนวทางที่เน้นการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยไทยมีโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นวาระสำคัญภายใต้การเป็นประธาน BIMSTEC ของไทย และเห็นว่าเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับประเด็นที่อินเดียให้ความสำคัญภายใต้การเป็นประธานกลุ่ม G20 ในปีหน้าด้วย

นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำถึงการมีสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่เข้มแข็ง และการมีบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจที่ผู้เล่นสำคัญต่าง ๆ สามารถร่วมมือและร่วมกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างสร้างสรรค์ และหวังที่จะเห็นบทบาทที่แข็งขันของอินเดียในการผลักดันวาระดังกล่าวร่วมกับอาเซียน เพื่อสร้างดุลยภาพทางยุทธศาสตร์ให้แก่ภูมิภาค

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ความมุ่งมั่นร่วมกันในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภูมิภาค และการลงมือขับเคลื่อน “จุดแข็ง” ข้างต้นอย่างจริงจัง จะเป็นแกนหลักสำคัญของการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านอาเซียน-อินเดีย ไปสู่ทศวรรษใหม่ ที่เศรษฐกิจและประชาชนจะเติบโตไปด้วยกันได้อย่างเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ในทุกด้าน

ประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย ครั้งที่ 2 โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 9 ประเทศ เลขาธิการอาเซียน และนายแอนโทนี แอลบาเนซี (The Honourable Anthony Albanese MP) นายกรัฐมนตรีเครือรัฐออสเตรเลีย ร่วมกล่าวถ้อยแถลง เพื่อทบทวนความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน – ออสเตรเลียในรอบปีที่ผ่านมา กำหนดทิศทางของการดำเนินความสัมพันธ์ให้มีพลวัต แน่นแฟ้น ครอบคลุม และยั่งยืน

นายกรัฐมนตรียืนยันความพร้อมขับเคลื่อนความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย ที่มีมายาวนานเกือบ 5 ทศวรรษ ให้มีพลวัต ครอบคลุม เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และเกื้อกูลกับการเสริมสร้างประชาคมอาเซียน ท่ามกลางความท้าทาย ทั้งสองฝ่ายต้องเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน ผ่านการใช้ประโยชน์จากข้อริเริ่มต่าง ๆ ภายใต้ความร่วมมืออาเซียน- ออสเตรเลีย และกลไกอื่น ๆ ที่อาเซียนมีบทบาทนำ เพื่อเพิ่มพูนความยืดหยุ่นให้แก่ภูมิภาคในการรับมือกับความท้าทาย ทั้งนี้ ไทยยินดีที่จะร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือต่อ ASEAN Outlook on Indo-Pacific (AOIP) ซึ่งจะส่งผลต่อการเสริมสร้างเสถียรภาพ ความไว้เนื้อเชื่อใจ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในช่วงปีที่ผ่านมา อาเซียนและออสเตรเลียมีพัฒนาการที่สำคัญ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ สามารถสรุปผลการเจรจาเพื่อยกระดับความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน- ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ไทยยินดีที่ออสเตรเลียสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED) โดยมีที่ตั้งอยู่ที่ประเทศไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำการขับเคลื่อนให้สามารถดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนอาเซียนจากภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขในรูปแบบต่าง ๆ

นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ไทยประสงค์ให้ที่ประชุมพิจารณาความเป็นไปได้ที่อาเซียนและออสเตรเลียจะร่วมกันจัดกิจกรรมที่นอกเหนือจากข้อริเริ่มที่เป็นรูปธรรมในปี 2566 ใน 3 สาขาที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยี ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยพิจารณาความร่วมมือในด้านการขจัดขยะทะเลและการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน

นายกรัฐมนตรียังเน้นย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และการดำเนินความร่วมมือที่สร้างสรรค์เพื่อนำพาภูมิภาคให้ผ่านพ้นความท้าทายและภัยคุกคามร่วมกันได้อย่างยั่งยืน รวมทั้ง บทบาทออสเตรเลียและความร่วมมือในกลุ่ม Quad และ AUKUS จะสร้างบรรยากาศแห่งสันติภาพในภูมิภาคและโลก ไทยพร้อมต้อนรับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียในการประชุมเอเปค และร่วมฉลองการครบรอบ 70 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับออสเตรเลียด้วย

ไทยมุ่งเสริมสร้างสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 25 โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 9 ประเทศ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมประชุม เพื่อทบทวนความร่วมมือในรอบปีที่ผ่านมา กำหนดทิศทางความสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่านายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้เชิญนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวเปิดการประชุม ตามด้วยนายกรัฐมนตรีไทย ในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น กล่าวถ้อยแถลง

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีไทยกล่าวถ้อยแถลงในนามอาเซียนว่า “คากายาเครุ ยูโจว, คากายาเครุ คิไก” “มิตรภาพเรืองรอง โอกาสทองของเรา” ซึ่งเป็นคำขวัญสำหรับการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่นที่จะจัดขึ้น สะท้อนมิตรภาพและความร่วมมืออย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และความเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน รวมทั้งเห็นชอบที่จะจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ในปีหน้า และยินดีกับความก้าวหน้าในการปฏิบัติตามแผนดำเนินงานตามถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น และเมื่อมองไปข้างหน้า อาเซียนเห็น “โอกาสทอง” มากมายในมิตรภาพของทั้งสองฝ่าย

นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำถึงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านสาธารณสุข โดยไทยขอบคุณญี่ปุ่นที่สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED) และยินดีที่อาเซียนบรรลุฉันทามติเกี่ยวกับประเทศเจ้าภาพและรูปแบบของศูนย์ ACPHEED แล้ว และมุ่งหวังว่าจะจัดทำความตกลงการจัดตั้งศูนย์ฯ ได้แล้วเสร็จต่อไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อาเซียนและญี่ปุ่นควรร่วมกันเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อสันติภาพและความมั่นคง ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก โดยส่งเสริมความร่วมมือบนพื้นฐานของหลักการภายใต้เอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP) และส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง AOIP กับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างของญี่ปุ่นเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อาเซียนมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง รวมทั้งกำหนดแนวทางการดำเนินการเชิงยุทธศาสตร์สำหรับอาเซียนและญี่ปุ่น เพื่อมุ่งสู่การฟื้นฟูที่ครอบคลุม ยืดหยุ่น และยั่งยืนยิ่งขึ้น พร้อมย้ำถึงความสำคัญของความเชื่อมโยงและความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค และสนับสนุนให้ภาคธุรกิจของญี่ปุ่นลงทุนในอาเซียนต่อไป เพื่อให้อาเซียนเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญ โดยพร้อมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

สำหรับความร่วมมือทางสังคมและวัฒนธรรม ขอบคุณญี่ปุ่นที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม กีฬา และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งมั่นที่จะเพิ่มความพยายามร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน ด้านประเด็นปัญหาในภูมิภาคและระหว่างประเทศ อาเซียนมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับภาคีภายนอกทั้งหมดเพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสันติภาพ เสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาค ขณะที่ประเด็นทะเลจีนใต้ เน้นย้ำความสำคัญของการดำเนินการตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (DOC) และมุ่งหมายที่จะจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (COC) ที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) ค.ศ. 1982 ให้สำเร็จลุล่วง รวมทั้งประเด็นคาบสมุทรเกาหลี เน้นการหารือโดยสันติอย่างต่อเนื่องระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมุ่งมั่นในการดำเนินการตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งอาเซียนพร้อมที่จะแสดงบทบาทเชิงสร้างสรรค์ส่งเสริมบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเจรจาโดยสันติ

โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า อาเซียนมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างมิตรภาพให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และเพื่อยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของอาเซียน-ญี่ปุ่นให้สูงขึ้น และมีประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ โดยอาเซียนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การเฉลิมฉลอง 50 ปีแห่งมิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่

พอใจภาพรวมหลังร่วมประชุมอาเซียน

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยระบุว่าพอใจภาพรวมในการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ซึ่งมีการหารือกันในหลายประเด็น โดยเห็นชอบในหลักการรับติมอร์เลสเต เป็นสมาชิกใหม่ของอาเซียน และสามารถเข้าร่วมประชุมต่างๆ ของอาเซียนได้ในฐานะผู้สังเกตการณ์ และในระหว่างนี้อาเซียนจะต้องจัดทำแผนงาน สำหรับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกเต็มตัวของติมอร์เลสเตในอนาคต

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในการประชุมครั้งนี้เน้นย้ำ การสร้างปัจจุบันให้เข้มแข็ง ร่วมแรงสู่อนาคต และเคารพวิถีอาเซียน ซึ่งเป็นความหมายในตัวอยู่แล้ว เพื่อให้ประชาคมอาเซียนร่วมกันรับมือกับความท้าทายร่วมกัน ทั้งความร่วมมือภายในอาเซียน กับคู่เจรจา ทั้งเรื่องสาธารณสุขและรับมือกับภาวะฉุกเฉินโรคอุบัติใหม่ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการจัดตั้งสำนักงานซึ่งจะอยู่ที่ประเทศไทย ขณะเดียวกันการร่วมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจโดยใช้ประโยชน์จากอาร์เซป และปรับเรื่องเขตเสรีทางการค้าให้ทันสมัยและเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย รวมถึงการใช้ประโยชน์จากภาคีภายนอก โดยเฉพาะเรื่องอาหาร พลังงาน และพูดถึงความร่วมมือทั้งปัจจุบันและอนาคต ทางด้านดิจิทัลและนวัตกรรม ซึ่งเราจำเป็นต้องขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางนี้ เพราะจะทำให้ประเทศก้าวหน้าทางเศรษกิจ จะได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติ และเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยต้องผลักดันในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ BCG สีเขียว และอุตสาหกรรมที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างพลังให้กับประชาชนให้เข้าถึงโอกาส การพัฒนาบุคลากรให้เข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เรียนจบแล้วต้องมีงานทำมีอาชีพมีรายได้ รวมถึงมาตรการทางสังคมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมมือกันในทุกมิติให้ยั่งยืนต่อไป


ที่มาเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย [1] [2] [3] [4] [5]



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net