องค์กรแรงงานยื่นหนังสือ รมว.แรงงาน-ผบ.ตร.แก้ปัญหาให้คนงานต่างชาติ-จัดการ จนท.รีดไถเงิน

สหภาพคนทำงาน-เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ยื่นหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน และ สตช. เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล ขอให้ช่วยแก้ปัญหาของคนงานต่างชาติ มีมาตรการเยียวยาแรงงานที่ถูกนายจ้างหลอก พร้อมขอให้ ผบ.ตร.จัดการ จนท.ทุจริตรีดไถเงินคนงาน

 

20 ธ.ค. 2565 สื่อ The Reporters รายงานวันนี้ (20 ธ.ค.) เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 18 ธ.ค.ของทุกปี ตัวแทนสหภาพคนทำงาน และเครือข่ายด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group - MWG) ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับปัญหาด้านสิทธิของแรงงานข้ามชาติกลุ่มต่างๆ ในไทย ปรับปรุงการบริหารจัดการการทำงานของคนที่ไม่มีสัญชาติไทยในประเทศไทย กรณีที่คนไทยเดินทางไปทำงานต่างแดน ตลอดจนจัดการปัญหาตำรวจทุจริตรีดไถเงินแรงงานข้ามชาตื

สื่อ The Reporters รายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น. นางโสภา เกียรตินิรชา ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในการประชุมหารือ และนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมจัดหางาน รับหนังสือแทน ณ ห้องกลุ่มงานคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน

รายละเอียดหนังสือถึง รมว.แรงงาน

เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 

เรื่อง ข้อเสนอการพัฒนาการบริหารจัดการและการเข้าถึงสิทธิการคุ้มครองเนื่องในวันผู้อพยพโยกย้ายถิ่นสากล

เนื่องว่าในวันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันผู้อพยพโยกย้ายถิ่นสากล หรือ International Migrants Day ตามประกาศ องค์การสหประชาชาติ อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990 เพื่อให้แรงงานข้ามชาติทั่วโลกได้รับการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน และการปฏิบัติที่ดีจากรัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง โดยต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางเชื้อชาติ ภาษา สีผิว และเพศสภาพ สหภาพคนทำงานและเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) ได้เปิดพื้นที่รับฟังและรวบรวมปัญหา-ข้อเรียกร้องของผู้อพยพโยกย้ายถิ่นกลุ่มต่าง ๆ ในไทยต่อการบริหารจัดการการทำงานของคนที่ไม่มีสัญชาติไทยในประเทศไทยและกรณีคนไทยเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ โดยมีข้อเสนอต่อไปนี้

  1. ต้องลดเงื่อนไขขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการขออนุญาตเข้ามาทำงานในประเทศไทย และพัฒนาศูนย์บริการจัดหางานเบ็ดเสร็จ One Stop Service ทั้งที่มีลักษณะเป็นสำนักงานบริการประจำในพื้นที่ และในลักษณะออนไลน์ เพื่อลดภาระของแรงงานและนายจ้าง 
  2. ต้องแก้ไขปรับปรุงข้อตกลงการนำเข้าแรงงานระหว่างรัฐต่อรัฐ 
  3. ต้องปรับปรุงระบบจัดหางานที่กำหนดให้จัดทำผ่านบริษัทเอกชน กำหนดให้มีการจัดหาการช่วยเหลือด้านภาษา ระบบการรับร้องเรียนที่เข้าถึงง่าย มีกลไกติดตามตรวจสอบให้บริษัทเอกชนรับผิดชอบ เพื่อไม่เป็นการผลักภาระให้ผู้ร้องเรียนต้องเดินทางไปหลายแห่ง หลายครั้ง
  4. ต้องมาตรการช่วยเหลือเยียวยาแรงงานที่ตกเป็นเหยื่อบริษัทนายหน้า หรือนายจ้างฉ้อโกง สูญเสียเงิน และเอกสารประจำตัว จนไม่สามารถดำเนินการขออนุญาตทำงานตามกฏหมายได้ตามที่กฎหมายกำหนด 
  5. ให้กระบวนการเอาผิดกับนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามพระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน รวมถึงการที่นายจ้างจ้างแรงงานต่างด้าวเหมาช่วง จ้างทำของ   พระราชบัญญัติกองทุนประกันสังคม และพระราชบัญญัติกองทุนเงินทดแทน 
  6. เสนอให้กรรมการบริหารกองทุนเงินทดแทนพิจารณาออกระเบียบการเข้าถึงกองทุนโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ หรือการเข้าเมืองผิดกฎหมายของผู้เสียหาย โดยเปรียบเทียบกับระเบียบของกองทุนยุติธรรม ของกระทรวงยุติธรรม
  7. กระทรวงแรงงานต้องยืนยันหลักการการมีส่วนร่วมในการบริหารอย่างแท้จริงผ่านการเลือกตั้งผู้แทนผู้ประกันตนโดยต้องไม่กำหนดให้เฉพาะผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น
  8. ให้กระทรวงแรงงานเร่งรัดการบังคับให้บริษัทจัดหางานคนไทยไปต่างประเทศ ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้อย่างรวดเร็ว ให้ประสานกับประเทศปลายทางที่แรงงานไทยไปทำงานเพื่อดำเนินการตรวจสอบบริษัทในประเทศปลายทางที่รับคนไทยทำงานว่าดำเนินการตามกฎหมายของประเทศปลายทางถูกต้องหรือไม่

สุดท้ายนี้ สหภาพคนทำงานและเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติเห็นว่าการปรับปรุงกฎหมาย นโยบาย และการบริหารจัดการแรงงานต้องอยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชนที่ไม่ได้แบ่งแยกสัญชาติ เพศสภาพ หรืออื่น ที่ไม่ได้แบ่งแยกผู้คนผู้คนออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ  ตามสำนึกชาตินิยม เนื่องจากทุกคนคือแรงงาน ที่มีความเป็นพี่น้อง ต้องทำงานเพื่อเลี้ยงชีพและครอบครัวไม่ต่างกัน

ยื่นหนังสือถึง ผบ.ตร. จัดการ จนท.ไถเงินแรงงานข้ามชาติ ซ.กีบหมู

สื่อ The Reporters รายงานต่อว่า ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เวลา 15.00 น. ทางสหภาพฯ เข้าหารือและยื่นหนังสือเรียนต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยมี พ.ต.อ.ดิสดนัย ภูริปโชติ รองผู้บังคับการแผนงานอาชญากรรม ปฏิบัติหน้าที่เวรอำนวยการ รับยื่นหนังสือแทน

ธนพร วิจันทร์ ตัวแทนสหภาพคนทำงาน กล่าวกับตัวแทน ผบ.ตร.รับหนังสือว่า ช่วงที่ผ่านมา องค์กรแรงงานได้รับเรื่องร้องเรียนจากแรงงานข้ามชาติ และเกี่ยวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เนื่องด้วยช่วงนี้มีอยู่ระหว่างมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขึ้นทะเบียนทำบัตรอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติในไทย ‘สีชมพู’ ตั้งแต่ 25 ก.ค. 2565 จนถึง 13 ก.พ. 2566 แต่กลับถูกตำรวจรีดไถเงิน จึงอยากมาหารือกับ สตช. เพื่อหาแนวทางแก้ไข 

ธนพร กล่าวถึง กรณีเมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ด้านการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวและสถานประกอบการ ของกรมการจัดหางาน ลงพื้นที่บริเวณถนนเจริญพัฒนา ซอยสุเหร่าคลอง 1 (ซอยกีบหมู) แขวงบางชัน เขตคันนายาว จ.กรุงเทพฯ จับกุมแรงงานข้ามชาติ จำนวน 102 ราย ซึ่งธนพร ระบุว่า ปัญหาคือเมื่อจับไปแล้ว ตำรวจรีดไถเงินจากแรงงานข้ามชาติ คนละ 5,000 บาท เพื่อให้ปล่อยตัว จึงฝาก สตช.ช่วยตรวจสอบว่าจริงหรือไม่ เพราะว่าจะเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของตำรวจไทย และระบุว่าเธอไม่มีปัญหาหากกระบวนการจับกุมแรงงานข้ามชาติเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งถ้าพบว่าผิด ก็สามารถผลักดันกลับ

“เราอยากจะมองว่า ถ้านายจ้างต้องการที่จะจ้างงานถูกกฎหมาย ก็ต้องทำให้มันถูกกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องใช้กฎหมายให้มันเด็ดขาด มิใช่รีดเงินและก็ปล่อย สุดท้ายแล้วปัญหาเรื่องของการจ้างงานผิดกฎหมาย หรือว่าแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศผิดกฎหมายก็มากขึ้น” ธนพร กล่าว และระบุว่าอยากฝาก สตช.ประสานงานตามจังหวัดต่างๆ ที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากด้วย 

ด้านสมยศ พฤกษาเกษมสุข ตัวแทนองค์กรแรงงาน กล่าวกับเจ้าหน้าที่ว่า วันนี้มาร้องเรียนเรื่องบริษัทเอกชนจัดหาและส่งแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดน แต่พอแรงงานไทยกลับมาแล้ว กลับไม่ได้รับค่าจ้าง 

รายละเอียดหนังสือยื่นถึง สตช.

เรียน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

เรื่อง ข้อเสนอจากแรงงานในวันแรงงานข้ามชาติสากล

เนื่องว่าในวันที่ 18 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันผู้อพยพโยกย้ายถิ่นสากล หรือ International Migrants Day ตามประกาศองค์การสหประชาชาติ อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990 เพื่อให้แรงงานข้ามชาติทั่วโลกได้รับการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน และการปฏิบัติที่ดีจากรัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง โดยต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางเชื้อชาติ ภาษา สีผิว และเพศสภาพ สหภาพคนทำงานและเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) ได้เปิดพื้นที่รับฟังและรวบรวมปัญหา-ข้อเรียกร้องของผู้อพยพโยกย้ายถิ่นกลุ่มต่าง ๆ ในไทยต่อการบริหารจัดการการทำงานของคนที่ไม่มีสัญชาติไทยในประเทศไทยและกรณีคนไทยเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ โดยมีข้อเสนอต่อไปนี้

  1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องเร่งรัดพิจารณาการดำเนินคดีกับบริษัทนายหน้าที่ฉ้อโกงบุคคลที่ต้องการหางานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 344 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างตรงไปตรงมา
  2. สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องมีกลไกการคุ้มครองแรงงาน ในฐานะพยาน ที่ชัดเจน ในกรณีที่แรงงานออกมาให้ข้อมูลการเรียกเก็บผลประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือ "ส่วย" และการใช้อำนาจนอกเหนือที่กฎหมายกำหนดของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานและพื้นที่ต่าง ๆ 
  3. ให้ดำเนินการเอาผิดกับนายจ้างที่มีการจ้างงานคนต่างด้าวผิดกฎหมายในบริเวณพื้นที่สถานีตำรวจนครบาลคันนายาว ไม่ปฏิบัติตามพระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 รวมถึงการตรวจสอบการเก็บส่วยในพื้นที่อย่างเร่งด่วน

สุดท้ายนี้ สหภาพคนทำงานและเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติเห็นว่าการปรับปรุงกฎหมาย นโยบาย และการบริหารจัดการแรงงานต้องอยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชนที่ไม่ได้แบ่งแยกสัญชาติ เพศสภาพ หรืออื่น ที่ไม่ได้แบ่งแยกผู้คนผู้คนออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ตามสำนึกชาตินิยม เนื่องจากทุกคนคือแรงงาน ที่มีความเป็นพี่น้อง ต้องทำงานเพื่อเลี้ยงชีพและครอบครัวไม่ต่างกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท