Skip to main content
sharethis

งานวิจัยมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม ที่ศึกษาผู้ประกอบการ 348 ราย ก่อนการระบาดของโควิด-19 พบว่าแม้ผู้ประกอบการทำงานหนัก-ยาวนานกว่าพนักงานที่ได้รับเงินเดือน แต่พวกเขากลับไม่เสี่ยงต่อ 'ภาวะหมดไฟ' (burnout) มากนัก อาจเพราะ 'ผลกระทบเชิงบวกทางจิตวิทยาในการทำงานของผู้ประกอบการ' โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจคนเดียวไม่มีการจ้างพนักงาน


ที่มาภาพ: UN Women/Joe Saade (CC BY-NC-ND 2.0)

14 ก.พ. 2566 งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม (University of Amsterdam) พบว่าแม้ผู้ประกอบการมักจะทำงานเป็นเวลายาวนานกว่าพนักงานที่ได้รับเงินเดือน แต่พวกเขากลับไม่เสี่ยงต่อ 'ภาวะหมดไฟ' (burnout) มากนัก โดยผู้เขียนงานวิจัยดังกล่าวชี้ว่าความเสี่ยงจากความเหนื่อยหน่ายในหมู่ผู้ประกอบการโดยเฉลี่ยนั้นน้อยกว่าพนักงานนั้น ปัจจัยอาจมาจาก 'ผลกระทบเชิงบวกทางจิตวิทยาในการทำงานของผู้ประกอบการ'

เมื่อพิจารณาถึงภาวะหมดไฟและความเครียดในโลกธุรกิจ ก่อนหน้านี้มีการวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาภาวะหมดไฟและ 'ภาวะบ้างาน' (workaholism) ในหมู่พนักงาน แต่ไม่มีงานวิจัยชิ้นใดที่ศึกษาผู้ประกอบการโดยเฉพาะ

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมได้ทำการศึกษาเพื่อตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการและภาวะหมดไฟ โดยมีการติดตามผู้ประกอบการ 348 ราย เปรียบเทียบกับพนักงาน 1,002 ราย เป็นระยะเวลานานถึง 6 เดือน ข้อมูลนี้ถูกรวบรวมก่อนการระบาดของโควิด-19

“ดูเหมือนจะมีความย้อนแย้งในลักษณะ 'บ้างานในเชิงบวก' เนื่องจากผู้ประกอบการต่างทุ่มเทให้กับงานของตนมากเสียจนได้พักผ่อนน้อยกว่าปกติ อะไรทำให้พวกเขาได้รับการปกป้องจากภาวะหมดไฟ? ดังนั้นเราจึงดูที่กลไกหลักที่เกี่ยวข้องกับภาวะหมดไฟและการมีส่วนร่วมกับงาน” มาร์ติน ออบชอนกา ศาสตราจารย์ด้านผู้ประกอบการของมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมกล่าว

“งานของผู้ประกอบการดูเหมือนจะส่งผลให้เกิดความเครียดในการทำงาน  เช่น ความกดดันจากการทำงาน ความกดดันด้านเวลา และงานธุรการ น้อยกว่างานที่ได้รับค่าจ้าง” ศาสตราจารย์ออบชอนกา ให้ความเห็น “นอกจากนี้ การเป็นผู้ประกอบการยังช่วยให้มีอิสระในการทำงานส่วนบุคคลมากกว่าพนักงาน ทั้งหมดนี้เป็นจิตวิทยาเชิงบวก เนื่องจากผู้ประกอบการรู้สึกว่าพวกเขามีส่วนร่วมในงานนั้นๆ ในระดับสูง ผลที่ตามมาคือ การทำงานของพวกเขาไม่เพียงแต่ทำให้พวกเขามีพลังมากขึ้น พวกเขายังมีความคิดบวกมากกว่าพนักงานที่ได้รับเงินเดือน พวกเขายังมีความสุขและพอใจกับงานของพวกเขามากขึ้นอีกด้วย โดยเฉลี่ยแล้วการเป็นผู้ประกอบการดูเหมือนจะทำให้ผู้คนมีความสุขมากขึ้น”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจคนเดียวที่ไม่ต้องรับผิดชอบพนักงานคนอื่นๆ มีความเสี่ยงต่ำสุดที่จะเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน อย่างไรก็ตาม หากพวกเขาลงเอยด้วยการขยายธุรกิจและจ้างพนักงาน ความน่าจะเป็นของภาวะหมดไฟในการทำงานกลับเพิ่มขึ้น ศาสตราจารย์ออบชอนกาชี้ว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่จะต้องตระหนักถึงสิ่งนี้ เช่นเดียวกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นของภาวะหมดไฟในหมู่พนักงาน

สำหรับคนทำงานที่มีรายได้เป็นเงินเดือน ผู้เขียนงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าการเป็นผู้ประกอบการควบคู่ไปด้วย เช่นการเริ่มธุรกิจเองในขณะที่ยังเป็นพนักงานให้องค์กรขนาดใหญ่ อาจจะช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะหมดไฟในการทำงานด้วยเช่นกัน

“ถ้าเราใช้ประโยชน์จากจิตวิทยาของการทำงานในฐานะผู้ประกอบการได้อย่างสูงสุด มันไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์แค่ในภาคผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ รวทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่กว้างขึ้น” ศาสตราจารย์ออบชอนกา สรุป

ผู้ประกอบการที่ 'เร่งรีบทำงาน' มากกว่า 'นอนหลับพักผ่อน' มีโอกาสล้มเหลวมากกว่า 


ที่มาภาพ: Jake Bellucci (CC BY-NC-ND 2.0)

ทุกวันนี้มีแนวคิดที่เชื่อว่าหากจะประสบความสำเร็จในธุรกิจเราต้องทำงานให้หนักมากที่สุด และต้องใช้เวลากับงานให้มากที่สุดเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย แต่จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลฟลอริดา (University of Central Florida) ยืนยันว่าหากจะพบกับความสำเร็จในฐานะผู้ประกอบการนั้น การนอนหลับอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุด

“ผู้ประกอบการที่เร่งรีบทำงานมากกว่าการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ โดยคิดว่าการนอนหลับควรทำเป็นอย่างหลัง พฤติกรรมเช่นนี้อาจทำให้พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งหวังไว้” เจฟฟ์ กิช ผู้เขียนวิจัยหลักอธิบายในเอกสารเผยแพร่ “ทุกคนต้องการการนอนหลับพักผ่อนที่ดี ซึ่งมันสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการ”

การศึกษาก่อนหน้านี้หลายชิ้นพบความเชื่อมโยงระหว่างการนอนหลับสนิทกับประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น แต่การศึกษานี้เป็นครั้งแรกที่ได้เชื่อมโยงระหว่างการนอนหลับกับทักษะทางจิตใจที่จำเป็นของผู้ประกอบการ

แน่นอนว่าการพักผ่อนอย่างเพียงพอไม่ได้ทำให้ใครก็ตามกลายเป็นเจฟฟ์ เบซอส คนต่อไป แต่นอกจากประสบการณ์และไหวพริบทางธุรกิจแล้ว นักวิจัยยังกล่าวอีกว่าการนอนหลับเป็นส่วนประกอบสำคัญต่อความสำเร็จของผู้ประกอบการ

สำหรับการศึกษานี้ได้ทำการสำรวจผู้ประกอบการ 700 รายจากทั่วโลก ผู้เข้าร่วมแต่ละคนถูกถามเกี่ยวกับพฤติกรรม รูปแบบ และเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในการนอนต่อวัน ในขณะเดียวกัน นักวิจัยให้คณะผู้เชี่ยวชาญทางธุรกิจที่มีประสบการณ์ ประเมินศักยภาพทางธุรกิจของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมการศึกษา ซึ่งผลลัพธ์ระบุว่าผู้เข้าร่วมการศึกษาที่นอนหลับเป็นประจำในแต่ละคืน มีศักยภาพทางธุรกิจมากกว่าผู้เข้าร่วมการศึกษาที่ไม่ได้นอนมากนัก

นอกจากนี้ยังมีการประเมินผู้เข้าร่วมการศึกษากลุ่มเล็กๆ พร้อมติดตามรูปแบบการนอนหลับของพวกเขาไปพร้อมๆ กันในช่วงเวลาหลายสัปดาห์ ผลการวิจัยพบว่าผู้เข้าร่วมการศึกษาที่ได้นอนอย่างน้อย 7 ชั่วโมงในแต่ละคืน มีศักยภาพทางธุรกิจมากกว่า 

“หลักฐานบ่งชี้ว่าการนอนน้อยได้ลดทอนศักยภาพเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะไอเดียการลงทุนใหม่ๆ” กิช กล่าว.


ที่มา:
Entrepreneurs are often feverish workaholics. So what’s their secret to avoiding burnout? (John Anderer, Study Finds, 31 January 2023)
Bed business: Entrepreneurs who ‘choose hustle over sleep’ more likely to fail, study finds (John Anderer, Study Finds, 6 August 2019)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net