Skip to main content
sharethis

คุยกับ ‘ลิลลี่’ นศ.ไทยจาก ม.วิสคอนซิน-แมดิสัน ผู้ร่วมจัดกิจกรรม ‘ยืน หยุด ขัง’ ที่สหรัฐฯ เมื่อ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อฝากกำลังใจ-คำขอบคุณถึงนักสู้ทางการเมืองทุกคน พร้อมเรียกร้องให้พรรคการเมืองต้องกล้าหาญกว่านี้ เพราะสิ่งที่ ปชช.ต้องการคือเสรีภาพการแสดงออก ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และไม่ได้มากเกินไป

 

29 ม.ค. 2566 เพจเฟซบุ๊ก ‘UW-Madison Students for Thai Democracy’ เผยแพร่ถ่ายทอดสดเมื่อ 25 ม.ค. 2566 เวลา 01.37 น. ตามเวลาในประเทศไทย นักศึกษาในนามกลุ่ม ‘UW-Madison Students for Thai Democracy’ นัดรวมตัวทำกิจกรรม ‘ยืน หยุด ขัง’  บริเวณหน้าบาสคอมฮอล (Bascom Hall) ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ประเทศสหรัฐฯ คู่ขนานกับการจัดกิจกรรมในประเทศไทย พร้อมกับอ่านแถลงการณ์เป็นภาษาไทย และอังกฤษ เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับผู้ถูกคุมขังทางการเมืองทันที และพรรคการเมืองต้องรับข้อเรียกร้อง 3 ข้อของทะลุวัง 

ฝากเป็นกำลังใจถึงนักสู้การเมืองทุกคนในประเทศ

‘ลิลลี่’ (นามสมมติ) นักศึกษาชาวไทยใน ม.วิสคอนซิน-แมดิสัน อายุ 27 ปี และเป็นผู้จัด ‘ยืน หยุด ขัง’ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงที่มาของกลุ่มว่า เพิ่งตั้งสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเท่านั้นเอง (23 ม.ค.) โดยวางธีมว่าเป็นกลุ่มที่สนใจการเมืองไทย และอยากสื่อสารประเด็นเหล่านี้นอกเหนือจากงานวิชาการอย่างเดียว

ส่วนเหตุผลที่ทำให้ลิลลี่ ตั้งกลุ่มไปจนถึงเป็นหนึ่งในแม่งานจัดกิจกรรม ยืน หยุด ขัง คู่ขนานกับประเทศไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข่าวการประกาศอดอาหารและน้ำของแบม-ตะวัน ซี่งเริ่มเมื่อ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเธอต้องการส่งสารไปยังนักสู้ทางการเมืองทุกคนในไทยว่ายังมีคนคอยเป็นกำลังใจ และสนับสนุน แม้ว่าตัวจะอยู่ห่างจากประเทศบ้านเกิดก็ตาม

"เราก็เลยรู้สึกว่า อย่างน้อยเราออกมา มันอาจจะแบบไม่ได้สร้างอิมแพกต์ (ผู้สื่อข่าว - impact หรือการสร้างผลกระเทือน) ขนาดนั้น แต่เราอยากเป็นกำลังใจให้แบม ตะวัน และคุณสิทธิโชคด้วย นักโทษการเมืองทุกคนที่สู้อยู่ตอนนี้ว่าเราไม่ได้ลืมนะ เรายังเอาใจช่วยอยู่นะ เรายังพร้อมจะสนับสนุน แม้ว่าแบบตอนนี้เราจะไม่ได้อยู่ที่ไทย"

หากสังเกตจากบรรยากาศการยืน หยุด ขัง จะพบว่ามีคนทั้งไทยและต่างประเทศมาร่วมยืนด้วย  ลิลลี่ กล่าวว่า ตอนที่จัดงานไม่ได้มีคนมาร่วมเยอะ เนื่องจากสภาพอากาศด้านนอกอาคารที่หนาวมากอยู่ที่ 0 องศาฯ ประกอบกับเวลาประชาสัมพันธ์ที่มีเวลาน้อย ทำให้คนที่มาร่วมส่วนใหญ่ก็เป็นเพื่อนๆ ชาวต่างชาติที่เรียนในคลาสเดียวกันกับลิลลี่ แต่เธอก็บอกว่าเซอร์ไพร์สอยู่เหมือนกันที่มีคนไม่รู้จักเลยมาร่วม

นักศึกษาไทยในสหรัฐฯ ระบุต่อว่า เธอไม่ได้ถามเหตุผลมากว่าทำไมคนต่างชาติถึงอยากมาเข้าร่วมกิจกรรม แต่เนื่องด้วยมหาวิทยาลัยมีการสอนหลักสูตรไทยศึกษา (Thai Studies) ก็ทำให้คนต่างชาติเข้าใจปัญหาการเมืองไทยพอสมควร 

บรรยากาศการจัดกิจกรรม 'ยืน หยุด ขัง' ของกลุ่ม UW-Madison Students for Thai Democracy เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2566 ท่ามกลางสภาพอากาศที่ 0 องศาเซลเซียส สังเกตเห็นได้ว่ามีการถือกังหันสีเหลือง ซึ่งเป็นตัวแทนของดอกทานตะวัน ซึ่งมาจากชื่อของ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หนึ่งในนักกิจกรรมไทยที่ประกาศอดอาหาร-น้ำ (ที่มา Facebook: UW-Madison Students for Thai Democracy)

พรรคการเมืองอยากเป็นตัวแทนประชาชน ก็ต้องยืนข้างประชาชน

สำหรับ 3 ข้อเรียกร้องทะลุวัง ผู้จัด ‘ยืน หยุด ขัง’ มองว่า สำหรับเธออาจไม่ได้มีเครดิตที่จะวิจารณ์เรื่องนี้มาก แต่หากดูจาก 3 ข้อเรียกร้อง สองข้อแรก ได้แก่ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม  และยุติการดำเนินคดีผู้ถูกคุมขังทางการเมือง เป็นเรื่องที่ต้องทำแน่นอน แต่เรื่องข้อ 3 พรรคการเมืองต้องมีจุดยืนยกเลิก 112 และ 116 ดูเหมือนว่าเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าจะเป็นตัวแทนของประชาชน ก็ต้องอยู่ข้างประชาชน และแสดงจุดยืนนี้อย่างชัดเจน

"เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก และเราก็คิดว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรค ก็มีแนวทางต่างกัน แต่เราก็รู้สึกว่าโดยพื้นฐานที่สุด พรรคการเมืองที่อยากเป็นตัวแทนของประชาชนก็ควรอยู่ข้างประชาชน เหมือนคำว่าแบบอย่างที่เราบอกไป เรารู้สึกว่า พอพูดถึง 112 และ 116 มันดูเหมือนแบบน่ากลัว สิ่งที่เรากำลังขอยื่นจริงๆ ตอนนี้ เสรีภาพการแสดงออก มันแค่ขอให้พูดได้ ขอให้วิจารณ์ได้แค่นั้นเอง ซึ่งเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่การขอที่เกินไป …ก็เลยอยากให้มีพรรคการเมืองกล้าหาญมากขึ้น"

ก่อนหน้านี้กลางดึกเมื่อ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา พรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมด 6 พรรคการเมืองออกแถลงการณ์แม้จะมีทีท่าที่แสดงความเป็นห่วงต่อสภาพร่างกายของแบม-ตะวันที่อดอาหารและน้ำติดต่อกันหลายวัน รวมถึงมีข้อเรียกร้องไปยังกระทรวงยุติธรรมให้มีข้อเรียกร้องต่อการปฏิรูปกระบวนการศาล และขอให้ศาลยุติธรรมยึดมั่นในหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษา และต้องพิจารณาการให้สิทธิประกันตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีการเมืองอย่างเป็นธรรม แต่ในแถลงการณ์กลับไม่มีการเอ่ยถึงจุดยืนนโยบายมาตรา 112 หรือ 116 แต่อย่างใด

เคารพการตัดสินใจ-ผลักดันข้อเรียกร้อง 3 ข้อทะลุวังให้เป็นจริง ช่วยชีวิตนักกิจกรรม

ก่อนหน้านี้มีข้อถกเถียงทั้งเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับวิธีการของแบม-ตะวัน ที่ประกาศอดอาหารและน้ำ สำหรับลิลลี่ เธอเป็นกังวลตอนได้ยินการประกาศครั้งแรก แต่เคารพการตัดสินใจของนักกิจกรรมทั้งสองคน เพราะมองว่านักกิจกรรมมีการประเมินความเสี่ยงของตัวเองและตัดสินใจเลือกวิธีดังกล่าวอย่างไตร่ตรองแล้ว และมองด้วยว่าวิธีที่จะทำให้นักกิจกรรมแบม-ตะวันยุติการอดอาหารและน้ำจริงๆ คือการร่วมสนับสนุนทำให้ข้อเรียกร้องทะลุวังให้เป็นจริง

(ซ้าย) 'ตะวัน' ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ (ขวา) 'แบม' อรวรรณ ภู่พงษ์

"สิ่งหนึ่งเราเชื่อมากๆ คือคนที่รู้เข้าใจการตัดสินใจดีที่สุดคือคนๆ นั้นเอง โดยเฉพาะคนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง แล้วรู้สึกว่าทุกคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกคนคิดมาดีแล้ว เราไม่เชื่อเรื่องแบบการถูกบงการโดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นทุกคนมี agenda ของตัวเอง เราเชื่อว่าทุกคนตัดสินใจด้วยตัวเอง รู้สึกว่าแต่ละคนแบกรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น เราพยายามที่จะเคารพทุกการตัดสินใจของทุกคน ไม่ว่าจะเลือกความเสี่ยงในระดับไหน

"สำหรับเรา คือเราแบบเรานับถือเขา เราอยากให้ข้อเรียกร้องของเขาสำเร็จ... เพราะเราอยากให้เขาเลิกอดอาหาร หมายความว่าถ้าศาลปล่อยให้ประกันตัว และยุติการดำเนินคดีกับนักการเมือง ตะวันกับแบมจะยอมกลับมากินอาหาร เรารู้สึกว่าเราไม่ได้อยากเห็นใคร ต้องจากไป เพราะการต่อสู้ทางการเมือง จนตอนนี้เราก็ยังหวังอยู่ว่าน้องจะได้กลับมา"

หลังทำกิจกรรม นักศึกษาไทยวัย 27 ปี รู้สึกเหมือนว่าได้ปลดปล่อยบางอย่างที่ค้างคาในใจ แม้จะยังคิดกับตัวเองว่าสิ่งที่ทำไปมันจะช่วยหรือมีประโยชน์รึเปล่า แต่รู้สึกดีที่ได้พูดออกไป ส่วนเมื่อถามถึงการจัดกิจกรรมในอนาคต ลิลลี่ บอกว่ากำลังมองหาความเป็นไปได้อื่นๆ ในการสร้างการรับรู้ปัญหาทางการเมืองในไทยมากขึ้น

‘ขอบคุณ’ แบม-ตะวัน

ท้ายสุดแล้ว เมื่อถามว่านักศึกษาไทยในสหรัฐฯ มีสารที่อยากฝากถึงรัฐบาลให้แก้ไขหรือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมหรือไม่นั้น ลิลลี่ตอบสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า ‘ไปเถอะ’ 

สำหรับนักกิจกรรม ธออยากฝากคำขอบคุณถึงนักต่อสู้ทางการเมือง แบม และตะวัน ที่ช่วยต่อสู้เพื่อให้ประเทศดีขึ้น

“อยากขอบคุณค่ะ และก็อยากให้กำลังใจเราขอบคุณมากๆ เรารู้สึกนับถือทุกคนมากๆ ที่อยู่ตรงนั้น เพราะเราก็รู้ว่าแบบ มันต้องแลกด้วยอะไรหลาย และเราก็แบบ อย่างมากๆ เรารู้สึกว่าเรามาเรียนต่างประเทศ แต่เราอยากกลับไทย เราอยากกลับบ้าน และเราอยากให้บ้านเราเป็นที่ๆ น่าอยู่กว่านี้ และเรารู้สึกว่าตอนนี้เราทำสิ่งนั้นไม่ได้ แต่ว่าคนที่กำลังสู้อยู่ตอนนี้กำลังทำสิ่งนั้นให้เราอยู่ เราก็เลยรู้สึกว่าเราขอบคุณมากๆ และก็แบบ ถ้ามีอะไรที่เราช่วยได้ พร้อมจะช่วยเต็มที่” 

ภาคผนวก รายละเอียดแถลงการณ์

แถลงการณ์ของกลุ่ม UW-Madison Students for Thai Democracy (ที่มา: FB UW-Madison Students for Thai Democracy)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net