พ่อค้าแม่ค้าในเคนย่าประท้วงต้าน ‘ร้านค้าปลีกทุนจีน’ เหตุขายตัดราคา ทำลายผู้ค้าท้องถิ่น

  • เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พ่อค้าแม่ค้าในเคนย่าลงถนนประท้วงต่อต้านซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ชื่อว่า ‘ไชน่า สแควร์’ ซึ่งมีเจ้าของเป็นคนจีน สินค้าราคาถูกจากร้านค้าปลีกจีนกำลังเป็นประเด็นถกเถียงร้อนแรงว่ามันให้คุณหรือโทษต่อสังคมเคนย่ามากกว่ากัน
  • ผู้ประกอบการท้องถิ่นก็มองว่าร้านค้าปลีกทุนจีนเข้ามาขายตัดราคาร้านค้าของพวกเขา แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสินค้าจีนราคาถูกก็ตอบโจทย์วิกฤตค่าครองชีพ-ปัญหาเงินเฟ้อที่คนเคนย่าเผชิญอยู่ 
  • ผู้เชี่ยวชาญชี้เคนย่าควรจะต้องหาจุดสมดุลระหว่างการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นควบคู่ไปกับการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

9 มี.ค. 66 ร้านค้าปลีกไชน่า สแควร์ที่มีเจ้าของเป็นชาวจีนกำลังตกเป็นข้อพิพาทในเคนย่า พวกเขากำลังจะกลับมาเปิดทำการอีกครั้งหลังจากที่ปิดไปหนึ่งสัปดาห์เพราะเผชิญข้อร้องเรียนเรื่องค้าของปลอม-ของลอกเลียนแบบ 

สภาหอการค้าเคนย่า (KCCC) แถลงแสดงความยินดีที่ร้านค้าไชน่า สแควร์ จะกลับเปิดทำการอีกครั้ง หลังจากที่มีการหารือกับรัฐบาลเมื่อไม่นานนี้ ทางสภาหอการค้าเคนย่าระบุว่าพวกเขา "มุ่งหวังที่จะเห็นการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมต่อธุรกิจทั้งหมดเพื่อให้แน่ใจว่ามันจะนำไปสู่บรรยากาศที่เอื้อต่อธุรกิจสำหรับทุกคน"

ไชน่า สแควร์ ตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้ายูนิซิตี้มอลล์ ใกล้กับมหาวิทยาลัยเคนยัตตา อยู่ที่แถบรอบนอกของเมืองหลวงกรุงไนโรบี ร้านค้าปลีกแห่งนี้ขายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในบ้านหลายอย่าง หลังจากที่มีการเปิดทำการในวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมามันก็กลายเป็นร้านค้าที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวเคนย่าเพราะมีสินค้าราคาถูก

อย่างไรก็ตามร้านค้าสัญชาติจีนแห่งนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ประกอบอาชีพค้าปลีกในเคนย่า พวกเขาบอกว่าไชน่า สแควร์ ขายของราคาถูกเสียจนทำให้เกิดการตัดราคาสินค้าของพ่อค้าแม่ค้าในท้องถิ่นเอง จนทำให้ผู้ประกอบอาขีพค้าปลีกในเคนย่าหลายร้อยคนออกมาประท้วงบนท้องถนนเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา

กลุ่มผู้ประท้วงบางส่วนตะโกนว่า "จีนออกไป!" ในขณะที่เดินขบวนไปที่สำนักงานของรองประธานาธิบดี ริกาธี กาชากัว และไปที่รัฐสภาเคนย่าเพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อต้านร้านค้าสัญชาติจีน มีป้ายประท้วงแผ่นหนึ่งระบุว่า "ชาวจีนไม่ควรจะเป็นผู้นำเข้า ผู้ค้าปลีก ผู้ค้าส่ง หรือผู้เร่ขายของ"

มีผู้ประท้วงรายหนึ่งที่ไม่เปิดเผยชื่อบอกว่าพวกเขาต้องการให้ชาวจีนออกไปจากประเทศเคนย่า เพราะถ้าหากว่าชาวจีนเป็นทั้งผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าปลีก และกระทั่งผู้เร่ขายของ แล้วชาวเคนย่าจะไม่มีที่ยืน

ฝ่ายสนับสนุนร้านค้าปลีกจีนพูดว่าอย่างไร

ในเคนย่ามีประชากรบางส่วนที่สนับสนุนร้านค้าปลีกของจีนเช่นกัน เช่น ชารอน วานจิกู คนค้าขายในเคนย่าบอกว่าไชน่า สแควร์ควรจะได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้เพราะพวกเขา "ขายของที่มีคุณภาพในราคาที่คนเข้าถึงได้" จากที่ในปัจจุบันค่าครองชีพสูงมาก การที่มีสินค้าขายในราคาแบบของไชน่า สแควร์ เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการ

Lei Cheng เจ้าของร้านค้าปลีกไชน่า สแควร์ กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ในเคนย่าว่าเขาตัดสินใจเปิดร้านค้าแห่งนี้หลังจากที่เขาพบว่าราคาสินค้าต่างๆ ในซูเปอร์มาร์เก็ตของเคนย่านั้น "สูงเกินไป" Lei บอกว่าไชน่า สแควร์ ทำยอดขายได้ 20 ล้านชิลลิงเคนย่า (ราว 5.4 ล้านบาท) ต่อวันในช่วงสองสัปดาห์แรกหลังจากที่มีการเปิดทำการ

ในช่วงที่กลุ่มผู้ค้าในท้องถิ่นแสดงความไม่พอใจในเรื่องการขายตัดราคา ทางไชน่า สแควร์ ก็ได้ประกาศปิดร้านชั่วคราวในช่วงปลายเดือน ก.พ. จนกว่าจะมีการแจ้งให้ทราบอีกครั้งว่าจะเปิดเมื่อใด 

ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีใครทราบเหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไมพวกเขาถึงปิดร้านชั่วคราว แต่ Lei ก็บอกว่าเป็นเหตุผลเรื่องความปลอดภัย เขาบอกว่าร้านไชน่า สแควร์ ต้องรับลูกค้าจำนวนมากในช่วงเวลาเดียวกันจนทำให้เกิดความกังวลเรื่องความปลอดภัยต่อลูกค้าทำให้พวกเขาจ้างยามมาประจำที่ร้านมากขึ้น นอกจากนี้ยังบอกว่าจะปรับปรุงแก้ไขเรื่องที่ทำให้ลูกค้าต้องรอต่อคิวยาวด้วย

ขณะเดียวกัน Lei ก็ได้กล่าวต่อสื่อต่างประเทศว่าการที่ร้านปิดตัวลงชั่วคราวก็เพื่อ "พิจารณาและวางแผนยุทธศาสตร์ร้านค้าใหม่อีกครั้ง" และเพื่อเป็นการ "พิจารณาความเป็นไปได้ที่จะทำการประสานความร่วมมือกับกลุ่มผู้ค้าขายในท้องถิ่น"

ในเรื่องที่ว่าไชน่า สแควร์ ถูกกล่าวหาว่าประกอบธุรกิจอย่างไม่เป็นธรรมนั้น Lei ก็กล่าวยืนยันว่า "ธุรกิจของผมถูกกฎหมาย และเน้นเรื่องการแข่งขันอย่างเหมาะสม พวกเรายังได้ร่วมมือปฏิบัติตามแนวทางของรัฐบาลในการเปิดธุรกิจในเคนยา และพวกเรามาที่นี่เพื่อทำลายการผูกขาด"

เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ หน่วยงานต่อต้านสินค้าผิดลิขสิทธิ์ของทางการเคนย่าบอกว่าพวกเขาได้สืบสวนข้อร้องเรียนที่ว่าไชน่าสแควร์ขายของเถื่อนแต่ก็ไม่พบหลักฐานในเรื่องนี้ และในสัปดาห์นี้ร้านค้าก็กลับมาเปิดทำการอีกครั้ง แต่กลุ่มผู้ค้าปลีกในท้องถิ่นของเคนย่าก็ยังคงมีข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องอื่นๆ อยู่

บาลานซ์ต่างชาติ-ท้องถิ่น

ทางออกที่วิน-วิน เป็นไปได้หรือไม่

จีนเป็นคู่ค้าหลักของทวีปแอฟริกา อีกทั้งยังมีชาวจีนมากกว่า 1 ล้านรายที่อาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา มีผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเคนย่าควรจะต้องหาจุดสมดุลระหว่างการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นควบคู่ไปกับการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

โมเสส คูเรียรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของเคนย่า เคยกล่าวไว้เมื่อปลายเดือน ก.พ. ว่า เขาได้เสนอให้มหาวิทยาลัยเคนยัตตาซื้อสัญญาเช่าจาก ไชน่า สแควร์ แล้วโอนกรรมสิทธิให้กับ กลุ่มผู้ค้าปลีกรายย่อยในเคนย่าที่มีการแข่งขันกันคือ สมาคมผู้ค้ากิคอมบา เนียมากิมา มูเตอวา และอีสต์ลีห์ โดยอ้างเหตุผลว่า "พวกเรายินดีต้อนรับชาวจีนในฐานะนักลงทุนด้านการผลิตในเคนย่า ไม่ใช่ในฐานะผู้ค้าขาย"

อย่างไรก็ตามปลัดกระทรวงการต่างประเทศของเคนย่า โครีร์ ซิงโกย กลับเสนอต่างออกไปโดยระบุว่าพวกเขาต้อนรับนักลงทุนทั้งหมดไม่ว่าจะมาจากชาติใดก็ตาม

Wu Peng ข้าราชการระดับสูงที่ทำงานในกระทรวงการต่างประเทศของจีน แสดงความยินดีที่ปลัดกระทรวงของเคนย่าแสดงการรับรองพวกเขา รวมถึงบอกว่า "ซูเปอร์มาร์เก็ตนานาชาติ ร้านค้าแฟรนไชส์มีอยู่ทุกที่ในจีน และพวกเราก็ยินดีต้อนรับเข้ามามากกว่านี้"

อาห์เหม็ดนัสซีร์ อับดุลลาฮี ทนายความที่มีชื่อเสียงในเคนย่ากล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยต่อคำแถลงของคูเรีย รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของเคนย่า โดยบอกว่า การที่คูเรียพยายามเล่นงาน Lei เจ้าของไชน่า สแควร์ มันขัดกับคำพูดที่คูเรียเองมักจะพูดอยู่บ่อยๆ ว่า "เคนย่าเปิดกว้างต่อธุรกิจ"

เจอริสัน อิเคียรา นักเศรษฐศาสตร์ชาวเคนย่ากล่าวว่า "การยับยั้งไม่ให้ชาวต่างชาติทำธุรกิจอย่างถูกกฎหมายในเคนย่าได้นั้นถือเป็นเรื่องล้าหลัง พวกเราต้องหันมาหาวิธีสร้างสมรรถภาพให้กับชาวเคนย่า ให้พวกเขาสามารถผลิตสินค้าที่จะแข่งขันทางธุรกิจได้"

เรียบเรียงจาก:

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท