Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย “การรวมกลุ่มและสร้างอำนาจต่อรองของไรเดอร์” โดย พฤกษ์ เถาถวิล และวรดุลย์ ตุลารักษ์ ผลการวิจัยกำหนดเผยแพร่กลางปีนี้ การสัมภาษณ์เกิดขึ้นเมื่อ 18 ธันวาคม 2566 การนำเสนอในที่นี้ใช้วิธีเรียบเรียงจากการให้สัมภาษณ์ และค้นคว้าเพิ่มเติมจากงานวิจัยของศักดินา (2555)  เนื้อหาในบทสัมภาษณ์นี้ ตัดทอนนำเสนอเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นคนทำงานเท่านั้น  

วันแรงงานสากล 1 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา เป็นไปด้วยความคึกคัก มีกิจกรรมของแรงงานหลายกลุ่ม และหนึ่งในกลุ่มผู้จัดกิจกรรมคือ สหภาพคนทำงาน ซึ่งจัดกิจกรรมที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในชื่องาน “รวมทุกความหวัง และความฝันของคนทำงาน” “คนทำงาน” ซึ่งปรากฏเป็นชื่อขององค์กร และเป็นวลีหรือ “คำ” ที่ถูกใช้มากขึ้นในช่วง 10  ปีที่ผ่านมา มีศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา เป็นหนึ่งในผู้ผลักดันคนสำคัญ “คนทำงาน” มีความหมายอย่างไร แตกต่างจาก “แรงงาน” หรือ “คนงาน” อย่างไร อาจารย์ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ช่วยให้ความกระจ่าง และทำให้เห็นว่า คำนี้เป็นมากกว่าความแตกต่างเชิงภาษา แต่คือตัวตนและยุทธศาสตร์ที่แตกต่างของขบวนการแรงงานไทยยุคใหม่

ผู้สัมภาษณ์นัดพบกับศักดินา เมื่อปลายปี 2566 ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ย่านมักกะสัน กรุงเทพฯ ศักดินาได้นำชมพิพิธภัณฑ์ พร้อมกับบรรยายส่วนของการจัดแสดง และวัตถุจัดแสดง ตั้งแต่ต้นจนจบ ด้วยการให้ข้อมูลที่ละเอียด แม่นยำ และทำให้สัมผัสได้ถึงความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์แรงงานไทยของเขา หลังจากรำลึกอดีตที่มักถูกละเลยความสำคัญของชนชั้นแรงงาน การสนทนาถึงปัจจุบันและอนาคตของขบวนการแรงงานไทย ได้เริ่มขึ้น

0000

การสนทนาเริ่มจาก บทบาทของศักดินาต่อขบวนการแรงงานปัจจุบัน ซึ่งมาจากการทำงานกับคนรุ่นใหม่ในช่วงเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยปี 2563

“ช่วงปี 63 ผมทำงานกับคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงนั้น ประกอบด้วยนักสหภาพแรงงาน นักวิชาการ ศิลปิน สื่อมวลชน NGOs และคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ จึงได้ช่วยกันจัดตั้งสหภาพคนทำงานขึ้นมา สหภาพคนทำงานเป็นสหภาพอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่ใช่สหภาพแบบ traditional อย่างที่เคยเป็น แต่ก็ยังอยู่ระหว่างการคลำทิศทางกันอยู่ คือว่าตอนนี้ มันมีบริบทใหม่ มีตัวแสดงใหม่ๆ เกิดขึ้นในขบวนการแรงงานที่แตกต่างจากขบวนการเก่าที่อยู่มาตั้ง 50 ปีแล้ว เราอยู่ซ้ำรอยเดิม อยู่แบบเดิม จัดตั้งแบบเดิม วิธีการแบบเดิม ความเชื่อแบบเดิม แต่ว่าตอนนี้เริ่มมีวิธีการใหม่ รูปแบบใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ เกิดขึ้น เมื่อวานนี้ผมก็พากลุ่มหมอ สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานที่เคลื่อนไหวเรื่องชั่วโมงทำงาน ไปคุยกับสหพันธ์แรงงานระหว่างประเทศภาคบริการ หรือ UNI ซึ่งเป็นองค์กรใหญ่อันดับสองของโลก อาจจะมีความร่วมมือในระยะต่อไป”

ศักดินาขยายความให้เห็นว่า สหภาพคนทำงาน คือองค์กรของกลุ่มคนหัวก้าวหน้าจากหลายแวดวง ทั้งสหภาพแรงงาน นักวิชาการ ศิลปิน นักดนตรี คนทำหนัง ไรเดอร์ ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ และเป็นกลุ่มที่ออกมาต่อสู้เรื่องประชาธิปไตย “ตัวอย่างเช่น กลุ่มหมอหัวก้าวหน้าที่ออกมาร่วมในช่วงการเคลื่อนไหวขบวนการปลดแอก เขาเคลื่อนไหวเรื่องชั่วโมงทำงาน โดยเฉพาะช่วงโควิดระบาด เพราะหมอถูกกดมาก เขาลุกขึ้นมาต่อสู้ และเป็นขบวนการเดียวกันกับขบวนการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการด้วย...คนเหล่านี้คือคนเจน Y อายุคือ 30 รุ่นๆกับลูกสาวผม”

ด้วยรูปแบบการจ้างงานยุคใหม่ ทำให้แรงงาน ไม่ถูกจำกัดอยู่ในสภาพการจ้าง และสภาพการทำงานแบบเดิม คนส่วนใหญ่ รวมทั้งคนรุ่นใหม่ ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นแรงงาน จึงต้องเกิดคำใหม่ขึ้นมารองรับ “คำว่างานมันต่างจากยุคเดิม งานเมื่อก่อนคืองานประจำ งานในโรงงาน หรือพนักงานบริษัท แต่คนรุ่นนี้คืองานฟรีแลนซ์ งานแพลตฟอร์ม งานภาคบริการ…คืองานจำนวนมาก ไม่มีนายจ้างชัดเจน อย่างงานแพลตฟอร์ม เขาไม่ยอมรับว่าเป็นนายจ้าง เพราะว่าความสัมพันธ์ไม่ชัดเจน” ในขณะเดียวกันศักดินาคิดว่า มีงานอีกแบบหนึ่งที่ไม่ถูกนับว่าเป็นการทำงาน “ถ้าเราขยายคำว่าคนทำงานให้กว้างขึ้น แม้กระทั่งคนทำงานบ้าน หรือเป็นแม่บ้าน ก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยม คือถ้าไม่มีแม่บ้าน ผมก็ออกมาทำงานไม่ได้ ระบบทุนนิยมมันเดินไปไม่ได้ คนเหล่านี้ต้องถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคนทำงานในระบบทุนนิยม”

“เราพยายาม define [นิยาม] คำว่าแรงงานที่แตกต่างไปจากเดิม เดิมเราถูกรัฐกำหนด ใช้คำว่า “ลูกจ้าง” ใช้คำว่า “แรงงาน” มันมีหลายคำ ทำให้คนถูกแยกออกเป็นส่วนๆ เราเลือกใช้คำว่าคนทำงาน เพื่อเป็นคำที่ inclusive [โอบรวม] คือใครๆก็เป็นคนทำงาน” เมื่อถามว่า คนทำงานตรงกับ worker ในภาษาอังกฤษหรือไม่ “จริงๆ ก็คือคำว่า worker นั่นแหละ แต่ในภาษาไทยคำนี้มันแปลว่า คนงาน หรือ แรงงาน ในภาษาไทยคำนี้มัน exclude [กีดกัน] คนออกไป พอบอกว่าแรงงาน หมอเขาไม่ยอมรับว่าเขาเป็นแรงงาน อาจารย์ก็ไม่เรียกว่าตัวเองเป็นแรงงาน ผู้กำกับ [ภาพยนตร์] เหมือนกัน ถ้าบอกว่าคนทำงาน ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าตัวเองไม่ใช่คนทำงาน ทุกคนเป็นคนทำงานหมด”

ศักดินา ขยายความถึงที่มาของคำว่าคนทำงาน ที่เชื่อมโยงกับขบวนการแรงงานยุคใหม่ในต่างประเทศ ซึ่งเชื่อในแนวทางสหภาพแรงงานที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement unionism) โดยยกตัวอย่างการปรับตัวของขบวนการแรงงานฟิลิปปินส์ 

“ประเทศโลกที่สามทั้งหลาย ที่การจ้างงานเปลี่ยนไปเยอะๆ อย่างฟิลิปปินส์ มันมีคนถูกผลักออกจากระบบที่เขาไม่ได้เป็นลูกจ้างแบบ traditional แล้วคนพวกนี้จะหายไปจากขบวนการแรงงาน ในฟิลิปปินส์เกิดขบวนการแรงงานที่เรียกว่า APL (Alliance for Progressive Labor) เป็นขบวนการแรงงานแนว social movement unionism แล้วเขาทำ definition ใหม่ของแรงงาน คือคนที่ไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตขนาดใหญ่ที่มีการจ้างงานจำนวนมาก[1]  เราก็นำมาใช้กับสหภาพคนทำงานของเรา คือ  [ตามนิยามนี้] เราก็คิดว่า  SME เป็นแรงงาน เขาไม่ได้เป็นทุน ไม่ใช่เป็นคน 1% ที่ได้ประโยชน์ในระบบทุนนิยม  แต่เป็นส่วนหนึ่งของคน 99% ที่ประกอบด้วยคนงานทั่วไป และ Self-employ หรือผู้ผลิตรายย่อย เราจึงนับพวก SME ที่ไม่ได้จ้างงานเกิน 200 คน คนเหล่านี้ยังเป็นพันธมิตรกับเรา ที่จะสู้กับกลุ่มคน 1%”

“สหภาพคนทำงาน กำหนดคุณสมบัติสมาชิกว่า [นอกเหนือจากแรงงานที่มีนายจ้างชัดเจนอยู่แล้ว] ถ้าคุณเป็นผู้จ้างงาน ที่ปฏิบัติตามกฎหมาย คือไม่ละเมิดสิทธิ์ ไม่ขูดรีด ก็จะถือว่าเป็นพวกเดียวกัน ก็คือเป็นกลุ่มคน 99% ที่นิยามแบบนี้ก็เพื่อจะดึงกลับมา เพราะว่าในโลกสมัยใหม่การจ้างงานมันเปลี่ยนไป แล้วสหภาพแรงงานที่ตายแล้วเพราะว่า ไม่สามารถรวมคนในการจ้างงานสมัยใหม่เข้ามาในสหภาพแรงงาน ในเยอรมันคนหลุดออกจากสหภาพแรงงานเยอะมาก เพราะสหภาพไม่ประสบความสำเร็จในการโอบรวมคนที่อยู่ในการจ้างงานแบบใหม่ แต่ในยุโรปเหนือ พวกนอร์ดิก สมาชิกเขาไม่หายเลย ไม่ว่าคุณจะไปอยู่ในสภาพการจ้างแบบไหน เขาตามไปจัดตั้ง ตามไปเอากลับมาหมด ...อันนี้ถือว่าเหมือนกับเป็นยุทธศาสตร์ เป็นการ definition เพื่อยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้เราก็จะถูกแบ่งแยกและปกครอง แบบที่เขาต้องการแยกเราเป็นส่วนๆ”

ในประเด็น สหภาพแรงงานที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ศักดินาขยายความว่า การจัดตั้งกลุ่มหรือสหภาพแรงงานต้องมีเป้าหมาย “ต้องถามว่ามีสหภาพแรงงานเพื่ออะไร คำว่าเพื่ออะไร มันจะตอบว่าคุณจะเลือกลัทธิไหน เราจะทำเรื่องปากท้อง เราจะทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือทำให้สหภาพแรงงานเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม”

ศักดินาแจกแจงให้เห็นว่าขบวนการแรงงานอาจจำแนกได้เป็น 3 ประเภท (หรือลัทธิ) ตามความเชื่อหรือยุทธศาสตร์การต่อสู้ ได้แก่ ขบวนการแรงงานที่เชื่อในแนวทางการต่อสู้ทางการเมือง (political unionism) เชื่อว่าการปกป้องผลประโยชน์ของแรงงานต้องเปลี่ยนแปลงในปริมณฑลการเมือง ขบวนการแรงงานที่เชื่อในแนวทางลัทธิเศรษฐกิจ (economical unionism) ยอมรับในกลไกตลาดและระบบทุนนิยม ต่อสู้เพื่อให้คนงานได้ผลประโยชน์สูงสุดในระบบทุนนิยม และขบวนการแรงงานแนวใหม่ที่กำเนิดขึ้นในทศวรรษ 1980 คือ ขบวนการแรงงานที่เชื่อในแนวทางสหภาพแรงงานที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement unionism) เชื่อว่าแรงงานเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหญ่ ความสำเร็จของขบวนการแรงงาน จำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือกับขบวนการสังคมอื่น (ดูรายละเอียดใน ศักดินา, 2555: น.22-24)

ตามแนวทางทั้ง 3 ลัทธิ สหภาพคนทำงาน เป็นสหภาพแรงงานที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และในแง่หนึ่งการเกิดขึ้นของสหภาพคนทำงาน เป็นการออกจากขบวนการแรงงานยุคเก่าที่มีความโน้มเอียงไปทางอนุรักษ์นิยม ศักดินากล่าวถึงการเปิดตัวของสหภาพคนทำงานว่า

“[สหภาพคนทำงาน] ก่อตัวมาก่อนแล้ว แต่ว่าเปิดตัวจริง ๆ เมื่อต้นปีที่แล้ว [2565] จริงๆเราคุยกันตั้งแต่ปี 63 ตั้งแต่ตอนม็อบขึ้น ตอนนั้นเรามองไปที่ขบวนการแรงงานที่เป็นอยู่ เราเห็นว่ามัน conservative ขณะที่ขบวนการทางสังคมเขาก้าวไปข้างหน้า แต่ในเวลาเดียวกันเราก็คิดว่า ขบวนการทางสังคม [ที่กำลังประท้วงเผด็จการ] ก็ไม่ยั่งยืน เพราะว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย พอผ่านสถานการณ์กระแสตกก็ตกไป แต่ในประเทศที่ประชาธิปไตยยั่งยืน สหภาพเป็นฐานของการต่อสู้ เพราะฉะนั้นก็ถ่ายโอนขบวนการทางสังคมมาอยู่ในสหภาพ แล้วเปลี่ยนสหภาพให้เคลื่อนไหวทางการเมือง ทางสังคม มันจะทำให้เกิดความยั่งยืน แล้วก็ตอบโจทย์ที่คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องสหภาพเยอะ”

อีกประเด็นสำคัญคือ ยุทธศาสตร์ของสหภาพคนทำงาน เนื่องจากสหภาพแรงงานมีหลายรูปแบบ มีประวัติศาสตร์ และมีจุดแข็งจุดอ่อนแตกต่างกัน คำถามคือสหภาพคนทำงานจะเป็นสหภาพรูปแบบใด

รูปแบบของสหภาพมี 4 รูปแบบ ได้แก่ สหภาพแรงงานสถานประกอบการ (house union) คือสหภาพแรงงานที่มีนายจ้างเดียวกัน, สหภาพแรงงานอุตสาหกรรม (Industrial Union ) เป็นสหภาพแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ในประเทศไทยปัจจุบัน กฎหมายอนุญาตให้มีสหภาพ 2 รูปแบบแรก ส่วนในต่างประเทศ มีเพิ่มอีก 2 รูปแบบ คือสหภาพแรงงานทั่วไป (general union) ซึ่งเป็นสหภาพของคนงานที่ไม่จำเป็นต้องมีนายจ้างคนเดียวกัน และไม่จำเป็นต้องเป็นอุตสาหกรรมเดียวกัน และสหภาพแรงงานช่างฝีมือ (craft union) ซึ่งเป็นการรวมตัวของคนงานที่ทำงานฝีมือหรือทักษะเฉพาะด้าน สมาชิกอาจมาจากนายจ้างหลายราย เกิดขึ้นในอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในช่วงกลางศตวรรษที่ 19

ศักดินาฟันธงว่า สหภาพคนทำงานเป็นสหภาพแรงงานทั่วไป “สหภาพคนทำงาน เราจะให้มันเป็น general union เป็นสหภาพของคนหลากหลายอาชีพ คือเปิดให้แรงงานกลุ่มไหนก็ได้เข้ามาอยู่ด้วยกัน แล้วในหลากหลายอาชีพจะแบ่งเป็น sector แล้วใช้ความหลากหลายนี้เข้าไปช่วยต่อสู้ คนกลุ่มใหญ่เข้าไปช่วยต่อสู้ให้กับคนแต่ละกลุ่ม พลังจะมากกว่าที่แยกเป็นส่วนๆ…” ศักดินากล่าวว่าในอดีตไทยเคยมีสหภาพแรงงานทั่วไป “บ้านเราเคยเป็น general union มาตลอด ตั้งแต่ที่คุณถวัติ ฤทธิเดช รวมตัวกันในนามคณะกรรมกรไทยก่อน 2475 หลัง 2475 ก็มีสมาคมอนุกูลกรรมกร เอาคนลากรถ ช่างฝีมืออิสระ คนงานรถราง แรงงานข้ามชาติ หนังสือพิมพ์ต่างๆรวมกันหมดเลย หลังสงครามโลกครั้งที่  2 ก็มีสหอาชีวะกรรมกร สหอาชีวะก็คือรวมทุกอาชีพ ตอนนั้นเข้มแข็งมากๆ เป็น general union”

เขาขยายความสำคัญของสหภาพแรงงานทั่วไป โดยชี้ให้เห็นปัญหาของขบวนการแรงงานปัจจุบัน “ตอนนี้สมาชิกสหภาพแรงงานไทย มีประมาณห้าแสนกว่าคน หรือประมาณ 1.5% [ของจำนวนแรงงานทั้งหมด] จะเห็นว่าเป็นส่วนน้อยมาก จะเห็นว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ของคนงานอยู่นอกสหภาพแรงงาน คนเหล่านี้ต่างหากที่ควรให้ความสนใจ...แล้วสหภาพบ้านเรา คือรัฐเป็นคนกำหนดประเภท สหภาพที่รัฐต้องการให้เป็นคือแบบ economic unionism ก็คือสหภาพเพื่อปากท้อง เจรจาต่อรอง ยื่นข้อเรียกร้อง สภาพการจ้างอยู่ในรั้วโรงงาน หรือมากหน่อยก็อยู่ในไตรภาคี แต่ว่าในยุโรป ในประเทศอื่นเขามี political union ก็คือสหภาพที่ไม่ใช่แค่ปากท้อง แต่เขาต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง หลายประเทศเขาก็มีพรรคการเมืองของตัวเอง อย่างที่ฝรั่งเศส สหภาพก็มีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำ general strike เพื่อจะเปลี่ยนแปลงนโยบายอะไรต่างๆ ซึ่งบ้านเรากฎหมายจะห้ามเลย ไม่อนุญาตให้สหภาพแรงงานยุ่งเกี่ยวกับการเมือง”

ศักดินาให้ความเห็นต่องานจัดตั้งในขบวนการแรงงานว่า “ที่ผ่านมาเขาจัดตั้งในสถานประกอบการเป็น house union แล้วก็รณรงค์ให้รวมกัน เป็น industrial union ซึ่งตอนหลังผมคิดว่า industrial union ไม่ใช่คำตอบ เพราะว่าในโลกนี้เราจะพบว่า อุตสาหกรรมมันพังแล้ว มันสลายลงไปแล้ว...การจัดตั้งแบบ house union กับสหภาพขนาดเล็ก ประเทศเราพิสูจน์แล้วว่า 50 ปีที่ผ่านมามันไม่เวิร์ค มันไม่ได้สร้างอำนาจต่อรองให้กับคนงานโดยรวม แต่มันจะเป็นประโยชน์กับแต่ละส่วนย่อยๆ”

ศักดินาพูดถึงการจัดตั้งของไรเดอร์ ซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นองค์กรย่อยๆหลายองค์กร “ตอนนี้มีการจัดตั้งสมาคมไรเดอร์หลายจังหวัด อาจทำให้อำนาจต่อรองน้อยลง ผมเห็นว่าควรทำให้เป็นก้อนเดียวกันทั้งหมดดีกว่า... สำหรับคนงานรวมกันได้มากเท่าไหร่ อำนาจต่อรองจะมากขึ้นเท่านั้น อย่างไรเดอร์นัดหยุดงานหลายครั้งแล้ว แต่งานไม่เคยหยุดเลย คืออำนาจไม่พอที่จะทำให้งานหยุด ซึ่งต่อให้คุณจัดตั้งยังไง ก็หยุดไม่ได้ เพราะคนงานแพลตฟอร์มมัน over supply มันไม่สามารถหยุดได้ อำนาจของแพลตฟอร์มมันเหนือกว่า”

ศักดินายกตัวอย่างที่ดีของการประท้วงของไรเดอร์ฟู๊ดแพนด้า “ปี 63 เขาไปร่วมม็อบการเมือง เสร็จแล้วถูกลบชื่อออก กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองจึงรณรงค์ให้ผู้บริโภคลบแอปฟู้ดแพนด้า ทำให้บริษัทต้องกลับมาเจรจา หมายความว่าพลังของภาคประชาสังคมที่ใหญ่กว่า จะกดดันแพลตฟอร์มได้...ถ้าคุณต้องการเปลี่ยนสภาพการจ้าง ประท้วงหลายครั้ง เจ้าของแพลตฟอร์มไม่มาคุยเลย แต่ถ้าสหภาพที่ประกอบด้วยอาจารย์ หมอ นักดนตรี แล้วมารวมกันพูดกับแพลตฟอร์ม เขาจะฟัง เพราะคนพวกนี้ก็คือ consumer ด้วย ไม่ใช่แค่สหภาพ ถ้าคนพวกนี้รณรงค์ เสียงมันจะดัง”

“อย่างตอนนี้พวกกลุ่มหมอเริ่มมีการจัดตั้ง หมอรุ่นใหม่รวมตัวกัน ร่วมด้วยเทคนิเชียน พยาบาล คนงานในโรงพยาบาล ปกติเสียงหมอจะดังกว่า แต่ถ้าแยกเป็นส่วน ไม่มีพยาบาล ไม่มีส่วนอื่น เขาเสียงไม่ดัง เพราะฉะนั้นเราต้องคิดใหม่ จะมีสหภาพแรงงานเพื่ออะไร แล้วสหภาพแบบไหนจะตอบโจทย์ได้มากกว่า ซึ่งผมคิดว่าสหภาพแบบที่เป็น general union…แต่ว่าตอนนี้กฎหมายไทยไม่อนุญาตนะ อนุญาตให้แค่ house union กับ industrial union เท่านั้น”

สหภาพแรงงานทั่วไป ยังเป็นรูปแบบที่จะช่วยแก้ปัญหาดั้งเดิมของสหภาพแรงงานด้วย คือความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมในองค์กร “สหภาพคนทำงานพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการจัดทำโครงสร้างการบริหาร ให้ความสัมพันธ์ในองค์กรไม่เป็นแนวตั้ง ไม่มีประธาน รองประธาน เลขาฯ แต่ว่าเป็นกรรมการร่วม ที่ผ่านมาสหภาพแบบเดิมมีโครงสร้างแนวตั้งเป็นสายลำดับบังคับบัญชา มันมีแนวโน้มที่จะเป็น authoritarian สูง คนที่เป็นผู้นำแล้วจะมีลักษณะที่ครอบงำ กรรมการ และสมาชิกก็ไม่ค่อยมีส่วนร่วม เราต้องการแก้ไขปัญหานี้ แต่ยอมรับว่าพอเป็นระนาบเดียวกัน การทำงานมันยากขึ้น มันจะต้องมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ภายในให้ชัดเจน แบ่งงานกันทำให้ชัด แต่ทั้งหมดนี้ยังใหม่ ยังเรียนรู้กันอยู่” 

ศักดินาขยายความอีกว่า “สหภาพคนทำงานเกิดขึ้นใน social media มันเกิดขึ้นจากยุคโควิด เป็น digital organizing แล้วปีหน้า [2567] จะเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ จะกำหนดทิศทางใหม่...อยากให้สหภาพคนทำงานเป็นของสหภาพของกลุ่มคนที่เชื่อมั่นในประชาธิปไตย เป็นของคนรุ่นใหม่ องค์กรแรงงานที่มีอยู่และสนับสนุนประชาธิปไตย ควรจับมือกัน องค์กรที่เกิดขึ้นใหม่อย่าง สหภาพไรเดอร์ สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน Nurses Connect  บาริสต้า เชียงใหม่ หรือกลุ่มต่างๆควรมาร่วมกัน กระแสเลือกตั้งคราวที่แล้ว คนรุ่นใหม่สนใจเรื่องแรงงานเยอะขึ้น สนใจอยากร่วมสหภาพเยอะขึ้น น่าจะได้มากำหนดทิศทาง กำหนดรูปแบบของการทำงานร่วมกัน...”

คำใหม่ที่โอบรับคนกว้างขึ้น การเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการทางสังคม สหภาพแรงงานทั่วไป และความสัมพันธ์แนวราบ คือเครื่องนำทางความหวังและความฝัน ที่กลั่นจากประสบการณ์ยาวนานของศักดินา.  

 

อ้างอิง

[1] การนิยามความหมายใหม่ของแรงงานตามแนวทาง ALP คือ “ผู้ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของทุนหรือเครื่องจักรที่นำมาผลิตสิ่งของหรือบริการด้วยตัวเองได้ หมายถึงผู้ที่ทำการผลิตสิ่งของหรือบริการด้วยตนเอง หมายรวมถึงผู้ประกอบการอิสระ ที่อาจจะครอบครองทุนหรือเครื่องมือบางอย่าง แต่ก็ไม่มากพอจะไปจ้างแรงงานจำนวนมากเหมือนผู้ประกอบการขนาดใหญ่ หมายถึงคนชายขอบเมื่อเปรียบเทียบกับนายจ้างและผู้ประกอบการทั้งหลาย” (ดู ศักดินา, 2555: น.20) และดู  Alliance of Progressive Labor. (2001). Fighting Back with Social Movement Unionism: A Handbook for APL Activists. Manila : APL.  https://aplnews.wordpress.com/about/primer/

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net