ประมวลการเมืองโลกปี 2565: การฟื้นตัวของประชาธิปไตยใน ‘สหรัฐฯ-บราซิล’ กับ ‘ความหวัง’ หลังโลกโน้มเอียงอำนาจนิยม

หลายปีที่ผ่านมา การเมืองโลกเผชิญกับความถดถอยของประชาธิปไตย ผู้นำของหลายประเทศมีลักษณะโน้มเอียงไปในทางอำนาจนิยม แต่ความน่าสนใจของปีนี้คือปรากฏการณ์ฟื้นตัวของประชาธิปไตยในสองประเทศใหญ่อย่างสหรัฐฯ และบราซิลที่เปรียบดังความหวังของผู้ศรัทธาในประชาธิปไตย โอกาสนี้ ชวนอ่านบทวิเคราะห์จาก ‘แซ็ก โบชอง’ นักข่าวอาวุโสด้านการเมืองโลก พูดถึงสถานการณ์ประชาธิปไตยในสหรัฐฯ และบราซิลที่ผ่านพ้นวิกฤตมาได้ ผ่านเหตุการณ์เลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ และผลการเลือกตั้งบราซิล ที่เป็นการคัมแบ็กสู่อำนาจของอดีตประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายอย่าง ‘ลูลา ดา ซิลวา’ ของบราซิล เฉือนชนะ ‘โบลโซนาโร’ แคนดิเดตฝ่ายขวามาได้อย่างฉิวเฉียด

 

ถึงแม้ว่าประชาธิปไตยจะไม่สมบูรณ์แบบ มีหลายครั้งที่ผู้นำประเทศก็มีนโยบายที่ผิดพลาดเช่นนโยบายสงครามอิรัก หรือการจัดการ COVID-19 ของรัฐบาลทรัมป์ แต่รัฐบาลประชาธิปไตยมีระบบภายในที่คอยช่วยแก้ไขผลพวงจากความผิดพลาดเหล่านี้ และเมื่อผู้นำคนเก่าทำผิดพลาดผู้คนก็สามารถเลือกตั้งผู้นำคนใหม่มาแทนที่ได้ ทำให้เป็นการถ่ายเทความภักดีทางการเมืองจากความภักดีต่อผู้นำหรือต่อชนชั้นนำมาสู่ความภักดีต่อตัวระบบการเมืองเอง ทำให้ในระบอบประชาธิปไตยนั้นหายนะที่เกิดขึ้นเป็นภัยต่อตัวระบบการเมืองเองน้อยกว่าที่เกิดขึ้นในระบอบอำนาจนิยม

อย่างไรก็ตามในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีหลายประเทศที่มีการโหวตลงคะแนนให้กับผู้นำสายอำนาจนิยมที่มีโอกาสทำลายประชาธิปไตยจากภายใน เช่นในอินเดีย ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นภัยต่ออนาคตของประชาธิปไตยมากกว่ารัสเซียหรือแม้กระทั่งจีนเสียอีก อย่างไรก็ตามในปี 2565 ประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกสองแห่งอย่างสหรัฐฯ และบราซิล ก็ไม่ยอมให้ฝ่ายอำนาจนิยมเข้ามามีอำนาจ

การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ

เช่นในการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ที่ฝ่ายรีพับลิกันเตรียมพร้อมที่จะชนะและนำตัวนักการเมืองที่ปฏิเสธการเลือกตั้งและเป็นพวกนักทฤษฎีสมคบคิดเข้าไปอยู่ในตำแหน่งต่างๆ และอาจจะเปิดทางให้โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งในอีก 2 ปีถัดจากนี้ แต่ผลที่ออกมาก็แสดงให้เห็นว่ารัฐสวิงสเตททั้งหลายไม่เลือกพวกนักการเมืองที่ต่อต้านการเลือกตั้งเข้ามาในตำแหน่ง โบชองบอกว่าเขาเคยสัมภาษณ์คนทำงานให้พรรคเดโมแครตทำให้ได้ทราบว่าวิธีการที่กล่าวหาว่าศัตรูเป็นพวกทำลายประชาธิปไตยและบอกว่าฝ่ายตัวเองเป็นผู้คุ้มครองประชาธิปไตยนั้นได้ผล

เรื่องนี้มีระบุไว้ในการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยว่า การที่เดโมแครตชนะการเลือกตั้งกลางเทอมในพื้นที่สำคัญๆ เพราะพวกเขาไม่แสดงตัวให้ดูสุดโต่งเกินไป กลายเป็นการเชื้อเชิญให้กลุ่มคนที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและแม้กระทั่งแฟนๆ พรรครีพับลิกันบางส่วนมาโหวตให้พวกเขาได้ จากข้อมูลของอิมแพกรีเสิร์จระบุว่า ชาวรีพับลิกันที่หันมาโหวตให้เดโมแครตในครั้งนี้ร้อยละ 64 เป็นเพราะพวกเขากังวลเรื่องที่พรรครีพับลิกันเคยเสนอทฤษฎีสมคบคิดในเชิงต่อต้านประชาธิปไตยเมื่อปี 2563

นอกจากนี้กลุ่ม "รันฟอร์ซัมทิง" ที่เป็นกลุ่มสายก้าวหน้ายังเคยทำสำรวจพบว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใดที่เผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้ามที่เป็นพวกปฏิเสธการเลือกตั้งจะสามารถเอาชนะได้ง่ายมากกว่าด้วยคะแนนเสียงอยู่ที่ร้อยละ 77 โดยเฉลี่ย เมื่อเทียบกับสายที่ไม่ใช่พวกปฏิเสธการเลือกตั้งที่จะชนะด้วยคะแนนเสียงโดยเฉลี่ยร้อยละ 53

บราซิลไม่เชื่อผู้นำฝ่ายขวาที่พยายามล้มเลือกตั้ง

โบชองมองว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีในบราซิลปีนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการฟื้นคืนของประชาธิปไตยในแง่มุมที่ต่างออกไปจากกรณีของสหรัฐฯ

จาอีร์ บอลโซนาโร ประธานาธิบดีคนก่อนหน้านี้เป็นฝ่ายขวาที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อประชาธิปไตยของบราซิล ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งอยู่ บอลโซนาโรผู้เคยมีตำแหน่งในกองทัพได้ให้กองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองของบราซิล ถึงขั้นมอบตำแหน่งให้เจ้าหน้าที่กองทัพเป็นเจ้าหน้าที่นับคะแนนในคูหาเลือกตั้งในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา ไม่เพียงเท่านั้นบอลโซนาโรและพันธมิตรของเขาเตรียมพร้อมที่จะกล่าวอ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้งเอาไว้แล้วในกรณีที่พวกเขาแพ้

ซึ่งผลการเลือกตั้งในบราซิลออกมาว่า ฝ่ายตรงข้ามของบอลโซนาโร คืออดีตประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายอย่าง ลูลา ดา ซิลวา สามารถเอาชนะบอลโซนาโรได้อย่างเฉียดฉิว หลังจากนั้นกลุ่มผู้สนับสนุนบอลโซนาโรก็พากันออกมาประท้วงในหลายแห่งเพื่อต่อต้านผลการเลือกตั้ง จนทำให้มีการหวั่นเกรงว่าอาจจะเกิดกรณีจลาจลแบบที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 หรือไม่

แต่เหตุการณ์ที่ออกมาก็ไม่เป็นเช่นนั้น หลังการเลือกตั้งแทบจะทันทีฝ่ายทางการบราซิลรวมถึงผู้ที่อยู่ฝ่ายเดียวกับบอลโซนาโรจำนวนมากก็พากันยอมรับและให้ความชอบธรรมกับผลของการเลือกตั้งที่ลูลาชนะ บอลโซนาโรเงียบไปสัก 2 วัน ก่อนที่จะมีการพยายามร้องเรียนต่อศาลเรื่องโดยกล่าวอ้างเรื่องการโกงการเลือกตั้งแต่ศาลก็ตีตกเรื่องนี้ไป มีกรณีการก่อจลาจลเกิดขึ้นจากกลุ่มสนับสนุนบอลโซนาโรระดับฮาร์ดคอร์ แต่การจลาจลก็ได้จางหายไปอย่างรวดเร็ว

โบชองมองว่า กรณีของบราซิลนั้นแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของประชาธิปไตยในประเทศที่ประชาธิปไตยยังใหม่อยู่อย่างบราซิล พวกเขาเคยตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารมาตั้งแต่ปี 2507-2528 ซึ่งกลุ่มคนที่กู้วิกฤตในครั้งนี้ของบราซิล นอกจากจะเป็นกลุ่มผู้ลงคะแนนเสียงที่ไม่เลือกบอลโซนาโรแล้ว กลุ่มชนชั้นนำบราซิลที่พร้อมใจกันเคารพผลการลงคะแนนก็มีส่วนทำให้บราซิลหลีกเลี่ยงวิกฤตได้ด้วย

"ไม่ใช่ปีที่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ชวนให้มีกำลังใจ"

ถึงจะมีเรื่องดีๆ อยู่บ้าง แต่โบชองก็มองว่าวิกฤตประชาธิปไตยโลกยังไม่จบลงง่ายๆ กลุ่มชนชั้นนำที่เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งยังคงแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งในประเทศหลายแห่งของโลก

เช่นในฮังการี นายกรัฐมนตรีฝ่ายขวา วิกเตอร์ ออร์บาน สามารถเอาชนะพรรคแนวร่วมฝ่ายค้านได้ในการเลือกตั้งเมื่อเดือน เม.ย. 2565 ซึ่งการเลือกตั้งดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นจุดอ่อนในระบบที่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีการล็อกผลหรือโกงการเลือกตั้งแบบเห็นชัดๆ แต่ก็มีการจัดขึ้นภายใต้สภาพการที่เป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นระบบแบบที่ออร์บานเคยวางไว้

ในฟิลิปปินส์ ถึงแม้ว่าประธานาธิบดีที่เอียงไปในทางอำนาจนิยมอย่าง รอดริโก ดูเตอร์เต จะยอมรับกฎเรื่องระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งและลงจากตำแหน่งไปตามระเบียบการ แต่การเลือกตั้งในเดือน พ.ค. 2565 ก็กลายเป็นใบเบิกทางให้กับทายาทของอดีตผู้นำเผด็จการอย่าง เฟอร์ดินานด์ 'บองบอง' มาร์กอส กับซารา ดูเตอร์เต เข้าสู่ตำแหน่งได้ ส่วนหนึ่งที่ฝ่ายอำนาจนิยมรุ่นใหม่กลุ่มนี้สามารถเอาชนะได้เพราะพวกเขาใช้ประโยชน์จากการที่ชาวฟิลิปปินส์รู้สึกโหยหาอดีตในช่วงยุคเผด็จการ สร้างวาทกรรมแบบที่ทำให้คนเข้าใจผิดว่าประชาธิปไตยคือความโกลาหลและการขาดเสถียรภาพที่ต้องให้ผู้นำอำนาจนิยมแบบตัวคนเดียวที่เรียกว่า "สตรองแมน" มาแก้ปัญหา

ในอิสราเอล อดีตนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู สามารถเอาชนะได้ในการเลือกตั้งเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มพรรคการเมืองสายหัวรุนแรง รวมถึงกลุ่มนีโอฟาสซิสต์ที่ชื่อ "ยิววิชเพาเวอร์"

ชัยชนะของ เนทันยาฮู ยังมีโอกาสที่จะทำให้เขาสามารถครอบงำศาลและปกป้องตัวเองจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยการผ่านร่างกฎหมายที่จะทำให้เขามีอำนาจไม่ถูกตัดสินจากศาล โดยที่ในตอนนี้เนทันยาฮูยังคงอยู่ในช่วงที่กำลังถูกดำเนินคดีในข้อกล่าวหาทุจริตโดยการใข้เงินจ้างให้มีคนทำข่าวเขาในแง่ดี กฎหมายใหม่ของเนทันยาฮูยังอาจจะทำให้เกิดการริบอำนาจศาลสูงสุด ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการคุ้มครองสิทธิของชนกลุ่มน้อยและคุ้มครองหลักการประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานด้วย

การที่กลุ่มอำนาจนิยมชนะการเลือกตั้งในหลายแห่งเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นแนวโน้มของการที่ประชาธิปไตยกำลังเสื่อมถอยลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในแง่นี้ สถาบันวิจัยเรื่องความเข้มแข็งของประชาธิปไตยโลกอย่าง V-Dem ก็ทำการวิจัยและมีรายงานออกมาเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาระบุว่า ประชาธิปไตยในช่วงจนถึงต้นปีนี้มาถึงจุดที่อ่อนแอที่สุดทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 2532

รายงานของ V-dem ระบุอีกว่าร้อยละ 44 ของกลุ่มประเทศที่มีระบบเสียงส่วนใหญ่หรือเสียงข้างมาก (Plurality) มีรัฐบาลที่เป็น "อำนาจนิยมที่มาจากการเลือกตั้ง" ซึ่งหมายถึง "การที่ตัวสถาบันมีการทำงานเลียบแบบประชาธิปไตยแต่มีความชอบธรรมและคุณภาพในระดับที่ต่ำกว่าเส้นที่กำหนดสำหรับการเป็นประชาธิปไตย"

โบชองบอกว่าเหตุการณ์ในปี 2565 ไม่ได้หมายความว่าประชาธิปไตยจะพลิกกลับมาเอาชนะได้โดยสิ้นเชิง ภัยในระยะยาวต่อประชาธิปไตยยังคงมีอยู่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ได้แสดงให้เห็นความสามารถในการฟื้นตัวของประชาธิปไตยและความอ่อนแอของอำนาจนิยม

"อย่างน้อยแล้ว ปี 2565 ก็ย้ำเตือนให้เรารู้ว่า การฟื้นฟูประชาธิปไตยนั้นเป็นทางเลือกหนึ่ง และอย่างน้อยก็ในปีนี้ ก็มีจำนวนคนมากพอที่เลือกที่จะทำเช่นนี้" โบชองระบุไว้ในบทความ

เรียบเรียงจาก:

  • A bad year for the bad guys, Vox, 19-12-2022

https://www.vox.com/policy-and-politics/2022/12/19/23453073/2022-year-democracy-russia-ukraine-china-iran-america-brazil

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท