Skip to main content
sharethis

ทนายทรายเผย เจ้าหน้าที่สถานพินิจกรุงเทพโทรแจ้งเหตุที่บ้านปรานีไม่ให้เข้าเยี่ยม "หยก" เพราะติดโควิดมา 2-3 วันแล้ว แต่ทีมทนายไปขอเยี่ยมทุกวันกลับไม่ได้รับแจ้งเรื่องนี้และแม้กระทั่งเยี่ยมผ่านวิดีโอคอลล์ก็ยังไม่ได้ โดยบ่ายวันนี้จะไปขอเยี่ยมอีกครั้ง

เมื่อวานนี้ 5 เม.ย.2566 หลังจากเพจโมกหลวงริมน้ำมีการเผยแพร่เรื่องที่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า ธนลภย์ หรือหยก (สงวนนามสกุล) เยาวชนอายุ 15 ปี ติดโควิด-19 โดยที่ขณะนี้ยังถูกคุมขังที่สถานพินิจบ้านปรานี จ.นครปฐมจากเหตุที่เธอถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ มาตรา 112

กุณฑิกา นุตจรัส หรือทราย ทนายความอาสาของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้กับธนลภย์ให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ว่าในช่วงหลายวันที่ผ่านมาทางทนายความได้ทำเรื่องร้องเรียนไปที่หลายหน่วยงานเรื่องที่ทางบ้านปรานีไม่ให้เข้าเยี่ยม จนกระทั่งเช้าวันนี้มีเจ้าหน้าที่จากสถานพินิจกรุงเทพซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ส่วนกลางโทรศัพท์ติดต่อกลับมา

ทนายความเล่าว่าทางเจ้าหน้าที่บอกกับเธอว่าที่ทางบ้านปรานีไม่ให้เข้าเยี่ยมเนื่องจากแจ้งว่าธนลภย์ติดโควิด-19 มาแล้ว 2-3 วัน ก็เลยได้ถามเจ้าหน้าที่ว่าทำไมไปทุกวันถึงไม่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของบ้านปรานีและถึงธนลภณ์จะติดโควิดก็น่าจะให้เยี่ยมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ได้ แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ตอบคำถามเธอเพียงแค่บอกว่าผู้ปกครองหรือผู้ไว้วางใจควรจะได้ทราบจึงโทรศัพท์แจ้ง

กุณฑิกาเล่าต่อว่าเธอได้บอกว่าจะแจ้งกับโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือเก็ทจากกลุ่ม “โมกหลวงริมน้ำ” เพราะเป็นผู้ที่ธนลภย์ให้ความไว้ใจในฐานะผู้ปกครองและทางครอบครัวก็ยินยอมให้ดำเนินการแทนแล้วทางเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าแจ้งได้เลย แล้วเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าทางบ้านปรานีอาจจะกังวลที่จะให้ข้อมูลส่วนตัวเด็กกับใครก็ไม่รู้

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่า ทางเจ้าหน้าที่บ้านปรานีชี้แจงอย่างไรต่อการไม่ให้ทนายความเข้าเยี่ยมทั้งที่ได้แสดงตัวแล้วว่าเป็นทนายความของธรลภย์ กุณฑิกาตอบประเด็นนี้ว่าทางเจ้าหน้าที่เองก็ไม่มีความชัดเจน และต้องเจอความยากลำบากตั้งแต่ไปถึง โดยทางเจ้าหน้าที่อ้างว่าเธอไม่ได้เป็นทนาย

ทนายความชี้แจงในประเด็นนี้ต่อว่า แม้ว่าเธอจะไม่ได้เป็นทนายความในส่วนของคดีมาตรา 112 ที่ธนลภย์ยืนยันว่าปฏิเสธกระบวนการทางคดีไปแล้ว แต่เธอเป็นทนายความในคดีที่ธนลภย์แจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจของ สน.พระราชวังที่พยายามค้นตัวเธอเพื่อพยายามยึดไอแพดของเธอจนมีการดึงเสื้อไปจนถึงหน้าอกและยังมีการยึดทรัพย์สินเอกสารอื่นๆ ไปด้วย ธนลภย์จึงตั้งเธอเป็นทนายความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ในข้อหาลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกายและข่มขืนใจ

เยาวชนวัย 15 ปี ถูกส่งตัวเข้าสถานพินิจในคดี ม.112 ม็อบ13ตุลา65

กุณฑิกาอธิบายต่อว่า ในระเบียบการเข้าเยี่ยมของสถานพินิจปี 65 ยังเขียนด้วยว่านอกจากที่ปรึกษากฎหมายแล้วยังรวมถึงทนายความด้วย และเมื่อเยาวชนเป็นโจทก์ที่มีจำเลยเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องไปขึ้นศาลผู้ใหญ่เหมือนกัน แต่เจ้าหน้าที่อาจจะไม่เข้าใจเพราะอาจจะเห็นว่าเด็กปฏิเสธกระบวนการทางคดี

“ไม่ว่าจะเป็นทนายความในคดีไหนหรือเขาจะแต่งทนายความมั้ย หรือเขาจะปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมหรือเปล่า ก็ไม่ได้เป็นการให้สิทธิคุณอัตโนมัติที่จะมาริบสิทธิเด็กที่จะได้รับความช่วยเหลือ ถ้าเราเชื่อมั่นในการให้สิทธิเด็กตามอนุสัญญาหรือการคุ้มครองเด็ก จริงๆ เรื่องเหล่านี้มันคุยกันได้ โดยกฎหมายวิธีพิจารณาความเด็กเรารู้ดีว่าเขาอะลุ่มอะล่วยให้กับสิทธิประโยชน์ของเด็กเยอะ การที่คุณบอกว่าเด็กปฏิเสธเองดังนั้นไม่ต้องให้เข้าถึงสิทธินู้นสิทธินี้ ทรายว่าไม่จริง” กุณฑิกากล่าว

นอกจากนั้นทนายความยังมองว่าระเบียบที่ใช้ ณ ขณะนี้ถือเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย(Arbitrary Detention) เพราะไม่ควรจะเป็นคนเพียงคนเดียวมาตัดสินใจว่าจะให้ใครเข้าเยี่ยมเด็กได้บ้าง เพราะไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือจะอายุเท่าไหร่เขาก็ควรจะมีสิทธิเหมือนผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีทั่วไป ดังนั้นการให้ยื่นหนังสือไปแล้วต้องรอ 2-3 วันก็ยังถือว่าเป็นความยุติธรรมที่ล่าช้าด้วย

ทนายความยังอธิบายอีกว่าถ้าดูกฎหมายวิธีพิจารณาความเยาวชนที่ให้ใช้โดยไม่ขัดกับกฎหมายอาญาและให้ใช้กฎหมายอาญาด้วย รวมถึงอนุสัญญาสิทธิเด็กที่ไทยก็ลงนามไว้สิ่งที่เกิดกับธนลภย์ตอนนี้ก็ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายและอนุสัญญา

ทั้งนี้กุณฑิกายังเล่าถึงกรณีที่บ้านปรานีมีการเปลี่ยนมาตรการบางอย่างต่างไปจากที่ผ่านมาคือมีการปิดประตูเหล็กทั้งที่ก่อนหน้านี้เพียงแค่แลกบัตรก็เข้าไปได้แล้ว แล้วเมื่อขอพบเจ้าหน้าที่ก็ปฏิเสธที่จะไม่ออกมาเจอจนต้องบอกว่ามีของมาเยี่ยมเจ้าหน้าที่ถึงจะออกมาแต่ก็ไม่ยอมเซนชื่อรับ นอกจากนั้นทีมทนายความที่ไปเยี่ยมธนลภย์วันนี้ยังเล่าให้ฟังว่าได้ไปเจอทนายความในคดีอื่นไปที่บ้านปรานีก็เข้าไม่ได้เหมือนกัน

“พอเป็นอย่างนี้เราก็ยิ่งเป็นห่วงเด็กแล้ววันนี้(5 เม.ย.) พอได้ทราบว่าเด็กติดโควิดแต่เราไปทุกวันแต่เราไม่ทราบ อันนี้แค่เป็นทนายธรรมดา ถ้าเป็นพ่อแม่ก็คงทุกข์ใจมาก เราจะไปมั่นใจอะไรได้อีก”

อย่างไรก็ตาม กุณฑิกาเห็นว่าทางเจ้าหน้าที่ก็อาจจะเริ่มเข้าใจแล้วว่าเธอเป็นทนายความของธนลภย์ในอีกคดีที่เธอเป็นโจทก์แจ้งความเจ้าหน้าที่ และวันนี้(6 เม.ย.) ทางทีมทนายความจะขอเข้าเยี่ยมธนลภย์อีกครั้ง แต่หากทางสถานพินิจยังคงไม่ให้เข้าเยี่ยมทางเจ้าหน้าที่จะต้องทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรถึงเหตุผลที่ไม่ให้เยี่ยม แล้วก็จะพยายามซื้อของเยี่ยมเข้าไปให้เรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ธนลภย์รู้สึกถูกทอดทิ้ง

ผู้สื่อข่าวได้ถามกุณฑิกาเกี่ยวกับพ่อแม่ของธนลภย์ว่าได้มาเยี่ยมบ้างหรือไม่ เธอตอบว่าเบื้องต้นทางพ่อแม่ของธนลภย์ได้มอบหมายให้โสภณดำเนินการแทนเนื่องจากก่อนหน้านี้ธนลภย์ได้ปรึกษากับพ่อแม่ของเธอแล้วว่าจะเลือกการต่อสู้แบบนี้และขอให้โสภณเป็นผู้ไว้วางใจซึ่งทางพ่อแม่ของธนลภย์ก็ยินยอมและเคารพการตัดสินใจของลูกสาวที่เลือกเส้นทางนี้

ทนายความกล่าวไปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพ่อแม่ของทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และอรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม ที่พ่อแม่ของพวกเธอเมื่อออกมาอยู่ในการจับตาของสื่อและคนในสังคมหลังลูกสาวของพวกเขาเลือกวิธีการอดอาหารประท้วงกระบวนการยุติธรรม กลับเกิดแรงกระแทกและเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากต่อพ่อแม่ของพวกเธอจากหลายฝ่าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net