เมื่อโรงงานคือท้องถนน 12: อำนาจต่อรองของไรเดอร์ จากกลุ่มช่วยเหลือกันสู่สหภาพแรงงานไม่เป็นทางการ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในสถานการณ์การจ้างงานยุคใหม่ ซึ่งทุนได้ปรับกลยุทธ์ไปสู่การจ้างงานแบบยืดหยุ่น ในรูปแบบการจ้างงานชั่วคราว งานระยะสั้น งานเหมาช่วง ทำให้แรงงานรวมตัวกันได้ยาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานแพลตฟอร์ม ซึ่งเทคโนโลยีได้แบ่งซอยแรงงานเป็นส่วนย่อย กระจัดกระจาย และถูกควบคุมอย่างเข้มงวดโดยเจ้านายที่มองไม่เห็นที่เรียกว่าอัลกอริทึม ทำให้เกิดความวิตกกังวลในหมู่แรงงานว่า ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของแรงงาน (solidarity) และฐานที่มั่นที่สำคัญอย่าง สหภาพแรงงาน อาจถึงจุดจบ

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในระดับโลกฟ้องว่า การร่วมกันเรียกร้องผลประโยชน์ของแรงงานเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายทั่วโลก กล่าวเฉพาะกลุ่มแรงงานส่งอาหารภายใต้แพลตฟอร์ม หรือไรเดอร์ มีบันทึกว่าระหว่างปี ค.ศ. 2017-2020 ที่ผ่านมา มีการเรียกร้องของกลุ่มไรเดอร์ในรูปแบบต่างๆกว่า 500 ครั้ง และเบื้องหลังของการรวมตัว คือความร่วมมือของกลุ่มกระทำการรูปแบบต่างๆ ทั้งกลุ่มรวมตัวเฉพาะกิจ กลุ่มจัดตั้ง สหภาพแรงงานรากหญ้า และสหภาพแรงงานอย่างเป็นทางการ[1]

ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ในช่วง 3-4 ปีย้อนหลัง มีการเรียกร้องของกลุ่มไรเดอร์ประมาณ 30 ครั้ง[2] เฉพาะช่วงใกล้ที่ผ่านมา เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2565 มีการชุมนุมและปิดแอปพลิเคชั่นกดดันที่หน้าสำนักงานใหญ่ของแพลตฟอร์มส่งอาหารยอดนิยม[3] และในช่วงก่อนปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา มีการชุมนุมที่หน้าสำนักงานใหญ่แพลตฟอร์มส่งอาหารอีกแห่งหนึ่งในลักษณะเดียวกัน[4]  

บทความนี้ทำความเข้าใจเบื้องหลังการร่วมกันเรียกร้อง โดยมุ่งไปที่กลุ่มไรเดอร์ ทั้งที่เข้าร่วมชุมนุม และไม่ได้ร่วมชุมนุม แต่มีกิจกรรมต่างๆร่วมกัน เนื้อหาในที่นี้มาจากการสำรวจข้อมูลภาคสนามในพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงปีที่ผ่านมา โดยสัมภาษณ์แกนนำกลุ่มไรเดอร์หลายกลุ่ม การจัดประชุมตัวแทนไรเดอร์ 3 ครั้ง และการสังเกตการณ์การชุมนุมใหญ่ของไรเดอร์ 1 ครั้ง (3 พฤศจิกายน 65) การสำรวจข้อมูลให้ความสนใจกับความเป็นมาของกลุ่ม การจัดองค์กร เป้าหมาย ความคิดทางการเมือง ตลอดจนแนวคิดสหภาพแรงงาน

การสำรวจทำให้พบว่า กลุ่มไรเดอร์มีความหลากหลาย มีบุคลิกลักษณะแตกต่างกัน ดังเห็นได้จากกรณีตัวอย่าง 5 กลุ่ม ในพื้นที่กรุงเทพฯดังต่อไปนี้

กลุ่มแรก ไรเดอร์ฝั่งตะวันออก เกิดจากการพบปะกันในย่านที่ทำงาน ความคุ้นเคยและการปรึกษาหารือกัน นำไปสู่การจัดตั้งกลุ่ม โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือกันเรื่องการทำงาน ตั้งแต่เทคนิคการทำงาน ปัญหาจากบริษัท การเกิดอุบัติเหตุและการช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้น มีไลน์กลุ่มเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร มีสมาชิกประมาณ 200 คน มีแกนนำธรรมชาติ ไม่มีคณะกรรมการ ไม่มีระบบสมาชิก สมาชิกกลุ่มพบปะกันในชีวิตประจำวันในพื้นที่จอดรถรอออเดอร์ใกล้ศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง ในบางโอกาสสมาชิกนัดหมายทำกิจกรรมพิเศษร่วมกัน เช่น ทำบุญที่วัด ขับรถไปเที่ยวกันเป็นกลุ่ม

แกนนำกลุ่มมีความตั้งใจพัฒนากลุ่มให้เข้มแข็งและมีเป้าหมายชัดเจนขึ้น แต่สมาชิกในกลุ่มมีความเห็นแตกต่างกัน ส่วนหนึ่งเห็นว่าการรวมตัวอย่างหลวมๆอย่างที่เป็นอยู่ดีกว่า ในการชุมนุมของไรเดอร์เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2565 แกนนำและสมาชิกในกลุ่มหลายคนได้เข้าร่วมการชุมนุมด้วย

กลุ่มที่สอง ไรเดอร์ฝั่งตะวันตก เป็นกลุ่มช่วยเหลือกัน เกิดจากการพบปะกันในพื้นที่ทำงานแบบเดียวกับกลุ่มแรก กลุ่มเกิดจากแรงบันดาลใจของไรเดอร์หญิงคนหนึ่ง ซึ่งประสบอุบัติเหตุและได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากเพื่อนร่วมอาชีพเป็นอย่างดี กลุ่มจัดตั้งขึ้นพร้อมกับกองทุนเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุ มีคณะกรรมการกองทุน กฎระเบียบ การจัดตั้ง “หัวหน้าสาย” ในพื้นที่ต่างๆ ใช้ไลน์กลุ่มเป็นเครื่องมือสื่อสาร ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกประมาณ 2,000 คน เนื่องจากสมาชิกขยายตัวออกไปกว้างขาง กลุ่มได้จัดทำสติ๊กเกอร์ติดรถ แสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ช่วยเหลือกัน และทำกิจกรรมร่วมกัน

แกนนำกลุ่มมีความตั้งใจพัฒนากลุ่มให้เข้มแข็งและมีเป้าหมายชัดเจนขึ้น มีความกระตือรือร้นพัฒนาความคิดตัวเอง โดยเข้าร่วมอบรมเรื่องสิทธิแรงงานที่จัดโดยองค์กรต่างๆบ่อยครั้ง และกลุ่มเป็นกำลังสำคัญในการชุมนุมเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2565 ด้วย

กลุ่มที่สาม ไรเดอร์กรุงเทพฯชั้นใน เกิดจากช่วยเหลือกันของ “ไรเดอร์วิน” ซึ่งมีเรื่องกระทบกระทั่งกับ “วินมอเตอร์ไซค์” การช่วยเหลือกันนำไปสู่การจัดทำเพจเฟสบุ๊คเพื่อเป็นสื่อกลางสื่อสารกัน ในภายหลังเพจได้สื่อสารเรื่องของไรเดอร์ส่งอาหารด้วย ปัจจุบันเพจมุ่งสื่อสารกับไรเดอร์สังกัดแพลตฟอร์มยอดนิยมเพียงแพลตฟอร์มเดียว เป็นเพจไรเดอร์ที่มีผู้ติดตามมากที่สุด คือมีจำนวน 1.1 แสนคน ผู้กดไลค์เพจ 7.8 หมื่นคน มีแอดมินเพจหลายคน ซึ่งเป็นไรเดอร์ในพื้นที่ต่างๆทำงานรวมกันทางออนไลน์ แอดมินเพจเป็นคนกลุ่มเดียวกันหรือซ้อนทับกับแกนนำกลุ่ม 

เนื้อหาในเพจสะท้อนแนวคิดของกลุ่มได้ดี เพจนำเสนอปัญหาประจำวันในการทำงาน ปัญหาจากบริษัท เช่น การลดค่ารอบ งานแบช การปรับระบบการรับงาน นอกจากนั้นเป็นการแจ้งข่าวอุบัติเหตุและการเยียวยาช่วยเหลือกัน ข่าวสารที่เป็นกระแสในสังคม เพจหลีกเลี่ยงนำเสนอประเด็นการเมือง ปัญหาไรเดอร์ที่นำเสนอเป็นปัญหาเฉพาะหน้า มากกว่าประเด็นสิทธิแรงานซึ่งถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ในการชุมนุมของไรเดอร์เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2565 เพจมีบทบาทสำคัญในการระดมไรเดอร์เข้าร่วมชุมนุม ทำการถ่ายทอดสด (live) เหตุการณ์จากที่ชุมนุม แกนนำกลุ่มร่วมเป็นแกนนำในที่ชุมนุม และเป็นตัวแทนออกรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ในวันเดียวกัน

กลุ่มที่สี่ สมาคม A เป็นกลุ่มที่จดทะเบียนเป็นสมาคมกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาไทย ใช้เพจเฟสบุ๊คเป็นเครื่องมือสื่อสารหลัก มีผู้ติดตาม 2.9 หมื่นคน มุ่งสื่อสารกับไรเดอร์ทุกแพลตฟอร์ม นอกเหนือจากให้ข่าวสารการทำงาน อุบัติเหตุและการเยียวยา เพจให้ข้อมูลการช่วยเหลือไกล่เกลี่ยคดีต่างๆ เช่น คดี พรบ.คอมพิวเตอร์ หนี้เสีย ฉ้อโกง ติดไฟแนนซ์ การทำประกันบุคคล รถใหญ่ รถเล็ก และมีความร่วมมือกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ช่วยให้สมาชิกซื้ออะไหล่มอเตอร์ไซค์ และรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในราคาพิเศษ กลุ่มใช้เพสบุ๊คไลฟ์เป็นเครื่องมือสำคัญ แกนนำกลุ่มไลฟ์พูดคุยเรื่องต่างๆกับสมาชิกเป็นประจำ แต่ละครั้งมีผู้รับชมหลักพันคน ในบางหัวข้อมีผู้เข้าชมหลายหมื่นคน 

ในทำนองเดียวกับกลุ่มที่สาม กลุ่มนี้นำเสนอประเด็นปัญหาเฉพาะหน้าของไรเดอร์ หลีกเลี่ยงประเด็นการเมือง และสิทธิแรงงาน กลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญในการระดมไรเดอร์ในการชุมนุมเรียกร้องต่อบริษัทแพลตฟอร์มเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กลุ่มใช้เพจและการไลฟ์สดเป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสาร ไม่ปฏิเสธภาครัฐในการเป็นกลไกแก้ไขปัญหา การชุมนุมครั้งที่ผ่านมาแกนนำกลุ่มได้เข้าพบหน่วยงานภาครัฐด้วย เพื่อให้เป็นตัวกลางออกกฎระเบียบที่เป็นธรรมต่อไรเดอร์

กลุ่มที่ห้า สหภาพ B เป็นกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “สหภาพ” (ไม่ได้จดทะเบียนก่อตั้งสหภาพตามกฎหมาย) กลุ่มเกิดจากอดีตไรเดอร์แพลตฟอร์มหนึ่ง ที่มีประสบการณ์เรียกร้องสิทธิกับบริษัท จนนำไปสู่การจัดตั้งกลุ่มเพื่อต่อสู้ให้ได้รับความเป็นธรรม แกนนำกล่าวว่าใช้เพจเป็น “เครื่องมือจัดตั้ง” คือแกนนำออกได้พบปะแกนนำกลุ่มไรเดอร์ต่างจังหวัด สร้างพันธมิตรเป็นเครือข่าย จัดตั้งเป็นคณะกรรมการ และร่วมกันเป็นแอดมินเพจ ผลิตเนื้อหาเพื่อขยายความคิดต่อไป ปัจจุบันเพจมีผู้คิดตาม 3.7 หมื่นคน แกนนำกลุ่มมีแนวคิดชัดเจนว่า สหภาพแรงงาน คือองค์กรต่อสู้ของแรงงาน ชัยชนะของแรงงานคือการขยายฐานความร่วมมือและสร้างองค์กรที่เข้มแข็ง ทุนสร้างกำไรจากการเอาเปรียบแรงงาน และแรงงานควรร่วมมือกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของกลุ่มอื่นๆ       

เพจสหภาพ B มีลักษณะน่าสนใจหลายด้าน ด้านเนื้อหา แกนหลักคือเรื่องสิทธิแรงงาน การรวมกลุ่มของแรงงาน และกลยุทธ์การเอาเปรียบของบริษัท เนื้อหาได้ถูกนำเสนอโดยย่อยประเด็นให้เข้าใจง่าย น่าสนใจ สื่อสารกับคนได้ในวงกว้าง หลากหลายรูปแบบ มีการผลิตโปสเตอร์นำเสนอประเด็นต่างๆเป็นระยะ การทำคลิปวีดีโอขนาดสั้น และกลุ่มได้ปรับตัวสู่การใช้แพลตฟอร์มอื่นที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ทวิตเตอร์ และติ๊กต็อก ทำให้มีฐานผู้ชมมากขึ้นทั้งไรเดอร์ ร้านอาหารที่ใช้แพลตฟอร์มสั่งอาหาร และผู้บริโภคทั่วไป

อีกด้านหนึ่งคือ เพจมีบทบาทการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกกลุ่ม การสื่อสารภายในกลุ่ม มีตั้งแต่การนัดหมายทำกิจกรรม เช่น การฝึกอบรม การพบปะสังสรรค์ การประชุมเครือข่ายออนไลน์ การเป็นสื่อกลางในการชุมนุมเรียกร้องทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ส่วนการสื่อสารกับภายนอกกลุ่ม เป็นประเด็นสะท้อนชีวิตและการทำงานของไรเดอร์ และข่าวสารสาธารณที่กำลังอยู่ในความสนใจในช่วงเวลานั้น   

กรณีตัวอย่างกลุ่มไรเดอร์ทั้ง 5 กลุ่ม ให้ข้อสรุปที่สำคัญดังนี้

ประการแรก ทุกกลุ่มมีลักษณะพื้นฐานร่วมกันคือ เป็นกลุ่มช่วยเหลือกัน (mutual aid) เป็นกลุ่มไม่เป็นทางการ มีผู้นำตามธรรมชาติ สมาชิกสัมพันธ์กันในแนวระนาบ ให้การช่วยเหลือกันหลายด้าน เช่น การทำงาน อุบัติเหตุ และการเยียวยา บางกลุ่มเลือกรวมตัวกันแบบหลวมๆ บางกลุ่มมุ่งพัฒนาไปสู่องค์กรที่มีระบบระเบียบและมีเป้าหมายพิทักษ์สิทธิชัดเจนขึ้น

ประการที่สอง ทุกกลุ่มแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกัน (unity) โดยการตั้งชื่อกลุ่ม กลุ่มเปลี่ยนพื้นที่จอดพักรถให้กลายเป็นพื้นที่ทางสังคมในการพบปะกระชับความสัมพันธ์ กลุ่มมักจัดกิจกรรมร่วมกัน และกลุ่มมีสติ๊กเกอร์ติดรถ แสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเมื่อมีกิจกรรมร่วมกัน มักแชร์ภาพถ่ายกิจกรรมในสื่อของกลุ่มเป็นเรื่องปกติ   

ประการที่สาม ทุกกลุ่มใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือสื่อสาร แต่บางกลุ่มใช้เฟสบุ๊คเป็นเครื่องมือหลัก สำหรับกลุ่มประเภทนี้ เพจเฟสบุ๊คกลายเป็นช่องทางแสดงตัวตน และขับเคลื่อนภารกิจของกลุ่ม แต่ละกลุ่มจัดการเพจและนำเสนอเนื้อหาแตกต่างกัน เช่น กลุ่มที่มุ่งขับเคลื่อนภารกิจเฉพาะหน้า แอดมินเพจมักเป็นคนกลุ่มเล็กๆ จำกัดเนื้อหามุ่งไปที่ประเด็นเฉพาะหน้า กลุ่มที่ต้องการสื่อสารแนวคิดสหภาพแรงงาน จัดการเพจโดยคณะกรรมการจากสมาชิกในเครือข่าย เนื้อหามีความครอบคลุม ตั้งแต่สิทธิแรงงาน จนถึงประเด็นทางเศรษฐกิจการเมือง

แต่ท่ามกลางความต่างมีจุดร่วมกันคือ ทุกกลุ่มใช้เพจเป็นช่องทางระดมมวลชนเมื่อมีการชุมนุมเรียกร้องสิทธิประโยชน์ เพจทำหน้าที่ให้ข่าวสารทั้งก่อนการชุมนุม ระหว่างการชุมนุม และหลังการชุมนุม การสามารถพูดคุยโต้ตอบกันได้ และการถ่ายทอดสดเหตุการณ์ระหว่างชุมนุม ช่วยให้การชุมนุมมีพลังขับเคลื่อนมากขึ้น

ประการสุดท้าย กลุ่มมีความคิดทางการเมือง (political concept) แตกต่างกัน บางกลุ่มจำกัดตัวเองที่การช่วยเหลือกันและกัน โดยไม่ต้องการเป็นกลุ่มต่อรองทางการเมือง บางกลุ่มไม่ปฏิเสธการต่อรองทางการเมือง แต่ให้ความสำคัญกับเรื่องเฉพาะหน้าหรือเฉพาะบางเรื่อง และบางกลุ่มมุ่งสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองในระยะยาว โดยการสร้างสถาบันของแรงงานในรูปแบบสหภาพแรงงาน กลุ่มประเภทแรกมีมากที่สุด ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด กลุ่มประเภทที่สองมีไม่มาก การคงอยู่ของกลุ่มขึ้นกับแกนนำกลุ่มเล็กๆ กลุ่มประเภทที่สาม เกิดขึ้นเป็นกรณีเฉพาะ (exceptional case) การคงอยู่และพัฒนาของกลุ่มขึ้นกับความเข้มแข็งและชัดเจนของแกนนำและคณะกรรมการของกลุ่ม     

เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ การรวมกลุ่มของไรเดอร์ไทยคล้ายคลึงกับในหลายประเทศ คือมีพื้นฐานจากกลุ่มช่วยเหลือกัน[5] อีกประการหนึ่งคือ การใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งด้านหนึ่งใช้สื่อสารในหมู่สมาชิก อีกด้านหนึ่งใช้สื่อสารกับสาธารณะ กล่าวได้ว่าไรเดอร์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือแพลตฟอร์มอีกประเภทหนึ่ง เป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อรองกับทุน[6]

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่การต่อสู้ของชนชั้นแรงงานมีประวัติศาสตร์ยาวนาน อย่างยุโรป มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า การเรียกร้องของไรเดอร์ในยุโรปเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มหลายรูปแบบ นับตั้งแต่กลุ่มธรรมชาติ (group of workers) กลุ่มแรงงานจัดตั้ง (workers’ collective) สหภาพรากหญ้า (grassroots union) และสหภาพกระแสหลัก (mainstream union) แม้ในการชุมนุมส่วนใหญ่ กลุ่มธรรมชาติเป็นตัวแสดงหลัก แต่กลุ่มแรงงานจัดตั้ง สหภาพรากหญ้า และสหภาพกระแสหลัก เป็นตัวแสดงที่มีนัยสำคัญด้วย โดยกลุ่มประเภทหลังมักมีบทบาทสนับสนุนกลุ่มธรรมชาติให้รวมตัวเรียกร้อง กลุ่มธรรมชาติมีแนวโน้มพัฒนาองค์กรสู่การเป็นสหภาพแรงงาน และกลุ่มแต่ละประเภทมักมีการร่วมมือข้ามกลุ่ม สถานการณ์นี้แสดงให้เห็นการก่อตัวของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และสหภาพแรงงานแนวใหม่ ในยุคทุนนิยมแพลตฟอร์ม[7]

สำหรับกรณีของไทยมีความแตกต่างออกไป กลุ่มไรเดอร์ที่เป็นฐานของการชุมนุม มีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างกลุ่มธรรมชาติกับกลุ่มแรงงานจัดตั้ง ขณะที่บทบาทของสหภาพแรงงานรากหญ้า และสหภาพแรงงานกระแสหลัก ในการสนับสนุนการชุมนุมของไรเดอร์ไม่ปรากฏชัดเจน อีกทั้งกลุ่มไรเดอร์ที่มีเป้าหมายพัฒนาองค์กรสู่การเป็นสหภาพแรงงานยังมีอยู่น้อย และที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นกรณีพิเศษ    

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาข้อจำกัดต่างๆในบริบทสังคมสังคมไทย การรวมกลุ่มที่เกิดขึ้นแพร่หลาย การมีตัวตนในสังคม และการร่วมกันเรียกร้องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งของไรเดอร์ แสดงให้เห็นพัฒนาการที่สำคัญทางการเมืองของแรงงานไทย แม้งานแพลตฟอร์มแบ่งแยกแรงงานเป็นส่วนย่อย กระจัดกระจาย และถูกควบคุมอย่างเข้มงวด แต่ด้วยความสัมพันธ์พื้นฐานบนผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันระหว่างทุนกับแรงงาน ความขัดแย้งได้ผลักดันให้แรงงานสร้างสรรค์วิธีใหม่ๆ เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน และสร้างอำนาจต่อรองให้มากขึ้น

ไรเดอร์ไทยได้แสดงให้เห็นว่า ทุนไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้กำหนดเกมผลประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียว แต่แรงงานคือส่วนหนึ่งที่มีอำนาจกำหนดเกมนั้นด้วย.  

 

อ้างอิง  

[1] Trappmann, V., Bessa, I., Joyce, S., Neumann, D., Stuart, M. & Umney, C. (2020). Global labour unrest on platforms: the case of food delivery workers. Berlin: FES.

[2] ธานี ชัยวัฒน์ และคณะ. (2565). โครงการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคุณภาพชีวิตของคนทำงานแพลตฟอร์ม. รายงานการวิจัย, คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บทที่ 2 หน้า 14 -24. รวบรวมข้อมูลในช่วงปี 2562 ถึงเดือนมกราคม 2565 พิจารณาเฉพาะ 3 แพลตฟอร์มคือ Grab, LineMan และ Foodpanda พบว่ามีการชุมนุมประมาณ 25 ครั้ง และเมื่อรวมกับการรวมตัวอีกหลายครั้ง ภายหลังเดือนมกราคม 2565 ถึงมีนาคม 2566 จึงกล่าวได้ว่ามีการรวมตัวกันไม่ต่ำกว่า 30 ครั้ง

[3] 3 พ.ย. 2565 ไรเดอร์ Grab กว่า 500 เคลื่อนขบวนไปที่ตั้งอาคารสำนักงานของบริษัทแกร๊บ ประเทศไทย จำกัด เรียกร้องให้มีการทบทวนระบบจองงาน ระบบงานคู่ และค่ารอบ (https://prachatai.com/journal/2022/11/101266)

[4] 22 ก.พ. 2566 'ไรเดอร์' ค่ายดังร่วม 100 คน รวมตัวยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ไรเดอร์บริษัทเอกชนชื่อดังเกือบ 100 คน นัดรวมตัวกันบริเวณหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัทซึ่งตั้งอยู่บริเวณซอยถนนสุขุมวิท 40  เพื่อเรียกร้องให้บริษัทต้นสังกัดพิจารณาเรื่องการปรับลดค่ารอบวิ่ง ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน (https://www.komchadluek.net/news/society/543479)

[5] Ford, M., & Honan, V. (2019). The limits of mutual aid: Emerging forms of collectivity among app-based transport workers in Indonesia. Journal of Industrial Relations, 61(4), 528–548.

[6] Hastie, B. (2020). Platform Workers and Collective Labour Action in the Modern Economy. UNBLJ 40.

[7] Vandaele, K. (2018).  Will Trade Unions Survive in the Platform Economy? Emerging Patterns of Platform Workers’ Collective Voice and Representation in Europe. ETUI Research Paper - Working Paper.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท