Skip to main content
sharethis

วันนี้มติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ ‘อินทัช’ อนุมัติขายหุ้นไทยคมที่ถืออยู่ทั้งหมดให้ ‘กัลฟ์’ หลังจากวานนี้ กสทช.เปิดให้ผู้ขอใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียมยื่นขออนุญาตได้ 3 บริษัท ‘สเปซเทค(บริษัทลูกไทยคม) – NT -พร้อมฯ’ เข้ายื่นเอกสารพิจารณาคุณสมบัติหากผ่านหมด กสทช.จะมีประมูล 15 ม.ค.66

เมื่อวานนี้ (27 ธ.ค.2565) สำนักงาน กสทช.รายงานว่า ทางสำนักงานเปิดให้ผู้ขอรับอนุญาตยื่นขอรับอนุญาตให้ใช้สิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะชุด (Package) โดยมีผู้ประสงค์ขอรับอนุญาต จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด, บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT และบริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด

รายงานระบุอีกว่าสำนักงาน กสทช. จะทำการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอรับอนุญาตเป็นขั้นตอนต่อไปตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2565 – 5 ม.ค. 2566 และจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านและมีสิทธิเข้าร่วมการประมูล โดยจะเสนอให้ที่ประชุม กสทช. รับรองผลในวันที่ 9 ม.ค. 2566 และหากมีผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลมากกว่า 1 ราย โดยไม่มีผู้ใดยื่นอุทธรณ์ สำนักงาน กสทช. จะทำการ Mock Auction ในวันเสาร์ที่ 14 ม.ค. 2566 และทำการประมูลสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะชุด (Package) ในวันอาทิตย์ที่ 15 ม.ค. 2566 ซึ่งเลื่อนจากกำหนดการเดิมไป 1 สัปดาห์ เนื่องจากต้องเปิดโอกาสให้สิทธิในการอุทธรณ์หลังสำนักงาน กสทช. ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านคุณสมบัติให้เป็นผู้เข้าร่วมการคัดเลือก ภายใน 3 วันทำการนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้ง

อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีผู้ผ่านคุณสมบัติเพียงรายเดียว สำนักงาน กสทช. จะขยายระยะเวลาในการยื่นขอรับอนุญาตเพิ่มเติมไปอีก 2 สัปดาห์ ตามที่ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะชุด (Package) กำหนด

พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. ให้ความเห็นว่า ในการประมูลครั้งนี้ อย่างน้อยทั้ง 3 ราย น่าจะผ่านและเข้าร่วมการแข่งขัน แต่จะมีความต้องการในการประมูลกี่ชุด หรือชุดใด ต้องดูข้อเสนอที่เสนอมาและจะประกาศให้ทราบในวันประมูลตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อป้องกันการสมยอมในการเสนอราคา ทำให้มั่นใจว่าการประมูลครั้งนี้จะเกิดการแข่งขันที่โปร่งใส เป็นธรรม รวมทั้งสามารถรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติไว้ได้ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน รวมทั้งกิจการดาวเทียมสื่อสารของประเทศไทยต่อไปได้อย่างแน่นอน

ก่อนหน้านี้ กสทช.เคยรายงานจำนวนและราคาประมูลของชุดวงโคจรดาวเทียมที่ กสทช.นำมาประมูลทั้งหมด 5 ชุดดังนี้

ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1 และ N1) และวงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ราคาเริ่มต้นการประมูล 374 ล้านบาทเศษ

ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ 78.5E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 360 ล้านบาทเศษ

ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ 119.5E) และวงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 397 ล้านบาทเศษ

ชุดที่ 4 วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 8 ล้านบาทเศษ

ชุดที่ 5 วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ 142E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 189 ล้านบาทเศษ

บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ที่เป็นบริษัทย่อยของบริษัทไทยคม จำกัด เป็นบริษัทที่เพิ่งจดจัดตั้งเมื่อ 22 พ.ย.2565 ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาทโดยกรรมการทั้ง 5 คนของสเปซเทคเป็นกรรมการของไทยคมด้วย โดยบุญชัย ถิราติ รองประธานกรรมการของไทยคมยังเป็นกรรมการและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)ด้วย

ส่วน บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีที่มีกิจการหลายด้านทั้งโทรคมนาคมและความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่จดจัดตั้งบริษัทตั้งแต่ปี 2543 มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 จำนวน 30 ล้านบาท

สำหรับผู้เข้าร่วมประมูลครั้งนี้ NT ที่เป็นบริษัทที่เกิดจากการรวม TOT และ CAT เพิ่งรวมกันและเป็นรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมาเพิ่งมีมติให้ NT เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการตามแผนใน “ร่างนโยบายดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ” โดยมีแนวทางดำเนินการดังนี้

1.จัดให้มีดาวเทียมสื่อสารของประเทศที่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ

2.ใช้ประโยชน์จากเอกสารข่ายงานดาวเทียมและตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมในนามประเทศไทย

ร่างนโยบายดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้มีดาวเทียมสำหรับหน่วยงานภาครัฐที่สามารถกำกับดูแลและบริหารจัดการเอง เพื่อใช้ในการให้บริการสาธารณะ ความมั่นคง และเชิงพาณิชย์ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐได้รับการจัดสรรช่องสัญญาณ จำนวน 1 วงจรดาวเทียม ตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ หรือสัญญาสัมปทานดาวเทียม เพื่อใช้ในกิจการของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อปริมาณการใช้งานในปัจจุบัน ต่อมาหน่วยงานของรัฐได้มีการเช่าซื้อช่องสัญญาณของดาวเทียมเพิ่มเติมจากดาวเทียมไทยคม 6 ไทยคม 7 และช่องสัญญาณจากต่างชาติ โดยเป็นการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมภาพถ่าย ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา และดาวเทียมระบบนำร่อง จึงจำเป็น ต้องมีดาวเทียมที่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐหรือดาวเทียมที่รัฐ มีสิทธิในการควบคุม บริหารจัดการเพื่อสนับสนุนภารกิจของรัฐ

‘อินทัช’ ขายหุ้นไทยคมในมือทั้งหมดให้ ‘กัลฟ์’

นอกจากนั้นในวันนี้สำนักข่าวข่าวหุ้นรายงานด้วยว่า ในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้ถือหุ้นใน บริษัท ไทยคม จำกัด มากเป็นอันดับหนึ่งอย่าง บริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ยังมีมติอนุมัติการจำหน่ายหุ้นทั้งหมดในไทยคมให้กับ บริษัท กัลฟ์ เวนเชอร์ส จำกัด (บริษัทในกลุ่ม บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF) ด้วย

รายงานของข่าวหุ้นระบุว่า มติที่ประชุมดังกล่าวมีเสียงข้างมากถึง 94.78% ให้ขายหุ้นของไทยคมที่อินทัชถืออยู่มีจำนวน450,870,934 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 41.13% ราคาหุ้นละ 9.92 บาท คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 4,472.64 ล้านบาท โดยกัลฟ์เวนเชอร์จะต้องชำระเงินและรับโอนหุ้นทั้งจำนวนภายในวันศุกร์ที่ 30 ธ.ค.นี้

การมีมติของอินทัชครั้งนี้จะทำให้กัลฟ์เวนเชอร์กลายเป็นผู้ถือหุ้นมากเป็นอันดับหนึ่งในบริษัทไทยคม

ข่าวหุ้นรายงานอีกว่าวันนี้คณะกรรมการของอินทัชยังมีมติจ่ายเงินปันผลพิเศษจากกำไรสะสมมีอัตรการจ่ายหุ้นละ 1.40 บาท จากการประกาศนี้ทำให้ได้กัลฟ์เอ็นเนอร์จีฯ จะได้รับเงินปันผลจากอินทัชประมาณ 1,848 ล้านบาทตามสัดส่วนที่กัลฟ์ถือไว้จำนวน 1,320 ล้านหุ้นหรือมีสัดส่วน 41.15% ซึ่งถือว่าผู้ถือหุ้นมากเป็นอันดับหนึ่งของอินทัชด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net