Skip to main content
sharethis

ฝุ่นควันข้ามแดนบริเวณพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-พม่ากลายเป็นปัญหาหนักในทุกๆ ฤดูแล้ง ไทย, รัฐกะเหรี่ยงและรัฐกะเรนนี ควรแก้ปัญหานี้ร่วมกันอย่างไร

ทุกฤดูแล้ง ลุ่มน้ำสาละวิน กลายเป็นเขตไฟป่าและจุดความร้อนผืนใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ส่งผลกระทบด้านคุณภาพอากาศข้ามพรมแดน โดยที่ผ่านมามีความพยายามของหลายฝ่ายในพื้นที่ติดต่อกันตามแนวชายแดนไทย-พม่า เพื่อควบคุมสถานการณ์ไฟป่า นำมาสู่การจัดเวทีสาธารณะ “สานสัมพันธ์ลมหายใจ สองฝั่งสาละวิน” (รับชมคลิป) จัดโดย Thai PBS, สถานีฝุ่น, WEVOสื่ออาสา, สถานีฝุ่น, The North องศาเหนือ และเครือข่าย ที่ห้องอินทนิล UNISERV CMU (สำนักบริการวิชาการ มช.) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

โดย ผศ.ดร.พลภัทร เหมวรรณ รักษาการแทน รองผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ (UNISERV) กล่าวว่าเวทีนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นพูดคุยกับประชาคมของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก เชื่อว่าจะมีผลดีจากการพูดคุยแลกเปลี่ยน และความร่วมมือจากหลายฝ่ายในอนาคตต่อไป

บัณรส บัวคลี่ ประธานฝ่ายยุทธศาสตร์ สภาลมหายใจภาคเหนือ หวังว่าจะมีเวทีพูดคุยต่อๆ ไปเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในภูมิภาคนี้ จะได้มองเห็นปัญหาใหญ่ร่วมกัน ที่แก้โดยลำพังโดยประเทศไทย หรือแก้ไขโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน หากนับเฉพาะส่วนที่ใกล้กับชายแดนไทย เริ่มตั้งแต่เมืองโต๋น รัฐฉาน มาทางรัฐกะเรนนี จนถึงรัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามกับ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน สำหรับไฟป่าลุ่มน้ำสาละวินถือเป็นไฟแปลงใหญ่ ที่สำคัญในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือนมีนาคม มีทิศทางลมที่พัดมาทางตะวันตกเข้ามาในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน จึงมีความจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขในระยะต่อไป

อุปสรรคดับไฟป่าสาละวิน

อาคม บุญโนนแต้ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน กล่าวถึงปัญหาอุปสรรคและประสบการณ์แก้ไขปัญหาไฟป่าสาละวิน และความสัมพันธ์ระดับพื้นที่ โดยเขาเริ่มต้นชีวิตราชการที่ป่าสาละวินเมื่อ พ.ศ. 2528-2533 ก่อนจะย้ายไปพื้นที่อื่นตามวิถีราชการ และกำลังจะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567

กล่าวว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินมีพื้นที่ราว 596,875 ไร่ ส่วนเขตอุทยานแห่งชาติสาละวิน มีพื้นที่ราว 450,000 ไร่ มีประชากรอยู่ในพื้นที่อุทยาน 985 หลังคาเรือน หรือราว 4,800 คน อย่างไรก็ตามการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่มีการกันพื้นที่ของชุมชน ทำให้มีประชากรอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

 

ภาพนำเสนอโดย อาคม บุญโนนแต้ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน

ในงาน “สานสัมพันธ์ลมหายใจ สองฝั่งสาละวิน” 29 มี.ค. 2567 ม.เชียงใหม่

สำหรับสถิติไฟป่าเมื่อมี 2566 หรือปีที่ผ่านมา เกิดมีจุดความร้อนรวม 1,012 จุด พื้นที่เผาไหม้ 339,979 ไร่ สัดส่วนพื้นที่เผาไหม้ 56.68% อยู่พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ส่วนพื้นที่ๆ ไม่เกิดไฟป่าเป็นพื้นที่ป่าไม้ไม่พลัดใบ หรือป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา

นอกจากนี้ยังพบว่า ป่าเต็งรัง เกิดจุดความร้อน 200 จุด ส่วนใหญ่เป็นไฟข้ามแดน รองลงมาเป็นไฟที่บริหารจัดการไม่ได้ ส่วนพื้นที่ป่าเบญจพรรณ จุดความร้อน 783 จุด

ในปี 2567 เป้าหมายของรัฐบาลได้มอบนโยบายมาว่าแต่ละป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศจะต้องการลดพื้นที่การเผาให้ได้ 50% ทำให้ในปี 2567 มีการตั้งเป้าหมาย เกิดพื้นที่เผาไหม้ไม่เกิน 169,989 ไร่ มีจุดความร้อนไม่เกิน 506 จุด

ส่วนสาเหตุของไฟป่า เกิดจากการเผาไร่ การชิงเผา เพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตร ที่ผ่านมามีการร่วมกับชาวบ้านเพื่อทำแนวกันไฟ ควบคุมไม่ให้ลุกลามไม่ให้เข้าพื้นที่ป่า แต่มีบางจุดที่แนวกันไฟไม่กว้างพอ ทำให้เกิดจุดความร้อนเพิ่ม ทำให้เจ้าหน้าที่อุทยานต้องเข้าไปดับไฟ

หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินกล่าวว่า ปัญหาไฟป่าในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ลดน้อยลง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ทำงานประเด็นไฟป่ามาตลอด แต่ในอดีตยังไม่มีระบบดาวเทียมตรวจสอบ หรือตรวจจับค่า PM2.5 ในเวลานั้นชาวบ้านเกิดความเคยชิน แต่ปัจจุบันชาวบ้านเข้าใจว่ามันเกิดผลกระทบทั่วไปและข้ามภูมิภาค ทั้งนี้อธิบดี กรมอุทยานแห่งชาติเตรียมการเชิงรุกประชาสัมพันธ์ก่อนถึงฤดูแล้ง เริ่มเคาะประตูบ้านเพื่อประชาสัมพันธ์ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2566 ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ปกครอง มีการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ใกล้ชุมชน ใกล้พื้นที่ทำกินของราษฎร หาข้อมูลชาวบ้านที่เก็บหาของป่า ล่าสัตว์ในฤดูแล้ง และมีการลาดตระเวนและประชาสัมพันธ์ตั้งแต่หน่วยพิทักษ์ป่าสบเมี๊ยะ ขึ้นไปจนถึงทิศเหนือจนถึงจุดเหนือสุดคือบ้านดอละ รัฐกะยา (รัฐกะเรนนี)

โดยหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน กล่าวถึงผลการปฏิบัติงานในช่วงต้นฤดูแล้งของปี 2567 ด้วยว่า จนถึง 29 มีนาคม 2567 เกิดจุดความร้อนแล้ว 449 จุด โดยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าพยายามยันให้อยู่

ส่วนสถิติไฟป่าที่ผ่านมาในปี 2564 เกิดจุดความร้อน 1,122 จุด ปี 2565 เกิดจุดความร้อน 406 จุด ปี 2566 เกิดจุดความร้อน 1,012 จุด

สำหรับอุปสรรคในการดับไฟป่าพื้นที่สาละวิน คือ อากาศร้อนจัด ภูมิประเทศสูงชัน ถ้าพื้นที่เกิดไฟป่าอยู่ริมแม่น้ำสาละวิน รถยนต์ไม่สามารถส่งกำลังได้ ต้องส่งกำลังทางเรือและเดินเท้า ทำให้ล่าช้า เกิดความเหนื่อยล้าของเจ้าหน้าที่จากการปฏิบัติการติดต่อกันหลายวัน พื้นที่ตามแนวชายแดนบางพื้นที่อันตรายไม่สามารถเข้าถึงได้

และประการที่สำคัญคือ การสนับสนุนจากภายนอก ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ต้องช่วยเหลือตัวเอง นอกจากนี้ก็มีนายอำเภอมาเยี่ยม ให้สนับสนุนน้ำ อาหารแห้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดมาสนับสนุนอาหารแห้งและน้ำ ฯลฯ

สำหรับปัจจัยด้านความสัมพันธ์ในพื้นที่ เจ้าหน้าที่อนุรักษ์ป่า ก็เป็นคนในพื้นที่ มีเครือญาติกันทั้งสองฝั่งสาละวิน ทั้งที่บ้านเสาหิน ห้วยทราย แม่แจ๊ะ สะกอท่า ฯลฯ เป็นข้อดีหนึ่งในการป้องกันไฟป่าปีนี้ สามารถร่วมมือกับผู้นำชุมชนในพื้นที่รัฐกะเรนนี และรัฐกะเหรี่ยงได้ด้วย

นอกจากนี้หน่วยพิทักษ์ป่าสบเมียะ กับฐานของทหารกะเหรี่ยงก็อยู่ตรงข้ามกัน เวลามีประเด็นทรัพยากร ก็ให้ความร่วมมือให้ฝ่ายไทยไปตรวจสอบด้วย เช่น การขนแร่ การขนวัว

ส่วนแผนบริการจัดการเชื้อเพลิง การเผาที่เกิดขึ้น บางทีเป็นพื้นที่ชิงเผาแบบมีการควบคุม หรือเกิดขึ้นในพื้นที่ทำกินราษฎร ตามมาตรา 121 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ต้องมีการสำรวจ และตรวจสอบการถือครองที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยในพื้นที่อุทยาน ซึ่งที่ผ่านมามีการประชาสัมพันธ์พูดคุยไม่ให้การเผาในพื้นที่ทำกินแล้วลามพื้นที่ป่า ส่วนข้อมูลการเผาจากข้อมูลดาวเทียม ทางเจ้าหน้าที่ก็มีข้อมูลตลอด เช่น สำรวจว่ามีการถางพื้นที่ใหม่หรือเปล่า ถ้ามีการบุกรุกจะดำเนินคดีทุกราย แต่ที่ผ่านมา ตรวจพบว่าเป็นการถางพื้นที่ทำกินเดิม หรือเป็นการทำกินในแปลงหมุนเวียนที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว

ส่วนสถานการณ์สู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ตามแนวชายแดน พบว่า เพิ่งมีการสู้รบกันที่ช่องทางเสาหิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งติดต่อกับรัฐกะเรนนี อพยพมาช่องทางเสาหิน 3,000 กว่าคน บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อีกจุดคือบ้านมูดู มีผู้อพยพ 400 คน จอปะคี มีผู้อพยพ 900 คน ซึ่งส่วนราชการจัดพื้นที่พักพิงให้ผู้หนีภัยเหล่านี้ มีหลายหน่วยงาน มีกาชาด มีหน่วยงานทุกส่วน อย่างไรก็ตามการมาหลบภัยในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ก็มีระเบียบอยู่ ที่ผ่านมาเราดูแลเขาได้ดีไม่มีอดไม่มีขาด พี่น้องที่อพยพเข้ามาเขาเป็นเครือญาติเจ้าหน้าที่ ราษฎร ช่วยเขาอย่างดีที่สุด ก็ทำให้จุดความร้อนในพื้นที่นี้ลดลง ก็เป็นข้อสังเกตหนึ่ง

ทั้งนี้ปี 2567 ยังเป็นปีแรกปีนี้ที่รัฐบาลอนุมัติงบกลางให้แก้ปัญหาไฟป่าหมอกควันครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด และจังหวัดกาญจนบุรี โดยใน จ.แม่ฮ่องสอน มีการจัดตั้งราษฎรเฝ้าระวังหมู่บ้านละ 3 จุด โดยราษฎรเฝ้าระวังเป็นคนหาของป่า หาน้ำผึ้ง ล่าสัตว์ มีการดึงมาเป็นแนวร่วมหลายคน มีหลายชุมชนไฟป่าไม่เกิดขึ้นเพราะมีราษฎรเฝ้าระวังเหล่านี้ โดยตั้งเป้าหมายว่าจุดความร้อนจะลดลง แม้จะไม่เข้าเป้า 50% แต่ก็ลดลง 30-35%

“อุทยานสันติภาพสาละวิน” 

งานอนุรักษ์และป้องกันไฟผืนป่าสาละวินรัฐกะเหรี่ยง

พอลเส่งทวา (Pual Sein Twa) ผู้อำนวยการเครือข่ายปฏิบัติการทางสิ่งแวดล้อมและสังคมกะเหรี่ยง (KESAN) และผู้อำนวยการพื้นที่อนุรักษ์อุทยานสันติภาพสาละวิน รัฐกะเหรี่ยง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 5,400 ตารางกิโลเมตร และในช่วงต้นฤดูแล้งปีนี้ เกิดจุดความร้อนน้อยมากอย่างมีนัยสำคัญ พอลเส่งทวาได้กล่าวถึงความสำคัญของอุทยานสันติภาพสาละวิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศเทือกเขาดอนะ-ตะนาวศรี  เป็นป้อมปราการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของชาวกะเหรี่ยง เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และมีชุมชนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในอุทยานสันติภาพสาละวิน

 

พอลเส่งทวา (Pual Sein Twa) ผู้อำนวยการเครือข่ายปฏิบัติการทางสิ่งแวดล้อมและสังคมกะเหรี่ยง (KESAN) และผู้อำนวยการพื้นที่อนุรักษ์อุทยานสันติภาพสาละวิน รัฐกะเหรี่ยง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 5,400 ตารางกิโลเมตร

“สานสัมพันธ์ลมหายใจ สองฝั่งสาละวิน” 29 มี.ค. 2567 ม.เชียงใหม่

เขาอธิบายเหตุผลที่มีการก่อตั้งอุทยานสันติภาพสาละวิน เพราะมีความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพ ไม่ใช่แค่ป่าไม้ สัตว์ป่า แต่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมด้วย โดยภาคประชาสังคมในรัฐกะเหรี่ยงใช้ภูมิปัญญาควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่

โดยในพื้นที่ 1,667,355 เอเคอร์ ของอุทยานสันติภาพสาละวิน มีป่าชุมชน 43 แห่งรวมกว่า 42,099 เอเคอร์ มีพื้นที่อนุรักษ์เชิงพิธีกรรมกะเหรี่ยง 287 แห่งรวม 1,192,100 เอเคอร์ มีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 6 แห่งรวม 146,552 เอเคอร์ มีเขตป่าอนุรักษ์ 9 แห่งรวม 137,011 เอเคอร์

ทั้งนี้ปัญหาและอุปสรรคในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในรัฐกะเหรี่ยง มี 3 สิ่งที่สัมพันธ์กันคือ สงครามกลางเมือง การควบคุมทรัพยากรจากส่วนกลาง และความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ (โลกร้อน) ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าไม่ยอมรับ สิทธิในที่ดิน และการจัดการทรัพยากรของกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐกะเหรี่ยง

ที่ผ่านมารัฐบาลกลางพม่าพยายามจะควบคุมพื้นที่ผ่านการเสริมกำลังทางทหารในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งโครงการพัฒนา การขุดเหมือง สัมปทานตัดไม้ ฯลฯ โดยที่กลุ่มชาติพันธุ์ไม่มีสิทธิเสียงต่อต้าน มีการออกนโยบายที่จะรังวัดขึ้นทะเบียนที่ดิน ซึ่งอยู่ที่ว่ารัฐบาลกลางอยากจะยกที่ดินให้ใคร ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์กลายเป็นคนผิดกฎหมายทั้งที่อยู่ในพื้นที่นั้นมาก่อน

ความท้าทายที่สำคัญก็คือเรื่องโลกร้อน ซึ่งไม่ใช่แค่ปัญหาท้องถิ่น แต่เป็นปัญหาระดับโลก และกลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่น ได้รับกระทบมากที่สุด และสงครามกลางเมือง ทำให้เกิดความรุนแรงละเมิดสิทธิ เกิดการอพยพ และปัญหาความมั่นคงทางอาหาร และสงครามทำให้ประชาชนต้องซ่อนตัวในเขตป่าไม้ ไม่สามารถทำกินในพื้นที่ของตัวเองได้

ทั้งนี้มีกลไกประชาสังคมที่ดูแลในรูปแบบสภาอุทยานสันติภาพสาละวิน มีผู้แทนทั้งหมด 137 คน โดย 74 คนมาจากชุมชน 35 หมู่บ้าน อีก 12 คน มาจากองค์กรชุมชน และอีก 51 คนมาจากองค์กรประชาสังคมภายในรัฐกะเหรี่ยง (เช่น KORD, CIDKP, KYO, KESAN, KHRG, KWO) โดยอุทยานสันติภาพสาละวินยังมีคณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วยตัวแทนชุมชน 5 คน ตัวแทนองค์กรชุมชน 2 คน และตัวแทนจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง 4 คน

แนวทางปฏิบัติในการอนุรักษ์พื้นที่ป่า มีการประชาสัมพันธ์แนวปฏิบัติของอุทยานสันติภาพสาละวินเพื่อให้คนปฏิบัติ มีการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในเขตอุทยานสันติภาพสาละวิน ทั้งพืชและสัตว์ ซึ่งพืชและสัตว์บางชนิดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูญพันธุ์ เข้าข่ายอนุรักษ์ โดยเขาย้ำว่าอุทยานสันติภาพสาละวิน ไม่เพียงแค่สำคัญต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศของชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการบรรลุเป้าหมายสำคัญระดับโลก ปกป้องสัตว์และพืชที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และยังเป็นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงนับแสนคนที่อยู่อาศัยและเป็นผู้ปกป้องผืนป่า ทรัพยากรธรรมชาติมาหลายชั่วคน ผ่านภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและชีวภาพของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ต่อสู้รับมือกับภาวะโลกร้อน บรรเทาภาวะความยากจน อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ และส่งเสริมสันติภาพด้วย

พอลกล่าวด้วยว่า เป้าหมายของอุทยานสันติภาพสาละวิน ก็เพื่อสร้างสันติภาพและความยุติธรรมสำหรับทุกคนในพื้นที่อุทยานสันติภาพสาละวิน ความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ทำกินของชุมชน และความอยู่รอดทางวัฒนธรรมและมรดกทางวัฒนธรรมถ้าชาวกะเหรี่ยงสูญเสียภูมิปัญญา ต่อให้เรามีสันติภาพ เราก็ไม่มีทางรักษาสิ่งแวดล้อมได้

รัฐกะเรนนียังวิกฤต ถูกซ้ำเติมด้วยไฟจากภัยสงคราม

นอว์อามูทู จากองค์กร Karenni Evergreen Group (KEG) จากรัฐกะเรนนี กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในพื้นที่รัฐกะเรนนี ว่ามีชายแดนที่ติดต่อกับไทย 200 กิโลเมตร มีจุดผ่านแดนสำคัญเช่น จุด BP.9, BP.13, BP.14 และ BP.16 อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีการเพิ่มขึ้นของผู้ลี้ภัยภายใน (IDPs) มีการสู้รบใกล้แนวชายแดน กระทบกับการส่งเสบียงยาเวชภัณฑ์ และการค้าชายแดน และในปัจจุบันในพื้นที่ซึ่งกองกำลังฝ่ายต่อต้านควบคุมแทนกองทัพพม่า มีการบริหารโดยสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐกะเรนนีหรือ KSCC และกลไกอื่นๆ ในรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG ฯลฯ

โดยสิ่งที่องค์กรสิ่งแวดล้อมในรัฐกะเรนนีทำภายใต้สถานการณ์สงคราม มีความพยายามควบคุมไฟป่าในฤดูแล้ง โดยพยายามทำงานด้านกิจการป่าไม้ มีความพยายามฟื้นฟูป่าชุมชน เพื่อที่จะอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า อนุรักษ์ป่า และก่อตั้งอุทยานภูมิปัญญาชนพื้นเมืองธอทิ (Thawthi Indigenous Parks) กินพื้นที่ 529,798 เอเคอร์ หรือ 2,144 ตร.กม. ส่งเสริมศักยภาพของชนพื้นเมืองในการบริหารจัดการทรัพยากร อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน กิจกรรมสำรวจพื้นที่ป่าและสัตว์อนุรักษ์

อย่างไรก็ตามในพื้นที่อุทยานฯ ยังมีประเด็นสิ่งแวดล้อมเช่น บริษัทเอกชนออสเตรเลียมีสัมปทานเพื่อสำรวจเหมืองแร่ 50,000 เอเคอร์ และเกิดไฟป่าเนื่องมาจากการทำไร่หมุนเวียน สาเหตุของไฟป่ายังเกิดจากคนตั้งใจจุดไฟป่า ไฟป่าเพราะอุบัติเหตุ รวมทั้งไฟป่าอันเนื่องมาจากการใช้กำลังทางทหาร หรือการโจมตีทางอากาศอีกด้วย

ส่วนปัญหาฝุ่นควันอันเกิดจากไฟป่า การป้องกันยังเป็นข้อจำกัดขององค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในรัฐกะเรนนี เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบัน โดยเฉพาะการสู้รบ ที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถทำมาหากินและไม่สามารถอยู่อาศัยอย่างปลอดภัยได้ โดยจากการเก็บข้อมูลระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม มีบ้านเรือนประชาชน 10 เมืองในรัฐกะเรนนี และรัฐฉานตอนใต้ ที่ถูกไฟไหม้ 871 หลังคาเรือน อันเนื่องมาจากสงคราม

แนะแสวงหากลไกอื่นนอกรูปแบบรัฐต่อรัฐ

ผศ.ดร.สุรัชนี ศรีใย  นักวิจัยแลกเปลี่ยนที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา Yusof-Ishak Institute กล่าวว่า เชียงใหม่ประสบปัญหาฝุ่นควันอย่างต่อเนื่อง เกิดจุดความร้อนตามแนวชายแดนไทย-พม่า เป็นจุดที่ส่งผลต่อสถานการณหมอกควันในภาคเหนือเนื่องจากมีพรมแดนเชื่อมต่อกัน เช่น ท่าขี้เหล็ก อ.แม่สาย จ.เชียงใหม่ รัฐกะเรนนี จ.แม่ฮ่องสอน ชเวก๊กโก่ ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก

“จุดความร้อน สอดคล้องเชื่อมโยงกับสถานการณ์สู้รบในพม่า จะเห็นได้ว่าตะเข็บชายแดนไทย-พม่าปัจจุบัน เป็นพื้นที่ควบคุมของกองกำลังชาติพันธุ์หลายกลุ่ม มิใช่กองทัพพม่า แล้วรัฐบาลไทยจะประสานความร่วมมือกับรัฐบาลทหารพม่า เพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นควันได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร เพราะเขาไม่ใช่กองกำลังที่คุมพื้นที่ แล้วใครที่ไทยจะแสวงหาความร่วมมือได้”

โดย ผศ.ดร.สุรัชนี ยกตัวอย่างกรณีของรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union) หรือ KNU มีโครงการการบริหารและปกครองพื้นที่ มีกลไกบริหารที่กระจายตัวไปทั่วประเทศพม่า ในบริเวณที่รัฐบาลทหารพม่า SAC ไม่สามารถเข้าถึงได้ โดย KNU แบ่งโครงสร้างออกเป็น 12 กระทรวง บริหาร 7 จังหวัดครอบคลุมประชากร 1.25 ล้านคน ในขณะที่รัฐกะเรนนี มีการก่อตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลเพื่อบริหารภายในรัฐกะเรนนี เป็นต้น

ในปี 2563 Equator Initiative ภายใต้องค์การพัฒนาแห่งสหประชาติ (UNDP) ได้มอบรางวัล 2020 Equator Prize โดยหนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลคือ อุทยานสันติภาพสาละวิน (Salween Peace Park) สำหรับการสร้างความมั่นคงและรักษาพื้นที่ป่าและระบบนิเวศกว่า 5,400 ตร.กม.

ผศ.ดร.สุรัชนีกล่าวถึงแนวทางจัดการปัญหาหมอกควันว่า หากรัฐบาลไทยทำงานแบบรัฐต่อรัฐกับรัฐบาลกลางของพม่าอาจจะมีข้อจำกัดบางประการ ไม่สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ความเชื่องช้าของการกำหนดนโยบายที่ต้องบูรณาการหลายภาคส่วน แต่เรื่องฝุ่นรอไม่ได้ และที่สำคัญคือการที่รัฐบาลทหารพม่าไม่สามารถเป็นหุ้นส่วนทางความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพได้ในพื้นที่ที่อยู่ในการควบคุมของกลุ่มชาติพันธุ์

อย่างเช่นเมื่อปีที่แล้วกระทรวงการต่างประเทศของไทย ส่งจดหมายไปพูดคุยข้อกังวลเรื่องฝุ่นควันว่ารัฐบาลพม่าจะทำอะไรได้บ้าง ทูตไทยที่ย่างกุ้งก็ได้คุยกับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมพม่า แต่สุดท้ายก็ไม่เกิดอะไรที่เป็นรูปธรรม ทั้งนี้หลังรัฐประหารไทยรับบทนางแบกผลกระทบจากฝั่งพม่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องแสวงหาแนวร่วม กลไกอื่นๆ เสริมหรือเปล่า

โดย ผศ.ดร.สุรัชนี กล่าวด้วยว่า รัฐควรพิจารณาแนวทางเบื้องต้นเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน เช่น ให้การสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศทำงานกับภาคประชาสังคมประเทศเพื่อนบ้าน การบูรณาการงบประมาณ เพื่อสร้างองค์ความรู้ เสริมสร้างศักยภาพบุคลกรเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ฝั่งตรงข้าม ผ่านภาคประชาสังคมในระยะเริ่มต้น ให้ความสำคัญกับการจัดการความมั่นคงในรูปแบบใหม่ เพื่อจัดการกับประเด็นข้ามพรมแดน ความมั่นคงด้านสุขภาพและสาธารณสุข

ขณะเดียวกันรัฐบาลทหารพม่า SAC ไม่ใช่หุ้นส่วนในความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพอีกต่อไปในการแก้ไขปัญหา และรัฐบาลไทยต้องหันมาทำงานกับองค์กรที่มีความสามารถในการจัดการพื้นที่จริงๆ ถือเป็นโจทย์ต่อไปของรัฐบาล

งานเขียนชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนโดยโครงการการยืนหยัดท่ามกลางวิกฤตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Staying Resilient Amidst Multiple Crises in Southeast Asia) ภายใต้ความริเริ่มของ SEA Junction โดยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิ CMB

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net