Skip to main content
sharethis

การลาออกของนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ 'จาซินดา อาร์เดิร์น' เป็นที่พูดถึงอย่างมาก ด้วยความที่ทำให้ผู้คนรู้สึกประหลาดใจ จากที่มีคนมองว่าเธอมีภาวะความเป็นผู้นำมากในการแก้ไขปัญหา COVID-19 และต้องกุมบังเหียนพานิวซีแลนด์ผ่าวิกฤตต่างๆ มาจนถึงตอนนี้ที่วิกฤตใหม่ๆ แบบเดียวกับที่ทั่วโลกต้องเผชิญกำลังรอเธออยู่ และการเลือกตั้งก็กำลังจะมีขึ้นในเดือน ต.ค. นี้ อะไรทำให้เธอตัดสินใจลาออกในตอนนี้


จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ | แฟ้มภาพ: TVNZ

21 ม.ค. 2566 จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีหญิงของนิวซีแลนด์ประกาศจะสละตำแหน่งภายในวันที่ 7 ก.พ. ที่จะถึงนี้ ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งในเดือน ต.ค. โดยอ้างเหตุผลที่เธอต้องการลาออกว่า "ฉันรู้ว่างานนี้ต้องทุ่มเทมากแค่ไหน แล้วฉันก็รู้ว่าฉันมีกำลังเหลือไม่มากพอที่จะทุ่มเทให้กับมันอีกต่อไปแล้ว ...ง่ายๆ แค่นี้"

การประกาศวางมือจากตำแหน่งของอาร์เดิร์นก่อนหน้าที่จะดำรงตำแหน่งครบวาระที่สอง เป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับทั้งนิวซีแลนด์เองและต่อชาวโลก เธอเป็นผู้นำนิวซีแลนด์ที่อายุน้อยที่สุดในรอบ 150 ปี (ปัจจุบันเธออายุ 42 ปี)

"ด้วยการที่ดิฉันได้รับบทบาทอันทรงเกียรตินี้มันก็ทำให้ดิฉันมีความรับผิดชอบมากขึ้นไปด้วย ความรับผิดชอบที่จะรับรู้ว่า เมื่อใดที่คุณจะเป็นคนที่เหมาะสมกับการเป็นผู้นำ และเมื่อใดที่คุณไม่เหมาะสมอีกต่อไปแล้ว" อาร์เดิร์นกล่าวไว้ในการแถลงข่าวประกาศลาออก

คำกล่าวของเธอทำให้สื่อมองว่าเธอต้องการออกจากตำแหน่งเพราะรู้สึก "หมดไฟ" หลังจากที่ต้องจัดการกับวิกฤตในประเทศที่ถาโถมเข้ามาไม่หยุดยั้งไม่ว่าจะเป็นเหตุกราดยิงที่เลวร้ายที่สุดในนิวซีแลนด์ หรือวิกฤต COVID-19 ตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว มีการประเมินว่าคะแนนนิยมของเธอลดลงในนิวซีแลนด์จนอาจจะส่งผลทางลบได้ถ้าหากเธอจะลงสมัครรับเลือกตั้งอีกหนึ่งสมัย อีกทั้งยังจะทำให้มีการใช้วาจาข่มเหงรังแกเธอหนักขึ้นกว่าเดิมจากที่เธอต้องเผชิญกับอะไรแบบนี้อยู่แล้วตลอดช่วงเวลาที่เธอดำรงตำแหน่ง

การประกาศลาออกของอาร์เดิร์น ผู้นำพรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรคซ้ายกลางของนิวซีแลนด์ ยังกลายเป็นเรื่องที่ทำให้ทั่วโลกประหลาดใจ จากการที่เธอมีชื่อเสียงภาพลักษณ์ในระดับนานาชาติตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสื่อนิวยอร์กไทม์ระบุว่าเธอเป็นเสมือน "ตราสัญลักษณ์ในระดับโลก" ที่แสดงให้เห็นถึงการต่อต้านลัทธิทรัมป์ แต่ในขณะเดียวกันอาร์เดิร์นก็ตกเป็นเป้าหมายถูกเล่นงานทางการเมืองจากพวกชอบแบ่งแยก ซึ่งเรื่องนี้หนักข้อขึ้นหลังเกิดการระบาดหนักของ COVID-19

เดเมียน เคฟ หัวหน้าสำนักงานสาขาซิดนีย์ของสื่อนิวยอร์กไทม์ มองว่าในตอนที่เธอเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ อาร์เดิร์นมีทั้งความเป็นคนรุ่นใหม่และมีความเป็นสตรีนิยม มีการให้ความสำคัญกับ "การเมืองของความใจดี" ทำให้เธอดูเป็นที่ยอมรับ เมื่อเทียบกับในช่วงยุคสมัยนั้นที่ประเทศต่างๆ มักจะมีผู้นำเป็นพวกผู้ชายจอมคุยโว ความนิยมต่อจาซินดาทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "จาซินดามาเนีย" ขึ้น

นอกจากนี้เคฟ ยังมองว่าอาร์เดิร์นมีความเป็นผู้นำมากในด้านการแก้ปัญหา COVID-19 เช่นการสั่งปิดด่านแลพสั่งล็อกดาวน์อย่างทันท่วงที และเมื่อเกิดปัญหาไวรัสกลายพันธุ์เธอก็พยายามนำวัคซีนเข้ามาให้เร็วที่สุด และออกคำสั่งให้ผู้ที่ประกอบกิจต่างๆ นอกครัวเรือนต้องได้รับการฉีดวัคซีน

อย่างไรก็ตาม จาซินดาก็ต้องเผชิญกับกลุ่มทฤษฎีสมคบคิดต่อต้านวัคซีนที่โจมตีเธอในเรื่องการออกคำสั่งเรื่องวัคซีน นอกจากนี้ยังมีการใช้ข้อมูลข่าวสารที่ผิดในการโจมตีเธอ รวมถึงโจมตีเรื่องส่วนตัวของเธอด้วย มีนักข่าว ดีแลน รีฟ ที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับการแพร่กระจายข้อมูลที่ผิด ประเมินว่า การที่อาร์เดิร์นมีชื่อเสียงในระดับโลกทำให้กลุ่มทฤษฎีสมคบคิดเล่นงานเธอโดยขยายผลไปในระดับโลกด้วยเช่นกัน โดยอาศัยการสร้างเครือข่ายกับกลุ่มคนที่เชื่อแบบเดียวกันในประเทศอื่นๆ

การลาออกจะส่งผลต่อการเลือกตั้งเดือน ต.ค. อย่างไร

ถึงแม้ทั่วโลกจะประหลาดใจ แต่ แกรนต์ ดันแคน ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิทยาลัยแห่งประชาชน สิ่งแวดล้อม และการวางแผน ของมหาวิทยาลัยแมสซีย์ ก็ได้วิเคราะห์ไว้ว่า สำหรับกลุ่มคนที่ติดตามการเมืองนิวซีแลนด์อย่างใกล้ชิดแล้วเรื่องนี้ก็ไม่น่าประหลาดใจเท่าใดนัก เพราะเมื่อช่วงปลายปี 2564 พรรคแรงงานได้เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ทำให้มีการเปลี่ยนตัวผู้นำพรรคได้ง่ายขึ้น ทำให้เขาเขียนตั้งคำถามไว้แล้วว่าอาร์เดิร์นจะถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้นำพรรคหรือไม่

ดันแคนระบุว่า การที่อาร์เดิร์นขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นถือเป็นสิ่งที่พลิกสถานการณ์การเมืองของนิวซีแลนด์ และการที่อาร์เดิร์นลาออกจากตำแหน่งก็จะกลายเป็นการพลิกสถานการณ์การเลือกตั้งในเดือน ต.ค. เช่นกัน

ถึงแม้ว่าคะแนนนิยมจะลดลงบ้าง แต่ผลสำรวจก็ระบุว่าอาร์เดิร์นก็ยังคงมีคะแนนนิยมสูงกว่า คริสโตเฟอร์ ลูซอน จากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามคือพรรคเนชันแนล ดังนั้นแล้วการที่พรรคแรงงานจะเปลี่ยนตัวผู้นำเป็นคนอื่นนอกจากอาร์เดิร์นจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับพรรค แต่ทว่าฝ่ายแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านคือเนชันแอล/แอ็กต์ ก็ส่อแววว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในปีนี้

ดันแคนมองว่าพรรคแรงงานของนิวซีแลนด์อาจจะยังมีโอกาสชนะการเลือกตั้งในเดือน ต.ค. จากการที่พวกเขายังนำอยู่ในผลสำรวจความนิยม แต่ผลพวงทางสังคมและทางเศรษฐกิจจากโรคระบาด COVID-19 ก็ส่งผลสะเทือนอย่างมากจนการที่พรรคแรงงานมีผู้นำคนใหม่ขึ้นมาแทนอาจจะช่วยเรื่องคะแนนนิยมได้บ้าง

เรื่องการเปลี่ยนตัวผู้นำพรรคเพื่อปรับภาพลักษณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการเมืองนิวซีแลนด์ นั่นคือกรณีของนายกรัฐมนตรีพรรคเนชันแนล จอห์น คีย์ เมื่อปี 2559 โดยที่คีย์ใช้คำพูดแบบเดียวกับอาร์เดิร์นในเรื่องที่ว่าเขา "มีกำลังเหลือไม่มากพอ" จะจัดการปัญหาของประเทศแล้วส่งไม้ต่อให้กับ บิล อิงลิช ทำให้อิงลิชและพรรคเนชันแนลสามารถทำได้ดีในการเลือกครั้งครั้งถัดมา ทำให้พวกเขาได้รับคะแนนโหวตร้อยละ 44 แต่เมื่อคำนวนรวมกับพรรคแนวร่วมของพวกเขาอย่างแอ็กต์แล้วก็มีไม่มากพอจะตั้งพรรคร่วมรัฐบาล เทียบกับฝ่ายพรรคแนวร่วมอีกฝั่งหนึ่ง ทำให้ในปี 2560 อาร์เดิร์นได้เป็นนายกรัฐมนตรีเพราะมีคะแนนเสียงจัดตั้งรัฐบาลมากพอ

นายกฯ ผู้เผชิญปัญหารุมเร้าจนหมดไฟ

ถึงแม้ว่าอาร์เดิร์นจะมีชื่อเสียงมากในระดับโลกในแง่การจัดการกับการระบาดใหญ่ของ COVID-19 และดันแคนก็ชื่นชมว่าอาร์เดิร์นทำได้ดีมากในแง่ของความเป็นผู้นำในช่วงที่มีวิกฤต COVID-19 แต่ขณะเดียวกันวิกฤต COVID-19 ก็ขัดขวางการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของอาร์เดิร์นด้วย จากการที่เธอต้องการจะบรรลุวัตถุประสงค์ในเรื่องนโยบายสังคมอื่นๆ อย่าง การแก้ปัญหาความยากจนในเด็ก และการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ที่เธออยากจะทำและใช้ความพยายามไปกับสิ่งเหล่านี้มากกว่า แต่ต้องมาติดกับดักการแก้ปัญหา COVID-19 และวิกฤตอื่นๆ

นอกจาก COVID-19 แล้วอาร์เดิร์นตองเผชิญกับปัญหาวิกฤตต่างๆ รุมเร้าไม่ว่าจะเป็นเหตุกราดยิงมัสยิดสองแห่งที่เมืองไครสต์เชิร์ชที่มีผู้เสียชีวิต 51 ราย และมีกรณีการปะทุของภูเขาไฟในระดับที่อันตราย รวมถึงปัญหาโรคระบาดในวัวด้วย และในปัจจุบันนิวซีแลนด์ก็กำลังเผชิญกับปัญหาเดียวกับประเทศอื่นๆ คือวิกฤตที่อยู่อาศัย, ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และปัญหาเงินเฟ้อ

สำหรับคนที่จะมาแทนที่อารเดิร์นนั้น ดันแคนประเมินว่าอาจจะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมคนปัจจุบันคือ คีรี อัลลัน ซึ่งจะทำให้เธอกลายเป็นนายกรัฐมนตรีชาวเมารีคนแรกของนิวซีแลนด์ ถึงแม้ว่าเธอจะยังใหม่กับการเมืองอยู่ก็ตาม และอีกคนหนึ่งน่าจะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและประธานสภาผู้แทนฯ คริส ฮัปกินส์ ผู้ที่มีชื่อเสียงในช่วงวิกฤต COVID-19

ถึงแม้ว่าอาร์เดิร์นดูเหมือนจะเฟดตัวออกไปจากการเมืองในตอนนี้ แต่ชาวนิวซีแลนด์น่าคาดหวังว่าอาร์เดิร์นจะไม่หายไปจากการเมืองนานมากนัก เฮเลน คลาร์ก อดีตนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้สอนงานให้อาร์เดิร์นก็เคยผันตัวไปเป็นทำประเด็นระดับนานาชาติกับองค์กรระดับโลกจำนวนมากหลังจากที่เธอออกจากตำแหน่งแล้ว ซึ่ง ริชาร์ด ชอว์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแมสซีย์ก็มองว่าอาร์เดิร์นอาจจะเดินรอยตามตรงจุดนี้ก็เป็นไปได้

"ผมไม่รู้ว่าเธอจะหายไปจากสายตาชาวโลกเลยหรือเปล่า ... เธออาจจะไปอยู่ในเวทีที่ใหญ่กว่านี้ก็เป็นไปได้" ชอว์กล่าว


เรียบเรียงจาก
How Covid’s Bitter Divisions Tarnished a Liberal Icon, New York Times, 19-01-2023
Jacinda Ardern has revealed why she is stepping down as New Zealand’s PM, News.com.au, 19-01-2023
Grant Duncan: Ardern’s resignation as New Zealand prime minister is a game changer for the 2023 election, NZ Herald, 19-01-2023
New Zealand Prime Minister Jacinda Ardern says she will resign as she cites burnout, NBC News, 19-01-2023

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/2017_New_Zealand_general_election
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net