สืบพยาน 'คดีเหมืองไทยในพม่า' ฟ้อง 'นักข่าวสิ่งแวดล้อม' หมิ่นประมาท

ศาลนัดสืบพยานต่อเนื่องคดีบริษัทเหมืองไทยในพม่าฟ้อง “ปรัชญ์ รุจิวนารมย์” นักข่าวสิ่งแวดล้อม อดีต บ.ก. GreenNews ในข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากการรายงานข่าวคดีบริษัทเหมืองไทยในพม่าทำสิ่งแวดล้อมพัง

16 ก.พ. 2566 เมื่อวันที่ 13 และ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ปรัชญ์ รุจิวนารมย์ ในฐานะอดีตบรรณาธิการสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNews พร้อมด้วยทนายความได้เดินทางไปยังศาลจังหวัดนครปฐมเพื่อต่อสู้คดีในฐานะจำเลย โดยทางฝ่ายโจทก์คืออัยการจังหวัดนครปฐมและโจทก์ร่วมคือ บริษัทเมียนมา พงษ์พิพัทธ์ จำกัด

ในวันที่ 13 ก.พ. 2566 โจทก์และโจทก์ร่วม โดยนายเกรียงไกร ชวาลตันพิพัทธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทผู้แจ้งความดำเนินคดีสำนักข่าวกรีนนิวส์ เข้าเบิกความต่อจากนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 6 ก.ย. 2565 ที่ยังเบิกความไม่แล้วเสร็จการสืบพยานในช่วงวันที่ 13 และ 14 ก.พ. ที่ผ่านมานับเป็นการสืบพยานต่อเนื่อง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในวันที่ 6 ก.ย. 2565ได้มีการสืบพยานฝ่ายโจทก์ไปแล้วบางส่วน การสืบพยานฝ่ายโจทก์ครั้งนี้เริ่มตั้งแต่เวลา 9.00 น. ในวันที่ 13 ก.พ. 2566 ได้มีการสืบพยานฝ่ายโจทก์และโจทก์ร่วมไป 2 ปาก คือ เกรียงไกร และพยานบุคคลที่อ้างว่าเป็นผู้เห็นข่าวของสำนักข่าวกรีนนิวส์ที่พิพาทในคดีนี้ได้ 1 ปาก แล้วโจทก์ขอเลื่อนไปสืบพนักงานสอบสวนต่อในวันรุ่งขึ้น

ปรัชญ์ รุจิวนารมย์ 

ในวันที่ 14 ก.พ. 2566 ได้มีการสืบพยานพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนและผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองนครปฐมในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนจนเสร็จสิ้น หลังจากนั้นอัยการโจทก์ขอยกเลิกนัดวันที่ 15 ก.พ. 2566 เนื่องจากพยานที่เป็นล่ามติดภารกิจมาเบิกความไม่ได้ ส่วนพยานผู้เห็นนักข่าวอีก 2 คนก็เช่นกัน จึงขอยกเลิกนัดและขอไปสืบพยานโจทก์และโจทก์ร่วมต่อในวันที่ 24 ก.พ. 2566 ที่นัดไว้เดิม

ศาลอนุญาตให้เปลี่ยนวันนัดเป็นวันที่ 24 ก.พ. 2566 เป็นวันนัดสืบพยานโจทก์และโจทก์ร่วม และเมื่อสืบพยานโจทก์และโจทก์ร่วมเสร็จก็จะสืบพยานจำเลยต่อทันที ส่วนวันนัดสืบพยานจำเลยที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปจะมีการกำหนดนัดใหม่อีกครั้งหลังสืบพยานวันที่ 24 ก.พ. 2566 เสร็จ

ทั้งนี้ ฝ่ายจำเลยได้เตรียมพยานที่จะเบิกความต่อศาลไว้แล้ว ได้แก่ อดีต บก. สำนักข่าวสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นตัวจำเลยเอง ยังมี วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจดการน้ำอย่างบูรณาการ และชาวพม่าอีกจำนวนหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับคดีความที่ นายซอ ดา เชว ฟ้องบริษัทเหมืองแร่ไทย รวมทั้งนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

คดีนี้สืบเนื่องจาก “บริษัท เมียนมาร์ พงษ์พิพัทธ์ จำกัด” ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองแร่ไทยในพม่าได้แจ้งความต่อปรัชญ์บรรณาธิการสำนักข่าวสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น ในข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา พร้อมเรียกร้องค่าเสียหาย จากการรายงานข่าวเรื่อง ‘ศาลพม่าสั่งบริษัทเหมืองแร่ไทยชดใช้ชาวบ้านทวาย 2.4 ล้านบาท เหตุเหมืองดีบุกทำสิ่งแวดล้อมพัง’ ที่ถูกโพสต์ลงเว็บไซต์ของสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews) เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2563 โดยมีเกรียงไกร ชวาลตันพิพัทธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เมียนมา พงษ์พิพัทธ์ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการเหมืองแร่ ณ เมืองเฮงดา ใกล้เมืองทวาย ในภูมิภาคตะนาวศรี ประเทศพม่า เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี และขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในนัดก่อนนั้นศาลได้มีคำสั่งให้โจทก์ร่วมวางเงินค่าขึ้นศาล ภายใน 15 วัน จากการที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตามป.วิอาญา ม.44/1 เป็นเงินจำนวน 135 ล้านบาท ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องดังกล่าวต่อศาล โดยอ้างว่า จะรอฟังผลคดีอาญา เพื่อตรวจสอบค่าเสียหายและจะเรียกร้องค่าเสียหายโดยจะฟ้องร้องจำเลยเป็นคดีแพ่งต่างหากต่อไป ศาลจึงสอบถามจำเลยว่า จะคัดค้านหรือไม่ จำเลยแถลงไม่คัดค้าน ศาลจึงได้มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมถอนคำร้องดังกล่าวออกไป

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท