Skip to main content
sharethis

เนื่องในเดือนแห่งวันสตรีสากล Mirror สื่อออนไลน์เพื่อผู้หญิงภายใต้เครือไทยรัฐออนไลน์จัดเวทีเสวนา เราจะดันหลัง ‘คนทำงานหญิง’ อย่างไรดี วงพูดคุยโดยผู้บริหารหญิงจากวงการเทคโนโลยี วงการบันเทิง และสื่อมวลชน

  • สายใย สระกวี จากกูเกิล ประเทศไทย กล่าวว่าการจัดสวัสดิการที่ครอบคลุม ตอบโจทย์ความหลากหลายจะช่วยให้คนทำงานได้ดีขึ้น
  • อร-พัศชนันท์ ผู้บริหารค่ายเพลง UNEQ Entertainment เล่าว่าเธอเคยเป็นศิลปินมาก่อน 6-7 ปีทำให้เข้าใจในการดูแลศิลปินในค่ายมากขึ้น โดยมองว่าการให้อิสระกับการรักษาภาพลักษณ์ต้องทำควบคู่กันไป
  • เฟื่องลดา-สรานี จาก LDA World กล่าวว่าคนมักมีความเชื่อที่ว่าถ้าแต่งหน้าแต่งตัวเยอะเท่ากับโง่ ทำให้ในเนื้องานเดียวกัน ผู้หญิงจะต้องพิสูจน์ตัวเองกับสังคมมากกว่า
  • โรส-พวงสร้อย ตัวแทนคนเบื้องหลังวงการภาพยนตร์กล่าวว่า ผู้กำกับหญิงมักถูกกังขาในเรื่องความสามารถเสมอ เพราะสังคมมักติดภาพจำของผู้กำกับผู้ชาย
  • อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา บก.ไทยรัฐออนไลน์กล่าวว่าเธอเชื่อในเรื่องความหลากหลายในองค์กร เห็นด้วยกับการรีครูทเพื่อเติมโอกาสเพื่อกระจายความหลากหลาย

15 มี.ค. 66 เมื่อวันที่ 12 มี.ค. เวลา 13:30 - 15:30 น. ที่ตึกสิงห์ คอมเพล็กซ์ Mirror สื่อออนไลน์เพื่อผู้หญิงภายใต้เครือไทยรัฐออนไลน์ จัดเวทีเสวนาในประเด็น "WhatIsHoldingWomenBack เราจะดันหลังคนทำงานหญิงกันได้อย่างไรบ้าง" เนื่องในเดือนแห่งวันสตรีสากล เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับ ‘คนทำงานหญิง’ ในเมืองไทยในหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพื้นที่และสร้างโอกาสในการทำงานของผู้หญิง ความเท่าเทียมทางเพศในองค์กร สิทธิและสวัสดิการที่คนทำงานหญิงควรจะได้รับ รวมไปถึงการมองหาแนวทางร่วมกันที่จะผลักดันคนทำงานหญิงให้ได้รับโอกาสมากขึ้นซึ่งจะทำมาสู่ความเท่าเทียมทางเพศ

 

ร่วมพูดคุยโดยผู้หญิงในวงการธุรกิจและเทคโนโลยี รวมถึงในแวดวงบันเทิงและภาพยนตร์ ได้แก่ สายใย สระกวี หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรและมวลชนสัมพันธ์ Google ประเทศไทยเฟื่องลดา-สรานี สงวนเรือง ผู้ก่อตั้ง LDA World คอนเทนต์ครีเอเตอร์ด้านเทคโนโลยี อร-พัศชนันท์ เจียจิรโชติ ผู้บริหารค่ายเพลง UNEQ Entertainment โรส-พวงสร้อย อักษรสว่าง ผู้ร่วมก่อตั้งโปรดักชั่นเฮาส์ Sawarose.project ผู้กำกับ นักเขียนบท และอาจารย์สอนวิชาภาพยนตร์ และอรพิณ ยิ่งยงพัฒนา บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์ ดำเนินรายการโดยฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์ จาก Mirror 

ผู้หญิงกับวงการเทคฯ

“ในโซนเอเชีย มีผู้หญิงลีดเดอร์ชิปมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์” 

สายใย สระกวี ตัวแทนจากกูเกิลประเทศไทยเปิดบทสนทนาด้วยการเล่าถึงสภาพแวดล้อมการทำงานในออฟฟิศของกูเกิลประเทศไทยที่มีผู้หญิงเป็นส่วนมาก ในระดับหัวหน้าของฝ่ายต่างๆ เช่น ยูทูบ พีอาร์ บิสเนสลีด ก็เป็นผู้หญิง มีบรรยากาศที่ empowering กัน

“คนชอบโยง beauty กับ empty ถ้าแต่งหน้าแต่งตัวเยอะเท่ากับโง่”

เฟื่องลดา ผู้ก่อตั้ง LDA World (ย่อมาจาก Ladies of Digital Age) ทีมคอนเทนต์ครีเอเตอร์ด้านเทคโนโลยีที่มีสมาชิกส่วนมากเป็นผู้หญิง เล่าถึงสิ่งที่เธอต้องเผชิญสมัยเข้าวงการเทคฯ แรกๆ ทำให้เธอต้องพยายามมากขึ้นอีกเพื่อที่จะลบคำครหานั้นจากคนอื่น

สิ่งที่เธอชอบทำในวัยเด็กคือการเล่นเกม การทำเว็บบอร์ด ไม่ได้สนใจเรื่องแต่งหน้าทำผม จึงทำให้มองหาโอกาสจากสิ่งที่ชอบและต่อยอดมาเป็น LDA World อย่างทุกวันนี้

“ทุกคนสามารถเป็นตัวเองได้ในเวอร์ชันที่ดีที่สุด” เธอบอกว่าเชื่อแบบนั้น

เจอคนนินทาว่าเป็นเด็กเสี่ย

“พอมาทำบริษัท คนก็คิดว่าเป็นเด็กเสี่ยแน่ๆ ฟอกเงินหรือเปล่า คุณเป็นใครอายุเท่านี้เองถึงมาเปิดบริษัท” 

นี่คือคำครหาที่ อร-พัศชนันท์ เจียจิรโชติ หรือที่หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อจริงของเธอสักเท่าไหร่ เพราะเธอแจ้งเกิดในฐานะ “อร BNK48” ได้รับ เมื่อผันตัวมาเป็นผู้บริหารค่ายเพลง UNEQ Entertainment 

อรเล่าว่าเธอเคยศิลปินมาก่อน 6-7 ปีทำให้มีวิธีคิดในการทำงานบริหารที่เข้าใจศิลปินมากขึ้นอย่างไรก็ตาม การบาลานซ์ระหว่างความเป็นตัวของตัวเองกับภาพลักษณ์ของศิลปินก็ต้องทำไปควบคู่กัน

เพราะเป็นผู้หญิงจึงถูกกังขาในความสามารถ ?

“ในการทำหนัง คำว่าประชาธิปไตยจะน้อย เราอาจจะเคยเห็นภาพผู้กำกับชายปาวอร์”

ด้านโรส-พวงสร้อย อักษรสว่าง ผู้กำกับภาพยนตร์ แชร์ประสบการณ์ในฐานะคนเบื้องหลังบอกว่าวงการภาพยนตร์คนมักจะมีภาพว่ามันขับเคลื่อนโดยผู้ชาย แต่เวลาเธอเข้าไปสอนที่มหาวิทยาลัย ก็พบว่า “80 เปอร์เซ็นต์คือผู้หญิง” 

“เมื่อก่อนงานกอง ผู้หญิงมักถูกมองว่าต้องเป็นเมคอัป สไตล์ลิสต์ หรือศิลปิน แต่เดี๋ยวนี้ผู้หญิง สามารถบอกได้ว่าฉันอยากจะเป็นผู้กำกับ”

พวงสร้อยบอกว่าคนมักติดภาพว่าถ้าเป็นงานแนวผู้หญิงก็จะนึกถึงผู้กำกับหญิงก่อน ซึ่งในแง่หนึ่งอาจจะดีเพราะเขาก็นึกถึงเรา แต่อีกแง่หนึ่งผู้หญิงก็อาจจะไม่ใช่คนที่เข้าใจผู้หญิงด้วยมากที่สุด ส่วนตัวเธอเองชอบการทำงานกับคนที่เข้าใจกันซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวโดยตรงว่าคนๆ นั้นเป็นเพศอะไร มันอยู่ที่คนแต่ละคนมากกว่า

“กว่าตอบประโยคคำถามก็คือเมื่องานเสร็จ” 

พวงสร้อยตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าผู้กำกับหญิงมักถูกกังขาในเรื่องความสามารถเสมอ บางครั้งเวลาที่สังคมพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ หรือความเป็นเพศหญิงมันมักถูกพูดเพื่อเป็นมาร์เก็ตติ้ง เธออยากให้สิ่งนี้มันมาจากเจตนาที่บริสุทธิ์ใจจริงๆ มากกว่า

ในโลกปิตาฯ เข้มข้น จะดันหลังคนทำงานหญิงอย่างไร

“เราทำงานจนเป็นเรา การเป็นแม่ก็อาจเป็นสิ่งที่เขารัก แต่พื้นที่ที่ทำได้ทั้ง 2 อย่าง มันอยู่ตรงไหน” 

พวงสร้อยบอกว่าไม่ว่าผู้หญิงจะเลือกเส้นทางไหนในชีวิต สิ่งสำคัญก็คือสวัสดิการจากรัฐที่จะมาช่วยซัพพอร์ตทางเลือกเหล่านั้น แต่ในปัจจุบันมันถูกผลักภาระให้เป็นความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคลเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้เธอยังพูดถึงปัญหาคนทำงานกองถ่ายที่ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ พร้อมเล่าถึงมายาคติที่คนมักมีต่องานเบื้องหลังที่คนมักมองไม่เห็น

“รัฐต้องคุ้มครองอาชีพอิสระ เพราะเขาเปราะบางกว่าคนในระบบ” 

สอดคล้องกับอร-พัศชนันท์ที่บอกว่า  “คนเบื้องหน้าถูกทรีตดีมาก แต่คนเบื้องหลังต้องสแตนบายตี 4”

ในประเด็นอาชีพอิสระ อรพิณ  ยิ่งยงพัฒนา บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์เสนอว่าควรโฟกัสไปที่กฎหมายแรงงาน ประกันสังคม เช่น แนวคิดตั้งกองทุนฟรีแลนซ์ที่จะสอดรับกับโลกหลังโควิดที่คนทำงานประจำน้อยลง

ส่วนเรื่องความหลากหลายในองค์กร บก.ไทยรัฐออนไลน์กล่าวว่าเธอเชื่อในเรื่องความหลากหลายในองค์กร หากมองในเรื่องวิธีการก็เห็นด้วยกับการรีครูทเพื่อเติมโอกาสและกระจายความหลากหลายมากกว่าจะใช้วิธีการจัดโควตา

เฟื่องลดาบอกว่า การออกแบบนโยบายการทำงานให้พนักงานเกิดความสบายใจก็สำคัญมากไม่แพ้กัน พร้อมเล่าว่าที่ออฟฟิศของเธอจัดให้มีผ้าอนามัยฟรี ผู้ชายสามารถลาคลอดได้ และมีเนิร์สเซอรี่สำหรับเด็กด้วย

"คนรุ่นใหม่โว้คเกิน"

เหตุผลของคนไม่อยากปรับตัว ? 

นอกจากนโยบายแล้ว พวงสร้อยและสายใยเห็นตรงกันเรื่องบรรยากาศในที่ทำงานว่าควรให้เกียรติกัน เรียกในชื่อที่อีกฝ่ายอยากให้เรียกโดยไม่ใช่การแซวเรื่องรูปลักษณ์

“เราไม่อยากให้พูดว่าคนรุ่นใหม่โว้คเกิน คีย์เวิร์ดมันคือมารยาท” สายใยกล่าว

นอกจากนี้ อร-พัศชนันท์ แสดงความคิดเห็นในเรื่องศิลปินหญิงกับประเด็นการถูกคุกคามทางเพศ 

“ไม่สบายใจเวลาคนมาจับตัว เลยเป็นความยากในการจับมือ BNK กว่าเราจะกระเทาะตรงนี้ออกมันยากมากกลัวพูดแล้วมันแรง บางทีเราเซฟแล้ว แต่มันอยู่ที่เจตนา จุดประสงค์ของคนทำ” 

ส่วนประเด็นที่ว่าผู้หญิงปวดท้องเมนส์จะสามารถลาได้ไหม ผู้ร่วมพูดคุยล้วนเห็นตรงกันว่าควรมีการหาตรงกลางกับผู้ประกอบการ เช่น การ Work from home หรือ ให้สิทธิลาป่วยได้ควบคู่กันไปกับเสริมความเข้าใจให้คนในองค์กรคนอื่นๆ

“ถ้าเรารู้สึก belong เราจะ produce งานที่ดีได้” สายใย ตัวแทนกูเกิลกล่าว จากนั้นเล่าถึงสวัสดิการของกูเกิลที่ถือว่าดึงดูดและตอบโจทย์โลกที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการลาคลอดที่ให้ทั้งพ่อและแม่ ไม่เพียงแต่คลอดเองแต่รวมถึงการรับเด็กมาเลี้ยง และสวัสดิการเกี่ยวกับการแปลงเพศ

นอกเหนือจากงานประจำที่กูเกิล สายใย ในฐานะที่เป็นที่ปรึกษากรรมธิการสมรสเท่าเทียม ยังพูดถึงพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมที่แม้ว่ายังไม่ผ่านในรัฐบาลชุดนี้เพราะสภาล่มซ้ำซาก แต่ก็ถือว่ามีความคืบหน้าพอให้เห็นความหวังอยู่บ้าง หลังเลือกตั้งก็ต้องผลักดันกันต่อ เธอมองว่าเมื่อได้รัฐบาลชุดใหม่ "กฎหมายคำนำหน้านาม" ก็เป็นอีกเรื่องที่ควรผลักดันเช่นเดียวกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net