Skip to main content
sharethis

'กลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์' เผยแจ้งความ นิสิตปี 2 จุฬาฯ ข้อหา ม.112 พ.ร.บ.คอมฯ และ พ.ร.บ.จุฬาฯ อ้างทำงานศิลปะหมิ่นตรา 'พระเกี้ยว' ซึ่งพระราชทานจาก ร.5 ด้าน 'ท็อปนิวส์' ระบุไม่เข้าข่าย ม.112 แต่ยังเป็นการด้อยค่า

 

11 ก.พ. 2566 เฟซบุ๊กเพจ 'ประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน' (ปภส.) โพสต์ข้อความเมื่อ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา เผยว่า ตัวแทนภาคีกลุ่มราชภักดี ซึ่งเป็นกลุ่มเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วย ทรงชัย เนียมหอม ประธาน ปภส. ตัวแทนของสนธิญา สวัสดี อัครวุฒิ ไกรศรีสมบัติ หัวหน้ากลุ่มอาชีวะราชภักดี (เต้ อาชีวะปกป้องสถาบัน) แน่งน้อย อัศวกิตติกร ประธานพลเมืองดิจิทัล (DDC) อร่ามศักดิ์ บุตรจู จากเพจ ‘รู้ทันโลกออนไลน์’ และ กวิน ชาตะวนิช หัวหน้ากลุ่มสุริโยไทปกป้องสถาบัน เดินทางไปที่ สน.ปทุมวัน เมื่อ 8 ก.พ. 2566 เข้าพบ พ.ต.อ.นพดล เทียมเมธา ผู้กำกับ สน.ปทุมวัน (ผกก.สน.ปทุมวัน) เพื่อยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ เพชรนิล (สงวนนามสกุล) นิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาทัศนศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในมาตรา 112 พ.ร.บ.คอมฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 14(3) พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 มาตรา 67 มาตรา 69 มาตรา 70(1) ปมทำงานศิลปะหมิ่นพระเกี้ยว ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่พระราชทานโดยรัชกาลที่ 5

โพสต์ระบุต่อว่า ผกก.สน.ปทุมวัน ตรวจสอบหนังสือร้องทุกข์ฯ และหลักฐานประกอบเกี่ยวกับการก่อเหตุเรียบร้อย จึงเรียกเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม สอบถามประเด็นที่สงสัย ทำความเข้าใจทั้งฝั่งเจ้าพนักงาน และกลุ่มตัวแทนภาคีราชภักดี จึงสรุปเห็นควรให้รับคดีไว้เพื่อสอบสวน จึงมีบัญชาไปยัง พ.ต.ท.เจริญสิทธิ์ จงอิทธิ รอง.ผกก.สอบสวน สน.ปทุมวัน ร่วมกับ ร.ต.อ.สิทธิกร วิจิตโสภา รอง.สว.สอบสวน สน.ปทุมวัน สอบปากคำนายทรงชัย เนียมหอม ผู้ร้องฯ พยานต่อคดี 3 ปาก สรุปรับไว้เป็นคดีอาญา และจะได้ดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

สำหรับ พ.ร.บ.จุฬาฯ พ.ศ. 2551 มาตรา 70(1) ที่ใช้ฟ้องครั้งนี้ ระบุว่า ผู้ใดปลอม หรือทําเลียนแบบซึ่งตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย หรือส่วนงานของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะทําเป็นสีใด หรือทําด้วยวิธีใดๆ มีโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อัครวุฒิ กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ 'TOP NEWS' ว่า ตนเองรวบรวมการกระทำผิดไว้หมดแล้ว แล้วจะเชื่อมโยงเข้ากับมาตรา 112 ให้ได้ และจะมีการแก้กฎหมายมาตรา 112 ครอบคลุมชั้นเจ้าฟ้าลงไป

ข้อเสนอแก้มาตรา 112 ของเต้ อาชีวะ คือข้อเสนอเดียวกับของพรรคไทยภักดี นำโดย 'วรงค์ เดชกิจวิกรม' เคยนำเสนอไว้ โดยมีการแก้ไข 3 ข้อหลัก ได้แก่ คุ้มครองข้อความ "สถาบันพระมหากษัตริย์" คุ้มครองอดีตพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ และคุ้มครองพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"วันนี้มีบัณฑิตอยู่ท่านหนึ่ง เอาตราสัญลักษณ์พระเกี้ยวมาวางไว้บนสะพานลอย ตามนิยามของคนทั่วไปมองว่า ขอทานอยู่บนสะพานลอย ดังนั้น คุณเอามาทำบนสะพานลอย คุณดูหมิ่นสถาบัน" อัครวุฒิ กล่าว

ด้านทรงชัย เนียมหอม ประธานกลุ่ม ปภส. ระบุว่า "เหนื่อยกับพฤติกรรมเหล่านี้ เรียกร้องสิทธิ์อะไรที่มีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน รวมถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ อุตส่าห์สอบเข้าได้ศึกษาที่มีชื่อเสียง เป็นอุดมศึกษาแห่งแรกที่ ร. 4 ทรงพระราชทานให้ก่อเกิดขึ้นมาดำริให้ทุกคนได้มีการศึกษาอย่างเท่าเทียม ร. 5 ทรงสืบสานต่อยอดก่อตั้งพระราชทานชื่อมหาวิทยาลัย ร. 9 ร. 10 สืบสานต่อยอดเรื่อยมา สายตาของพสกนิกรที่จงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติได้เห็น ได้อ่านข้อความแล้ว คำถามคือจุดไหนที่นิสิตอ้างเป็นศิลปะ ศิลปะแบบนี้อาจารย์ผู้สอนน่าจะต้องไปศึกษาใหม่ ไปเรียนใหม่ทุกคนที่เกี่ยวข้องเริ่มตั้งแต่ชั้นอนุบาลเลยดีที่สุด ตนไม่ยอมให้เรื่องที่เกิดขึ้นต้องลอยนวล พร้อมเอาหัวเป็นประกัน เอากฎหมายเข้าสู้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่อย่าหวังว่าตนจะยอมถอนแจ้งความ คนไหนก่อ คนนั้นรับไป"

หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการแจ้งความร้องทุกข์ ภาคีกลุ่มราชภักดีจึงแยกย้ายกันเดินทางกลับ

ทั้งนี้ ในรายการข่าว 'เจาะข่าวร้อน' ออกอากาศผ่านช่องยูทูบ 'TOP News' เมื่อ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา อุดร แสงอรุณ ผู้ดำเนินรายการ ระบุว่า การกระทำดังกล่าวของนิสิตชั้นปีที่ 2 จากการตีความของนักกฎหมายเบื้องต้นอาจไม่เข้าข่ายมาตรา 112 แต่ยังมองว่าเป็นการด้อยค่าตราสัญลักษณ์ พระเกี้ยว ของจุฬาฯ 

ภาพหลักฐานที่ทางภาคีราชภักดี นำมายื่นที่ สน.ปทุมวัน เพื่อแจ้งความ เมื่อ 8 ก.พ. 2566 (ที่มา: ประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน)

บุกจุฬาฯ ถามหาแนวทางป้องปรามเหตุหมิ่นพระเกี้ยว

คลิปวิดีโอ ‘ฟ้าวันใหม่ นิวส์’ ประจำวันที่ 8 ก.พ. 2566 เผยแพร่บนช่องยูทูบ ‘Bluesky Channel Live’ รายงานว่า ก่อนหน้าที่จะมีการไปแจ้งความที่ สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2566 เวลา 10.00 น. เครือข่ายภาคีราชภักดี นัดรวมตัวกันที่อาคารจุลจักรพงษ์ ซึ่งเป็นอาคารทำกิจกรรมสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากต้องการสอบถามทางผู้บริหารจุฬาฯ ว่าจะมีแนวทางป้องกันหรือป้องปรามเหตุการณ์ในลักษณะที่มีคนหมิ่นสัญลักษณ์หรือตราประจำมหาวิทยาลัยจุฬาฯ ในอนาคตต่อไปอย่างไร และเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

นอกจากนี้ ประธาน ปภส. เรียกร้องไปทางมหาวิทยาลัย ไม่ให้นิสิตสามารถใช้ชื่อมหาวิทยาลัยในการกระทำความผิดอีกต่อไป 

ด้าน แน่งน้อย ประธานกลุ่ม DDC กล่าวก่อนการยื่นหนังสือถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยว่า แม้ว่าทางเครือข่ายจะไม่ใช่นิสิตจุฬาฯ แต่พวกเธอมาในนามของคนไทยที่ต้องการปกป้องและรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ และเรียกร้องให้นิสิตจุฬาฯ ปี 2 ลาออกจากมหาวิทยาลัย

“ถ้าไม่รักจุฬาฯ ก็ลาออกเถอะค่ะ อย่าเรียนต่อเลย เพราะว่าเห็นมีการโพสต์การคุยในลักษณะที่ทำให้สถาบันเสื่อมเสียแบบนี้ เพราะงั้นตัวเองก็ยังศึกษาอยู่ในสถาบันนี้ ลาออกเถอะค่ะ คือการตัดปัญหาที่ดีที่สุด คุณอยากจะทำแบบนี้ที่ไหนก็ไป ไม่ห้าม แต่ขอร้องอย่างเดียว อย่าทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยการกระทำที่ชั่วร้ายแบบนี้ต่อไป” แน่งน้อย กล่าว

ในวิดีโอระบุด้วยว่า ทางเครือข่ายมีการประสานว่าจะมีผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยมารับหนังสือ แต่พอถึงเวลาจริง มีเพียงแค่ตัวแทนเจ้าหน้าที่มารับหนังสือเท่านั้น ซึ่งสร้างความไม่พอใจต่อทางเครือข่าย

หลังจากยื่นหนังสือ ทรงชัย ให้สัมภาษณ์กับ TOP News เพิ่มว่า ทางมหาวิทยาลัยจุฬาฯ จะมีการเรียกตัวแทนภาคีฯ ไปชี้แจงอีกครั้ง ถึงความคืบหน้าการจัดการนิสิตที่ทำงานศิลปะดังกล่าว นอกจากนี้ ทรงชัย ระบุว่าหากไม่มีความคืบหน้า อาจจะฟ้องร้องทางอธิการบดีมหาวิทยาลัยด้วย ฐานให้การสนับสนุนการละเมิด 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net