Skip to main content
sharethis

ประชาชนร่วมงานสืบชะตาแม่น้ำสาละวินวันหยุดเขื่อนโลก มีการอ่านแถลงการณ์แสดงเจตนารมณ์คัดค้านเขื่อนน้ำยวม คนรุ่นใหม่สะท้อน ปชช.ต้องมีส่วนกำหนดอนาคตของแม่น้ำ ด้าน ปธ.กลุ่มรักษ์เชียงของ มองเยาวชนกระตือรือร้นปกป้องแม่น้ำ หวังเหลือสาละวิน เป็น "แม่น้ำในธรรมชาติจริงๆ" 

 

14 มี.ค. 2566 สำนักข่าวชายขอบ รายงานวันนี้ (14 มี.ค.) เนื่องในวันที่ 14 มี.ค.ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดเขื่อนโลก (International Day of Actions for Rivers) ที่กำหนดขึ้นหลังจากการประชุมผู้เดือดร้อนจากเขื่อนทั่วโลกครั้งแรก ที่เมืองคูริทิบา ประเทศบราซิล มีการจัดกิจกรรมสืบชะตาแม่น้ำสาละวิน บริเวณริมแม่น้ำสาละวิน หมู่บ้านสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีชาวบ้านจากลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน เยาวชน และเด็กนักเรียนหลายร้อยคนเข้าร่วม

ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวชายขอบ รายงานว่า พิธีกรรมสืบชะตาแม่น้ำสาละวินครั้งนี้ ชาวบ้านได้นำเหล้าพื้นบ้าน และเนื้อหมู มาเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์สิทธิที่คุ้มครองแม่น้ำ นอกจากนี้ ยังมีการลอยแพไม้ไผ่ที่มีป้ายเขียนว่า "NO DAM" (ไม่เอาเขื่อน) ลอยไปตามลำน้ำเพื่อสะท้อนถึงจุดยืนคัดค้านเขื่อน ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านจากลุ่มน้ำต่างๆ อ่านแถลงการณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนผันแม่น้ำยวม ในโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่เขื่อนภูมิพล และแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน และเสนอให้ปกป้องแม่น้ำสาละวินให้ไหลอย่างอิสระ 

บรรยากาศชาวบ้านทำแพไม้ไผ่ "NO DAM" (ที่มา: สำนักข่าวชายขอบ)

ทั้งนี้ ลุ่มน้ำสาละวินบริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านร่วมกันเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนฮัตจี กั้นแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งห่างจากบ้านสบเมย ไปตามลำน้ำ 47 กิโลเมตร โดยมีการร้องเรียนไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีและได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในราวปี 2551 และนำไปสู่ข้อสรุปให้ชะลอโครงการจนถึงปัจจุบัน แต่ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวจากลุ่มนักลงทุนจีนผ่านนักการเมืองไทยที่ผลักดันแผนการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวินทางด้านใต้ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในประเทศพม่า และเป็นเฟสที่ 2 ของโครงการผันแม่น้ำยวมในประเทศไทย โดยให้เหตุผลเรื่องการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำภาคกลางของไทย ขณะที่นักลงทุนจีนต้องการแหล่งพลังงาน เพื่อใช้ในกิจการบ่อนคาสิโนในหลายพื้นที่ที่อยู่ตรงข้ามกับ อ.แม่สอด จ.ตาก

ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงเย็นวันที่ 13 มี.ค. 2566 มีการจัดเวทีเสวนาเกี่ยวกับสถานการณ์แม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมวันหยุดเขื่อนโลก โดย หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า บนแม่น้ำสาละวินมีความพยายามดำเนินการสร้างเขื่อนโดย กฟผ.แต่ได้รับการคัดค้านจากชาวบ้านและเครือข่าย ซึ่ง กฟผ.จ้างบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่สุดท้ายมีการตรวจสอบจากสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อคณะกรรมการมาลงพื้นที่ซึ่งนำโดยเจ้าหน้าที่ กฟผ. ปรากฏว่ามีเสียงระเบิดเกิดขึ้นที่สบเมย เพราะเป็นพื้นที่ที่ยังมีความรุนแรง และเขาไม่อยากให้สร้างเขื่อน เมื่อโครงการชะลอส่งผลให้แม่น้ำสาละวินในวันนี้ยังมีระบบนิเวศที่ดี การไหลของแม่น้ำยังคงความเป็นธรรมชาติ

หาญณรงค์ กล่าวว่า แม่น้ำสาละวินมีความหลากหลายชาติพันธุ์ จุดยืนของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรทำให้สาละวินหลุดรอดจากการสร้างเขื่อนมาได้ เพราะผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มไม่สามารถฮั้วกันได้ ตนเคยไปที่ปากแม่น้ำสาละวิน ในรัฐมอญ พบว่าชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลแบบตรงไปตรงมา เสนอว่าควรให้แม่น้ำไหลอิสระต่อไป และการวางแผนในโครงการพัฒนาใดๆ จำเป็นต้องเคารพสิทธิชุมชน

ลาหมึทอ ดั่งแดนวิมาน เยาวชนบ้านท่าตาฝั่ง ริมแม่น้ำสาละวิน กล่าวว่า ตั้งแต่เด็กตนเห็นความพยายามเข้ามาสร้างเขื่อน แต่ผู้ผลักดันโครงการไม่สามารถตอบคำถามชาวบ้านได้ว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไร จะเยียวยาชุมชนได้อย่างไรหากระบบนิเวศถูกทำลาย จึงคิดว่าเราต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กันในฐานะลูกหลานที่ต้องปกป้องแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตเรามา ตนและเด็กรุ่นใหม่จึงร่วมกันทำงานสืบต่อจากคนรุ่นเดิม ต้องตะโกนดังๆ ให้ผู้ใหญ่รับฟังว่าพวกเราลูกหลานของแม่น้ำสาละวินต้องการอนาคตอย่างไร เพราะการดำเนินการของคนรุ่นนี้มีผลกับคนรุ่นต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวชายขอบ

พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกสมาคมฟื้นฟูลุ่มน้ำสาละวิน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ อ.สบเมย กล่าวว่า ภาพของแม่น้ำสาละวินในทางสาธารณะดูน่ากลัว ว่าเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน แต่หากใครได้มาสัมผัสจริงๆ จะเห็นสิ่งดีๆ ธรรมชาติที่งดงาม ลุ่มน้ำสาละวินมีเรื่องราวมากมาย มีผู้คนที่อาศัยอยู่จำนวนมากแต่มักถูกมองข้าม หากเกิดอะไรขึ้นกับแม่น้ำสายนี้ก็จะส่งผลกระทบกับคนจำนวนมาก ที่สำคัญการจะเกิดสันติภาพในสาละวินได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับความเข้าใจและการอยู่ร่วมกัน ดังนั้น เมื่อเกิดโครงการขนาดใหญ่ชาวบ้านจึงต้องออกมาคัดค้าน หากมีการสร้างเขื่อนฮัตจี ความสวยงามที่เห็นอยู่ก็หายไป

"ทุกวันนี้มีเด็กอีกฝั่งหนึ่งของสาละวินไม่รู้กี่แสนคนต้องอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ ตามป่าเขา เพราะไม่รู้ว่าระเบิดหรือปืนใหญ่จะมาลงหมู่บ้านเมื่อไร คนไหนดวงดีก็รอด ดวงไม่ดีก็ประสบอันตราย เมื่อถูกโจมตีคนเฒ่าคนแก่อายุ 70-80 ปี ต้องให้ลูกหลานแบกหนีข้ามแม่น้ำมาอยู่ฝั่งไทย แบกกันไปมาบางทีต้องเสียชีวิตระหว่างทาง ผู้หญิงหลายคนต้องคลอดลูกอยู่ในป่า หลายครั้งที่ทารกต้องเสียชีวิต สิ่งเหล่านี้คือสถานการณ์ในปัจจุบัน เรื่องมนุษยธรรมจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องช่วยกัน ดังนั้น การพัฒนาโดยเฉพาะโครงการใหญ่ต้องไม่กระทบซ้ำเติมพวกเขา" พงษ์พิพัฒน์ กล่าว

ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า  มีการร้องเรียนเรื่องโครงการผันน้ำยวมซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำสาละวิน คาดว่า กสม.จะพิจารณาแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ และจากการตรวจสอบอีไอเอโดยเฉพาะเรื่องกระบวนการการมีส่วนร่วมโดย กสม.ลงพื้นที่และสอบถามข้อเท็จจริงจากชาวบ้าน นอกจากนี้ การผันน้ำจากภาคเหนือไปสู่ลุ่มน้ำภาคกลางเกี่ยวกันกับสิทธิชุมชนด้วย และยังมีเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (Business and Human Rights) ซึ่ง กสม.ได้พิจารณากติกาสากล

"โดยส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะเป็นเรื่องที่กำหนดมาจากส่วนกลางแล้วมากระทบต่อชาวบ้านในท้องถิ่น เราต้องดูว่าเป็นการพัฒนาที่เอามาลงนั้นเป็นการพัฒนาแบบยังยืนหรือไม่ หากตรวจสอบแล้วเสร็จ ชาวบ้านสามารถใช้ข้อมูลขับเคลื่อนต่อไปได้ อยากเป็นกำลังใจให้ชาวบ้านซึ่งจำเป็นที่ผู้ได้รับผลกระทบต้องออกมาส่งเสียงดัง เพราะคนอื่นอาจไม่รู้หรือเข้าใจ กสม.จะทำข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล" ปรีดา กล่าว 

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า วันหยุดเขื่อนโลกเรามาที่แม่น้ำสาละวินในทุกๆ ปี โดยมีเหตุผลว่าเราเป็นลูกแม่น้ำโขงได้รับความเจ็บปวดจากเขื่อนมา 25 ปี เราไม่อยากให้เกิดความเจ็บปวดเช่นนี้กับพี่น้องของเรา จึงต้องมาย้ำบอกว่าหากมีเขื่อนเกิดขึ้น แม่น้ำสาละวิน และโขง เป็นพี่น้องพ่อแม่เดียวกัน ผลกระทบจากเขื่อนแม่น้ำโขงย่อมเกิดที่แม่น้ำสาละวินหากมีการสร้างเขื่อน การผันผวนของน้ำจะเกิดขึ้น ความเสียหายต่อระบบนิเวศที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตชุมชน หากเกิดเขื่อน แม่น้ำสาละวินจะหลุดออกจากอ้อมกอดของประชาชนเหมือนกับที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขง เราหวังว่าอย่างน้อยมีสัก 1 สายน้ำที่ยังบริสุทธิ์ยังคงอยู่ เราอยากเห็นว่าแม่น้ำในธรรมชาติจริงๆ เป็นอย่างไร

"เราเชื่อมร้อยทำงานร่วมกันระหว่างโขง และสาละวิน มีครั้งหนึ่งแม่น้ำโขงแห้งเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้เรือข้ามไม่ได้ เพราะเขื่อนตัวที่ 4 ในจีนกักเก็บน้ำ นักวิชาการต่างโทษว่าเกิดจากสภาวะโลกร้อน แต่เราไม่เชื่อ เพราะแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงยากจากผลกระทบในธรรมชาติ เมื่อเรามาแม่น้ำสาละวินในตอนนั้น กลับไม่มีปัญหาผลกระทบอะไรเลย ทั้งๆ ที่เป็นแม่น้ำที่มีระบบนิเวศทุกอย่างคล้ายกัน มีอย่างเดียวที่แตกต่างกันมากคือสาละวินไม่มีเขื่อน แต่แม่น้ำโขงมีแล้ว ดังนั้นสาละวินจึงมีความหวัง พวกท่านต้องยืนหยัดปกป้องแม่น้ำสายนี้ไว้ให้ได้ ตอนนี้มีหวังเพราะเยาวชนคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาปกป้องสาละวิน มีคนถามว่าครูตี๋ (ผู้สื่อข่าว - ชื่อเล่น นิวัฒน์ ร้อยแก้ว) ยังมีความหวังกับแม่น้ำโขงอยู่หรือ ผมตอบว่ายังมีความหวัง เพราะเราเห็นวิธีคิดของเด็ก ผมไม่หวังแล้วกับคนแก่เพราะคิดเหมืดนเดิมที่จ้องแต่ทำลาย เราต้องรีบมอบเรื่องสังคมสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในมือของเยาวชนโดยเร็วที่สุด" นิวัฒน์ กล่าว

เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ภูมิภาค องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าวว่าขณะนี้กระแสอนุรักษ์ระดับนานาชาติให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิของแม่น้ำ และสิทธิของธรรมชาติ (Rights of Rivers) เพราะเหลือแม้น้ำไม่กี่สายในโลกที่ยังคงความเป็นธรรมชาติและมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ แม่น้ำสาละวินก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ไหลจากต้นธารบนเทือกเขาหิมาลัยสู่ทะเลอันดามันโดยปราศจากการรบกวน ปัญหาสิ่งแวดล้อมในขณะนี้หลายฝ่ายหันมามองการใช้ธรรมชาติเป็นทางออก และการให้ความสำคัญแก่ชุมชนและผู้หญิงในการร่วมจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net