Skip to main content
sharethis

'ไข่ มาลีฮวนน่า' คุยกับ 'ก้าวไกล' ช่วยผลักดันร่าง ‘พ.ร.บ.สภาศิลปะฯ’ โดยทุกฝ่ายเห็นตรงกันเชิงหลักการ รัฐต้องคุ้มครองคนทำงาน กระทรวงวัฒนธรรมต้องเปลี่ยนจาก ‘ควบคุม’ เป็นสร้างพื้นที่-สนับสนุนคนทำงานศิลปะ

 

10 มี.ค. 2566 เพจเฟซบุ๊ก ‘Moving Forward Party’ หรือพรรคก้าวไกล วานนี้ (9 มี.ค.) คฑาวุธ ทองไทย หรือชื่อในวงการเพลง ‘ไข่ มาลีฮวนน่า’ สมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิงอาชีพแห่งประเทศไทย เดินทางมาที่พรรคก้าวไกล เพื่อเสนอให้พรรคช่วยผลักดันร่าง พ.ร.บ.สภาศิลปะศิลปินและวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งสถานะปัจจุบันของร่างนี้ ประธานสภาฯ อนุมัติเมื่อปลายปี 2565 ให้สามารถเชิญชวนประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ 

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.สภาศิลปะฯ ถูกริเริ่มมานานแล้วโดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ และ ส.ว. ชุดปัจจุบัน สาระสำคัญคือต้องการให้เกิดแผนแม่บทเพื่อคุ้มครองคนทำงานในวงการศิลปะวัฒนธรรม อาศัย 3 กลไก คือ สภาศิลปะศิลปินและวัฒนธรรมแห่งชาติ คณะกรรมการสภาศิลปะฯ และกองทุนทางวัฒนธรรมแห่งชาติ

ที่ผ่านมาแม้พยายามผลักดันผ่านมาแล้ว 2 รัฐบาล แต่ยังไม่สำเร็จ พอเจอวิกฤติโควิดที่กระทบการประกอบอาชีพของคนทำงานในวงการอย่างหนัก ก็ยิ่งเห็นความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายนี้
.
ในวงพูดคุยวันนั้น บรรยากาศเป็นไปได้ด้วยดี ฝั่งพรรคก้าวไกล มีพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค พร้อมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ 2 คนที่เป็นอดีตคนทำงานในวงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่าง ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ผู้ออกแบบท่าเต้น ‘จีนี่จ๋า 2002 ราตรี’ และ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล อดีตมือเบสวง Basher ร่วมพูดคุยกับทีมคฑาวุธ

ในการพูดคุยทุกฝ่ายเห็นตรงกันในเชิงหลักการใน 2 เรื่องใหญ่ หนึ่งคือรัฐควรมีกลไกคุ้มครองศิลปินหรือผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ และสองคือบทบาทของกระทรวงวัฒนธรรม จากตอนนี้ที่เหมือนเป็นกระทรวงทางสังคม เน้นควบคุม-เซ็นเซอร์ ควรปรับเป็นกระทรวงเชิงเศรษฐกิจ เปิดพื้นที่ให้เสรีภาพแก่ผู้ผลิตผลงาน และมีบทบาทดูแลคนทำงานศิลปะมากกว่าที่เป็นอยู่

ประเด็นนี้สอดคล้องกับสิ่งที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เคยพูดถึง ‘อิฐ 5 ก้อน’ หรือการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ตามแนวทางของรัฐบาลก้าวไกล อิฐก้อนแรก คือ ‘รัฐสวัสดิการ’ เพราะทุกวันนี้คนในวงการทำงานหนัก อย่างแรงงานในอุตสาหกรรมโฆษณาหรือภาพยนตร์ ต้องทำงานไม่ใช่ 40 ชั่วโมง แต่เป็นร้อยชั่วโมง

อิฐก้อนที่ 2 คือ คือเสรีภาพในการแสดงออก ถ้าประเทศไทยยังมีกฎหมายที่กดทับเสรีภาพ เช่น กฎหมายอาญา ม.112 ม.116 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ อิฐก้อนที่ 3 คือเพิ่มงบประมาณ อิฐก้อนที่ 4 ต้องทลายทุนผูกขาด และอิฐก้อนที่ 5 คือการสร้างคน

พรรคก้าวไกลมั่นใจว่า นโยบายเหล่านี้ประเทศไทยทำให้เกิดขึ้นได้ ถ้ารัฐเห็นความสำคัญและมีวิสัยทัศน์ที่จะขับเคลื่อนเรื่องวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนวิจารณ์พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีปัจจุบันว่าไม่เคยผลักดันเรื่องนี้เลย

กลับมาที่วงพูดคุย ปกรณ์วุฒิ บอกว่า นอกจากเรื่องที่เห็นตรงกัน ก็ได้เสนอความเห็นเพิ่มเติมไปกับทีมคฑาวุธ ว่าเนื้อหาของร่างบางส่วนสามารถปรับให้ชัดเจนขึ้น เช่น ใส่คำว่า “ศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัย ดนตรีสากล ภาพยนตร์” ลงไปในร่างกฎหมายได้เลย

ปกรณ์วุธ มองว่า การเขียนลงไปชัดๆ แบบนี้ เป็นการยืนยันว่า วัฒนธรรมของพวกเรามันรวมถึงเรื่องพวกนี้ ช่วยปิดช่องไม่ให้รัฐตีความคำว่า ‘วัฒนธรรม’ อย่างคับแคบ เพราะจริงๆ เมื่อพูดถึงคำว่าวัฒนธรรม ในตัวมันเองครอบคลุมทุกอย่างที่เป็นงานศิลปะอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคคือสายตาของรัฐยังมองว่า ‘วัฒนธรรม’ คือสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่เมื่อร้อยปีที่แล้ว และมักมาคู่กับคำว่า ‘อนุรักษ์’ ไม่ใช่ ‘พัฒนา’

ที่สำคัญ การปรับแก้เนื้อหา ต้องรับฟังความเห็นจากกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง เช่น สหภาพคนทำงาน สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย

จากนั้น ขยายผลเรื่องนี้ให้ถูกรับรู้ในวงกว้างผ่านการทำแคมเปญ เชิญชวนให้คนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และประชาชน ที่ได้ประโยชน์จากร่างกฎหมาย (เช่น นักดนตรีกลางคืน ศิลปินอิสระ) มาร่วมเข้าชื่อออนไลน์

อดีตมือเบสวง Basher เชื่อด้วยว่า หากทำให้ร่างกฎหมายนี้เป็นร่างฉบับประชาชนที่มีความทันต่อยุคสมัย ปรับเนื้อหาจากการรับฟังคนในวงการ และให้ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเพื่อเสนอต่อสภาฯ ในสมัยหน้า จะสร้างแรงสนับสนุน และเป็นไปได้ว่าอาจได้เสียงถึงแสนรายชื่อ

ชุดนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของพรรคก้าวไกล ยังจัดเต็มอีกหลายเรื่อง เช่น เพิ่มงบสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 10 เท่า จาก 500 ล้าน เป็น 5,000 ล้านบาท, สวัสดิการให้เยาวชน คูปองเปิดโลก สูงสุด 2,000 บาทต่อปี สำหรับเรียนรู้นอกห้องเรียน, เพิ่มพื้นที่ผลิตและโชว์งานสร้างสรรค์ เช่น co-studio และแกลเลอรี, พอกันทีทำงานวันละ 16 ชั่วโมง คุ้มครองสวัสดิภาพและสิทธิคนทำงาน, ทุกอาชีพต้องมีสิทธิเรียกร้องรวมตัวตั้งสหภาพ

พรรคก้าวไกล เชื่อว่าศิลปะ วัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ คือเสื้อผ้าที่เราไม่เพียงสวมใส่ เปลี่ยนสไตล์ได้ เพื่ออวดความเป็นตัวตนของเรา ความเป็นไทยที่หลากหลาย ลื่นไหล แต่มากกว่านั้น ยังเป็นเสื้อผ้าที่เราเอาไปขาย สร้างงานที่ดี สร้างรายได้ สร้างชื่อของคนไทยในเวทีโลก

วานนี้ (9 มี.ค.) นอกจากไปยื่นหนังสือที่ก้าวไกลแล้ว ไข่ มาลีฮวนน่า เดินทางไปยื่นหนังสือถึงพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย เพื่อให้มีการผลักดัน พ.ร.บ.สภาศิลปะศิลปินฯ เช่นเดียวกัน และวันนี้ (10 มี.ค.) ไข่ มาลีฮวนน่า มีการไปยื่นที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก่อนหน้านี้ ทางประชาไท เคยนำเสนอข่าวเชิงสารคดี เรื่องปัญหาคนทำงานกองถ่ายภาพยนตร์ และนักดนตรีกลางคืนช่วงโควิด-19 ด้วย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net