Skip to main content
sharethis

วิทยาลัยพยาบาล ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ออกแถลงกรณีบุคลากรมีชื่อเกี่ยวข้องกับการซื้องานวิจัยหลัง มช.เพิ่งแถลงไปบ่ายวานนี้ คณบดีวิทยาลัยพยาบาลระบุตามรายงานของเจ้าตัวอ้างที่มีงานวิจัยตีพิมพ์จำนวนมากจึงได้รับเชิญไปเป็น บก.ให้หลายสำนักพิมพ์ รู้จักนักวิจัยเยอะเลยถูกชิญไปให้ความเห็นระเบียบวิจัยและตรวจสอบงานวิจัยแก้ไขงานวิจัยอื่นๆ ส่วนที่มีบทความถูกถอดจากวารสารเป็นเพราะ บ.ก.ที่วารสารเชิญมามีกระบวนการตรวจไม่รัดกุม

คืนวานนี้ (10 ม.ค.2566) สำนักข่าวอิศรารายงานถึงแถลงการณ์ที่ รศ.ดร. ทัศนา บุญทอง คณบดีวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีถึงสำนักข่าวในประเด็นที่ วานิช สุขสถาน อาจารย์วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์ถูกพาดพิงและถูกวิจารณ์ทั้งจากสื่อสังคมออนไลน์และสื่อมวลชนจากการมีชื่อปรากฏอยู่ในผลงานทางวิชาการข้ามศาสตร์อยู่เป็นจำนวนมาก

แถลงการณ์ระบุว่าทางวิทยาลัยทราบเรื่องตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.2566 แล้วและไม่ได้นิ่งนอนใจ เห็นว่าต้องหาข้อมูลให้กระจ่างในเรื่องนี้จึงได้ประสานกับอาจารย์คนดังกล่าวเพื่อให้ทำการชี้แจงและทำรายงานรายละเอียดถึงเรื่องที่เกิดขึ้น

ทัศนาระบุในแถลงการณ์ว่าอาจารย์คนนี้ได้รับทุนจากราชวิทยาลัยในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช 90 พรรษา เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ณ ประเทศ สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี การศึกษา 2562 โดยเรียนสาขาพยาบาลศาสตร์เป็นสาขาหลัก และเรียน Research Methodology เป็นสาขาร่วม มีความสนใจเรื่องการวิจัยเป็นการเฉพาะ

ในแถลงการณ์กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่ได้จากรายงานชี้แจงของวานิชสรุปได้ว่า อาจารย์คนนี้มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ทั้งที่เป็นหัวหน้าโครงการ ผู้รับผิดชอบบทความ (corresponding author) และผู้ร่วมนิพนธ์ (co author) จึงทำให้มีจำนวนผลงานที่รับการตีพิมพ์จำนวนมาก และระหว่างที่ศึกษาระดับป.เอกยังได้รับเชิญเป็นบรรณาธิการวิชาการให้สำนักพิมพ์หลายแห่ง ได้แก่ SAGE Publisher Company, Frontiers, Wiley, PLOS (PLOS ONE) และ Hindawie เป็นต้น

อาจารย์คนดังกล่าวจึงเป็นที่รู้จักและได้รับประสานจากนักวิชาการและนักวิจัยให้พิจารณาและขอความเห็นทั้งเรื่องระเบียบวิจัย วิเคราะห์ข้อมูล อภิปรายผล ตรวจสอบและแก้ไขรายงาน ในทางสากลเมื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในงานจะมีการใส่ชื่อเป็นผู้ร่วมนิพนธ์ ทำให้มีชื่อในงานวิจัยเป็นจำนวนมมาก

ส่วนประเด็นที่มีบทความ 2 ชิ้นของอาจารย์คนนี้ ถูกถอดถอนจากการตีพิมพ์จากวารสาร Applied Nanoscience ซึ่งเป็นของสำนักพิมพ์ Springer นั้นเป็นเรื่องที่ทางบรรณาธิการของวารสารเห็นว่างานทั้ง 2 ชิ้นนี้ไม่อยู่ในขอบเขตของวารสารและกระบวนการ Peer-reviewed ของ บ.ก.รับเชิญยังไม่รัดกุมพอ อีกทั้งยังมีบทความวิจัยอีก 51 เรื่องที่ผ่านกระบวนการ Peer-reviewed ของบ.ก.รับเชิญคนนี้ถูกถอดจากการตีพิมพ์ทั้งหมด

คณบดีวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์ระบุในท้ายแถลงการณ์ว่าจากข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากรายงานของวานิช ทางวิทยาลัยจะหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ครอบคลุมอย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการในลำดับต่อไป และทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ยึดมั่นในหลักการของคุณธรรม จริยธรรม และความถูกต้อง เพื่อให้องค์กรนี้ได้รับความเชื่อถือและเชื่อมั่นจากสังคมตลอดไป

มช. จ่อตั้ง คกก.สอบวินัยร้ายแรง บุคลากรเอี่ยวปมซื้องานวิจัยเพื่อใส่ชื่อตัวเอง

ประเด็นนี้ถูกเปิดเผยจากบัญชีเฟซบุ๊กNipha Kazuya Techawitthayayothin(นิภา เตชะวิทยโยธิน) มาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566 ที่โพสต์ถึงงานวิจัย 2 ชิ้นที่มีชื่อของวานิช สุขสถานถูกถอดจากวารสาร Applied Nanoscience และมีการโพสต์ตามมาเรื่องการซื้อขายงานวิจัย 

ล่าสุดบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวยังลงเอกสารบันทึกข้อความคำชี้แจงของวานิชด้วยซึ่งมีข้อเท็จจริงในลักษณะเดียวกับแถลงการณ์ของทางวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์พร้อมทั้งระบุว่าบทความของเขาที่ถูกถอดออกนั้นไม่ใช่จาเหตุผลทางวิชาการหรือทางจริยธรรมการวิจัยแต่อย่างใด และย้ำว่าตนเองไม่เคยซื้อขายผลงานวิจัยและตำแหน่งผู้ร่วมทีมวิจัยมาก่อน และตัวเขาเองได้ทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมทีมในงานเพื่อตีพิมพ์ผลงานอย่างแท้จริงทุกเรื่อง

รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อ.อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐหรือ CHES (เชส) กล่าวถึงในการให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อ 9 ม.ค.ที่ผ่านมาว่ามีนักวิชาการไทยอย่างน้อย 6 คน ทั้งในเชียงใหม่และกรุงเทพที่ซื้องานวิจัยจากต่างประเทศเพื่อให้นำมาสร้างประวัติผลงานของตัวเอง

นอกจากนั้น วีรชัยยังระบุถึงเหตุผลของการซื้องานวิจัยเหล่านี้ว่ามีทั้งเพื่อสร้างผลงานให้ตัวเองไปจนถึงการขอสนับสนุนงบประมาณจากทางมหาวิทยาลัยด้วยซึ่งเมื่อมีการซื้องานเพื่อให้นำชื่อตัวเองเข้าไปราว 30,000 บาท แต่สามารถนำไปขอรับเงินสนับสนุนได้ถึง 120,000 บาท ซึ่งเขาเชื่อว่าหลังจากนี้เจ้าของงานวิจัยที่เป็นชาวต่างชาติที่นำงานวิจัยตัวเองมาหาเงินก็คงจะถูกถอดงานออกจากวารสารวิชาการ ส่วนทางมหาวิทยาลัยไทยก็คงมีบทลงโทษนักวิชาการไทยที่ซื้องานเหล่านี้เนื่องจากหากมีการสืบหาหลักฐานจริงก็สามารถจับได้ไม่ยาก

นอกจากนั้นหลังจาก ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยาจากสถาบันไบโอเทค ของสวทช. มีการตั้งข้อสังเกตถึงงานวิจัยที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของวารสาร Vacuum ของสำนักพิมพ์ Elsevier ที่ปรากฏชื่อของวานิช พร้อมกับมีชื่อของดร.สุภัทร ชูประดิษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชากิจกรรมบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ในงานวิจัยดังกล่าวด้วย โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่างานวิจัยนี้ยากที่จะเชื่อว่านักวิชาการไทยทั้ง 2 คนที่อยู่ในสาขาพยาบาลและการแพทย์จะสามารถร่วมเขียนงานวิจัยชิ้นนี้ด้วยได้ อีกทั้งผู้เขียนหลักในงานวิจัยที่เป็นชาวอินโดนีเซียที่มาจากคณะนิติศาสตร์ก็ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยชิ้นนี้แต่มีการจ่ายเงิน 1,000 เหรียญเท่านั้น

จากการมีชื่อดร.สุภัทร ชูประดิษฐ์ ในประเด็นนี้ทำให้เมื่อวานนี้ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แถลงผ่านทางแฟนเพจของมหาวิทยาลัยว่าจากกรณีที่มีการลงข่าวถึงบุคลากรของมหาวิทยาลัยเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดจริยธรรมและจรรณยาบรรณการวิจัยนั้น ทางมหาวิทยาลัยจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงเพื่อดำเนินการทางวินัยกับบุคคลดังกล่าวตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net